แนวคิดอารยะขัดขืนตอนที่ 8 ตัวอย่างแนวหลักการทำอาระขัดขืนของจอห์น รอลส์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์


อย่างไรก็ตามจอห์น รอลส์เสนอว่าการทำอารยะขัดขืนหรือการดื้อแพ่งโดยประชาชนต้องประกอบไปด้วยลักษณะ 2 ประการ ดังนี้ 1. การทำอารยะขัดขืนอย่างแคบ เช่น จอห์น รอลส์ 2. การทำอารยะขัดขืนอย่างกว้าง เช่น เช่น ธอโร และคิง

จอห์น รอลส์นิยามการทำอารยะขัดขืนไว้ว่า การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public) สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฏหมาย ปรกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือในนโยบายของรัฐบาล” โดยการกระทำดังกล่าวต้องกระทำในสังคมที่ใกล้จะเป็นธรรมเท่านั้น

จากคำนิยามของจอห์น รอลส์ เราจึงอธิบายสาเหตุของการ “จำกัด” ให้การกระทำอารยะขืน เป็นการมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “ในกฎหมายหรือนโยบาย” แต่ไม่มุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งระบอบการปกครอง เพราะรอลส์กำหนดให้การดื้อแพ่งหรือการทำอารยะขัดขืน กระทำเฉพาะในกรณีสังคมที่ใกล้จะเป็นธรรม (nearly just society) กล่าวคือ เป็นสังคมส่วนใหญ่มีการจัดระเบียบอย่างดี แต่มีการละเมิดความยุติธรรมปรากฏอยู่บ้าง (more or less just democratic state) การดื้อแพ่งหรือการทำอารยะขัดขืน เป็นการกระทำที่เหมาะสมในรัฐประชาธิปไตยที่ได้อำนาจมาโดยชอบธรรมและมีความเป็นธรรมอยู่บ้างเท่านั้น ไม่อาจประยุกต์ใช้กับรัฐบาลรูปแบบอื่นได้ สาเหตุที่ใช้ได้เฉพาะในบริบทของรัฐประชาธิปไตยที่ “ใกล้จะเป็นธรรม” เท่านั้น

การดื้อแพ่งหรือการทำอารยะขัดขืนนั้นต้องยอมรับการยอมรับบทลงโทษของรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการละเมิดกฎหมายของผู้กระทำการดื้อแพ่งจากประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืน  เงื่อนไขนี้เท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาล ดังนั้น หากผู้กระทำการดื้อแพ่งจากประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืน ในรัฐเผด็จการอย่างประเทศพม่าที่ขึ้นสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจจากฝ่ายชนะเลือกตั้ง จึงเท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ที่ไม่มีความชอบธรรมอยู่เลยนั่นเอง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ซึ่งได้ยึดถือจอห์น รอลส์เป็นหลัก เห็นว่าการตีความชีวิตของธอโร และคิงในการยอมรับผลของการลงโทษมีข้อเด่นที่เอื้อต่อการก้าวสู่ความมีอารยะของสังคมการเมือง

1. บทบาทและอำนาจของปัจเจกชนในการเปลี่ยนแปลงสังคมการเมืองให้ดีขึ้น

2. การละเมิดกฎหมายในนามศีลธรรมที่เหนือกว่า เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่อยุติธรรมให้เป็นธรรมขึ้น

3. การยอมรับการลงโทษของรัฐที่มีความชอบธรรม

ชัยวัฒน์อธิบายงานเรื่องต้านอำนาจรัฐนั้น มุ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับรัฐ และเสนอให้ “ต้านอำนาจรัฐบาล” หากเห็นว่ารัฐบาลทำสิ่งไม่ถูกต้อง ธอโร เห็นว่าเราควรเป็นมนุษย์ก่อนสิ่งอื่นใด แล้วจึงค่อยเป็นพลเมือง ทั้งนี้ธอโรใช้วิธีไม่จ่ายภาษีเพราะง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ฐานความเชื่อของธอโรมีสามประการ คือ

1. รัฐอยู่ได้เพราะประชาชนเห็นชอบ รัฐที่ “เป็นอิสระและมีอารยะ” ต้องตระหนักว่าปัจเจกชนคือพลังอำนาจอิสระและสูงส่ง และรัฐหยิบยืมพลังนั้นมา จึงพึงปฏิบัติต่อปัจเจกชนด้วยความเคารพ

2. รัฐมีอำนาจเหนือเพียงร่างกายของมนุษย์เท่านั้น รัฐกักขังได้แต่กาย แต่ขังความคิดของธอโรไม่ได้

3. พลังอำนาจในการต้านอำนาจรัฐไม่ขึ้นต่อปริมาณของผู้คน รัฐที่มีอารยะในความคิดของธอโร คือ รัฐที่ปกครองน้อยที่สุด การไม่จ่ายภาษีของเขานั้น นอกจากง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดแล้ว ยังทำให้รัฐเป็นอารยะขึ้น เพราะปัจเจกมีอำนาจมากขึ้น ในขณะที่รัฐมีอำนาจลดลง

สำหรับจดหมายของคิงชัยวัฒน์อธิบายว่าเขียนขึ้นเพื่อตอบข้อวิจารณ์ของเพื่อนนักบวชผิวขาว ซึ่งอาจแยกได้เป็น 3 ประเด็นหลัก คือ

1. ความอยุติธรรมถ้าจะเกิดขึ้นก็เป็นปัญหาภายในรัฐอลาบามา คิงเป็นคนนอกไม่ควรมาเกี่ยวข้อง

2. นักบวชเมืองอลาบามาเดือดร้อนไปทั่วเพราะสิ่งที่ฝ่ายชาวแอฟริกัน-อเมริกันทำ เป็นการละเมิดกฎหมาย

3. นักบวชในเมืองชื่นชมการจับกุมคุมขังผู้ประท้วงของตำรวจ ยิ่งกว่าจะเห็นใจฝ่ายผู้ประท้วงที่ใช้อารยะขัดขืน

คิงตอบข้อแรกว่าเพราะเบอร์มิงแฮมเป็นเมืองที่มีการแบ่งแยกผิวสีมากที่สุดในสหรัฐ มีตำรวจที่โหดร้ายกับผู้คนมากที่สุด ศาลตัดสินคดีเกี่ยวกับคนผิวสีอย่างไม่เป็นธรรมที่สุด มีคดีระบิดบ้านพักและโบสถ์ของคนผิวสีค้างคามากที่สุด คิงสรุปการมาเมืองเบอร์มิงแฮมของเขาด้วยประโยคที่กลายเป็นอมตะว่า ความอยุติธรรมไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดก็คุกคามความยุติธรรมทุกหนแห่งไป” [Injustice anywhere is a threat to justice everywhere.

ส่วนข้อวิจารณ์ข้อที่ 2 คิงตอบว่าเขาเรียกร้องให้ละเมิดกฎหมายเพียงบางข้อที่ไม่เป็นธรรม ในขณะที่เชื่อฟังกฎหมายข้ออื่นๆที่เป็นธรรม กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมของคิงมีลักษณะ 3 ประการ คือ

1. ไปกันไม่ได้กับกฎทางศีลธรรม (moral law) ซึ่งวางอยู่บนความสัมพันธ์แบบ “ฉันกับท่าน” (I-thou) แต่กฎหมายแบ่งแยกสีผิววางอยู่บนฐานแบบ “ฉันกับมัน” (I-it) ซึ่งผลักให้คนที่สัมพันธ์ด้วยกลายเป็นวัตถุสิ่งของ

2. เป็นกฎหมายที่คนส่วนใหญ่ใช้บังคับเอากับคนส่วนน้อย โดยไม่ผูกพันฝ่ายตนเข้าไว้ด้วย และ

3. เป็นกฎหมายที่บังคับคนกลุ่มน้อย โดยที่ผู้ถูกบังคับไม่มีสิทธิมีส่วนในการสร้างกฎหมายนั้นแม้แต่น้อย

ประเด็นที่ 3 คิงชี้ประเด็นที่นักบวชผิวขาวชื่นชมตำรวจที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง ว่าสันติวิธีต้องเพียบพร้อมทั้งวิธีการและเป้าหมาย ไม่สามารถใช้วิธีการอันเป็นสันติเพื่อเป้าหมายที่ไม่เป็นธรรมอย่างที่ตำรวจทำได้ และว่าจริงๆแล้วนักบวชผิวขาวควรชื่นชมผู้ประท้วงชาวนิโกรบ้าง ที่กล้าหาญเยือกเย็น มีเจตนาที่พร้อมยอมรับความทุกข์ทรมาน มีวินัยอย่างยิ่ง และอดทนไม่ใช้ความรุนแรงโต้ตอบการกระตุ้นที่แทบจะเหลือทนได้ สุดท้ายคิงเชื่อว่าผู้ประท้วงด้วยอารยะขัดขืนจะชนะเพราะ “มรดกศักดิ์สิทธิของชาติของเรา” และ “พระประสงค์อันเป็นนิรันดร์ของพระเป็นเจ้า” ธำรงอยู่ในข้อเรียกร้องของผู้ประท้วง

จอห์น รอลส์ซึ่งเสนอลักษณะสำคัญ 7 ประการของการกระทำการดื้อแพ่งจากประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืน คือ 1.ตั้งใจละเมิดกฎหมาย 2.ใช้สันติวิธี 3.กระทำในที่สาธารณะโดยแจ้งให้ฝ่ายรัฐรับรู้ล่วงหน้า 4.เต็มใจรับผลทางกฎหมายของการละเมิดกฎหมายดังกล่าว 5.ทำเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือนโยบายของรัฐบาล 6.มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรมของผู้คนส่วนใหญ่ในบ้านเมือง 7.มุ่งเชื่อมโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรม ซึ่งโดยหลักแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายและสถาบันทางสังคม

จากลักษณะทั้ง 7 ประการ จุดหมายของการดื้อแพ่งจากประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืน  เพื่อปลุกมโนธรรมสำนึกของสาธารณชนนั้น มิได้เพียงเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมาย แต่ที่สำคัญคือเกิดจากการรับผลของการละเมิดกฎหมายต่างหาก เพราะการเห็นภาพที่ “พลเมืองดีๆ” จงใจละเมิดกฎหมายจนต้องรับโทษตามกฎหมายนั้น จะปลุกมโนธรรมสำนึกของสาธารณะให้ตั้งคำถามกับตัวกฎหมายหรือนโยบายที่เป็นเหตุให้ “พลเมืองดีๆ” ต้องกระทำการอารยะขัดขืน

ดังนั้นสรุปว่าต้องปล่อยให้การดื้อแพ่งหรือการทำอารยะขัดขืน  ทำงานโดยอยู่นอกอำนาจการรับรองของรัฐ เพื่อให้ยังคงมีฐานะเป็นการละเมิดกฎหมายด้วยอารยะวิธีในการเปลี่ยนแปลงแกไขสิ่งที่ไม่ถูกต้องในสังคมการเมือง “ที่ใกล้จะเป็นธรรม” เอาไว้ 

หนังสืออ้างอิง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อารยะขัดขืน. http://chaisuk.wordpress.com/2007/07/13/summary-civil-disobedience-chaiwat/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน.

http://www.openbase.in.th/http:/%252Fwww.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%25  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล.แนวความคิดเรื่องการดื้อแพ่งของนักปรัชญาอเมริกัน John Rawls. http://www.spiceday.com/archiver/?tid-52063.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อุเชนทร์ เชียงแสน. ว่าด้วยบันไดและอารยะขัดขืน: จากสมัชชาคนจนถึง Pmove. http://blogazine.in.th/blogs/uchane-cheangsan/post/4148  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. การประท้วง. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อารยะขัดขืน. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 541795เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท