การศึกษาในทัศนะของท่าน ป.ปยุตฺโต


การฝึก หรือศึกษา หรือสิกขา คือ

1. การไม่ทำความชั่วทั้งปวงคือ ศีล หรือศีลสิกขา 

2. การบำเพ็ญความดี หรือ บำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมคือ สมาธิ หรือ จิตตสิกขา 

3. การทำจิตของตนให้ผ่องใส คือ ปัญญา หรือ ปัญญาสิกขา

มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการศึกษา

พระธรรมปิฎก (2544 : 342) กล่าวว่า "...มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการศึกษา ธรรมชาติพิเศษที่เป็นส่วนเฉพาะของมนุษย์ คือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ จะพูดว่า เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ เป็นสัตว์ที่ศึกษาได้ หรือ เป็นสัตว์ที่เรียนรู้ได้ ก็มีความหมายอย่างเดียวกัน..."

"...จะเรียกว่าเป็นสัตว์พิเศษก็ได้ คือแปลกจากสัตว์อื่น ในแง่ที่ว่าสัตว์อื่นฝึกไม่ได้ หรือแทบฝึกไม่ได้ แต่มนุษย์นี้ฝึกได้ และพร้อมกันนั้นก็เป็น สัตว์ที่ต้องฝึกด้วย..."

"...พูดสั้นๆว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และ ฝึกได้..."

"...สัตว์ อื่นแทบไม่ต้องฝึก เพราะมันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เกิดมาแล้วเรียนรู้จากพ่อแม่ นิดหน่อย ไม่นานเลย มันก็อยู่รอดได้ อย่างลูกวัวคลอดออกมาสักครู่หนึ่ง ก็ลุกขึ้นเดินได้ ไปกับแม่แล้ว ....แต่มันเรียนรู้พอกินอาหารได้แล้วก็ไปหากินเอง และอยู่ด้วยสัญชาตญาณไปจนตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไร ก็ตายไปอย่างนั้น หมุนเวียนกันต่อไป ไม่สามารถสร้างโลกของมันต่างหากจากโลกของธรรมชาติ..."

"...แต่ มนุษย์นี้ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงจะอยู่ดี แม้แต่รอดก็อยู่ไม่ได้ มนุษย์จึงต้องอยู่กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยง เป็นเวลานับสิบปี ระหว่างนี้ก็ต้องฝึกต้องหัดต้องเรียนรู้ไป แม้แต่กิน นั่ง นอน ขับถ่าย เดิน พูด ทุกอย่างต้องฝึกทั้งนั้น มองในแง่นี้เหมือนเป็นสัตว์ที่ด้อย..."

"...แต่ เมื่อมองในแง่บวกว่า ฝึกได้ เรียนรู้ได้ ก็กลายเป็นแง่เด่น คือ พอฝึกเริ่มเรียนรู้แล้ว คราวนี้มนุษย์ก็เดินหน้า มีปัญญาเพิ่มพูนขึ้น พูดได้ สื่อสารได้ มีความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์อะไรๆได้ มีความเจริญทั้งในทางนามธรรม และทางวัตถุธรรม สามารถพัฒนาโลกของวัตถุ เกิดเทคโนโลยีต่างๆ มีศิลปวิทยาการ เกิดเป็นวัฒนธรรม อารยธรรม จนกระทั่งเกิดเป็นโลกของมนุษย์ซ้อนขึ้นมา ท่ามกลางโลกของธรรมชาติ...สัตว์อื่นอย่างดี ที่ฝึกพิเศษได้บ้าง เช่น ช้าง หมา ม้า ลิง เป็นต้น ก็ฝึกตัวเองไม่ได้ ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ แม้มนุษย์ฝึกให้ ก็ฝึกได้ในขอบเขตจำกัด...แต่มนุษย์ฝึกตัวเองได้ และฝึกได้แทบไม่มีที่สิ้นสุด..."

"...การฝึกศึกษาพัฒนาตน จึงทำให้มนุษย์กลายเป็นสัตว์ที่ประเสริฐเลิศสูงสุด ซึ่งเป็นความเลิศประเสริฐที่สัตว์ทั้งหลายอื่นไม่มี..."

"...หลัก ความจริงนี้สอนว่า มนุษย์มิใช่จะประเสริฐขึ้นมาเองลอยๆ แต่ประเสริฐได้ด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วจะด้อยกว่าสัตว์เดรัจฉาน จะต่ำทรามยิ่งกว่า หรือไม่ก็ทำอะไรไม่เป็นเลย แม้จะอยู่รอดก็ไม่ได้...ความดีเลิศประเสริฐของมนุษย์นั้น จึงอยู่ที่การเรียนรู้ ฝึก ศึกษา พัฒนาตนขึ้นไป มนุษย์จะเอาดีไม่ได้ ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน เพราะฉะนั้น จึงต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก..."

"...ไม่ ควรพูดแค่ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ซึ่งเป็นการพูดที่ตกหล่นบกพร่อง เพราะว่ามนุษย์นี้ ต้องฝึกจึงจะประเสริฐ ถ้าไม่ฝึก ก็ไม่ประเสริฐ...คำว่า "ฝึก" นี้พูดตามหลักคำแท้ๆ คือ "สิกขา"หรือ "ศึกษา" ถ้าพูดอย่างสมัยใหม่ ก็ได้แก่คำว่า "เรียนรู้" และ "พัฒนา" พูดรวมๆกันไปว่า เรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา หรือเรียนรู้ฝึกศึกษาพัฒนา..." 

Forwarded Message 

From: MaiY

หมายเลขบันทึก: 542219เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 20:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

คำที่ผมเห็นว่าน่าจะสำคัญที่สุดของเพจนี้คือ "..มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก.." ถามต่อว่า แล้วถ้ามนุษย์ผู้นั้นไม่ยอมฝึกตนและไม่ยอมให้ผู้อื่นฝึกด้วยหละ?

ขอตอบคุณโยมเช่นนี้

ในพุทธภาษิตต่าง ๆ ที่ปรากฎได้กล่าวถึงผู้เป็นบัณฑิต คื ผู้มีปัญญา ผู้ดำิเนินชีวิตด้วยปัญญา ฉะนั้นการที่จะเป็นมนุษย์ประเสริฐจึงได้กล่าวว่าต้องผ่านการฝึกฝน โดยกระบวนการต่าง ๆ เช่นฝึกความอดทน อดกลั้น ต่อความอยาก ต่อความลุ่มหลงในตน ฉะันั้นจึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าบุคคลใดก็ตามตั้งแต่เกิดมาก็ผ่านกระบวนการฝึกแล้ว แต่ฝึกแบบตนเอง พัฒนาตนเองในรูปแบบเช่นไร แต่ถ้าในทางศาสนานั้นเน้นการทำตนให้หลุดพ้นจากเครื่องหมักดอง คือ กิเลส แสวงหาโมกขธรรมถึงความบริสุทธิ์ ในส่วนตัวบุคคลก็คือ การยอมรับฟังผู้อื่นเพื่อปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาให้เจริญขึ้นตามกฎระเบียบและจารีตของสถานที่นั่น ๆ ถ้าไม่ให้ใครฝึก เขาก็เรียกว่า อวดดื้อ ถือดี บุคคลเช่นนี้ก็ต้องไปดูเรื่องจริตเพื่อแก้ไขละ

ศาสนสุภาษิตธรรมบทที่สนุบสนุนการเป็นผู้ฝึกในคำว่ามนุษย์ผู้ประเสริฐ ได้แก่

ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ทันโต เสฏโฐ มะนุสเสสุ,

ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ผู้ฝึกตนดีแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด

(ขุ.ธ.๒๕/๕๗)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท