แนวคิดอารยะขัดขืนตอนที่ 5 ความแตกต่างระหว่างการทำอารยะขัดขืนกับอาชญากรรม


จากแนวความคิดพื้นฐานดังกล่าวจึงทำให้สามารถจำแนกการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืน ออกจากการกระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นอาชญากรรม(crime) ได้ แม้ว่าการกระทำทั้ง 2 ประเภทในเบื้องต้นต่างก็เป็นการกระทำซึ่งฝ่าฝืนต่อกฎหมายเช่นเดียวกัน. ความแตกต่างของการกระทำทั้ง 2 ประเภท สามารถพิจารณาได้ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. การดื้อแพ่งของประชาชนหรืออารยะขัดขืนกระทำไปบนพื้นฐานของมโนธรรมสำนึกว่า กฎหมายหรือคำสั่งที่ตราขึ้นนั้นปราศจากความยุติธรรม และหากตนเองกระทำตามกฎหมายดังกล่าวนอกจากจะเป็นการฝ่าฝืนต่อมโนธรรมส่วนตัวแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความอยุติธรรมดังการให้คำจำกัดความถึงการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของ Leiser ว่าหมายถึง การฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งผู้กระทำเชื่อว่ากฎหมายดังกล่าว ไม่ยุติธรรมหรือไม่สอดคล้องกับศีลธรรม ไม่ว่าผู้กระทำนั้นจะยอมรับความมีผลบังคับใช้หรือปฏิเสธการมีผลบังคับใช้ของกฎหมายดังกล่าว

การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนจึงเป็นการปฏิเสธภาระผูกพันต่อกฎหมายที่บุคคลนั้น เห็นว่าไม่ยุติธรรมจึงไม่ควรปฏิบัติตาม การกระทำนี้จึงมีพื้นฐานมาจากแรงจูงใจที่ดีแตกต่างไปจากผู้ซึ่งละเมิดต่อกฎหมาย ที่กระทำโดยความโลภส่วนตัวที่อาจยอมรับความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมายที่ตนเองฝ่าฝืน ตัวอย่างเช่น การคัดค้านโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ปรากฏอยู่อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และวิถีชีวิตของผู้คนจำนวนมาก

การคัดค้านนโยบายดังกล่าวจึงเป็นการปฏิเสธในตัวเนื้อหาสาระของโครงการว่าปราศจากความชอบธรรม แตกต่างไปจากการละเมิดต่อกฎหมายในลักษณะอาชญากรรม เช่นการฆ่าผู้อื่น ซึ่งผู้กระทำอาจยอมรับถึงหลักความชอบธรรมของกฎเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว แต่กระทำไปด้วยเหตุผลส่วนตัวบางประการ อาทิ ความเกลียดชัง การแก้แค้น

2. การดื้อแพ่งต่อกฎหมายหรืออารยะขัดขืนกระทำขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไข กฎหมาย หรือคำสั่งของผู้ปกครองให้เป็นไปในทิศทางที่ผู้กระทำเชื่อว่าสอดคล้องกับมโนธรรมและความถูกต้อง

เมื่อเปรียบเทียบการดื้อแพ่งของประชาชนกับการกระทำความผิดอันเป็นอาชญากรรม จะพบเห็นความแตกต่างของการกระทำทั้งสองได้ โดยการดื้อแพ่งเป็นการกระทำซึ่งผู้กระทำได้กระทำลงด้วยการพิจารณาว่า กฎหมายหรือนโยบายของรัฐเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม การฝ่าฝืนจึงได้บังเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความเปลี่ยน แปลงหรืออย่างน้อยที่สุดก็อาจเป็นการระงับกฎหมายดังกล่าวไว้ไม่ให้มีผลบังคับ ขณะที่การกระทำอาชญากรรมผู้กระทำเมื่อได้กระทำไปก็มิได้มีการคาดหวังจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต่อเนื้อหาของกฎหมาย อีกทั้งผู้กระทำก็อาจจะยอมรับความชอบธรรมในเนื้อหาของกฎหมายนั้นๆ โดยไม่ได้โต้แย้ง หรือมีความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ส่วนตัวเท่านั้น

3. เงื่อนไขและลักษณะของการดื้อแพ่งต่อกฎหมาย แม้ว่าจะมีความแตกต่างโดยพื้นฐานระหว่างการดื้อแพ่งของประชาชนหรืออารยะขัดขืนกับความผิดอันเป็นอาชญากรรม นอกจากความแตกต่างดังกล่าวแล้วยังมีรูปแบบของการกระทำซึ่งจัดได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายโดยเฉพาะ ทั้งนี้การฝ่าฝืนหรือละเมิดต่อกฎหมายของรัฐมิได้ปรากฏเพียงการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเพียงอย่างเดียว ยังปรากฏการกระทำในลักษณะอื่นเกิดขึ้นด้วย เช่น การต่อต้านด้วยการใช้กำลัง การก่อวินาศกรรม การกระทำกบฏ ดังนั้นนอกจากลักษณะภายนอกของการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเหมือนกันแล้ว นักทฤษฎีหลายคนที่ได้ศึกษาถึงเรื่องการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน ได้พยายามวางกรอบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เรียกว่าการดื้อแพ่งของประชาชน กับการกระทำในลักษณะอื่นๆ ดังนี้

ประการที่ 1

การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนต้องเป็นการกระทำในพื้นที่สาธารณะ(public act) การดื้อแพ่งต้องดำเนินไปโดยเปิดเผย ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุผลสำคัญคือ การดื้อแพ่งเป็นการแสดงความเห็นโต้แย้งของผู้อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวปราศจากความยุติธรรม การโต้แย้งของประชาชนต้องดำเนินไปเพื่อนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจำเป็นที่การกระทำนี้ต้องเป็นการกระทำต่อสาธารณะเพื่อให้เกิดการสนับสนุนจากสังคมขึ้น เช่นปัญหาการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ สุดท้ายจะนำมาซึ่งการไร้แผ่นดินทำกิน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ

จากตัวอย่างนี้ทำให้เห็นว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน นอกจากจะเป็นการนำเสนอประเด็นปัญหาความขัดแย้งต่อสาธารณะแล้ว ยังมีความมุ่งหวังที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในระดับใดระดับหนึ่ง เช่น กระตุ้นให้คนส่วนใหญ่ทบทวนการพิจารณาต่อการกระทำบางอย่าง ผลที่เกิดจากการดื้อแพ่งเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบการกระทำซึ่งได้ตัดสินใจไปแล้วก็สามารถถือได้ว่าเป็นผลอย่างน้อยที่สุดที่ควรจะได้รับจากการดื้อแพ่ง

ประการที่ 2

การดื้อแพ่งต่อกฎหมายต้องเป็นปฏิบัติการที่หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง (non violence) การดื้อแพ่งต่อกฎหมายมีลักษณะแตกต่างอย่างชัดเจนกับการละเมิดต่อกฎหมายในรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านด้วยกำลัง การต่อต้านแบบกองโจร ก็เพราะการดื้อแพ่งมีลักษณะที่ไม่ใช้ความรุนแรง

แม้ว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเป็นการกระทำที่มีพื้นฐานของการปฏิเสธความไม่ชอบธรรมของกฎหมาย /นโยบาย/คำสั่งของรัฐ แต่โดยที่ยังยอมรับสิทธิของบุคคลอื่น เช่นสิทธิในร่างกาย สิทธิในทรัพย์สินการใช้ความรุนแรงจึงเป็นการกระทำซึ่งคุกคามสิทธิของบุคคลอื่นโดยตรง ในแง่หนึ่งการดื้อแพ่งต่อกฎหมายเป็นการกระทำที่เป็นเสียงเรียกร้องของมโนธรรมสำนึกไม่ใช่การข่มขู่ ฉะนั้น การใช้ความรุนแรงจึงไม่อาจไปกันได้กับการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืน

ประการที่ 3

การดื้อแพ่งของประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืนทำได้ใน 2 กรณี คือ 1. ต่อต้านกฎหมายนั้นโดยตรง(direct civil disobedience) และ 2.. ไม่จำเป็นกระทำต่อกฎหมายที่มุ่งคัดค้านโดยตรง (indirect civil disobedience) 

แม้ว่าโดยทั่วไปการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจะเป็นการกระทำโดยตรงต่อกฎหมายที่ประชาชนเห็นว่าไม่ยุติธรรม เช่น การปฏิเสธเข้าร่วมเป็นทหารในสงครามเวียดนามของชาวอเมริกันจำนวนมาก เพราะเห็นว่าทางฝ่ายสหรัฐใช้วิธีการและอาวุธที่ละเมิดต่อศีลธรรม การกระทำเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการดื้อแพ่งโดยตรง(direct civil disobedience)

แต่ในหลายกรณีก็ปรากฏการดื้อแพ่งต่อกฎหมายอื่นๆ เพื่อเป็นการแสดงการคัดค้านต่อกฎหมายหรือนโยบายอีกอย่าง ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย/นโยบายนั้นๆไม่อาจกระทำการดื้อแพ่งได้โดยตรง ดังในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล หรือกรณีที่บทลงโทษของกฎหมายที่ประชาชนต้องการคัดค้านนั้นมีความรุนแรง ประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายดังกล่าว ก็อาจหันไปใช้การดื้อแพ่งต่อกฎหมายฉบับอื่นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการคัดค้านของตนเองก็ได้ เช่น การประท้วงในที่สาธารณะด้วยการกีดขวางทางจราจร, การนั่งประท้วง, นอนประท้วงในที่หวงห้าม ฯลฯ การกระทำเหล่านี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการดื้อแพ่งต่อกฎหมายโดยอ้อมของประชาชน(indirect civil disobedience)

แม้ว่าการดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนหรือการทำอารยะขัดขืนจะมีลักษณะและเงื่อนไขที่แตกต่างไปจากการฝ่าฝืนกฎหมาย ในรูปแบบอื่นๆ ตามที่ได้หยิบยกขึ้นมาอภิปรายแล้ว ลักษณะอีกประการหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายก็คือ การดื้อแพ่งของประชาชนจะยังคงวางอยู่บนพื้นฐานของการเคารพต่อรัฐบาลและระบบกฎหมายโดยรวม โดยไม่ได้มุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงระบบหรือโครงสร้างทั้งหมดเพียงต้องการให้มีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายเป็นบางส่วนเท่านั้น

ขอบเขตของการดื้อแพ่งที่จำกัดวัตถุประสงค์ของการกระทำไว้ในลักษณะดังกล่าว เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ที่การเคลื่อนไหวดำเนินไป โดยมิได้ต้องการให้มีการยึดหรือล้มอำนาจรัฐ หากเป็นการกระทำเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎหมายบางด้านเท่านั้น อันเป็นลักษณะที่มีความแตกต่างอย่างมากจากขบวนการเคลื่อนไหวที่เคยปรากฏขึ้นในอดีต ที่เป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนไหวคือการยึดอำนาจรัฐ ดังปรากฏอยู่ในแนวทางของขบวนการสังคมนิยมซึ่งมีเจตนาจะยึดกุมอำนาจรัฐ และนำเอามาใช้เป็นเครื่องมือในการสลายชนชั้นให้หมดไป

หนังสืออ้างอิง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อารยะขัดขืน. http://chaisuk.wordpress.com/2007/07/13/summary-civil-disobedience-chaiwat/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน.

http://www.openbase.in.th/http:/%252Fwww.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%25  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล.แนวความคิดเรื่องการดื้อแพ่งของนักปรัชญาอเมริกัน John Rawls. http://www.spiceday.com/archiver/?tid-52063.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อุเชนทร์ เชียงแสน. ว่าด้วยบันไดและอารยะขัดขืน: จากสมัชชาคนจนถึง Pmove. http://blogazine.in.th/blogs/uchane-cheangsan/post/4148  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. การประท้วง. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อารยะขัดขืน. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 541471เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2013 09:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท