กระบวนการพัฒนาหลักสูตร


         หลักสูตรเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เปลี่ยนไปตามความต้องการและความเปลี่ยนแปลงของสังคม ดังนั้นเราจึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา

       กู๊ด (Carter V. Good, 1973 หน้า 157-158 อ้างตาม สุนีย์ ภู่พันธ์, 2546) ได้กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตรนั้นเกิดขึ้นได้ 2 แบบ แบบแรกคือการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้เหมาะกับโรงเรียน วิธีการสอน วัสดุอุปกรณ์  แบบที่สองคือการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรเป็นการแก้ไขหลักสูตรให้แตกต่างไปจากเดิมเพื่อสร้างโอกาสทางการเรียนขึ้นใหม่

        ทาบา (Hilda Taba, 1962 หน้า 454 อ้างตาม สุนีย์ ภู่พันธ์, 2546) ได้กล่าวว่าการพัฒนาหลักสูตรหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น ทั้งด้านจุดมุ่งหมาย เนื้อหาวิชา การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายอันใหม่ที่วางไว้

        การพัฒนาหลักสูตรสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ระดับชาติหรือหลักสูตรแม่บท  ระดับท้องถิ่นและระดับห้องเรียน

         รูปแบบในการพัฒนาหลักสูตรนั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดทิศทาง กรอบความคิดและคุณสมบัติ         เฉพาะอื่นๆ ที่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โดยรูปแบบของกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรนั้นส่วนใหญ่มีองค์ประกอบหลักและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่ความคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างในรายละเอียดย่อยเท่านั้น โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรเพียง 2 รูปแบบคือ

         1.  รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์ (Rulph W. Tyler)

                  ไทเลอร์ได้กำหนดคำถามพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร 4 ข้อที่ชื่อว่า “หลักการและเหตุผลของไทเลอร์” (Tyler Rationale) ซึ่งคำถามทั้ง 4 ข้อ ในการจัดหลักสูตรและการสอนนั้นควรจะตอบคำถามทั้ง 4 ให้ได้เสียก่อนได้แก่  

                  -  จุดมุ่งหมายทางการศึกษาคืออะไร

                  -  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โรงเรียนควรจัดประสบการณ์อะไร

                  -  โรงเรียนจัดประสบการณ์ทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

                  -  โรงเรียนจะตัดสินใจได้อย่างไรว่าจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้บรรลุเป้าหมาย

              สำหรับกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์นั้นประกอบด้วยกัน 3 ขั้นตอนใหญ่ๆคือ

                     1.1  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  กำหนดจุดมุ่งหมายคร่าวๆ จากผู้เรียน สังคมและคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญหรือผลจากการวิจัย นำมาประมวลผลและกลั่นกรองโดยใช้ข้อมูลด้านปรัชญาการศึกษา ปรัชญาสังคมและจิตวิทยาการเรียนรู้ แล้วตัดจุดประสงค์ที่ไม่สำคัญออก ทำให้วัตถุประสงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

                      1.2  การเลือกและจัดประสบการณ์การเรียน  เพื่อให้ตอบสนองต่อจุดประสงค์ที่กำหนดไว้

                      1.3  การประเมินผล  เพื่อตรวจสอบว่าจัดการเรียนการสอนได้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้หรือไม่ ควรปรับแก้ไขในส่วนใดบ้าง

        2.  รูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของเซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Galen L. Saylor and William M. Alexander)

                     เซเลอร์และอเล็กซานเดอร์ได้มีการปรับรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์และทาบาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกันคือ

                     2.1  การกำหนดเป้าหมาย จุดมุ่งหมายและขอบเขต

                     2.2  การออกแบบหลักสูตร

                     2.3  การใช้หลักสูตร

                     2.4  การประเมินผลหลักสูตร

           กระบวนการในการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องตั้งแต่การกำหนดจุดมุ่งหมาย จัดเนื้อหา การนำหลักสูตรไปใช้ การประเมิลผลหลักสูตร การปรับเปลี่ยนหลักสูตร เพื่อให้ได้หลักสูตรที่สมบูรณ์ที่สุดและมีประสิทธิภาพสามารถนำมาจัดการเรียนการสอนได้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน สังคมและประเทศชาติ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีความเจริญทั้งด้านความรู้ ความคิดสติปัญญาและสามารถรับผิดชอบตนเองและสังคมได้


บรรณานุกรม

สุนีย์ ภู่พันธ์. (2546). แนวคิดพื้นฐานการสร้างและพัฒนาหลักสูตร. เชียงใหม่ : TheKnowledge Center.

สุรีย์ บาวเออร์. (2546). หลักสูตรและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน. กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏ

          สวนสุนันทา.


หมายเลขบันทึก: 542222เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 20:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 20:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คิดว่าจะใช้กระบวนการนี้สร้างหลักสูตรด้วยตัวคุณเองได้ไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท