deawche
เดี่ยวเช คมสัน deawche หน่อคำ

แม่จองไฟ ผืนป่าต้นน้ำที่ยังมีชีวิต


แม่จองไฟ ป่าต้นน้ำอนุรักษ์ ภูมิปัญญาปกากะญอ ชีวิตคู่ธรรมชาติโดย มะเดี่ยวศรี ออนแพร่

  ต้นเดือนพฤษภาคม 2556 พายุได้พัดกระหน่ำในพื้นที่หมู่บ้านชาวเขาเผ่าปกากะญอที่บ้านแม่จองไฟ หมู่ 2 ตำบลห้วยอ้อ อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ซึ่งมีต้นสักขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยตั้งอยู่(ต้นสักใหญ่ที่สุดอยู่ วนอุทยานต้นสักใหญ่ ต.น้ำปาด อ.น้ำปาด จ.อุตรดิตถ์) พี่ๆนักข่าวประจำสนง.ประชาสัมพันธ์ประจำจังหวัดแพร่ได้ทราบข่าวจากผู้ใหญ่บ้านแม่จองไฟว่าในบริเวณเดียวกันนั้นมีต้นไม้หักโค่นหลายต้น มะเดี่ยวศรีจึงมีโอกาสได้ติดสอยห้อยตามไปทำข่าวภาคสนามที่บ้านแม่จองไฟเพื่อดูความเรียบร้อยของต้นสักอันดับ 2 ของประเทศ ขนาดลำต้นโต 666 เซนติเมตร สูง 15 เมตร(เนื่องจากถูกตัดปลายและยอดทิ้งไปเพื่อให้ต้นสักรอด) ที่อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่นายสมชัย หทยะตันติและชาวบ้านลงมติให้ช่วยกันทำให้ต้นสักนี้ฟื้นคืนธรรมชาติด้วยการอนุบาลขึ้นใหม่ในพื้นที่เดิมให้อยู่คู่ป่าต้นน้ำ

เมื่อเดินทางไปถึงยังปากทางเข้าหมู่บ้านก็พบเห็นกี่ทอผ้าหลายสิบตัวตั้งเรียงรายในศาลาเอนกประสงค์ของหมู่บ้านที่กลุ่มแม่บ้านกำลังทอผ้าพื้นเมืองสำหรับใช้เองและส่งจำหน่ายเป็นภาพที่หาชมได้ยาก หยุดเก็บภาพวิถีชีวิตและภาพบ้านเรือนในชุมชนที่ยังคงความเป็นชุมชนแบบพอเพียง สำหรับบ้านแม่จองไฟเป็นหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าปกากะญอ โดยหมู่บ้านแห่งนี้ได้ช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าให้อุดมสมบูรณ์ และเป็นป่าต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของกลุ่มคนมาช้านาน บ้านแม่จองไฟ มี 139 ครัวเรือน ประชากร 571 คน อาชีพหลักของชาวแม่จองไฟคือการทำเกษตร และการทอผ้าพื้นเมือง 

หลังจากนั้นจึงเดินทางไปพบกับนายศรักษ์ ชูมภู ผู้ใหญ่บ้านแม่จองไฟ เพื่อจะพูดคุยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสภาพของต้นสักในปัจจุบันแล้วจึงเดินทางไปดูและภ่ายภาพเพื่อทำข่าวพบว่าบริเวณต้นใหญ่รอบๆข้างมีต้นไม้หลากขนาดล้มเพราะแรงพายุ เศษใบไม้ใบหญ้าหล่นกระจายเต็มพื้นที่ขวางถนนด้านหน้าต้นสักใหญ่ เดชะบุญพ่อต้นสักใหญ่ยังยืนต้นตะหง่าท้าลมพายุอยู่  จึงขอร้องให้ผู้ใหญ่ศรักษ์พาสำรวจภายในบริเวณป่าแห่งนี้ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ พบว่ามีต้นสักขนาดสองถึงสามคนโอบจำนวนมาก จึงสอบถามผู้ใหญ่ว่าเคยนับจำนวนไหม?ว่ามีเท่าร์ได้คำตอบว่า มีมากกว่าหลายพันต้น และมิใช่เพียงไม้สักใหญ่แต่อย่างเดียวที่มีให้เห็น ไม้ป่านานาชนิดขนาดใหญ่จึงชักชวนกันเดินไปตามห้วยแม่จองไฟเพื่อจะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นป่าที่ แม้ก่อนจะเคลื่อนที่เดินเข้าในป่าอากาศภายนอกจะร้อนอบอ้าวเพียงเดินลัดเลาะไปไปไม่นานก็บพบเห็นไม้ใหญ่จริงตามข้อมูล ลมพัดเย็น เดินไปๆอีกสักสิบนาทีเจอผลมะม่วงป่าหรือที่เรียกว่ามะม่วงกระรอกลูกเล็กสุกหล่นเต็มบริเวณโคนต้นล่อแมลงฝูงนกมาริ้มลองรสหอมหวานอมเปรี้ยว ใกล้กันนั้นมีต้นมะตูมป่า กล้วยไม้ ต้นบุ และดอกไม้ป่าสีแดงตามรายทางมากมาย อดใจไม่ไหวกดชัตเตอร์ตลอดเส้นทางได้ภาพฝูงผีเสื้อนับร้อยพันอวดปีกสวยบินว่อนโชว์สีสรรตระการตาเต็มแนวป่า ภาพดอกไม้สดสวยกับแอ่งพักน้ำที่สวยงามจนอยากจะลงไปนั่งแช่ฟังเสียงน้ำไหลให้ดับความเหน็ดเหนื่อยจากการเดิน น่าเสียดายที่มีเวลาไม่มาก ดวงตะวันคล้อยต่ำจำใจจำลาตัดใจเดินกลับอดเห็นจุดหมายประสงค์ปลายทางของลำห้วยแม่จองไฟมีน้ำตกห้วยแม่กระเป้อ(แมลงปอ)ที่สวยงามอยู่มีน้ำตลอดทั้งปีอยู่ เดินไปอีกไม่นานนิดเดียวก็ถึง(กิโลแม้ว) จึงถอยกลับลงมายังต้นสักใหญ่ ระหว่างเดินกลับได้พูดคุย แลกเปลี่ยน รับฟังแนวคิดและมุมมองของชาวบ้านจากปากไกด์กิติมาศักดิ์

ผู้ใหญ่ศรักษ์ บอกว่า “ป่าแห่งนี้เป็นมรดกจากธรรมชาติที่บรรพบุรุษช่วยกันรักษามานานกว่า 200 ปี เริ่มตั้งแต่มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานยังที่แห่งนี้ เพื่อทำการเกษตร เพาะปลูก ทำไร่ ทำนา ซึ่งในบริเวณนั้นมีลำห้วยที่เป็นแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงพากันใช้เป็นที่พักในการหุงหาอาหาร โดยใช้หินทำเป็นก้อนเส้า (ก้อนหินสามก้อนหันมุมใดมุมหนึ่งเข้าหากันเว้นช่องว่างพอประมาณเพื่อวางหม้อ เป็นหลักต่างเตาสำหรับหุงข้าวต้มแกง) ซึ่งภาษาถิ่นเรียกว่า “จองไฟ” ต่อมาได้เรียกเป็นชื่อของลำห้วยแห่งนั้นว่า ห้วยแม่จองไฟ และชาวบ้านได้นำมาเป็นชื่อหมู่บ้าน จึงได้ตั้งชื่อว่าบ้านแม่จองไฟโดยมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายขวา เป็งคำ”  ผืนป่าแม่จองไฟที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแมกไม้นานาชนิด ถือเป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวแม่จองไฟมานานหลายชั่วอายุคนเป็นสาเหตุอันดับแรกที่ชาวบ้านแห่งนี้รักและหวงแหนผืนป่าแห่งนี้ ให้คงไว้สำหรับบุตรหลานได้ใช้ประโยชน์จากป่าอีกยาวนานด้วยวิธีการควบคุมการใช้ประโยชน์จากป่าตามกติกาของชุมชน กติกาที่มิได้ร่างเป็นตัวหนังสือ เป็นเพียงข้อตกลงร่วมกัน ว่าจะไม่ตัดไม้ทุกชนิด หน่อไม้ของป่า ตกลงกันว่า จะหามาเพียงแค่พอกิน จะไม่ทำเป็นการค้าโดยเด็ดขาด เพียงข้อตกลงไม่กี่ข้อที่ปกากะญอแม่จองไฟ ตกลงร่วมกัน ข้อตกลงไม่กี่ข้อนี่แหละทำให้ป่าหลายร้อยหลายพันไร่ยังเหลือไว้ให้ชื่นชม ลำห้วยแม่จองไฟแหล่งน้ำที่เกิดจากป่าแห่งนี้คือรางวัลที่ชาวบ้านแม่จองไฟได้รับ สายน้ำจากห้วยแม่จองไฟถูกผัน มากักเก็บ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยบง อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนบ้านแม่จองไฟ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540  ทำให้ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยบง พร้อมระบบผันน้ำจากฝายแม่จองไฟอันเนื่องมาจากพระราชดำริสามารถช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ ให้มีน้ำสำหรับทำการเกษตรกว่า 1,200 ไร่ ได้อย่างเพียงพอตลอดปี

  ขอขอบคุณพี่แหลม.พี่นก.พี่มิต 3 หนุ่มประชาสัมพันธ์จังหวัดแพร่และผู้ใหญ่ศรักษ์  ชูมภู ผู้ใหญ่บ้านแม่จองไฟ ที่ได้ให้โอกาสพบเห็นรับทราบข้อมูลที่ทำได้จริงจากคนในพื้นที่ ที่รักและหวงแหนผืนป่าต้นน้ำ จากรุ่นสู่รุ่น ผมนายมะเดี่ยวศรีจึงเขียนเล่าบรรยายประสบการณ์เพียงเล็กน้อยแบ่งปันแก่ผู้อ่านทุกท่านในสกู๊ปหน้าที่ที่ปกติจะเป็นเขียนเนื้อให้เป็นวิชาการซะส่วนใหญ่ แต่สำหรับแม่จองไฟขอเขียนเป็นกึ่งสารคดีท่องเที่ยวกึ่งข่าวละกัน.....ป่าแม่จองไฟรางวัลจากธรรมชาติ


หมายเลขบันทึก: 541334เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กรกฎาคม 2013 17:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผืนป่ายังอุดมสมบูรณ์มากๆ เลยนะครับ



      ..... ขอบคุณมากนะคะ  ที่ช่วยกันดูแลรักษาผืนป่า ....


    



สวัสดีค่ะคุณdeawche ...วันนี้ได้รู้จัก ป่าแม่จองไฟรางวัลจากธรรมชาติ นะคะ...ขอบคุณมากค่ะ

สวยงามภาพธรรมชาติกำลังร้องเพลง ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท