beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ครอบครัวตึ๋งหนืด <๒๑> ถ้าจำเป็นจะต้องเสียค่ารถแท็กซี่ก็จะไม่ยอมเสียถึง ๒๐๐ บาท (ฉบับแถมความรู้)


แทนที่จะเสียค่าแท็กซี่ ๒๐๐ บาท ผมเสียแค่ ๑๖๕ บาท ประหยัดได้ ๓๕ บาท/ซ่อนความรู้สถานีขนส่งผู้โดยสารและแท็กซี่มิเตอร์จังหวัดพิษณุโลก

    ตอนกลับจากเชียงใหม่ (๒๒ ก.ค.๕๖) ขึ้นรถนครชัยทัวร์ที่อาเขต ๓ เชียงใหม่ (ติดกับอาเขต ๒) เส้นทางเชียงใหม่-นครราชสีมา แต่ลงกลางทางที่พิษณุโลก ค่ารถ ๒๙๙ บาท รถออก ๑๗.๓๐ น. จะมาถึงพิษณุโลกที่สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพิษณุโลกแห่งที่สองก่อนเที่ยงคืนเล็กน้อย

   ตอนขึ้นรถ พนักงานสาวที่ค่อนข้างจ้ำม่ำ นำขนมฟาร์มเฮ้าท์แบบมีไส้มาแจก ๒ อันๆ ละ ๕ บาท และน้ำ ๑ ถ้วย ฝนตกตั้งแต่ยังไม่ขึ้นรถ พอออกรถมาได้หน่อยฝนก็หยุดตก พนักงานสาวแนะนำพนักงานขับรถ ๒ คน คนแรกขับจากเชียงใหม่ ถึงเขาทราย (พิจิตร) และคนที่สองขับจากเขาทรายถึงโคราช ใช้เวลาเดินทางรวม ๑๒ ชั่วโมงครึ่ง และได้บอกว่าถ้าหากผู้โดยสารมีความประสงค์ลงนอกจุดจอด กรุณาแจ้งพนักงานล่วงหน้าด้วย

   รถมาถึงพิษณุโลกตอน ๒๓.๑๕ น. แวะจุดพักทานข้าว ๒๐ นาที บีแมนก็ไปทานข้าวต้มรอบดึก (มีกับข้าว ๓ อย่าง) พอได้เวลารถก็ออกมาส่งที่ท่ารถพิษณุโลกแห่งที่สอง พนักงานขอเก็บตั๋วโดยสารไปและแจกผ้าเย็นมาให้ ๑ ผืน.. 

   ตอนอยู่ที่พิษณุโลก ได้ข่าวจากนิสิต (ธรณินทร์) ว่าจะไปขึ้นรถทัวร์ที่สถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ ๒ ตอนดึกๆ ต้องเรียกแท็กซี่ตรงจุดจอดมน.ไป เสียค่ารถแท็กซี่มิเตอร์แบบเหมาจ่าย ๒๐๐ บาท  ซึ่งตอนเดินทางไปเชียงใหม่ขาขึ้น ผมใช้บริการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รถเร็วขบวน ๑๐๙ ค่าธรรมเนียมและค่าโดยสาร ๒๖๐ บาท รถช้ากว่ากำหนดไป ๑ ชั่วโมง ๕๐ นาที) และใช้บริการรถเมล์บ้านเรา (ค่ารถ ๒๑ บาท)

  ตอนขึ้นรถทัวร์ที่เชียงใหม่ บีแมนลองคิดเล่นๆ ว่ามีวิธีการอย่างไรที่จะไม่เสียค่าแท็กซี่ถึง ๒๐๐ บาท

  • ขึ้นรถทัวร์เชียงใหม่-กรุงเทพฯ ที่ผ่านหน้ามน. (โชครุ่งทวีทัวร์) ซึ่งข้อนี้ไม่ได้ปฏิบัติตั้งแต่แรก (อยู่อาเขต ๒)
  • มองหาคนรู้จักซึ่งอยู่มน.หนองอ้อ ที่อาจมีคนมารับแล้วก็ขอไปกับเขา
  • ไปขออาศัยรถทัวร์พิษณุโลก-กรุงเทพฯ ที่ผ่านหน้ามน. แล้วขอลง (ซึ่งปัจจุบันหลายบริษัท ไม่อนุญาต ให้ผู้ไม่มีตั๋ว ขึ้นรถไปด้วย)
  • ใช้บริการรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างซึ่งน่าจะถูกกว่า
  • อื่นๆ ที่ยังคิดไม่ออก เพราะท่ารถใหม่ยังไม่มีบริการรถเมล์ มีแต่รถรับจ้าง
   พอลงจากรถนครชัยทัวร์ เห็นมี ๒ แถววิ่งจากท่าเก่า (สถานีขนส่ง ๑) มาท่าใหม่ (สถานีขนส่ง ๒) คนโดยสารจ่ายค่ารถด้วยธนบัตรใบละ ๒๐ บาท.. คนขับรถอัธยาศัยดี มาเรียกลูกค้าบอกว่าเป็นบริการวันแรก (คิดว่าทำไมโชคดีอย่างนี้) ที่เก็บค่าโดยสาร (ทำไมเป็นอย่างนั้น) เพราะแต่ก่อนฟรี (อ้าว!)
  ตัดสินใจขึ้นรถคันนี้ เพราะถ้าไปท่าเก่า ค่าแท็กซี่ ๑๕๐ บาทเท่านั้น.. เนื่องจากตอนนั้นมีขึ้นคนเดียว จึงขอไปสำรวจท่าใหม่สักเล็กน้อย มีรถผ่านเข้าออกหลายคันทีเดียว
  ระหว่างรอคน คนขับรถก็สอบถามข้อมูลเรื่องรถแท็กซี่รับจ้างให้ดังนี้
  • ระยะทางระหว่างท่าใหม่กับมน. ซึ่งดูน่าจะใกล้กว่าท่าเก่า แต่ความจริงมีระยะทาง ๒๒ กิโลเมตร (เพราะสร้างเลี่ยงเมือง) กำหนดราคาค่าโดยสารไว้ที่ไม่เกิน ๒๐๐ บาท
  • ระยะทางระหว่างท่าเก่ากับมน. ประมาณ ๑๙ กิโลเมตร กำหนดราคาเหมาไว้ที่ ๑๕๐ บาท
  สุดท้ายผมก็ขึ้นรถสองแถวคันนี้ มาที่ท่าเก่า ระยะทางระหว่างท่าใหม่กับท่าเก่าน่าจะอยู่ประมาณ ๗-๑๐ กิโลเมตร ค่าโดยสารคนเดียว ๑๕ บาท (ถูกดี)
  มาถึงท่าเก่า มอเตอร์ไซด์รับจ้างมาถามว่าจะไปไหน พอบอกว่าจะไปมน.(นอก) เขาให้เหมาไป ๑๕๐ บาท บอกแพงไป ลดให้เหลือ ๑๒๐ บาท.. ดูท่าทางฝนจะตกผมจึงไม่ใช้บริการ เพราะว่าน่าจะมีความเสี่ยงกว่าจะประหยัดเงินไปอีก ๓๐ บาท
   เดินไปหาแท็กซี่ (ซึ่งเหลือจอดอยู่แค่คันเดียว) ถามว่าไปมน.ไหม เขาว่าไป คิดค่าบริการส่งถึงที่ ๑๕๐ บาท ก็ตกลงไปเลย
    ระหว่างทางก็ได้หาความรู้ โดยตั้งคำถามแบบ AI ระหว่างทาง ได้ข้อมูลดังนี้
  • เป็นรถตัวเองหรือรถเช่า-รถเช่า
  • ค่าเช่าเท่าไร-วันละ ๑,๐๐๐ บาท
  • แพงจัง-แต่รถอยู่กับเรา ๒๔ ชั่วโมง
  • จ่ายค่าเช่าตอนไหน-ก่อน ๔ โมงเย็น
  • ต้องหาเงินวันละเท่าไร จึงจะคุ้ม-วันละ ๒,๐๐๐ บาท
  • ถ้าได้ ๒,๐๐๐ บาท จะเหลือเป็นของเราเท่าไร-จ่ายค่าเช่า ๑,๐๐๐ บาท, ค่าแก๊ส ๔๐๐ บาท เหลือ ๖๐๐ บาท
  • วันละ ๖๐๐ บาท พอไหม- พอ ตกเดือนละ ๑๘,๐๐๐ บาท
   ต่อจากนั้นผมถามเรื่อง กรณีเรียกรถผ่าน call center มีค่าบริการอย่างไร ได้ข้อมูลเรื่องแท็กซี่พิษณุโลกมาฝากดังนี้
  • ที่พิษณุโลกมีแท็กซี่อยู่ ๒ บริษัท คือ แท็กซี่พิษณุโลก และ แท็กซี่สองแคว
  • ทั้ง ๒ บริษัท เจ้าของเดียวกัน
  • บริษัทแรกคือ แท็กซี่พิษณุโลก เปิดดำเนินการปี ๒๕๕๓ มีรถบริการครั้งแรก ๒๖ คัน และขยายจนถึง ๕๐ คัน
  • พอครบ ๕๐ คัน คันที่ ๕๑ เปิดบริษัทใหม่คือ แท็กซี่สองแคว
  • ปัจจุบัน (๒๕๕๖) พิษณุโลก มีแท็กซี่รวม ๑๐๐ คัน
  • ถ้าเรียกแท็กซี่ผ่าน call center จะเป็น call center เดียวกันทั้ง ๒ บริษัท
  • คนขับรถทุกคัน จะเสียค่าบริการ  call center เดือนละ ๓,๐๐๐ บาท (รวมอยู่กับค่าเช่าวันละ ๑,๐๐๐ บาท) แล้ว
  • ถ้าลูกค้าโทรเข้า  call center แล้ว  call center จะหาแท็กซี่คันที่อยู่ใกล้ที่สุด (แท็กซี่จะไม่โกหกกัน-จะรู้ว่าใครอยู่ใกล้) แล้วให้เบอร์โทรลูกค้า จากนั้นแท็กซี่จะโทรหาลูกค้า นัดจุดที่ไปรับ 
  • ซึ่งถ้าไปรับและกดมิเตอร์จะเสียค่าบริการเพิ่ม ๒๐ บาท แต่ถ้าเป็นกรณีเหมาอย่างเช่นมารับที่มน. ๑๕๐ บาท จะไม่คิดค่าบริการเพิ่ม คิดแค่ ๑๕๐ บาท เท่านั้น
    สรุปว่า แทนที่จะเสียค่าแท็กซี่ ๒๐๐ บาท ผมเสียแค่ ๑๖๕ บาท ประหยัดได้ ๓๕ บาท. ซึ่งความจริง ๓๕ บาท อาจเป็นเงินไม่มาก แต่ระหว่างทางเราได้คิด/วิธีคิด และได้ปฏิบัติตามความคิด/วิธีคิด มีความสุขกับการปฏิบัติ แถมได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีก..เอาความรู้ไปต่อยอดค้นคว้าเพิ่มเติม ก็ทราบว่าแท็กซี่ขอนแก่นเป็นจุดกำเนิดของแท็กซี่พิษณุโลก และต่อไปเป็นแท็กซี่นครสวรรค์ 
    การคิดค่าบริการ Taxi meter 2 กิโลเมตรแรก ราคาเริ่มที่ 30 บาท จากนั้นคิดกิโลเมตรละ 4 บาท

หมายเลขบันทึก: 543435เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 08:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท