จากบันทึกภาคสนาม เรื่อง ชื่อบ้านนามถิ่นแถว ๆ บ้านตัวเอง


จากการที่ได้พูดคุยกันคนเฒ่าคนแก่ รวมถึงพระสงฆ์องค์เจ้า ถึงที่มาของชื่อและความเป็นมาของถิ่นฐานที่ตนเองอยู่ในปัจจุบัน และด้วยเชื่อว่า เรื่องเก่าไม่เล่าก็ลืม จึงขอบันทึกเรื่องราวที่ตัวเองได้ถามและได้รู้มาไว้ ณ ที่นี้

อนึ่ง  บันทึกหน้านี้คงจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อย ๆ ตามเรื่องราวที่ได้รู้เพิ่มขึ้นในอนาคตครับ

 

วัดท่ายายหนี
วัดท่ายายหนี หรือ วัดมัชฌิมภูมิวราราม ชาวบ้านทั้งเด็ก กลาง และ แก่ รู้ดีกันว่า บุกเบิกและตั้งขึ้นโดยพ่อท่านนำ (นำ ฐิตฌาโน) ท่านเป็นพระที่เด่นเรื่องการเป็นพระรักษาคน เป็นหมอยา ก่อนมาบุกเบิกวัดท่ายายหนี ก็เคยบุกเบิกวัดในพัทลุง ในนครมาก่อนหลายแห่ง เลยมีลูกศิษย์ลูกหากระจายอยู่ทั่ว ส่วนก่อนที่จะเป็นวัด พื้นที่ตรงนี้เป็นแค่ที่ริมคลองอ้ายเขียว ชื่อท่ายายหนี แม่เฒ่า (ยาย) และคนแก่หลาย ๆ คน เล่าให้ฟังต่อ ๆ กันมาว่า มียายคนหนึ่ง (บางคนก็บอกว่า เป็นคู่ตายาย) ซึ่งหนีสงครามมาสมัยที่ญี่ปุ่นบุกเมืองนคร (ราว พ.ศ. 2484) หลบมาสร้างขนำเล็ก ๆ อยู่ตรงท่าน้ำตรงนี้ จึงเรียกกันตรง ๆ และง่าย ๆ ว่า ท่ายายหนี

คนแก่ท่านหนึ่ง ท่านหูตึงและความจำนั้นแจ่มใส ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อแรกสร้างที่นี่เป็นวัดนั้น พื้นที่ที่เรียกว่าท่ายายหนีจึงเป็นเพียงป่ามะพร้าว แต่ทำเลนั้นดี เพราะมีลักษณะเป็นที่ค่อนข้างราบ ทิศใต้เป็นคลอง ทิศตะวันตกเป็นถนนสายหลักที่เชื่อมอำเภอนบพิตำกับอำเภอเมืองเข้าด้วยกัน ในขณะที่วัดเดิมในละแวกนั้นที่มีอยู่ก็ค่อนข้างห่างไกล แห่งหนึ่งคือวัดคลองเมียด อีกแห่งหนึ่งคือวัดในเขียว ซึ่งวัดนี้เรียกว่าวัดตก  วัดท่ายายหนีที่เพิ่งสร้างจึงกลายเป็นวัดที่อยู่ตรงกลางโดยปริยาย และกลายเป็นที่มาของชื่อเต็ม ๆ ของวัดที่ชื่อ มัชฌิมภูมิวราราม และเรื่องที่ทั้งคนแก่และคนวัยกลางคนในละแวกนั้นจำได้เสมอคือ การสร้างกุฏิเป็นอาคารไม้ยกสูงหลังใหญ่ สร้างด้วยไม้หลุมพอทั้งหลัง ซึ่งนับว่าใหญ่มากในสมัยนั้น (ราว พ.ศ. 2510) ซึ่งเป็นงานที่หนัก เหนื่อย และต้องประสานราชการเยอะและยังใช้ได้ดียิ่งมากทุกวันนี้

 

บ้านอ้ายเขียว วัดในเขียว แล้ว...น้ำตกในเขียวหรือน้ำตกในเขียวกันแน่
ชื่อสองชื่อนี้ บางทีก็ใช้กันปน ๆ อยู่ เช่น โรงเรียนใช้ว่า โรงเรียนบ้านในเขียว กับ โรงเรียนบ้านในเขียว 2 วัดใช้ว่า วัดในเขียว ตัวคลองกับน้ำตกชื่ออ้ายเขียว ส่วนชื่อท้องที่ใช้ว่า บ้านอ้ายเขียว ตำบลทอนหงส์ แต่ทั้งหมดนี้ ชาวบ้านในปัจจุบันเรียนในเขียวทั้งหมด เมื่อสอบถามคนแต่ละคนก็บอกไม่ได้แน่นอนว่าชื่ออ้ายเขียว หรือ ในเขียว มาจากไหน อย่างไรกันแน่ ส่วนใหญ่จะบอกว่า เป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนกันไปเพี้ยนกันมาของเจ้าหน้าที่ปกครองที่มาเดินทำสำมะโนแล้วกำหนดชื่อเรียกในสมัยก่อนเก่า จนได้คุยกับคนแก่ท่านเดิมที่หูตึง แต่ความจำแจ่มใส (เพิ่มเรื่องไม้เท้าที่ทำจากท่อ PVC อีกเรื่อง) ท่านได้เล่าสรุปอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองชื่อต่างมีที่มากที่ไป

ชื่อ อ้ายเขียว เป็นชื่อของต้นทุเรียน ซึ่งไม่ได้มีแต่อ้ายเขียว หรือ ไอ้เขียว (ภาษาสุภาพสมัยโน้น เปลี่ยนไอ้ เป็นอ้าย และเปลี่ยนอี เป็นนาง) แต่มี ไอ้แดง กับ ไอ้ขาวด้วย  การเรียกอย่างนี้เป็นวิธี "หมาย" หรือจำชื่อต้นไม้ที่ตัวเองจับจองไว้ว่าเป็นของตน โดยเอาลักษณะที่โดดเด่นของต้นไม้ต้นนั้นมาตั้งแต่และประกาศให้คนอื่นรู้ว่า จากอ้ายเขียวนี้ไปทางทิศนี้ ๆ ถึงอ้ายแดง เป็นพื้นที่ผลประโยชน์ของใคร เรื่องการตั้งชื่อต้นไม้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนในพื้นที่แถวนี้มาแต่ดั้งแต่เดิม แม้แต่คนในวังท่านหนึ่งที่ปลดออกตอน ร.6 สวรรคต เมื่อกลับมาอยู่บ้านแถวขุนพนมก็ตั้งแต่ต้นไม้ ทั้งเพื่อประกาศอาณาเขต และเพื่อจำไว้ว่า ต้นไหนอร่อยอย่างไรมีลักษณะอย่างไรด้วยซ้ำ ธรรมเนียมนี้คงหมดไปตอนที่คนสมัยนั้นเริ่มเข้าถึงการทำรังวัด แต่การทำรังวัดที่ว่า ก็ต้องกำกับด้วยธรรมเนียมใหม่อีกอย่างที่เรียกว่า "ใส่โจ"

ส่วนในเขียว คือ ข้างในป่า ซึ่งคนแก่ท่านนี้ก็สรุปง่าย ๆ ว่า  ในเขียวน่ะกว้าง ส่วนอ้ายเขียวน่ะ ที่จริงแคบ ๆ ซึ่งก็คือพื้นที่แถว ๆ ทางขึ้นน้ำตกตรงสามแยกอ้ายเขียว (ตรงนั้นมีบ้านที่เรียกว่า หลังคาแดง เพราะตอนแรกสร้าง เจ้าของบ้านมุงหลังคาด้วยกระเบื้องสีแดงแปร้ด เด่นมาก)

อนึ่ง จึงคิดว่า ชื่ออ้ายคู ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ก็คงมีที่มาจากลักษณะนี้เช่นกัน

 

บ้านนากลาง
ชื่อนี้ง่ายที่สุด ชัดเจนที่สุด แต่ไม่ค่อยมีคนรู้ เพราะคนที่จำที่มาไว้บอกต่อก็คือคนในตระกูลบุญเจริญที่มาปักหลักตรงที่บ้านนากลางที่ว่า ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็ไม่ค่อยรู้ เข้าทำนอง เรื่องเก่าไม่เล่าต่อ ก็เลยลืม

ชื่อบ้านนากลาง มีที่มาจากการประกอบอาชีพทำนาของคนตรงนี้ ในขณะที่บริเวณรอบ ๆ นั้นทำสวนผลไม้ สวนสมรมกัน  ส่วนชื่อที่ไม้แน่ใจคือ นาพานทอง ว่ามีชื่อมาจาก นาของสกุล พานทอง เพราะเขาว่ากันบางคนแต่ก็ไม่ค่อยกล้ายืนยัน

 

ห้วยหินลับ
เป็นชื่อห้วยเล็ก ๆ ที่ไหลผ่านชุมชนบ้านนากลาง  เรื่องนี้พ่อเฒ่า (ตา) เล่าให้ฟังว่า มีที่มาจากห้วยที่ลึกมากและมองไม่เห็นท้องห้วย ประกอบกับ มีหินสาก ๆ ที่เหมาะกับการลับมีด เลยเรียกชื่อนี้

 

เกร็ดสกุล สันฐมิตร สันถมิตร
พระต้นองค์หนึ่ง (คำว่า ต้น หมายถึง พระบวชพรรษาแรก) ซึ่งเป็นคนในสกุลนี้ เล่าว่า ทั้งสองตระกูลเป็นคนสายตระกูลเดียวกัน แต่เพราะไปหาข้าราชการนายอำเภอคนละครั้ง เลยมีนามสกุลไม่เหมือนกันจนมาถึงทุกวันนี้  อนึ่ง  เคยเจอเรื่องทำนองนี้กับคนสกุล เอียดสุข กับ สุขเอียด ในพื้นที่แม่ขรี-พัทลุง กับ ระโนด-สงขลา ที่นับญาติกันไปมาแล้วพบว่า  เป็นญาติกันตามสงสัยจริง ๆ เพียงแต่ไปพบอำเภอคนละครั้ง และท่านก็กรุณาตั้งให้คนละแบบ

หมายเลขบันทึก: 543332เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2013 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กรกฎาคม 2013 12:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่นำประวัตฺศาสตร์ชุมชนมาเรียนรู้

ที่พัทลุง มีควนหมาถด

บ้านดงขี้หมิน กลายเป็นดงขมิ้น ล้วนมีที่มาที่ไป บันทึกไว้ ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน

ที่กระบี่ บ้าน ควนหมาตั้ง ย่อมมีที่มาเหมือนกัน

ที่ปากพะยูน ชื่อเดิมเกราะ ราบ  แต่ทางการมาเขียนเป็นเกาะลาภ ซึ่งคนละความหมาย

บ้านควนแหวง ซึ่งหมายถึงเกิดภัยพิบัติ ควนแหวงออกมาซีกหนึ่ง คนคิดดีที่ไม่คำนึงของเก่าตั้งชื่อ รรเป็นควนแสง ไม่รู้จักภูมินาม

วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเช่นกันครับ

เรื่อง บ้านควนแหวง นี่ นึกออกเลยครับ ว่า  ชาวบ้านพูดเป็นภาษาใต้ว่า ควนแหวง  ท่านปลัดสำรอง ปลัดซ้าย ปลัดขวา อาจจะฟังไม่ออก  เขียนควนแสงไปเลย 

 

ปล.  ขออนุญาตแจ้งว่า บันทึกหน้านี้จะ update เรื่อย ๆ ตามจังหวะและโอกาสที่จะได้กลับบ้านและได้คุยกันผู้คนในตำบลที่เรียกว่าบ้านเกิดครับผม ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท