รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แรกเปิดเรียน ปี 2492 (ตอนที่ 2)


รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แรกเปิดเรียน ปี 2492 (ตอนที่ 2)

 

เกิด 21 เมษายน 2473 (ปี 2556 อายุ 83ปี)

จบเป็นรัฐศาสตร์บัณฑิต ปี 2496

(ร.ต.เสมอใจ พุ่มพวง (2/ร) อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร:รำลึกความหลัง” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 15 ปี มงคลการพิมพ์101 ถนนตานี บางลำพู พระนคร พ.ศ.2507(ไม่ระบุหน้า)

นักศึกษารัฐศาสตร์ในปีแรก (ปี 2492)

        นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ที่มาเรียนปัจจุบันอยู่ในสมัยนั้น มีประมาณ 30 คน ทั้งๆ ที่มีนักศึกษาอยู่ในทะเบียนร่วม 200 คน มี เรืออากาศเอกประเสริฐ สมรรถจันทร์ ซึ่งเป็นครูฝึกการบินอยู่โคราชเดี๋ยวนี้ เป็นหัวหน้านักศึกษาคณะรัฐศาสตร์รุ่นแรก หลังจากดำรงตำแหน่งนี้ได้ 2 ปี ปรากฏว่าสหายของผมผู้นี้มีอันเป็นไป เพราะมรสุมทางการเมือง กว่าจะรอดพ้นออกมาได้ถูกส่งไปทัศนาจรฮ่องกงเสียหลายเพลา อันที่จริงผมก็ไม่เห็นเพื่อนของผมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกะการเมืองที่ไหนเลย เห็นแต่ยุ่งทางการบ้านเสียแหละมาก พูดถึงเรื่องการเมือง ผมขอพูดอย่างไม่เกี่ยวกับการเมืองใดๆ เสียหน่อยว่า พอผมเข้ามาเป็นสมาชิกของแผ่นดินโดม ผมก็โดนญาติผู้ใหญ่ของผมหลายท่านฌาปนกิจหรือใส่ไฟทันที โดยหาว่าผมเป็นลูกศิษย์ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นกบฏ เป็นคอมมิวนิสต์บ้างละ เป็นอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนแต่เป็นการประชุมเพลิงที่ปราศจากเหตุผลทั้งสิ้นเพราะในชีวิตอันค่อนข้างจะลุ่มๆ ดอนๆ ของผมนี้ยังไม่เคยเห็นตัวคุณหลวงประดิษฐ์ฯหรือ นายปรีดี พนมยงค์ แม้แต่ครั้งเดียว ส่วนเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นนอกจากความรู้ในลัทธินี้ที่เรียนจากวิชาทฤษฎีทางการเมือง ซึ่งมีอยู่ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ไม่เห็นมีใครนำลัทธินี้มาเผยแพร่แก่พวกเราเลย ทั้งไม่เคยมีใครนำเรื่องการเมืองมายุแหย่ชักชวนให้พวกเราเป็นกบฏ หรือร่วมการปฏิวัติด้วย

นักศึกษารัฐศาสตร์หญิงคนแรก

         คณะรัฐศาสตร์ สมัยนั้นรู้สึกว่าเป็นที่ชุมนุมของดาราต่างๆ มากมายทีเดียว ยกเว้นดาราประเภทนางงาม
เพราะคณะเรามีสุภาพสตรีน้อยเต็มทีมี คุณศุภางค์ โพวาทอง รัฐศาสตร
์หญิงคนแรก ซึ่งรูปร่างหน้าก็กระจุ๋มกระจิ๋มพอจะแข่งขันกับคณะบัญชีเขาอยู่ได้หรอก แต่เจ้าตัวไม่สมัครใจ เลยวางตัวเสียอย่างผู้ชาย เราจึงไม่อาจนำไปเปรียบเทียบกับคนสวยของคณะอื่นได้

ดาราประจำคณะรัฐศาสตร์ยุคแรก

         ดาราประจำคณะของเราก็มี คุณไพศาล โอวาทตระกูล เป็นดาราเท้าไฟ เพราะชนะเลิศในการประกวดลีลาศแห่งประเทศไทย และนานาชาติด้วยถึง 2 ครั้ง นำเอาแหวนทองฝังเพชรซึ่งป่านนี้จะพับใส่กระเป๋าไปเสียแล้วหรือยังก็ไม่รู้ มาอวดพวกเราได้

       คุณสมปอง นพคุณ เป็นดารารักบี้ของทีมธรรมศาสตร์ด้วย เป็นฟูลแบ๊คที่ คุณอรุณ แสนโกสิก
หรือ ”พี่หลุย”
ของเราบอกว่าไว้ใจได้ การแข่งขันนัดไหนที่มีคุณสมปอง ทำหน้าที่ฟูลแบ๊คละก็ พี่หลุยบอกว่า สอ บอ มอ ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลัง แต่น่าเสียดายที่สมปองด่วนเอารถไปสะกรัมกับพื้นโลกแล้วไม่ยอมลุกขึ้นมาเล่นรักบี้ในโลกมนุษย์อีกต่อไป ตั้งแต่ปี 2495 เราจึงขาดนักรักบี้มือดีไปเสียหนึ่งนาย

         ดารนักมวยของเราก็มี คุณชลิต สีบุญเรือง ซึ่งหาชื่อเสียงทางต่อยมวยมาตั้งแต่มวยวัด มวยนักเรียน จนกระทั่งได้เป็นนักมวยดีมีชื่อของเวทีราชดำเนินภายใต้นามว่า “สามภพ พงษ์สิงห์” และผลที่สุดแทนที่จะจบรัฐศาสตร์  เพื่อนกลับไปจบชลประทาน เป็นนายช่างไม่เล็กไม่ใหญ่อยู่ที่ปากเกร็ด ยอดนักมวยของคณะเราอีกคนหนึ่ง คือ พ่อยอดชาย นายระบิล ศิริ ซึ่งขณะนี้เป็นตากล้องมือดีที่ยอมรับกันอยู่ทั่วไปนั่นเอง คุณระบิล หรือ “อ้ายบิล”
นี่แกเคยขึ้นแข่งขันมวยสากลรุ่น “เบา” ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้น และได้เข็มทองเสียด้วย ผมยังจำติดตาอยู่ว่าคู่ต่อสู้ของเขาคือ คุณสนอง มงคล แห่งคณะนิติศาสตร์ บรรณาธิการ น.ส.พ. เสียงอ่างทอง (ไทยรัฐ) เดี๋ยวนี้แหละครับหลังจากได้เข็มชนะการต่อยมวยของมหาวิทยาลัยแล้วไม่นาน คุณระบิล ก็ถูกเพื่อนคนหนึ่งไล่รำเท้าเข้าใส่ที่ท่าพระจันทร์ เล่นเอาคุณระบิลเสือสังเวียนหลบฉากเป็นการใหญ่ ถ้าถามว่าทำไมไม่สู้มัน คุณระบิลคงจะตอบว่า “สู้ให้โง่” เพราะไอ้หมอนั่นมันน้ำหนักมากกว่าตั้ง 20-30 กิโลกรัม

        ดาราคนที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ “อ้ายจุก” หรือ ร.อ.หยินเขษม หนองหารพิทักษ์ ยอดนักบินของกองทัพบกเดี๋ยวนี้ ซึ่งขณะเป็นนักศึกษาได้ครองตำแหน่งชายงามแห่งประเทศไทยถึง 2 ปี ซ้อน ซึ่งเพื่อนเรียกกันว่า “จุก”  น่ะ ไม่ใช่ว่าพ่อรูปงามคนนั้นแกชื่อจุก หรือบิดาแกชื่อนั้นก็หาไม่ แต่เพื่อนเล่นไว้ผมจุกเหมือนอ้ายจุตามชนบทยังงั้นแหละครับ คุณลองหลับตานึกเอาก็แล้วกัน ว่านักศึกษามหาวิทยาลัยรูปร่างยังกับยักษ์วัดแจ้งไว้ผมจุกบนกระหม่อมเพียงกระจุกเดียวแล้วคุณจะนึกยังไง ถ้ายังนึกไม่ออก ลองนึกถึงยักษ์ในภาพยนตร์เรื่อง “โจรในแบกแดด” ก็แล้วกันครับ

        ดาราภาพยนตร์ของเราก็มีเหมือนกัน เขาผู้นั้นก็คือ คุณสมจิตต์ ก้องสมุทร ปลัดอำเภอมีนบุรีเดี๋ยวนี้ อย่างเพิ่งแปลกใจว่าผู้อำนวยการสร้างตาบอดที่ไหน ถึงได้เลือกคุณสมจิตต์ ซึ่งพุงยื่นออมาข้างหน้าเกือบศอกไปเป็นพระเอกหนัง เพราะคุณสมจิตต์เป็นพระเอกหนังเรื่องนางไพร และผลจากการแสดงหนังเรื่องนี้ก็คือ คุณสมจิตต์ได้นางเอกภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นศรีภรรยา อยู่กินกันมาจนมีเรือพ่วงหลายลำแล้ว
        นอกจากดาราต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว คณะรัฐศาสตร์เรายังมีดาราดนตรี ประจำคณะอยู่อีกคนหนึ่ง ซึ่งรุ่นน้องๆ น่าจะได้รู้จักไว้เขาผู้นั้น คือ พ่อสมบูรณ์ พรหมเมศร์ ซึ่งเป็นนักดนตรีผู้สามารถจนได้รับเลือกให้เป็นประธานแผนกดนตรีของมหาวิทยาลัยอยู่หลายสมัย เพลงมาร์ชรัฐศาสตร์ ที่เราร้องกันอยู่ทุกวันนี้คลอดออกมาจากสมองของเขาผู้นี้ ผมก็ไม่เคยถามแกหรอกว่าไปร่ำเรียนวิชาดนตรีมาจากไหน  แต่เดาเอาว่าแกเป็นลูกศิษย์คณะพันตรีศิลปะ
(ซึ่งเป็นที่ฮิตอยู่ในสมัยนั้น) เพราะปรากฏว่าคุณนายของท่านนายอำเภอสมบูรณ์ พรหมเมศร์ แห่งเชียงแสนจังหวัดเชียงรายเดี๋ยวนี้ก็คือ คุณรัชนี (อังศุกาญจน์) พรหมเมศร์ ธิดาของหัวหน้าคณะพันตรีศิลปะนั่นเอง นับว่าการเรียนวิชาดนตรีของคุณสมบูรณ์ ได้ผลเช่นเดียวกับการแสดงภาพยนตร์ของคุณสมจิตต์ ก้องสมุทร

กบฏแมนฮัดตันเป็นต้นเหตุให้ธรรมศาสตร์ถูกยึด

         การรำพึงรำพรรณถึงความหลังของผมคงไม่สมบูรณ์ ถ้าผมจะไม่กล่าวถึงการถูกทหารยึดครองมหาวิทยาลัย
จนพวกเราต้องอพยพไปเรียนที่อื่นกันตั้งหลายเดือน เรื่องมีอยู่ว่าวันหนึ่งถ้าผมจำไม่ผิดคงเป็นวันกบฏแมนฮัดตัน
ที่ทหารเรือจี้เอาท่านจอมพลคนหัวปี ลงเรือเปิดหัวไปเก็บไว้เป็นตัวประกันที่เรือรบหลวงศรีอยุธยานั่นเอง ขณะที่พวกเรากำลังฟังคำบรรยายกันอยู่ในตอนบ่าย ก็มีทหารในเครื่องแบบกองทัพบกเข้ามาในห้องเรียนยื่นคำขาดให้ยุติการสอน ให้อาจารย์กับนักศึกษาแยกย้ายกันกลับบ้านอย่างสงบและแล้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ถูกทหารยึดครองชั่วระยะหนึ่ง ฝ่ายธุรการของมหาวิทยาลัย และคณะนิติศาสตร์ ต้องย้ายไปอยู่ที่เนติบัณฑิตสภาคณะรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์และบัญชี ต้องย้ายไปอาศัยเรียนที่ ร.ร.เตรียมจุฬาฯ หรือเตรียมอุดมศึกษาเดี๋ยวนี้ โดยอาศัยเรียนในตอนเย็นและค่ำหลังจากที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเขาเลิกเรียนแล้ว ซึ่งสร้างความลำบากให้แก่นักศึกษาหญิงและผู้ที่อยู่บ้านไกลๆ เป็นอันมาก เพราะต้องกลับบ้านค่ำๆ มีนักศึกษาหญิงจำนวนไม่น้อยต้องขาดเรียน เพราะเกรงว่าจะกลับบ้าน ค่ำๆ มืดๆ จะไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า พวกเรามีความลำบากในเรื่องแสงสว่างมาก เพราะโรงเรียนเตรียมฯ ไม่ได้สร้างไว้สำหรับเรียนตอนกลางคืน ในห้องเรียนจึงติดไฟฟ้าไว้น้อยมาก หรือบางห้องก็ไม่มีเอาเสียเลย จนพวกเราบางห้องต้องจุดเทียนไขเรียนกันก็มี ท่านอาจารย์ที่สอนก็ดีใจหายบรรยายให้เราฟังทั้งๆ ที่ห้องเรียนมันมืดจนมองไม่เห็นหน้ากันยังงั้นแหละ ผมยังจำได้ว่าวันหนึ่งในชั่วโมงของท่านอาจารย์ถนัด คอมันตร์ ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับการปกครองและการเมืองของประเทศตะวันออกเฉียงใต้นั้น ตอนท่านอาจารย์เข้าห้องยังไม่มืด ยังมองเห็นหน้ากันชัดดีอยู่หรอก แต่พอท่านบรรยายไปสักครู่ในห้องบรรยายก็มืดขนาดมองไม่เห็นอาจารย์ ได้ยินแต่เสียงบรรยายเพราะไฟฟ้าในห้องไม่มี พอจบชั่วโมงปรากฏว่า ทั้งห้องมีผมกับเพื่อนอีกสองคนที่นั่งฟังคำบรรยายอยู่แถวหน้าเท่านั้น พวกที่นั่งข้างหลัวย่องหนีกลับไปเมื่อไรก็ไม่ทราบ เพราะมองกันไม่เห็น นี่แหละครับความลำบากของพวกผมสมัยอพยพ

        เราต้องก้มหน้าก้มตาทนต่อความลำบากทั้งหลายแหล่อยู่หลายเดือน จนกระทั่งมีอดีตลูกโดมรุ่นพี่ของเราคนหนึ่ง คือ คุณเพทาย โชตินุชิต ผู้แทนราษฎรหนุ่มแห่งจังหวัดธนบุรีในยุคนั้น และเป็นผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า “หุ่นทาร์ซาน” เพราะแกไว้ทรงผมรุงรังเหมือนทาร์ซาน คุณเพทาย โชตินุชิต นี่แหละครับที่กล้าแสดงออกมาซึ่งความเป็นลูกโดม และเป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง โดยการยื่นกระทู้ด่วนให้รัฐบาลตอบในสภาว่า “เหตุไฉนรัฐบาลถึงได้ยึดเอาธรรมศาสตร์ไปเป็นที่ตั้งกองทหารรัฐบาล ไม่ห่วงใยในกาลอนาคตของเยาวชนที่ต้องเดือดร้อนเพราะเหตุนี้บ้างหรือ รัฐบาลจะคืนธรรมศาสตร์ให้นักศึกษาได้หรือยัง ? ” พอยื่นกระทู้ต่อสภาเสร็จ
คุณเพทาย ก็มาแจ้งให้นักศึกษาทราบวันที่สภาจะอภิปรายเรื่องนี้ จึงปรากฏว่า ในวันนั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์เกือบทั้งมหาวิทยาลัย ได้พร้อมใจกันไปรอฟังผลอยู่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เช้า ทำเอาพวกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตกใจเป็นการใหญ่ ต่างเข้ามาสอบถามว่า มันเรื่องราวอันใดกัน และพอทราบเรื่องจากนักศึกษาแล้ว ท่านสมาชิกที่เป็นชาวธรรมศาสตร์ต่างก็ยืนยันที่จะสนับสนุนการเรียกร้องเอามหาวิทยาลัยคืนจากทหารให้ได้ นอกจากนี้ยังได้เอื้อเฟื้อวิ่งเต้นให้ทางสภา อนุญาตให้ส่งผู้แทนเข้าไปนั่งฟังการอภิปรายได้คณะละ 10 คน รวม 40 คน นอกนั้นให้รอฟังผลอยู่ที่สโมสรสภา และที่สนามหญ้าหน้าสภา เพราะถ้าปล่อยให้นักศึกษาเข้าไปในสภาจำนวนตั้งหลายพันคน สภาก็คงไมได้ประชุมกัน ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปนั่งฟังการอภิปรายในสภาอันทรงเกียรติครั้งนั้นด้วย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม คืนธรรมศาสตร์ให้ภายใน 1 เดือน

        ผลการอภิปรายเรื่องนี้ในสภา ทางรัฐบาลตกลงคืนธรรมศาสตร์ให้นักศึกษา แต่ขอเวลาอีก 6 เดือน หรือหนึ่งปีก่อนซึ่งผมก็จำไม่ได้เสียแล้ว และความดีใจที่ได้มหาวิทยาลัยคืน เมื่อเลิกประชุมสภา ท่านจอมพลแปลกฯ หัวหน้าคณะรัฐบาลในขณะนั้นเดินออกมานอกสภามองเห็นนักศึกษาชายหญิง (ยืนบ้าง นั่งบ้าง) ตากแดดอยู่กลางสนามหญ้าหน้าสภาก็เลยเกิดใจอ่อน ออกมาปราศรัยกับพวกเรา ท่านบอกว่า “นี่ลูกๆ หลานๆ ทั้งนั้นไม่ต้องกลัวจะคืนมหาวิทยาลัยให้” ซึ่งผมก็ยังไม่เข้าใจจนบัดนี้ว่า ที่ว่า “ไม่ต้องกลัว” นั้นพูดกับคณะรัฐมนตรีที่ยืนอยู่ข้างๆ ท่าน เป็นทำนองว่าไม่ต้องกลัวพวกนักศึกษา(จะคิดทำอะไรต่ออะไร) หรือท่านพูดกับนักศึกษาเป็นทำนองว่า ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลจะไมคืนธรรมศาสตร์ให้ แหละเมื่อพวกนักศึกษา ไชโยโห่ร้องแสดงความยินดีสักครู่ ท่านจอมพลแปลกฯ คงเกิดความเห็นอกเห็นใจพวกเรามากขึ้น จึงประกาศว่าจะคืนมหาวิทยาลัยให้พวกเราภายในหนึ่งเดือน และไม่ใช่เป็นการคืนอย่างเดียว แต่จะให้กรมการรักษาดินแดน ซึ่งครอบครองอาณาเขตของธรรมศาสตร์ อยู่เกือบครึ่งหนึ่งอพยพออกจากธรรมศาสตร์ไปด้วย เป็นอันว่าเราได้แม่โดมคืนมาและได้ทั้งหมดเสียด้วย (เว้นแต่บริเวณที่เป็นกรมศิลปากร วิทยาลัยนาฏศิลป์ และโรงละครแห่งชาติเดี๋ยวนี้ ซึ่งผมคิดอย่างโง่ๆ ของผมเองว่า ถ้าผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์เสีย ก็จะทำให้ธรรมศาสตร์เพิ่มความสวยงามอีกไม่น้อย) นี่เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ คุณเพทาย โชตินุชิต อดีตลูกเหลืองแดง ซึ่งควรจะได้บันทึกไว้ในประวัติของมหาวิทยาลัยและลูกโดม
ทุกคนควรจะได้จารึกชื่อท่านผู้นี้ไว้ในความทรงจำด้วย

         เรื่องของผมควรจะอวสานลงด้วยแฮปปี้เอนดิ้ง เพียงแค่นี้แล้ว ถ้าผมไม่ลืมที่จะแจ้งให้น้องๆ ทราบว่า มหาวิทยาลัยเรานี้เมื่อผมสมัครเข้าเป็นนักศึกษานั้น  มหาวิทยาลัยนี้มีชื่อว่า  ”มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” แต่ต่อมาหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่ โดยแยกเป็น คณะต่างๆ 4 คณะ ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”ตัดคำว่า “การเมือง” ออกเสีย โดยอ้างว่า
เพื่อมิให้นักศึกษาหมกมุ่นในเรื่องการเมืองซึ่งหนุ่มวัยสามสิบสามขวบอย่างผม เห็นว่าไม่น่าจะเสียหายตรงไหน

         “หน้าที่ของเราก็คือ”ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อเอาปริญญาบัตรไปให้ก.พ. เขาตีราคา ให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินเดือนให้เรา จะได้ไม่ต้องอดตาย เท่านั้นพอแล้ว คุณชัยศรี นุตาลัยปลัดอำเภอโทอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ รัฐศาสตร์หนุ่มรุ่นผม และขณะนี้กำลังชุบตัวอยู่ที่อังกฤษ เขาว่าไว้อย่างนั้น ถ้าทุกคนต่างพากันคิดว่า ประเทศไทยเรานี้ไม่ใช่ของเราคนเดียว งานอันไหนที่เราไม่ทำก็มีคนอื่นเขาทำแทนแล้วไซร้ในที่สุดจะไม่มีใครทำอะไรเลยผลก็คือประเทศชาติของเราคงล่มจมเป็นแน่แท้


                                     -----------------------------------------------------



 


 



 




หมายเลขบันทึก: 543857เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2013 07:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

.... รำลึกความหลัง” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  .

 

         .. ดีจังเลยค่ะ .... ขอบคุณค่ะ 

 

                         

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท