แนวคิดของ parody ตอนที่ 3


     Jameson จึงได้แบ่งยุคออกเป็นสามช่วง ดังนี้ ช่วงแรกเป็นเรื่องของความสมจริง (realism) ความสมจริงจึงเป็นเรื่องของชนชั้นกลางและนิยายทางประวัติศาสตร์

     ช่วงที่สองเป็นเรื่องความทันสมัย (modernism) Jameson ชื่นชอบในยุคทันสมัยนี้มาก เพราะว่าวัฒนธรรมของความทันสมัยแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อโลก ยกตัวอย่างรูปเขียนของ Edvard Munch ที่มีชื่อว่า การกรีดร้อง (the scream)  สำหรับ Jameson แล้วนี่เป็นเสียงร้องของความสิ้นหวัง และมันเป็นแก่นเรื่องของศิลปินทันสมัยที่แสดงให้เห็นถึงความแปลกแยก ความไม่มีแก่น การขาดอัตลักษณ์ ความเหงา และความเป็นส่วนเสี้ยวของสังคม โดยนัยยะเดียวกัน ภาพวาดชุด รองเท้าของชาวนา (Peasant Shoes)ของ Van Gogh  ก็เป็นความพยายามที่จะวิพากษ์ความยากจนในบริบทของชาวนาและความยากเข็ญ แก่นเรื่องของความทันสมัยคือการมีวิสัยทัศน์ถึงโลกแห่งหน้าที่ดีกว่านี้ (Utopia) เป็นการเมือง และความใฝ่หา  

     ช่วงที่สามเป็นเรื่องของยุคโพสต์โมเดิร์น ยุคนี้เป็นเรื่องของการหลุดออกจากภาษาในชุมชนและความเป็นส่วนเสี้ยวของภาษาในชุมชน ซึ่งหมายความว่ามีการแย่งออกเป็นกลุ่มเล็กหลายกลุ่มอย่างชัดเจน แต่ละกลุ่มก็พูดภาษาของตนเอง มีการพัฒนารหัส (คือการเรียนรู้กฎหรือสัญญะในการสื่อความหมาย หรือโครงสร้างในการสื่อความ) ซึ่งอาจเป็นภาษาถิ่น มีความเป็นส่วนตัว และในที่สุดก็จะกลายเป็นรู้เรื่องอยู่คนเดียว เหมือนกับอยู่ในเกาะที่มีตนเองหรือกลุ่มของตนอยู่ในเกาะนั้น และแยกขาดจากผู้อื่น ตัวอย่างในที่นี้ก็คือ ภาษาแบบเฟซบุ๊ค เช่น บ่องตง จุงเบย ฯลฯ หรือคำศัพท์ที่เกย์หรือกะเทยใช้กัน 

     ตามความคิดของ Jameson คนที่มาอยู่ในยุคของโพสต์โมเดิร์นจะเป็นพวกที่แปลกแยก ดำรงชียอยู่ในความเพ้อฝัน บางครั้งรู้ตัวบางครั้งก็ไม่รู้ตัว เป็นความจริงที่มีแต่ภาพลักษณ์ (images) มีแต่มหรสพ  แปลกแยกในกาลเทศะใหม่ ผูกติดอยู่ในสินค้า ผลิตภัณฑ์ ภาพลักษณ์ ศิลปะเพื่อมวลชน (pop art) หรือผูกติดกับภาพลักษณ์ที่มีการเคลื่อนไหวไปมาซึ่งถูกขโมยไปจากวัฒนธรรมบริโภค และผลิตซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าในแบบหรือสำเนาของยุคอุตสาหกรรม คนในยุคนี้อาจหลงอยู่กับภาพปะติดกับภาพลักษณ์ที่เหมือนกับดาราฮอลลิวูด เช่น มาริลีน มอนโร, ไมเคิล แจ๊คสัน หรือมาดอนน่า ทุกสิ่งที่แต่ความไม่มีราก หลุดลอย ลองเปรียบเทียบกับ รองเท้าของชาวนา ซึ่งเป็นภาพวาดของ Van Gogh ดู จะเห็นได้ว่าศิลปะแบบทันสมัยนั้นฉายให้เห็นภาพของโลกแห่งความเศร้าโศกจริงๆ สุดท้ายให้มาดูงานของ Andy Warhol ซึ่งภาพวาดที่มีชื่อว่า Diamond Dust Shoes ดู งานนี้จะสังเกตว่าไม่มีความลึกใดๆ และไม่เชื่อมโยงกับภาพจริงๆ นั่นคือเป็นการพังทะลายของความแตกต่างระหว่างศิลปะชั้นสูงกับศิลปะชั้นต่ำ มวลชนที่มาเป็นผู้ดูละทิ้งจากการจ้องมองความมีอิสระของภาพ ก็เหมือนกับการจ้องดูภาพในโทรทัศน์ที่ไม่เหมือนกับการดูภาพจริงๆ ภาพในโทรทัศน์นั้นเป็นเหมือนกับฉายให้เห็นแค่พื้นผิว เหมือนหนับเกรด บี เหมือนกับเรื่องเบาสมอง เหมือนกับโฆษณา เหมือนกับโมเตล เหมือนกับวัฒนธรรมหนังสืออ่านเล่น เช่น Reader Digest เหมือนกับเพิ่งจะประดับประดา เหมือนของปลอม ฯลฯ

     อย่างไรก็ตาม Jameson ก็ไม่ได้เข้าไปในโลกโพสต์โมเดิร์นอย่างแท้จริง เพราะว่าทางเข้าถูกปิด แต่ต่อมาเขาจึงเจอทางเข้า กระนั้นทางเข้านั้นก็เหมือนกับประตูหลัง เขาได้เข้าสู่เส้นทางไปสู่โลกของโพสต์โมเดิร์นแบบเร็วกว่าแสง (hyperspace) เขาได้เข้าไปสู่ลิฟท์ขึ้นลงอย่างนั้นตลอด สุดท้ายเขาจึงรู้สึกว่าเวียนหัว เหมือนกับการถูกผลักให้ไปสู่ความว่างเปล่าและสับสนงุนงง เขาจึงต้องการแผนที่ เพื่อที่มีแนวทางและจะได้ไปสู่โลกโพสต์โมเดิร์นนี้  

เดี๋ยวมาต่อกันตอนที่ 3 นะครับ
หมายเลขบันทึก: 543615เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบแนวคิด การดำเนินชีวิต และภาพเขียนที่สะท้อนถึงความยากจนของผู้คนในยุคนั้น และรวมทั้งตัวของVan Gogh เอง...แต่อีกมิติ...ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ในช่วงเวลาต่างๆในชีวิตของศิลปินท่านนี้นะคะ...โดยเฉพาะภาพเขียนสีน้ำมัน ...starry night บอกหลายอย่างที่ลึกซึ้งมากๆ...ขอบคุณค่ะอาจารย์

ขอบคุณบันทึกดีๆ ที่ให้ความรู้ และแนวคิดมากมายครับ อาจารย์

ขอบคุณมากสำหรับ ดร.พจนาและ พ.แจ่มจำรัสครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท