จากบันทึกภาคสนาม เรื่อง วิธีเบื้องต้นในการทำบันทึกภาคสนาม


เมื่อนักวิจัยเชิงคุณภาพจะลงพื้นที่ภาคสนามเพื่อทำวิจัย วิธีการอย่างหนึ่งที่นิยมใช้ในการเก็บบันทึกข้อมูลคือการทำบันทึกภาคสนาม (field note)

 

ถ้าถามว่าการจดบันทึกภาคสนามมีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนจำได้ว่า ครั้งหนึ่งเคยนั่งฟัง รศ.ดร.ไชยยันต์ รัชชกูล กับ ผศ.ดร. ทวีศักดิ์ เผือกสม ซึ่งมานิเทศเรื่องการเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์สังคมให้แก่คณะวิจัยที่มีทั้งอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา (ซึ่งผู้เขียนอยู่ในประเภทหลัง) สิ่งหนึ่งที่จำได้แน่นอนคือ การบันทึกภาคสนามเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่จะทำอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ผู้วิจัยและ สไตล์ ที่ผู้วิจัยเป็น บางคนจดแทบทุกอย่าง บางคนจดเฉพาะสิ่งที่ตัวเองต้องการ บางคนอัดเสียงบันทึกภาพเก็บมาดูทีหลัง พร้อมกับเอกสาร ภาพถ่าย ฯลฯ  แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การจดบันทึกภาคสนามนั้น คือสิ่งที่นักวิจัยคุณภาพประเภทที่ "เดินเท้าหาความจริง" ต้องทำ  และแม้แต่นักวิจัยคุณภาพที่ "นั่งอ่านหาความจริง" ก็ควรทำเพื่อบันทึกสิ่งที่ค้นพบในสนามการศึกษาของตนเช่นกัน

ข้อสรุปตรงนี้ จึงได้ว่า บันทึกภาคสนาม เป็นเรื่องที่ต้องทำ ส่วนจะบันทึกภาคสนามด้วยวิธีการเช่นไร เป็นเรื่องที่ผู้บันทึกภาคสนามจะต้องศึกษาหาวิธีและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับด้วยตัวเอง

 

แล้วมีวิธีบันทึกภาคสนามอย่างไรบ้าง

คำตอบคือ มากมาย แต่พอจะบอกได้ตามสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในบันทึกภาคสนาม ดังนี้

1. วัน เวลา สถานที่ คนที่เราคุยด้วย (ให้รายละเอียดเรื่อง ชื่อ เพศ อายุ ชนชั้นทางเศรษฐกิจ สถานภาพทางสังคม และทัศนคติเชิงอำนาจ หรืออื่น ๆ ตามที่่่จำเป็นต้องมีให้ครบที่สุด) เช่น สัมภาษณ์ นาย เกรียงไกร เจริญมากมาย ที่บ้านของผู้ให้สัมภาษณ์ เลขที่ 20 ม. 7 บ้านสมมติ ตำบลจำลอง อำเภอตัวอย่าง เริ่มเวลา 16:00 น. อายุ 42 ปี อาชีพข้าราชการครู ในบ้านค่อนข้างมีฐานะ มีรถยนต์ จักรยานยนต์ ทำการเกษตร ภรรยาขายตรง ชอบทำกิจกรรมทางสังคม มีตำแหน่งเป็นกรรมการวัด กรรมการโรงเรียน ชอบพรรคประชาธิปัตย์

2. ระเบียบวิธีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์ การสังเกตแบบมีหรือไม่มีส่วนร่วม การสนทนา และควรอธิบาย "สภาพแวดล้อม" ในการใช้ระเบียบวิธีนั้น ๆ ด้วย เช่น ระหว่างสัมภาษณ์ผู้ให้สัมภาษณ์มีท่าทีผ่อนคลาย การตอบคำถามเป็นไปอย่างธรรมชาติ หรือ ผู้สัมภาษณ์ดูมีท่าทีอึดอัด ค่อนข้างอึดอัดและปฏิเสธที่จะตอบด้วยคำว่า "เรื่องนี้ตัวเองไม่รู้ แค่เคยได้ยินมา" หรือ ระหว่างสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลบางคนโทรศัพท์พูดคุยเรื่องซื้อหวยเป็นระยะ ๆ

3. ข้อมูลรายละเอียด เป็นส่วนสำคัญที่สุดและจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์และตีความข้อมูลในภายหลังมากที่สุด ส่วนนี้คือการจดเรื่องที่เราได้สัมภาษณ์ พูดคุย กับผู้ให้ข้อมูล พูดง่าย ๆ คือ จดความเห็นของผู้ให้ข้อมูลนั่นเอง และต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่เอาความเห็นและตีความข้อมูลของผู้ให้ข้อมูลในขั้นตอนนี้

 

ในยุคที่เทคโนโนโลยีช่วยเหลือเราได้เยอะ การมีเทปบันทึกเสียง กล้องถ่ายรูปดิจิตอล และวีดีโอดิจิตอล การบันทึกภาคสนามก็พลอยสะดวกเพราะสามารถใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์เหล่านี้ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไร ลายมือของเราที่ปรากฎบนกระดาษที่เป็นบันทึกภาคสนามก็ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดอยู่ดี และเมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจในการวิจัยในแต่ละวัน เมื่อได้อยู่คนเดียวเมื่อไร นั่นคือเวลาสำหรับการเรียบเรียงสิ่งที่ จด และ จำ ให้มีระเบียบ อ่านซ้ำเองแล้วเข้าใจเองได้โดยไม่ต้องระลึกชาตินาน  ส่วนนี้ สำหรับตัวผู้เขียนเอง ใช้วิธีจดลง blog ซึ่งแก้ปัญหาจดแล้วหายและความเบื่อในการเขียนเรื่องที่ตัวเองเขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้อีกพอควร

 

สำหรับสิ่งที่จะช่วยในการจดบันทึกภาคสนามได้มากอีกอย่างคือ การมีสมุดเล่มเล็ก ๆ ชนิดที่ใส่กระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกงได้ง่าย เพื่อทำการจดบันทึกย่อ ซึ่งควรจะมีติดตัวไว้ตลอด (แต่ก็อาจประยุกต์ด้วยวิธี ใช้สมุดเล่มเดียว แต่แบ่งพื้นที่เอาก็ได้) วัตถุประสงค์ของการจดบันทึกย่อคือ การช่วยให้นักวิจัยสามารถจดสิ่งที่ตัวเองพบเห็นได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้คว้าโอกาสในการเก็บข้อมูลได้ รวมถึงช่วยได้มาก กับผู้ให้ข้อมูลที่ไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะผู้ให้ข้อมูลที่อ่อนไหวกับการ "จด" สิ่งที่เป็นรายละเอียดของชีวิต (ซึ่งเป็นสิ่งที่นักวิจัยเชิงคุณภาพต้องการมาก ๆ ) ของผู้ให้ข้อมูล หรือแม้แต่ผู้ให้ข้อมูลที่มักพูดให้ข้อมูลอย่างพรั่งพรู จนการพยายามจดของผู้วิจัย กลายเป็นตัวขัดขวางการได้ข้อมูลเสียเอง เป็นต้น  สำหรับตัวผู้เขียนเคยใช้วิธีการจดบันทึกย่อหลาย ๆ ครั้งต่อบุคคลที่ได้รับการอ้างอิงว่า "รู้ข้อมูลนี้ดียิ่งกว่าใคร" แต่พยายามปิดบังและไม่ให้ข้อมูลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องอะไรมากนัก  การทำบันทึกภาคสนามจึงทำไม่ได้เลย และการจดบันทึกย่อโดยตรงก็ทำได้ยาก ซึ่งผู้เขียนได้แก้ปัญหาด้วยการจำ keyword แล้วมาพิมพ์ใส่มือถือในลักษณะ "บันทึกย่อ ๆ แบบย่อ ๆ อีกที" แล้วค่อยขยายความบันทึกย่อนั้นเพิ่มขึ้นอีกครั้ง จนกระทั่งผู้ให้ข้อมูลมีความคุ้นเคยและไว้เนื้อเชื่อใจพอควร ผู้เขียนจึงพร้อมที่จะคุยกันไปจดไปด้วย ข้อมูลย่อ ๆ แบบย่อ ๆ ที่บันทึกไว้จึงได้แสดงศักยภาพในการทำความเข้าใจมุมมองของผู้ให้ข้อมูลในที่สุด

 

สุดท้าย สิ่งที่ทำบันทึกภาคสนามพึงสังวรณ์เสมอคือ "เราคือผู้สังเกต ไม่ใช่ผู้ตัดสิน" เรา observertion ไม่ใช่ judge ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราต้องแยก อัตวิสัยของเรา ออกจากอัตวิสัยของผู้ให้ข้อมูลให้ได้ ไม่อยากนั้น การทำบันทึกภาคสนามจะไม่ต่างอะไรกับหาข้อมูลเขียนนิยายประโลมใจตนเองเท่านั้น

 

 

บรรณานุกรม

ชาย โพธิสิตา. (2555). ศาสตร์และศิลป์แห่งการวิจัยเชิงคุณภาพ. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่งจำกัด (มหาชน). หน้า 338-343



 

หมายเลขบันทึก: 543759เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 12:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ยินดีครับผม

หวังว่าจะมีประโยชน์อยู่บ้างนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท