ลดปัจจัยเสี่ยง ลดโรคคนไทย สู่เป้าหมาย 72 ปี แห่งการมีสุขภาพดี


ลดปัจจัยเสี่ยง ลดโรคคนไทย สู่เป้าหมาย 72 ปี แห่งการมีสุขภาพดี


ตัวชี้วัดสุขภาพแห่งชาติ ปี 2555 กระทรวงสาธารณสุข  กำหนดวิสัยทัศน์  “ ภายในทศวรรษต่อไป  คนไทยทุกคน จะมีสุขภาพแข็งแรงเพิ่มขึ้น  เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม  อย่างยั่งยืน”  โดย 10 ปีข้างหน้าคนไทยทุกคนจะมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น  มีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดไม่น้อยกว่า  80  ปี  อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี  ไม่น้อยกว่า 72  ปี[1]  




  จากการศึกษาของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพของประชากรไทย ในปี 2552 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของชายไทยอยู่ที่ 70.5 ปี และหญิงไทยอยู่ที่ 77.3 ปี โดยมีอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดีอยู่ที่ 65.4 และ 71.4  ตามลำดับ แม้ว่าอายุคาดเฉลี่ยของประชากรไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่หากจะทำได้ตามเป้าหมายตัวชี้วัด กระทรวง?คงต้องดำเนินการสนับสนุนนโยบายการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดภาระการสูญเสียจากการตายก่อนวัยอันควรหรือเจ็บป่วยพิการ เรียกกันว่า ลดการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือปีสุขภาพดี  การจะถึงเป้าหมายอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี 72 ปี นั้น ต้องลดการสูญเสียปีที่มีสุขภาพดี ซึ่งการวัดการสูญเสียปีสุขภาพดี (DALYs) คิดจากจำนวนปีที่ตายก่อนวัยอันควร รวมกับปีที่อยู่อย่างเจ็บป่วยพิการ ซึ่งพบว่า คนไทยทั้งประเทศสูญเสียปีสุขภาพดีในปี 2552 ถึง 10.2 ล้านปี  โดยชายจะมากกว่าหญิงถึง 1.3 เท่า โดยมีสาเหตุหลักจาก การเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และรองลงมาคืออุบัติเหตุทางท้องถนน และโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับที่สาม สำหรับในหญิงไทยนั้น สูญเสียมากที่สุดจากโรคเบาหวาน ตามด้วยโรคหลอดเลือดสมอง และโรคซึมเศร้า จะเห็นว่าหากจะลดการสูญเสีย คงต้องมองถึงปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุดังกล่าว[2]

ปัจจัยเสี่ยงอันดับแรกที่ก่อให้เกิดภาระโรคมากที่สุดในชาย ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเสพติดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุทางท้องถนน ปัจจัยเสี่ยงรองลงมาคือ บุหรี่/ยาสูบ และความดันโลหิตสูง ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง  ส่วนหญิงไทยสูญเสียจากปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและวิถีชีวิต ทั้งภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทำให้หญิงไทยมีอายุคาดเฉลี่ยที่มากกว่าชายแต่อยู่อย่างเจ็บป่วยพิการมากกว่า

การจะไปถึงเป้าหมายการมีอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพดี ไม่น้อยกว่า 72 ปี คงต้องเน้นสนับสนุนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งอาจจะไม่ได้มองที่การสนับสนุนบริการสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะสนับสนุนการสื่อสารเพื่อสร้างค่านิยมใหม่ในการบริโภคให้คนไทยหันมาลดเลิก เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และ บริโภคอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น  รวมถึงการสนับสนุนให้ท้องถิ่นหรือผู้นำชุมชน ได้เสนอนโยบายสุขภาพในระดับท้องถิ่นเพื่อบริหารจัดการเสริมสร้างสุขภาพในชุมชนเพิ่มขึ้น และจัดทำข้อมูลการดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบเพื่อประเมินการดำเนินการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืนต่อไป เป้าหมายสุขภาพดี 72 ปี คนไทยคงไม่ไกลเกินฝัน



[1] http://www.hiso.or.th/health/images/indicators/indicators1.pdf

[2] รายงานภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2552


หมายเลขบันทึก: 543966เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กรกฎาคม 2013 10:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีใจจังมีโครงการดี เพื่อคนไทย

What can we do with what we know now?

Any usggestion apart from don't drink, don't drive, don't smoke, don't eat fatty, sugarry, salty and high carbohydrates?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท