The Reader: ช่วงรักต่างวัย กับ อาชญากรสงคราม: การศึกษาในเชิงการตีความ 4


        ประเด็นนี้ถูกย้ำอีกครั้งเมื่อฮันนาจะได้รับการปลดปล่อยหลังถูกจำคุกมาถึง 20 ปีแล้วไมเคิลเตรียมที่อยู่ซึ่งใกล้ห้องสมุดและแหล่งงานที่จะทำให้ฮันนาพอหาเลี้ยงชีพได้ไว้ให้เมื่อเขาเดินทางไปพบฮันนาในคุก ไมเคิลนั่งเผชิญหน้ากับฮันนาโดยมีโต๊ะอาหารคั่นกลางโต๊ะอาหารซึ่งเป็นวัตถุอย่างเดียวที่จะเชื่อมสองคนเข้าหากันได้ ฮันนาเอามือวางไว้บนโต๊ะขณะที่ไมเคิลวางไว้บนตักและไม่สัมผัสโต๊ะเลย แม้เมื่อฮันนายื่นมือออกมาเขาก็ได้แต่เอื้อมไปกุมไว้ชั่วครู่ แล้วก็ถอยมือของตัวกลับ

     คำถามที่แสนเจ็บปวดซึ่งไมเคิลมีให้แก่ฮันนาคือเธอคิดถึงอดีตอย่างไร สีหน้าของฮันนาฉายแววสดชื่นแล้วถามว่าอดีตเกี่ยวกับไมเคิลหรือไมเคิลบอกว่าไม่ใช่ แล้วย้ำว่าไม่เกี่ยวกับผม นัยยะ อดีตของเธอซึ่งเป็นอาชญากรรมต่างหาก

    ในโลกของฮันนาซึ่งไมเคิลเป็นประตูเพียงบานเดียวที่จะเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้บัดนี้เธอก็เห็นได้ชัดแล้วว่าถูกลั่นดาลไว้หนาแน่นอยู่ในคุกหรือออกจากคุกก็ไม่ต่างกัน คือต้องอยู่หลังประตูที่ลั่นดาลแน่นหนาเสมอ ฮันนาได้เรียนรู้ว่าไมเคิลไม่ได้คิดกับเธอเหมือนที่เมื่อครั้งเขายังเป็น“เจ้าหนู” ของเธออีกต่อไปแล้ว ในขณะที่เธอควบคุมเขาได้น้อยลง และเขาควบคุมเธอมากขึ้นเรื่องนี้จึงเป็นโศกนาฏกรรม เพราะไมเคิลได้ใช้ความเป็นคนชั้นกลางมีการศึกษาดีกว่าฮันนาที่ไม่รู้หนังสือโดยรวมนั่นเอง ดังนั้นเธอจึงตัดสินใจเล็ดลอดออกไปโดยการฆ่าตัวตาย 

    ในฉากนี้ภาพที่ฉายไปที่หน้าไมเคิลเป็นท่าที่ต้องใช้ “สายตา”เพื่อไปสำรวจความคิดในใจของผู้หญิง เป็นฉากที่ให้อำนาจกับผู้ชายในฐานะประธานผู้มีอากัปกริยาในการมองในขณะเดียวกันฮันนาจึงเป็นตัวกรรมที่ถูกมองโดยนัยนี้ในทางกลับกันไมเคิลจึงอาจเป็นกรรม เพราะถูกฮันนา “มอง” ก็เป็นได้ เมื่อมองในแง่นี้การที่ฮันนาหนีไปตายโดยการแขวนคอจึงอาจเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงว่าฮันนา “อ่าน” ไมเคิลออกอย่างทะลุปรุโปร่ง   

    ลูกสาวของยิวคนเดียวที่หนีรอดออกมาได้ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเมียเศรษฐีที่มีอพาร์ตเมนต์ในแมนฮัตตัน ก็ปิดประตูในการให้มรดกที่ฮันนาเจตนายกให้แก่เธอโดยเฉพาะเธอปฏิเสธที่จะรับไว้ เพราะเท่ากับเป็นการให้อภัยแก่คนที่ฆ่ายิวอย่างเหี้ยมโหด

    หนังจบลงพร้อมกับที่ อาจารย์นิธิ เสนอว่า ตัวแกเองเกิดสำนึกได้เต็มเปี่ยมว่าใช่เลย เราต่างปิดประตูขังคนอื่นให้ถูกไฟครอกตายทั้งนั้นไม่เฉพาะแต่ระบบกฎหมายเท่านั้น แต่ระบบสังคมทั้งระบบไม่ว่าจะแสดงออกในนามของศีลธรรม, ความถูกต้องดีงาม, เกียรติยศ, ความรับผิดชอบ, ความรัก,กามารมณ์, ครอบครัว, สถานภาพ,ผลประโยชน์, ฯลฯ ล้วนเป็นเหตุให้เราปิดประตูแล้วปล่อยคนข้างในถูกไฟครอกตายทั้งสิ้น ไม่เฉพาะแต่คนอื่นนะครับที่ปิดประตูเราเองก็ปิดประตูขังคนอื่นไว้อย่างเดียวกัน ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะลึกซึ้งแค่ไหนก็ไม่มีพลังพอที่ใครจะไขดาลประตูให้คนที่ถูกขังเล็ดลอดออกจากไฟได้ อย่างมากที่เราทำเพื่อลดทอนความสำนึกผิดในใจก็คืออ่านหนังสือลงเทปให้คนที่กำลังถูกไฟครอกฟัง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเราอยู่ในโลกของวาทกรรม ทุกอย่างที่เรามีล้วนแต่เป็นวาทกรรมทั้งสิ้นเป็นวาทกรรมที่เรามีให้คนอื่น และคนอื่นมีวาทกรรมให้กับเราเอง ปัญหาของความเป็นมนุษย์ก็อยู่ตรงที่เราเป็นมนุษย์นี่เอง(สำหรับปัญหาการออกจากวาทกรรมเป็นได้หรือไม่จากการอ่านของฟูโกต์พบว่ามันมีทางครับ)

     ทำไมหนังเรื่องนี้จึงชื่อว่า TheReader เพราะตัวละครทุกตัวเกี่ยวข้องกับการ “อ่าน” ทั้งสิ้น ไมเคิลเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ไม่ยอมให้ใครเปิดอ่านเลยแม้แต่กับลูกเมียของเขาเอง ดังที่เขาบอกแก่ลูกว่าเขาเป็นคนไม่เปิดและไม่เปิดกับทุกคน (จนถึงตอนจบ) เมื่อเป็นเด็กเขาไม่ยอมเปิดแม้แต่กับพ่อแม่พี่น้องของเขาเองในความสัมพันธ์กับฮันนา ดูเหมือนเขาจะเปิด แต่ที่จริงแล้วก็ไม่ได้เปิดนอกจากหน้าปกว่าเป็นนักเรียน ไม่มีความใฝ่ฝัน, ความทุกข์,หรือความสัมพันธ์กับโลกข้างนอกจะแบ่งปันกันทั้งสองฝ่าย แต่ฮันนาซึ่งอ่านหนังสือไม่ออกนั่นแหละที่ "อ่าน" เขาออกในที่สุด ในขณะที่ตัวเขาเองซึ่งถนัดในการอ่านหนังสือให้ฮันนาฟัง"อ่าน" เธอไม่ออกตั้งแต่ต้นจนจบ

     ทุกคนได้แต่ "อ่าน"โลกไปตามอคติของตัวทั้งนั้น รวมทั้งผู้ชมภาพยนตร์ซึ่ง "อ่าน"หนังออกไปตามแต่อคติของตัวจะชักนำไป และนี่คือเหตุผลที่ผมและเพื่อนๆ ต่าง"อ่าน" หนังเรื่องนี้ออกมาได้ไม่เหมือนกันเลย(โปรดดูทฤษฎีว่าด้วยการอ่านของผมครับ เช่น 1.http://www.gotoknow.org/posts/497809 2. http://www.gotoknow.org/posts/4980413. http://www.gotoknow.org/posts/498363 และ 4.http://www.gotoknow.org/posts/498448 ) นี่คือ “ความสนุก” หรือ “หรรษา” ที่ได้จากการ “อ่าน” นั่นเอง

หนังสืออ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์ โลกที่ลั่นดาล มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 29 ฉบับที่ 1499

รักพงษ์. The Reader ความรักที่ละเมียดแต่เสี่ยงต่อศีลธรรมและผลของสงคราม

Beerled.THEREADER : รอยเปื้อนที่ล้างไม่ออก

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. “The Reader” ... ชีวิตที่ขีดเขียนไม่ได้ ของสาวนาซี

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. คำถามถึงความหมายในประเด็นทางศีลธรรมและรบกวนจิตใจมากเหลือเกิน


หมายเลขบันทึก: 543163เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท