ปัญหาและอุปสรรคของ ศูนย์พระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดอนงคาราม


ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  ซึ่งในสายตาของบุคคลทั่วๆไป  ไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ หรือข้าราชการ ก็ล้วนแต่กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อเยาวชนของชาติ  ควรได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้มีมากขึ้น แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ 

   สภาพความเป็นจริงของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในรอบ ๑ ทศวรรษกว่า ๆ  ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนี้  สามารถพูดได้เต็มปากในฐานะผู้ปฏิบัติงานว่า  คณะสงฆ์ก็ดี หรือส่วนข้าราชการก็ดี  ดีแต่พูดกัน  จะเห็นชัดได้จากที่คณะกรรมการบริหารสำนักงาน ฯ  ได้ประชุมนักวิชาการยกร่างระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งประเทศไทย  พ.ศ..............  นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณารับรองและประกาศให้เป็นงานของคณะสงฆ์ต่อไป

   แต่ก็ถูกตีกลับคืนมาด้วยคำว่า  “รับทราบ”  แต่ไม่รับรอง  จึงถือว่าทางคณะสงฆ์โดยมหาเถรสมาคมยังไม่รับรองศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  เป็นงานของคณะสงฆ์อย่างสมบูรณ์ 

   ส่วนทางราชการ  คือ  กรมการศาสนา  ซึ่งเป็นผู้จัดสรรเงินอุดหนุนในการบริหารงานด้านต่างๆ  ก็พิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้ศูนย์วัดต่างๆ  น้อยมาก  ประกอบกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีจำนวนเพียง  ๒-๓  คนเท่านั้น  การที่กรมศาสนาประกาศตั้งสำนักบริหารฯ  ก็เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้จัดการบริหารกันเอง  แต่งบประมาณที่จัดสรรอุดหนุนมาน้อยลงทุกปีๆ  จนกระทั่งเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๔๖  นี้  ไม่มีงบประมาณให้สำนักงานบริหาร ฯ  ได้จัดกิจกรรมต่างๆ  เช่น  เรื่องพัฒนาหนังสือแบบเรียน  หนังสือคู่มือครู  พัฒนาบุคลากรในศูนย์ทั่วไป  และสื่อต่างๆ  อันจะเป็นประโยชน์ที่จะนำไปอบรมเยาวชนอีกต่อไปเลย 

  เมื่อเป็นเช่นนี้สำนักงานบริหาร ฯ  ซึ่งกรมศาสนาได้ประกาศตั้งมาเมื่อวันที่  ๑๗  กันยายน  พ.ศ.  ๒๕๓๗  นับรวบปัจจุบันเป็น  ๑๔  ปีจะอยู่ได้อย่างไร  ต่อไปก็คงจะต้องย้อนยุคถอยหลังไป  ๒๐  กว่าปี  คือ  ต่างคน  ต่างทำ  ไม่ต้องอาศัยกรมการศาสนาหรือคณะสงฆ์อีกต่อไป 

   จากอดีตที่ผ่านมาได้ชี้ชัดแล้วว่า  ราชการก็ดี  คณะสงฆ์ก็ดี  ไม่สนับสนุนส่งเสริมการศึกษาของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์อย่างแท้จริง  แล้วอย่างนี้งานพัฒนาเยาวชนของชาติจะดีได้และเจริญก้าวหน้าต่อไปได้อย่างไร

  ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ในประเทศไทย  ถ้าจะว่ากันแล้วมีโอกาสดีกว่าประเทศศรีลังกา  เพราะมีสถานที่  หลักสูตร  การเรียนการสอน  อุปกรณ์ดีกว่า  แต่เท่าที่ไม่เจริญหรือไม่เป็นที่นิยมของผู้ปกครองและนักเรียนเท่าที่  ควรเพราะ

   ๑.  ปัจจุบันนี้  มีสิ่งที่จูงใจให้เยาวชนห่างเหินจากวัดหลายประการด้วยกัน  เช่น  ศูนย์การค้า  สถานเริงรมย์ต่างๆ รายการโทรทัศน์  ซึ่งมีตลอดทั้งวัน 

   ๒.  บิดามารดาตามใจบุตรธิดา  ปล่อยให้เที่ยวเตร่ตามชอบใจ  พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลปล่อยให้เล่นเกมส์ต่างๆ  เช่น  เล่นเกมในอินเทอร์เน็ต  เป็นต้น 

   ๓.  บิดามารดาไม่สนใจในพระพุทธศาสนา  ไม่เคยพาบุตรธิดาไปอบรมศีลธรรมที่วัด  ตัวเป็นผู้บิดามารดาเอง  ก็ไม่เคยเข้าวัด  ฟังเทศน์  ฟังธรรม  เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี

   ๔.  ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ  ทำให้ประชาชนทั่วไปต้องมาหากินมากขึ้นจนไม่มีเวลาในการนำบุตรธิดาเข้าวัด

   ๕.  สิ่งที่เป็นอบายมุขมอมเมาเยาวชน  เช่น  เหล้า  บุหรี่  ยาเสพติดต่างๆ   มีมากจนเยาวชนงอมแงม  อยากที่รัฐบาลจะปราบได้

   ๖.  งบประมาณการสนับสนุนจากภาคทางรัฐ  ไม่พียงพอต่อการดำเนินงานการเรียนการสอนต่อไป

   ๗.  การเรียนในระบบของโรงเรียนปกติ  (ภาคบังคับ)  ซึ่งมีกิจกรรม  และการเรียนพิเศษ  ต้องแข่งขันกันมากขึ้นทำให้ไม่ค่อยมีเวลามาเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์  และต้องไปเรียนพิเศษ  กวดวิชา เพื่อสอบเข้าเรียนต่อในชั้นสูงขึ้นไป

   ๘.  หลักสูตรการเรียนการสอน  ของศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ไม่จูงใจ  ไม่เร้าใจ  ไม่ค่อยแน่นอน  แล้วแต่ศูนย์ ฯ นั้นๆ  จะเอาอะไรมาสอน  สอนเอง  สอบเอง  ออกประกาศนียบัตรเอง 

ข้อแก้ไขที่ทำให้ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาพอดำเนินการให้ไปได้ด้วยดี  คือ

   ๑.  บิดามารดา  ต้องปลูกฝังให้บุตรธิดาไปวัด  โดยบิดามารดาพาไปเอง  และควรชักชวนให้บุตรธิดาได้เข้าเรียนในศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ 

   ๒.  บิดามารดา  ครู  ต้องหมั่นอบรมบุตรธิดาหรือนักเรียนของตนให้เห็นโทษของอบายมุข  การเที่ยวเตร่สถานเริงรมย์  การเล่นเกมส์ต่างๆ  ตลอดจนยาเสพติดทุกชนิด  และบิดามารดา  ครูอาจารย์  ต้องทำตัวอย่างที่ดีให้เด็กเห็นด้วย

   ๓.  รัฐบาล  ต้องสร้างหลักสูตรศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วประเทศ  และพิมพ์แจกให้ทั่วถึง  รวมถึงการวัดและประเมินผลให้เป็นไปตามหลักสูตรนั้น

   ๔.  รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการของศูนย์ให้เพียงพอ  หรือให้สามารถดำเนินการได้ตามสมควร

   ๕.  การยกย่องเชิดชูเยาวชน  ผู้ศึกษาและจบการศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์โดยวิธีใดวิธีหนึ่งให้มีเกียรติปรากฏในสังคม


ที่มา :- 

พระเทพรัตนโมลี (เจ้าอาวาสวัดอนงคาราม และผู้อำนวยการ). หนังสือที่ระลึก ๔๙ ปี งานมอบประกาศนียบัตร พร้อมทุนการศึกษา ประจำปี ๒๕๕๖. วัดอนงคาราม กทม.

หมายเลขบันทึก: 542340เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2013 06:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2013 06:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาธุๆๆ

ได้ปัญหาและอุปสรรคครับเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท