ความคิดเกี่ยวกับค่านิยมเรื่องยานพาหนะ


น่าจะมีแต่คนเราที่เป็นสัตว์ประเสริฐในโลกนี้ที่สามารถประดิษฐ์และพัฒนายานพาหนะในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งบนบก  ใต้ดิน เรือผิวน้ำ เรือดำน้ำ อากาศ  จนแม้กระทั่งอวกาศ ยานพาหนะเหล่านี้นอกจากจะสร้างความสะดวกสบายและโอกาสต่าง ๆ อย่างมากมายแล้วยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับค่านิยมของผู้คนในแต่ละสังคมอย่างลึกซึ้งแตกต่างกันไป

ยานพาหนะยอดนิยมมาโดยตลอดและเป็นข่าวในแง่มุมต่าง ๆ ในสังคมไทยคือรถยนต์ ยิ่งในปี 2555 ที่รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศด้วยโครงการรถยนต์คันแรกที่รัฐบาลไม่เรียกเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ตามเงื่อนไขของโครงการ  ทำให้รัฐบาลต้องขาดรายได้จากภาษีนี้หลายหมื่นล้านบาท

โดยทั่วไปแล้วยานพาหนะมีราคาแพงและคนส่วนใหญ่อยากจะเป็นเจ้าของ เพราะนอกจากยานพาหนะที่คน ๆ
หนึ่งครอบครองอยู่นั้นจะใช้งานให้ความสะดวกสบายแล้วยังเป็นสิ่งบ่งบอกสถานภาพทางสังคมและค่านิยมของบุคคลได้อย่างค่อนข้างชัดเจนด้วย  แต่ละวันมีภาพให้เห็นกับตาหรือสามารถจินตนาการความจริงในสังคมในด้านที่เกี่ยวกับสถานะและค่านิยมในการใช้ยานพาหนะให้เห็นมากมาย เช่น คุณพ่อลูกสามถีบสามล้อไปรับ-ส่งผักที่ตลาด
พนักงานใหม่ขับรถยนต์ (คันแรก) อีโคคาร์ไปทำงาน ลูกชายเศรษฐีเจ้าของโรงสีข้าวรายใหญ่ขับรถเฟอร์รารี่สีแดงไปเที่ยวที่เขาใหญ่ เจ้าสัวนั่งรถโรลส์รอยซ์ไปงานแต่งงานลูกชายรัฐมนตรี หรือผู้บริหารของบริษัทใหญ่นั่งเครื่องบินเจ็ทประจำตำแหน่งไปประชุม เป็นต้น บางคนต้องพยายามแทบตายกว่าจะได้ยานพาหนะเหล่านี้มาครอบในขณะที่บางคนซึ่งคงจะสะสมบุญเก่าไว้ดีก็อาจจะได้มาโดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลยก็มี  ในกรณีเช่นนี้ทำให้ผมมักคิดถึงคำพูดที่ว่า “คนเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน”

เมื่อพิจารณาความไม่เหมือนกันของผู้คนให้ดีแล้วน่าจะเห็นว่าจะเป็นสิ่งที่สวยงาม ไม่น่าเบื่อ ต่างคนต่างก็ยินดีพอใจทำอะไรหรือมีอะไรตามสภาพเหตุปัจจัยที่พอมีพอได้ของตนเอง  ถ้าเป็นแบบนี้แต่ละคนแต่ละครอบครัวก็น่าจะมีความพอใจและเห็นคุณค่าของยานพาหนะที่ตนเองครอบครองและใช้งานอยู่  แต่ในความเป็นจริงที่ยานพาหนะมีผลต่อการประกาศสถานภาพทางสังคมอย่างง่ายและชัดเจนทำให้หลายคนต้องพยายามทุกรูปแบบให้ได้มาซึ่งยานพาหนะราคาแพงแม้ว่าจะต้องเป็นหนี้สินมากมาย บางคนยอมทำผิดกฏหมายหรือจารีตประเพณี หรือแม้ได้มาแล้วอาจจะไม่ค่อยได้ใช้งาน  แต่การได้เป็นเจ้าของก็ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจและมีความเชื่อว่าตนเองมีสถานภาพในสังคมสูงตามราคาของยานพาหนะนั้น

ยานพาหนะเป็นความฝันของผู้คนจำนวนมากที่จะได้ครอบครองและใช้งานทั้งเพื่อความสะดวกสบายและบอกสถานภาพทางสังคมได้ชัดเจนดีด้วย  บางกลุ่มสังคมในสังคมอาจจะวัดความสำเร็จของคนว่าจะต้องมีรถบรรทุกส่วนตัว (กระบะหรือปิคอัพ) บางกลุ่มพูดถึงรถยนต์หรูนำเข้าแบบที่กำลังเป็นข่าวใหญ่ บางกลุ่มอาจจะเป็นเครื่องบินส่วนตัวหรือเรือสำราญ เป็นต้น เกี่ยวกับรถยนต์นั้นโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลไทยก็ทำให้หลายคนบรรลุเป้าหมายเร็วขึ้นเพราะมีแรงจูงใจที่ไม่ต้องจ่ายค่าภาษีสรรพสามิตเป็นเงินนับแสนบาทต่อราย  โครงการนี้มีผลกระทบในวงกว้างในหลายด้านทั้งดีและไม่ดีและจะยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปอีกนาน

ในชุมชนชนบทที่ผมอาศัยอยู่ในปัจจุบันนั้นก็น่าจะไม่ต่างจากชุมชนอื่น ๆ ที่ผู้คนมีความอยากได้ไคร่มีเป็นปกติ
นอกจากโครงการรถยนต์คันแรกแล้ว โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่มีมาอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปีมีผลทำให้มีจำนวนรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  หลายครอบครัวมีรถยนต์มากกว่า 1 คัน นี่ยังไม่นับรวมรถไถ (ไม่ว่าจะแบบนั่งขับหรือแบบเดินตาม) หรือจักรยานยนต์ที่มีกันแทบทุกบ้าน ส่วนใหญ่มีรถบรรทุกส่วนบุคคล ซึ่งดูเหมาะสมดีกับสภาพพื้นที่ แต่บางครอบครัวมีรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (รถเก๋ง) ด้วยซึ่งบางบ้านก็เห็นจอดไว้เฉยๆ  ไม่เคยเห็นขับไปไหน  เวลามีงานทางสังคม  เช่นงานบวช งานศพ และงานแต่งงาน เป็นต้น ก็จะเห็นรถยนต์จอดเรียงรายเต็มสองข้างทางทั้งที่บางคนเดินเอาก็ได้เพราะอยู่บ้านห่างออกไปแค่ 2-300 เมตรเท่านั้น  ตรงนี้สามารถมองได้ว่านอกจากเป็นการบ่งบอกสถานภาพทางสังคมของเจ้าของรถแล้วยังเป็นการเสริมสถานภาพและบารมีของเจ้าของงานด้วย
เป็นเหตุผลที่ไม่มีสาระนัก  แต่ต้องยอมรับความจริงว่ามีสิ่งไร้สาระมากมายในสังคมที่คนยังให้ความหลงไหลเชื่อถือศรัทธา

เวลาที่เห็นรถยนต์หรูบนท้องถนนท่านคิดถึงอะไรบ้าง  นอกจากคิดว่ามันดูสวยดี คงจะแพงมากแล้วท่านได้พิจารณาสิ่งอื่น ๆ เกี่ยวกับรถบ้างหรือไม่ เช่น  กว่าจะเป็นรถยนต์หรู 1 คันนั้นมีป่าเขาถูกทำลายไปเท่าไร เจ้าของได้มาโดยสุจริตหรือไม่  สิ้นเปลืองน้ำมันและสร้างมลพิษอย่างไร  เจ้าของได้มาโดยถูกต้องหรือไม่  ถ้าท่านเป็นเจ้าของรถหรูคันนั้นท่านจะต้องเตรียมสถานที่จอดอย่างไร  เวลาเอาไปจอดข้างถนนจะมีรถอื่นมาเฉี่ยวชนไหม จะมีใครมาลักขโมยรถหรือทุบกระจกเอาของในรถไหม นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินผ่อนรถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุง  ค่าต่อทะเบียน  ค่าประกันภัย อุปกรณ์เสริม ฯลฯ

ค่านิยมในเรื่องรถยนต์ว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกสถานภาพทำให้บางคนหาทางทำให้ได้ครอบครองรถยนต์ที่คิดว่าหรูหราหนือชั้นกว่าคนอื่นด้วยวิธีการทุกอย่าง  ในสังคมที่ระบบการบังคับใช้กฏหมายอ่อนแอแบบไทยทำให้เกิดช่องทางในการทุจริตมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ  หรือบางคนสามารถควบเอาได้ทั้งสองอย่าง  ทำให้เกิดปัญหาที่เราสามารถเห็นได้ทางสื่อต่าง ๆ ก่อนที่จะเกิดกรณีรถหรูที่กำลังฮือฮากันอยู่ในขณะนี้ในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมาเคยมีคดีที่เกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ที่ส่งผลให้อธิบดีกรมศุลกากรในสมัยนั้นถูกสอบสวนและย้ายออกไปทำงานในตำแหน่งอื่นมาแล้ว  ถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ทำงานแบบลูบหน้าปะจมูกแล้วคงจะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้

จะเห็นได้ว่าเรื่องที่เกี่ยวกับการมีและใช้รถในสังคมไทยนั้นมันช่างมากมายและลึกซึ้งจริง ๆ ถ้าหลงไปตามค่านิยมของสังคมหรือคำโฆษณาของบริษัทขายรถโดยไม่พิจารณาสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็อาจจะทำให้บางคนซื้อรถมาแล้วแทนที่จะมีแต่ความกลับต้องเป็นทุกข์อย่างแสนสาหัส  ถ้าท่านเป็นเจ้าของรถที่มีคุณธรรมบ้างก็คงจะพิจารณาครอบครองและใช้รถตามความจำเป็นที่สุดเท่านั้น  ไม่คิดที่จะมีมาแข่งขันกันเพื่อความโก้หรู  มิฉะนั้นสายตาที่มองไปยังรถของท่านอาจจะเต็มไปด้วยความอิจฉาปนชิงชัง  ท่านต้องการให้เป็นเช่นนั้นหรือเปล่า



หมายเลขบันทึก: 542150เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 05:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กรกฎาคม 2013 05:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เท่าที่ผมเห็นด้วยตา รู้สึกด้วยใจ ค่านิยมที่สูงขึ้น ทำให้คนมีรถที่หรูขึ้น แต่สติปัญญาและสามัญสำนึกต่ำลง คนปัจจุบัน โดยเฉพาะในเมือง แค่ทำให้รถเคลื่อนได้ก็คิดว่าเก่ง ขับออกมาสร้างปัญหาก็มากมาย หรือการจะเปิดไฟบอกซ้าย ขวา ยังไม่ทำกันเลย นี่แหละ ที่พบมา เจอตั้งแต่ ตุ๊ก ตุ๊ก ยัน เบนซ์ คันละหลายสิบล้านครับ

เห็นด้วยอย่างยิ่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท