คู่มือผู้กำกับลูกเสือ 3


                                             

 

     พี่น้องผู้บังคับบัญชาลูกเสือ  ยุวกาชาดที่เคารพรักทุกท่านครับ  ขอเชิญติดตามศึกษา  “ คู่มือผู้กำกับลูกเสือ ”  ซึ่งเขียนโดย ท่านลอร์ด  เบเดน  โพเอลล์ และสำนักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้แปล ความรู้ในหนังสือนี้มีประโยชน์อย่างสูงยิ่งสำหรับผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ในฉบับนี้ขอเสนอ  ตอนที่ 1 วิธีฝึกอบรมเด็ก ครับผม

เด็ก

     ขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการฝึกอบรมเด็กของท่านก็คือ ท่านต้องทราบบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเด็กโดยทั่วไปก่อน ครั้นแล้วก็ต้องมีความรู้เกี่ยวกับเด็กคนนี้โดยเฉพาะ 

     ในคำปราศรัยต่อสมาคมจริยศึกษา  (The  Ethical Society)  ณ  กรุงลอนดอน ดร. ซาลิบี  ได้กล่าวว่า  สิ่งสำคัญอันแรกสำหรับการที่จะเป็นครูสอนที่ประสบผลดี  คือความรู้อันเกี่ยว กับธรรมชาติของเด็กทั่วไป เด็กผู้ชายหรือผู้หญิงไม่ใช่แบบพิมพ์ฉบับเล็กของผู้ใหญ่ชายหรือหญิง ไม่ใช่แผ่นกระดาษว่างเปล่าซึ่งครูจะเขียนอะไรลงไป  เด็กแต่ละคนมีความอยากรู้อยากเห็นของเขาโดยเฉพาะ  เด็กขาดประสบการณ์  เด็กมีจิตใจที่สลับซับซ้อน  เด็กต้องการความช่วยเหลือที่เฉลียวฉลาด  ต้องการส่งเสริมสนับสนุน ต้องการปั้นหรือสร้างให้เป็นรูปหรือปรุงแต่ง  และบางครั้งก็ต้องใช้วิธีบังคับบัญชา

     ถ้าท่านหวนกลับไปนึกคิดถึงเมื่อตัวท่านเป็นเด็ก  โดยคิดกลับไปให้ไกลที่สุดที่จะไกลได้  ว่าในสมัยนั้นความคิดของท่านมีอะไรบ้าง แล้วท่านจะเข้าใจถึงความรู้สึกและปรารถนาของเด็กยิ่งขึ้น  ต่อไปนี้เป็นคุณสมบัติในตัวเด็กที่เราจำต้องพิจารณา

อารมณ์ขัน

     ต้องจำไว้ว่า  ตามธรรมชาติเด็กเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน  บางอย่างเป็นเพียงตื้นๆ  แต่เขาก็เข้าใจสิ่งชวนหัวเราะนั้น  และมองในด้านน่าขันของสิ่งต่างๆ  สิ่งนี้จะช่วยให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็ก  ความผาสุกและแจ่มใส และจะกลายเป็นเพื่อนที่ร่าเริงแทนที่จะเป็นนายงาน  ถ้าหากว่าเขาจะสมัครร่วมสนุกกับเด็กด้วย

ความกล้าหาญ 

     โดยทั่วไปเด็กมักจะมีความกล้าอยู่ในตัว  ตามธรรมดาเด็กไม่ใช่คนขี้บ่น  ถึงแม้ว่าเมื่ออายุมากเข้าจะกลายเป็นคนขี้บ่นได้ แต่เมื่อความเคารพของตนเองได้หายไปจากตัวเขาและเมื่อเขาได้อยู่ในหมู่นักบ่นเป็นเวลานาน  เขาอาจกลายเป็นคนขี้บ่นได้

ความเชื่อมั่น

     ตามปกติเด็กมักจะเชื่อมั่นอย่างมากในพลังของตน  ฉะนั้น เขาจึงไม่ชอบจะให้ใครมาปฏิบัติกับเขาอย่างที่ปฏิบัติต่อเด็กเล็กโดยบอกให้ทำสิ่งต่างๆ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เขามักจะพยายามลองทำเอง ถึงแม้ว่ามันจะผิดพลาดก็ตาม 
แต่การกระทำผิดทำให้เด็กมีประสบการณ์และสร้างลักษณะนิสัย

ความฉลาดแหลมคม

     ตามปกติเด็กมีความฉลาดแหลมคมเหมือนกับเข็ม จึงเป็นการง่ายที่จะอบรมเขาในเรื่องที่เกี่ยวกับการสังเกต  แล้วให้อนุมานความหมายของมัน

ชอบการตื่นเต้น

      เด็กในเมืองมักจะไม่ตื่นเต้นง่าย  ไม่เหมือนกับเด็กชนบท  ในเมื่อประสบกับความตื่นเต้นในเมือง เป็นต้นว่าพบรถดับเพลิงที่วิ่งผ่านไปหรือการชกต่อยระหว่างเพื่อนบ้านสองคน เขาไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งเกินกว่าเดือน  หรือสองเดือนเพราะเขาต้องการความเปลี่ยนแปลง

การตอบสนอง

      เมื่อเด็กเห็นว่ามีใครคนหนึ่งสนใจในตัวเขาแล้ว  เขาจะตามผู้นั้นไป และตรงนี้เองการบูชาวีรบุรุษจึงเป็นกำลังอันสำคัญยิ่งที่จะช่วยผู้กำกับลูกเสือ

ความภักดี

      เป็นส่วนสำคัญในลักษณะนิสัยของเด็ก  ซึ่งก่อให้เกิดความหวังที่ไม่มีขอบเขต ตามปกติเด็กมักจะเป็นเพื่อนที่มีความภักดีต่อกัน  ดังนั้นการผูกมิตรจึงเป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก การผูกมิตรเป็นหน้าที่อันหนึ่งที่เด็กเข้าใจดี  จากภายนอกดูเหมือนว่าเด็กเป็นคนเห็นแก่ตัว  แต่โดยทั่วไปแล้ว  เขาเต็มใจที่จะช่วยเหลือคนอื่น  จากจุดนี้เอง           ที่ลูกเสือเราถือเป็นจุดสำหรับฝึกอบรมเด็กต่อไป

      ถ้าเราพิจารณาและศึกษาลักษณะที่แตกต่างกันในตัวเด็กแล้ว เราจะอยู่ในฐานะที่ดีในการดัดแปลงการฝึกอบรมเด็กให้เหมาะกับข้อแตกต่างของเด็ก  การศึกษาเช่นนี้  จะเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการฝึกอบรม 
ข้าพเจ้ามีความยินดีมากในการที่ในระหว่างสัปดาห์หนึ่ง ข้าพเจ้าได้พบเด็กสามคนที่ศูนย์การฝึกคนละแห่ง มีผู้ชี้แจงแก่ข้าพเจ้าว่า เด็กทั้งสามคนนี้เป็นอันธพาลและนักเลงที่แก้ไขไม่ได้  แต่ครั้นได้มาอยู่ใต้อิทธิพลของการลูกเสือ 
ผู้กำกับลูกเสือแต่ละกองของเด็กทั้งสามได้พบจุดดีของเด็กทั้งสามนี้ในจำนวนความชั่วทั้งหลาย  และเมื่อจับจุดดีได้แล้ว
จึงได้ให้เด็กทำงานที่เหมาะสมกับนิสัยพิเศษของเขานั้น  บัดนี้เด็กหนุ่มสามคนนั้นแต่ละคนรูปร่างล่ำสันและสง่าผ่าเผย  แต่ละคนทำงานได้ผลดี แต่ละคนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง  ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  แม้จะลำบากยากเย็นเพียงไร มันก็เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะจัดตั้งกองลูกเสือขึ้น แม้แต่เพียงจะได้มาซึ่งความสำเร็จอย่างนี้แต่เพียงอย่างเดียวก็ตาม

     [ สมาชิกในครอบครัวลูกเสือ คือลูกเสือสำรอง  ลูกเสือสามัญ  และลูกเสือรุ่นใหญ่ ]

     นาย CASSON  ได้เขียนไว้ในหนังสือรายคาบ  ชื่อ  TEACHER’S  WORLD  บรรยายถึงความสลับซับซ้อนของธรรมชาติของเด็กไว้ดังนี้

      “ พิจารณาจากประสบการณ์ของข้าพเจ้าเอง ข้าพเจ้าอาจจะกล่าวได้ว่า เด็กมีโลกของพวกเขาเองต่างหากอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกซึ่งพวกเขาได้สร้างขึ้นสำหรับพวกเขาเอง  โดยไม่ยอมให้ครูหรือการเรียนเข้าไปได้เลย  โลกของเด็กนี้มีเหตุการณ์มาตรฐาน  ขนบประเพณี การซุบซิบนินทา  และความเห็นสาธารณะของพวกเขาเองโดยเฉพาะ

      จงจำไว้ว่า  เมื่อเด็กสมัครเป็นลูกเสือแล้ว  เขาต้องการเริ่มต้นการลูกเสือทันที  ฉะนั้น จงอย่าทำให้ความกระหายของเขานั้นต้องสลายไป จงสนองความต้องการของเขา  ด้วยการกีฬา ด้วยการปฏิบัติทางลูกเสือ ครั้นแล้วจึงสอนรายละเอียดเบื้องต้นทีละน้อยๆ  ขณะที่ท่านสอนฝึกอบรมเขาไป

      “ ถ้าแม้ว่าจะมีครู  มีบิดามารดา  เด็กยังคงภักดีต่อโลกของเขาเอง  เขายังคงปฏิบัติตามขนบประเพณีของเขา  แม้ว่ามันจะแตกต่างขนบประเพณีที่สอนที่บ้านและที่โรงเรียนก็ตาม เขายินดีที่จะรับการทรมานโดยผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจในเรื่องเด็กมากกว่าที่จะทรยศต่อขนบประเพณีนั้น ”

      “ ขนบประเพณีของครูอาจเอนเอียงไปทางให้มีความเงียบ ปลอดภัย และมีกิริยามารยาทที่สุภาพถูกต้อง แต่ขนบประเพณีของเด็กนั้นตรงข้าม คือ  เอนเอียงไปทาง  เสียงเอะอะ ชอบเสี่ยงอันตราย และให้เกิดความตื่นเต้น ”

      “ ความสนุกสนาน  การต่อสู้  และการรับประทาน  สามสิ่งนี้จะขาดเสียไม่ได้ในโลกของเด็ก  มันเป็นรากฐาน 
เป็นสิ่งที่เด็กสนใจอย่างจริงจัง ทั้งไม่มีความสัมพันธ์กับครู หรือหนังสือเรียนเลย ”

      “ ตามความเห็นทั่วไปในโลกของเด็ก การที่มานั่งวันละ 4 ชั่วโมง  ที่โต๊ะเรียนในร่ม เป็นการสูญเสียเวลาและ แสงสว่างอย่างน่าเสียดาย  มีใครเคยรู้จักเด็กคนใดบ้างไหม  ที่มีสุขภาพดีตามปกติ  ไปขอให้บิดาซื้อโต๊ะเขียนหนังสือให้เขา หรือมีใครบ้างที่รู้จักเด็กที่วิ่งเล่นอยู่นอกบ้านตลอดเวลาคนใดบ้าง  ที่ขอให้แม่อนุญาตให้ไปนั่งเล่นในห้องรับแขก ”

    “ ไม่มีแน่ เด็กไม่ใช่สัตว์ที่อยู่ประจำโต๊ะเขียนหนังสือ  ไม่ใช่สัตว์ที่ชอบนั่งอยู่กับที่  เด็กไม่ใช่คนที่ชอบความสงบเงียบ  เด็กไม่เชื่อในหลักปลอดภัยไว้ก่อน  ทั้งไม่ใช่เป็นหนอนหนังสือ  และไม่ใช่นักปรัชญา ”

      “ เขาเป็นเด็กเต็มเปี่ยมล้นไปด้วยความสนุกสนาน การต่อสู้  ความหิว  การซุกซนที่เสี่ยงภัย  เสียงเอะอะ 
การสังเกตและการตื่นเต้น ถ้าเขาไม่เป็นอย่างนี้ เขาก็เป็นเด็กที่ผิดปกติ ” 

      “ จงปล่อยให้การรณรงค์ระหว่างขนบประเพณีของครูและของเด็กดำเนินต่อไปเถิด ในอนาคตเด็กจะชนะอย่างที่เคยชนะมาแล้วในอดีต  เด็กสองสามคนจะยอมแพ้  และชิงทุนเล่าเรียนได้  แต่เด็กส่วนใหญ่ยังคงดื้อดึงต้านทานอยู่ต่อไป และจะโตขึ้นเป็นคนที่สามารถที่สุดและมีสุขภาพดีที่สุดของชาติ ”

     “ ตามประวัติศาสตร์ ไม่จริงหรือที่เอดิสัน  ผู้ประสบผลสำเร็จในการประดิษฐ์ของหลายพันชิ้น ได้ถูกครูส่งกลับบ้านพร้อมด้วยหนังสือถึงผู้ปกครองว่าโง่เกินไปที่จะสอนได้ ”

    “ ไม่จริงหรือที่ว่า  นิวตัน  และ ดาวิน ผู้ให้กำเนิดวิธีการต่างๆของวิทยาศาสตร์ ก็ถูกครูที่โรงเรียนหาว่าเป็นคนโง่ ”

    “ มีตัวอย่างนับเป็นร้อยๆ ไม่ใช่หรือที่ว่า เด็กที่โง่บัดซบในชั้น กลายเป็นคนที่มีประโยชน์และมีชื่อเสียงในชีวิตต่อมา  นี่ยังไม่พิสูจน์เป็นการเพียงพออีกหรือว่า วิธีการของเรานี้ไม่อาจพัฒนาการทัศนคติของเด็กได้ ”

    “ จะเป็นไปได้ไหมที่จะปฏิบัติต่อเด็กเยี่ยงเด็ก เราจะไม่สามารถที่จะดัดแปลงประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์  และเลขคณิต ให้เหมาะสมกับความต้องการของโลกของเด็กได้เชียวหรือ  เราจะไม่สามารถที่จะแปลสติปัญญาของผู้ใหญ่  ให้เป็นภาษาของเด็กได้เชียวหรือ ”

    “ เด็กเป็นผู้ผิดหรือ ในการที่เขาจะดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ความสัมฤทธิผล  และการผจญภัย  ตามขนบประเพณีของเขา ”

    “ เขาไม่ถือเอาการปฏิบัติก่อนการเรียนอย่างที่เขาควรจะทำหรือ  เขาไม่ใช่คนงานตัวน้อยที่มหัศจรรย์  ทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง  เพราะว่าขาดผู้นำที่ฉลาดหรือ ”

   “ จะไม่เป็นการใกล้กับจุดหมายอย่างมากหรือ ถ้าหากว่าครูจะกลับกลายเป็นนักศึกษาสักชั่วระยะหนึ่ง  เพื่อศึกษาชีวิตเด็กผู้ที่น่ามหัศจรรย์  ซึ่งครูพยายามยับยั้งและกดไว้ไม่ได้ผล ”

   “ ทำไมเราผลักดันทวนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว  เมื่อน้ำกำลังไหลไปในทิศทางที่ถูกต้อง ”

   “ ยังไม่ถึงเวลาอีกหรือที่เราจะดัดแปลงวิธีที่ไร้ผลของเรา  และนำมาใช้ให้สอดคล้องกับความจริง  ทำไมเรายังขืนกล่าวอย่างเศร้าใจว่า  “ เด็กก็จะเป็นเด็กตลอดไป  ”  แทนที่จะรู้สึกยินดีในพละกำลัง ความกล้าหาญและความ    ริเริ่มที่มหัศจรรย์ของเด็ก  จะมีงานอะไรที่จะสูงและดีสำหรับครู ที่แท้ยิ่งไปกว่าการชักนำพละกำลังธรรมชาติของเด็ก  ด้วยความร่าเริงไปสู่วิถีทางของบริการสังคมเล่า ”

     ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วว่า ขั้นแรกที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือการรู้จักเด็กของท่าน  แต่ขั้นที่สองท่านต้องรู้จักเรื่องบ้านของเขา เมื่อท่านทราบว่าสิ่งแวดล้อมของเขาเป็นอย่างไรเท่านั้น ท่านจึงอาจบอกได้ว่า มีอิทธิพลอะไรบ้างที่มาครอบงำเขา ในเมื่อเขาพ้นจากกองลูกเสือไปแล้ว ที่ใดความเห็นอกเห็นใจ  และการสนับสนุนของบิคามารดาของเด็ก  มีอยู่อย่างแน่นแฟ้น  และที่ใดบิดามารดาของเด็กได้เข้ามามีส่วนด้วยความสนใจอย่างเต็มที่กับการงานของ ลูกเสือ และจุดประสงค์ของกระบวนการแล้ว  ภาวะของผู้กำกับลดลงตามส่วน

      บางโอกาสภายในบ้านมีอิทธิพลอันชั่วร้ายที่จำต้องขจัดให้หมดไป  นอกจากนั้นยังมีเครื่องล่อใจอื่นๆ  ซึ่งผู้กำกับของเด็กต้องพร้อมที่จะต่อสู้  และถ้าได้ทราบล่วงหน้าไว้ก่อน เขาอาจหาวิธีปฏิบัติเพื่อขจัดเครื่องล่อใจเหล่านั้นมิให้มีอิทธิพลต่อเด็กหนุ่มได้  ด้วยวิธีนี้ลักษณะนิสัยของเด็กก็จะพัฒนาไปในทางที่ดี

      เครื่องล่อใจที่มีอำนาจมาก  อย่างหนึ่งคือภาพยนตร์  ภาพยนตร์เป็นสิ่งชวนตาชวนใจเด็กอันสำคัญอย่างไม่ต้องสงสัย  บางคนครุ่นคิดอยู่เสมอว่า  จะทำอย่างไรจึงจะหยุดยั้งการดูภาพยนตร์ได้ แต่มันเป็นสิ่งหนึ่งในหลายๆอย่างซึ่งยากที่จะยับยั้ง แม้จะเป็นสิ่งที่ทุกคนประสงค์จะงดเว้นด้วยกันก็ตาม  เมื่อเป็นเช่นนี้เราควรมาคิดว่า  จะทำอย่างไรจึงจะใช้ภาพยนตร์ให้เป็นประโยชน์แก่เราให้มากที่สุด  ตามหลักการที่ว่า  เมื่อพบกับความยุ่งยาก  ให้พยายามเข้าหาความยุ่งยากนั้น  แล้วจึงหาทางแยกออกไปเสียอีกทางหนึ่ง เราควรพยายามดูว่าภาพยนตร์มีคุณประโยชน์อย่างไรบ้าง  แล้วเอาประโยชน์มาใช้ฝึกอบรมเด็ก  ถ้ามิได้ตรวจควบคุมอย่างถี่ถ้วนแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยว่าภาพยนตร์จะเป็นเครื่องมือที่นำความชั่วมาสู่เด็กได้อย่างมากมาย ได้มีการจัดการตรวจควบคุมภาพยนตร์กันกันอยู่แล้ว  แต่ก็ยังต้องจัดต่อไปอีก เพื่อให้ได้มาซึ่งการตรวจควบคุมที่ถูกต้องแม้ว่าภาพยนตร์มีอำนาจนำความชั่วมาสู่ได้มาก  ก็จะต้องจัดทำให้ดี  เพื่อให้นำคุณงามความดีมาให้ได้ เช่นเดียวกันมีภาพยนตร์หลายเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และธรรมชาติศึกษา ซึ่งทำให้เด็กได้รับความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ  มากมายกว่าที่จะให้เด็กใช้ความสังเกตด้วยตนเอง และดีกว่าบทเรียนหลายบทเกี่ยวกับวิชานั้นๆ ประวัติศาสตร์อาจสอนได้โดยทัศนศึกษา มีบทบาทที่ก่อให้เกิดความน่าสงสาร ความกล้าหาญ  ความสนุกสนาน  ความตลกขบขัน และความร่าเริง หลายเรื่องที่นำเอาการกระทำชั่วมาตำหนิและเยาะเย้ย  ไม่ต้องสงสัยว่า  การสอนโดยวิธีทัศนศึกษาเช่นนี้  อาจดัดแปลง ให้ได้รับผลดีเลิศเหมาะสมตามความโน้มเอียง ความสนใจของเด็กในโรงภาพยนตร์อันหรูหรา นอกจากนั้นในเวลานี้ภาพยนตร์แผ่อิทธิพลเข้าไปในโรงเรียน  บัดนี้ได้กำลังกลายเป็นผลดี  ในการลูกเสือเราอาจทำอย่างนั้นไม่ได้  แต่เราอาจใช้เป็นเครื่องกระตุ้นในความพยายามของเรา  เราต้องทำให้กิจการลูกเสือของเรามีความดึงดูดอย่างพอเพียงที่จะให้ชวนตาชวนใจเด็ก โดยไม่ต้องกังวลถึงความดึงดูดในทางตรงข้ามที่มีอยู่

     การสูบบุหรี่ของเยาวชน  และผลร้ายต่อสุขภาพ  การเล่นการพนัน  การทุจริตที่จะตามมา  ความชั่วของการดื่มของมึนเมา  การเที่ยวเสเพลกับผู้หญิง  ความไม่สะอาด  ฯลฯ เหล่านี้จะแก้ไขให้ดีได้ก็เมื่อผู้กำกับลูกเสือรู้จักสิ่งแวดล้อมตามปกติของเด็ก จะแก้ไขโดยการห้ามปราม  โดยการลงโทษนั้นไม่ได้ แต่จะแก้ไขได้ด้วยการนำสิ่งอื่นซึ่งให้ความพึงพอใจแก่เด็กเช่นเดียวกันมาแทน  แต่มีผลดีกว่า

      อาชญากรรมของเยาวชน  ไม่มีอยู่ในตัวเด็กตามธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์การชอบผจญภัยที่มีอยู่ในตัวเด็ก  จากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์  จากการเป็นผู้ขาดวินัย  ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ลักษณะนิสัยของเด็กแต่ละคน

     การชอบพูดปดเป็นนิจ  เป็นความชั่วอีกสิ่งหนึ่งซึ่งแพร่หลายอยู่ในเด็ก  และเป็นเชื้อโรคที่แพร่ไปทั่วทั้งโลก 
เราจะพบความชั่วนี้ในจำพวกคนที่ด้อยความเจริญ  เช่นเดียวกับในประเทศที่เจริญแล้ว  การพูดความจริง  และผลของการพูดความจริง  จะยกฐานะคนให้เป็นผู้ที่
เชื่อถือได้นั้น ทำให้เกิดความแตกต่างในลักษณะนิสัยของประชาชนและของชาติ ดังนั้นย่อมตกเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องทำทุกๆอย่าง  ที่จะยกความรักเกียรติและการพูดความจริงระหว่างเด็กทั้งหลาย

สถานอำนวยการกองและค่ายลูกเสือ

     เครื่องแก้ความชั่วของสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีนั้น  คือ การหาสิ่งที่ดีกว่ามาแทน และสิ่งที่ดีที่สุดนั้น  คือ  สถานอำนวยการกองและค่ายลูกเสือ  ที่ว่าสถานอำนวยการกองลูกเสือนั้น  ข้าพเจ้าไม่ได้หมายถึงการฝึกครึ่งชั่วโมงต่อหนึ่งสัปดาห์ในห้องเรียนใหญ่ๆ ที่ยืมใช้ในบางโอกาสซึ่งมักจะเป็นจุดหมายของผู้ที่ปฏิบัติงานกับเด็กอยู่บ่อยๆ  แต่ข้าพเจ้าหมายถึง สถานที่ที่แท้จริงหรือที่เด็กรู้สึกว่าเป็นของตน แม้ว่าจะเป็นห้องใต้ถุนหรือห้องบนเพดานก็ตาม  หรือสถานที่บางแห่งซึ่งเด็กจะใช้ได้ทุกเวลาเย็น  ถ้าต้องการ ทั้งจะได้พบกับงานและความเพลิดเพลิน มีกิจกรรมต่างๆ  ทั้งมีบรรยากาศอันแจ่มใสและเบิกบานใจ ถ้าผู้กำกับลูกเสือสามารถจัดการได้ดังกล่าว ก็นับได้ว่าทำกิจกรรมได้ดีมากที่จะจัดสรรสิ่งแวดล้อมอันดีสำหรับเด็กบางคน  ซึ่งจะเป็นยาขนานเอกสำหรับแก้สิ่งชั่วอันจะคืบคลานเข้าไปในจิตใจและลักษณะนิสัยของเด็ก

     ส่วนค่ายลูกเสือนั้น  (ควรจะได้จัดให้มีบ่อยที่สุดที่อาจทำได้)  ยังมีความสำคัญไกลไปกว่านั้น และเป็นเครื่องแก้ยาพิษขนานสำคัญกว่าสถานอำนวยการกองลูกเสือ  เพราะเป็นสถานที่โล่งแจ้ง  บรรยากาศแจ่มใส มิตรภาพเกิดจากการอยู่ร่วมกันเป็นระยะเวลานานภายใต้กระโจมผ้าใบ ตามทุ่งนาและในโอกาสการเล่นรอบกองไฟ ย่อมก่อให้เกิดจิตใจอันดีงามที่สุดระหว่างเด็ก นับเป็นโอกาสอันงดงามแก่ผู้กำกับลูกเสือยิ่งกว่าขณะใดๆ  ที่จะอบรมเด็ก และทำให้เด็กเลื่อมใสในบุคลิกลักษณะของเขา

ทำอย่างไรจึงจะได้เด็กมา

     ข้าพเจ้าชอบคิดถึงคนที่พยายามจะได้เด็กให้มาอยู่ด้วยภายใต้อิทธิพลที่ดี  ว่าเสมือนนักตกเบ็ดที่อยากจะได้ปลา

     ถ้านักตกเบ็ดนั้นเกี่ยวเบ็ดด้วยเหยื่อ  หรืออาหารที่ตัวนักตกเบ็ดชอบแล้ว  ก็ไม่แน่นักว่าเขาจะได้ปลามากโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่ขี้อาย ดังนั้นเขาจะต้องใช้เหยื่อที่ปลาชอบเกี่ยวเบ็ด 

     เด็กก็เช่นเดียวกัน ถ้าท่านพยายามจะสั่งสอนเด็กด้วยเรื่องที่ท่านคิดว่า  จะทำให้เด็กสูงส่งขึ้นแล้ว  ท่านจะไม่ได้รับผลสำเร็จ  “ เด็กที่ค่อนข้างดี ”  จะทำให้เด็กที่ชอบร่าเริงสนุกสนานหนีไปหมด  และเด็กเหล่านี้เป็นเด็กที่ท่านต้องการจะได้ไว้ มีทางเดียวคือท่านต้องยื่นบางอย่างที่เป็นสิ่งดึงดูดใจและน่าสนใจให้แก่เด็ก  ข้าพเจ้าคิดว่าท่านจะพบว่า  วิชาการลูกเสือจะช่วยท่านได้ ภายหลังท่านจะปรับปรุงให้เขาทำอะไรๆ  ได้ตามที่ต้องการ  การที่จะผูกมัดใจเด็กได้  ท่านต้องทำตัวของท่านเป็นเพื่อนกับเด็ก  แต่ต้องไม่รีบร้อนจนเกินไป กล่าวคือต้องรอจนเด็กหมดความกระดากอายในตัวท่านก่อน  มิสเตอร์ เอฟ  ดี  ฮาว ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ  Book of  the  Child  ให้คำแนะนำอย่างถูกต้องดังต่อไปนี้

     ชายคนหนึ่งในขณะที่เดินเล่นเป็นประจำวัน  ได้มายังถนนสกปรกสายหนึ่ง ได้แลเห็นเด็กเล็กคนหนึ่งหน้าตาเปรอะเปื้อนสกปรก  แขนขาเรียวเล็ก กำลังเล่นเปลือกกล้วยที่ทิ้งอยู่ในท่อน้ำข้างถนน ชายผู้นั้นพยักหน้าให้กับเด็กแต่เด็กกลับวิ่งหนีด้วยความตกใจกลัว  วันต่อมาชายคนนั้นได้พยักหน้ากับเด็กอีก  เด็กคนนั้นคิดว่า  ไม่มีอะไรที่จะต้องกลัวจึงถ่มน้ำลายให้  วันต่อมาเด็กน้อยนั้นเป็นเพียงแต่จ้องตาดู วันหลังต่อมาอีก เด็กคนนั้นได้ร้องทักเมื่อชายผู้นั้นเดินผ่านมา  ต่อมาอีกเด็กน้อยนั้นได้ยิ้มตอบในคำทักทาย ซึ่งเดี๋ยวนี้เขาหวังว่าคงจะได้รับจากชายคนนั้น  ในที่สุดความมีชัยชนะก็ตกอยู่แก่ชายคนนั้น  เพราะเด็กเล็กนั้นได้คอยเขาอยู่ตรงมุมถนน  และตรงเข้าจับนิ้วของชายคนนั้นไว้ในอุ้งมือที่สกปรกของเขา  ถนนนี้เป็นถนนที่น่าสลดใจก็จริง  แต่มันกลับเป็นจุดที่แจ่มใสที่สุดในชีวิตของชายผู้นั้น

     อะไรที่ผู้กำกับลูกเสือทำเด็กจะทำตาม  จะดูผู้กำกับ ดูได้จากตัวเด็ก จากการเสียสละและความรักชาติของผู้กำกับของเขา  เด็กจะเป็นผู้รับการถ่ายทอด  การเป็นผู้เสียสละ  อาสาสมัคร  ทำงานอาสาสมัครเพื่อรับใช้ชาติ  ไปจากการฝึกของ     ผู้กำกับ







หมายเลขบันทึก: 542184เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2013 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณท่าน ศน.คนเก่งมาก ถึงมากที่สุดจ้ะ

หนังสือนี้ไม่ได้เขียนเองนะครับพี่ B-P เขียน ผมอ่านแล้วเห็นว่ามีประโยชน์กับครูลูกเสือมาก ก็เลยสำเนามาให้อ่านกัน ผมตามหาหนังสือเล่มนี้มานานมาก ได้ต้นฉบับมาจาก ท่านอาจารย์นิคม อินทรโสภา ท่านผู้ตรวจการลูกเสือฝ่ายพัฒนาบุคลากร (คนปัจจุบัน) ความดีงามที่ได้จากการอ่านหนังสือนี้ ขอยกให้ท่านอาจารย์นิคม ทั้งหมดครับผม

น่าสนใจมาก

ชอบกิจการลูกเสือ ปัจจุบันบ้านเราเปลี่ยนไปมากนะครับ

ขออนุญาตแชร์ใน Facebook น่ะ เพื่อจุดประกายผู้กำกับลูกเสือ

ขอบพระคุณครับ ถ้าเราเชื่อว่า การลูกเสือสามารถพัฒนาเยาวชนให้เป็นคนดีได้ เราก็ต้องพยายามจัดกิจกรรมลูกเสือตามแนวทางที่ B-P เขียนไว้ เพราะท่านเป็นผู้คิดกิจการลูกเสือขึ้นมาในโลกใบนี้ ปัจจุบันเรามักจะได้เห็นลูกเสือแบบแปลกๆ การฝึกอบรมปนๆกับการฝึกเยาวชนแบบต่างๆมากมาย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไรนะครับ แต่ถ้าท่านผู้กำกับลูกเสือ ได้อ่านคู่มือผู้กำกับลูกเสือ ซึ่ง B-P เป็นผู้เขียน ก็จะทำให้เข้าใจการฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ในรูปแบบที่เรียกว่า ลูกเสือ ชัดเจนขึ้นครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท