nui
นาง เสาวลักษณ์ พัวพัฒนกุล

เรื่องดีๆ ของคนญี่ปุ่นที่น่าเอาอย่าง ๑ _ เข้าคิว


          คนไทยชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น  

          เราสองคนไปเที่ยวญี่ปุ่นมาแล้วหลายครั้ง ไปทุกปี ชอบญี่ปุ่นเพราะมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ไปเองได้ สะดวก สะอาด ปลอดภัย  ได้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่ไม่เห็นเมื่อไปกับทัวร์  นอกจากศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติ ความเจริญทางเทคโนโลยี แล้ว  ฉันมีความประทับใจคนญี่ปุ่นในหลายๆ เรื่อง

          อยากเห็นบ้านเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย อยากเห็นคนไทยมีวินัยแบบคนญี่ปุ่นบ้าง  ที่เขียนแบบนี้ไม่ใช่จะว่าคนไทยไม่ดี  เรามีดีเยอะ แต่ยังขาดบางอย่าง  การเรียนรู้และเอาอย่างสิ่งดีๆ มาปฏิบัติจึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย  ตัวฉันเองก็เอามาทำจนเป็นนิสัยหลายเรื่อง  

เข้าคิว

           การเข้าคิวนอกจากลดความยุ่งเหยิงของคนหมู่มากแล้ว ยังเป็นมาตรวัดความอดทนอดกลั้น เป็นวัฒนธรรมอารยะ

           คนญี่ปุ่นเข้าคิวกันเคร่งครัด ไม่ใช่เข้าคิวเพราะป้ายเขียนไว้  ไม่มีอาการหงุดหงิดรำคาญใจคนข้างหน้าที่ใช้บริการนาน  ไม่แอบมาแทรกคิว 

         

           มีการตีเส้นบอกตำแหน่งให้ยืนรอก็เพียงเพื่อให้รู้ว่าควรรอตรงจุดที่ตรงกับประตูรถ เช่นที่ สถานีรถไฟ

  

         คนญี่ปุ่นเข้าคิวยืนรอขึ้นรถไฟ รถเมล์ เดินขึ้นตามลำดับ ไม่เบียดไม่แย่งกันขึ้น  และที่ไม่เหมือนบ้านเราคือคนขับรถเมล์ไม่รีบร้อน  ไม่เร่งผู้โดยสาร

           รอคิวหน้าห้องน้ำแถวเดียว  ห้องไหนเปิดออกมาคนที่รอคนแรกก็เข้าไปก่อน  ไม่ใช่เข้าไปยืนจองหน้าห้องน้ำแบบบ้านเรา  (น่าจะกดดันคนที่ใช้อยู่ข้างในพอประมาณ)

          รอคิวเข้าลิฟท์กันอย่างใจเย็น  เข้าก่อนก็เดินเข้าในให้คนอื่นๆ ตามเข้ามาได้ง่าย  

   

          ขึ้นบันไดเลื่อนก็ยืนแถวเดียวทางซ้ายมือ (เห็นอยู่ที่เดียวยืนชิดขวา คือ ที่โอซาก้า-เห็นในภาพ)  เขาเว้นทางเดินด้านขวาไว้สำหรับคนที่รีบจะได้แซงขึ้นไป

           ที่ทำให้เราแปลกใจมากคือ หลายหนที่เห็นรถเมล์ที่วิ่งบนถนนใหญ่หยุดให้รถเก๋งขับออกจากซอยไปก่อน  เพราะรถคันนั้นมาจอดรออยู่  โดยไม่มีการคิดว่า รถฉันขับอยู่บนถนนใหญ่ต้องไปก่อน

           ตามสายตาของเรา ดูเหมือนชีวิตคนญี่ปุ่นรีบร้อน เพราะเขาเดินจ้ำพรวดๆ เหมือนวิ่งตามถนนหนทาง ตามสถานีรถไฟต่างๆ  แต่พอถึงเวลาอยู่ในคิว พวกเขากลับดูสุภาพ ไม่รีบร้อน  ไม่วุ่นวาย

           หลักคิดของการเข้าคิว คือ “การเคารพสิทธิของผู้มาก่อน”  ว่าควรได้รับบริการนั้นๆ ก่อนคนมาทีหลัง  ประเทศที่คนพัฒนาแล้วทางด้านจิตใจ เขาจะเห็นความสำคัญของสิทธินี้

           บ้านเรามีการเข้าคิวเฉพาะบริเวณที่มีการตีเส้น มีราวกั้นบังคับไว้ มีคนคอยกำกับดูแลคิว ถ้าไม่มีการบังคับเรามักละเลย  

            เวลารอซื้อของ รอซื้ออาหาร ถ้าใครรอตามคิวก็จะอด  ผู้ให้บริการก็ไม่สนใจที่จะให้บริการคนที่มาก่อน

            แม้จะมีราวกั้นให้เข้าคิว แต่ถ้าเมื่อไรของมีน้อยกว่าคน จะเกิดความโกลาหลขึ้นทันที

            เหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อ มีนาคม ๒๕๕๔ คนญี่ปุ่นได้แสดงความอารยะให้โลกเห็นโดยการเข้าคิวกันอย่างอดทน สุภาพ แบ่งปัน ไม่เกิดการฉกชิง จี้ปล้น

            คนเข้าคิวในบ้านเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีความหมายอะไร

            คนไทยเริ่มต้นเข้าคิวกันจริงๆ จังๆ คงจะดี   เริ่มจากตัวเราเองและปลูกฝังลูกหลาน.

....................................


หมายเลขบันทึก: 544342เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 16:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2014 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

การลัดคิว...คือ วัฒนธรรมของไทยเรา ที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้วนะครับ  555

-สวัสดีครับ

-เป็นตัวอย่างที่ควรนำมาเป็นแบบอย่างครับ

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณบันทึกกระตุกต่อม คนไทย ครับ

เรื่องนี้คนไทยเจอจนชิน สงสัยจะเป็นวัฒนธรรมของเราจริงๆ...555

ชื่่นชมกับวัฒนธรรมที่ดีของเขานะคะ ประเทศเราควรปลูกฝังตั้งแต่ระดับอนุบาล เพราะจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมระดับบุคคล มันจะติดตัวเขาไปและจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้คนอื่่นๆ ต่อไป ขอบคุณที่แชร์ข้อคิดดีๆ คะ

 

ความอดทนสูงเป็นสิ่งที่คนญี่ปุ่นมีค่ะ

ชื่นชมมากๆค่ะ...ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณดอกไม้ และทุกความเห็น    อักขณิช   noktalay   ทพญ.ธิรัมภา   พ.แจ่มจำรัส   Bowling

   Suvidhya RuchiradhamrongThailand  pornpain EN phunumyoy  และ  ดร. พจนา แย้มนัยนา 

ทุกท่านคิดตรงกันนะคะว่า อยากเห็นสิ่งดีๆ ในสังคมไทย  

จริงๆ แล้วเราเริ่มที่ตัวเราเอง สอนลูก สอนศิษย์ ทำได้ทันทีเลยค่ะ

เป็นวัฒนธรรมที่ดีแต่ไทยเรามักมองข้าม

จะเห็นได้จากกลุ่มผู้เข้ารับการอบรม บางท่านดีมากๆ

บางท่านมีวิธีลัดคิวคือฝากคนใกล้ถึงคิวก่อน

 " หลักคิดของการเข้าคิว คือ “การเคารพสิทธิของผู้มาก่อน”  ว่าควรได้รับบริการนั้นๆ ก่อนคนมาทีหลัง  ประเทศที่คนพัฒนาแล้วทางด้านจิตใจ เขาจะเห็นความสำคัญของสิทธินี้"

ทำให้คิดว่าข้อความหลายๆข้อความน่าจะได้ผลิตออกมาเป็นสื่อเพื่อเตือนสติให้ได้ฉุกคิดและเพิ่มความอดทนในการรอคอย 

หรือหากจำเป็นมากๆที่ต้องแซงคิว ก็มีป้ายแจ้ง เพื่อคนที่รอคอยได้ส่งความเมตตา ให้คนป่วยหนักก่อน

 "โปรดให้โอกาสผู้ป่วยหนักได้ถึงมือหมอ" 

ขอบคุณค่ะ

 

 

การไม่ปล่อยเด็กเล็กวิ่งเล่นบริเวณทางเดินในโรงพยาบาลก็ช่วยให้เปลได้เคลื่อนย้ายคนไข้ได้สะดวก เร็วขึ้นแล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท