การประท้วง การชุมนุมโดยสงบ และการเดินขบวนในระบอบประชาธิปไตย ตอนที่ 2


3. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญไทย
      ประเทศไทยได้ยอมรับหลักการในการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ มาช้านาน สังเกตได้จากรัฐธรรมนูญในอดีตหลายฉบับหรือรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยถือว่าในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การชุมนุมโดยสงบเป็นพื้นฐานของการแสดงออก ซึ่งสิทธิในการชุมนุมของประชาชนเพื่อประชุมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและการกำหนดเจตจำนงของตนในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และแสดงความคิดเห็นหรือเจตจำนงดังกล่าวให้รัฐได้รับทราบ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป เสรีภาพดังกล่าวนี้ มีความสอดคล้องกับสิทธิเสรีภาพอื่นตามรัฐธรรมนูญด้วย อาทิ เช่น เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการเดินทาง เสรีภาพในการเขียน เสรีภาพในการพิมพ์และเผยแพร่เอกสารสิทธิในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ ฯ ทั้งนี้ รัฐจะต้องงดเว้นการเข้าแทรกแซงในการชุมนุมโดยสงบนั้น ๆ ในทุกรูปแบบ และต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการชุมนุมโดยสงบด้วย

       สำหรับรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ในฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดเจน ในมาตรา 63 วรรคแรกซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” อย่างไรก็ดี การชุมนุมของประชาชนตามมาตรา 63 วรรคแรกนั้น อาจตกอยู่ในเงื่อนไขบางประการ ทั้งนี้เพื่อผลประโยชน์ของสาธารณชน ดังนั้นมาตรา 63 วรรคสอง จึงบัญญัติว่า “ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณหรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม หรือในระหว่างเวลา ที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประเทศใช้กฎอัยการศึก” 
จากที่กล่าวมาข้างต้น ถือได้ว่าเป็นวิถีการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญไทย ในปัจจุบัน

 4. เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบตามกฎหมายต่างประเทศ


 เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ หรือที่เรียกว่า Freedom of Assembly ในต่างประเทศเอง ได้มีการบัญญัติรับรองไว้ทั้งกฎหมายภายใน หรือ ตามสนธิสัญญา ในหลายฉบับ ซึ่งอาณาอารยะประเทศที่เป็นภาคี ล้วนต้องปฏิบัติตาม อาทิเช่น

 4.1ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ค.ศ. 1948 (The Universal Declaration of Human Right 1948)(UDHR) มาตรา 20(1) บัญญัติว่า บุคคล ทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ

 4.2 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ( International Covenant on civil and Political Right 1966)(ICCPR) ข้อ 21 บัญญัติว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

 4.3 European convention on Human Rights (ECHR) มาตรา 11 บัญญัติว่า เสรีภาพในการชุมนุมและการสมาคม รวมถึงการเข้าร่วมในเขตการค้า จะถูกจำกัดมิได้ ทั้งนี้นอกจากกฎหมายจะบัญญัติไว้ และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย

 4.4 American convention on Human Rights มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ย่อมได้รับการคุ้มครอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมาย และเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของสังคม การสาธารณสุข หรือศีลธรรม หรือสิทธิ เสรีภาพอื่น ๆ

 จากที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นวิถีการคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน นอกจากนี้ในบางประเทศเองก็ได้มีการกำหนดอยู่ในกฎหมายภายในของประเทศ ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุม อาทิ เช่น
 - ประเทศแคนาดา ได้บัญญัติไว้ใน The Constitution Act ,1982 มาตรา 2(C)
 - ประเทศฝรั่งเศสได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ที่เรียกว่า The Nouveau Code Penal มาตรา 431-1 (แต่มีลักษณะเป็นบทลงโทษทางอาญา ในกรณีที่การชุมนุมนั้นกระทำโดยมีลักษณะเป็นการข่มขู่ ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับ15,000 )

 นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ก็ยังพบอีกหลายประเทศ ที่ได้มีการบัญญัติเสรีภาพดังกล่าวไว้ใน รัฐธรรมนูญ เช่น ประเทศสวีเดน อิตาลี ฟินแลนด์ และประเทศลักเซมเบิร์ก

หนังสืออ้างอิง

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา.เสรีภาพในการชุมนุมในที่สาธารณะ : หลักทั่วไปและข้อจำกัด.http://www.enlightened-jurists.com/directory/94/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา.หลักทั่วไปของเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะ. http://www.enlightened-jurists.com/page/127  เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

จันทจิรา เอี่ยมมยุรา.ข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะ http://www.enlightened-jurists.com/page/128/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B0.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ภาสพงษ์ เรณุมาศ. เสรีภาพในการชุมนุม (Freedom of Assembly) ตามรัฐธรรมนูญ.http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1230 เข้าถึงเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 544732เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 18:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 18:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท