หลวงพ่อเดิม กับการพัฒนาวัดหนองกลับ


"เออ...ช่างมันเถอะนั่นแหละมันกินไฟกันแล้ว"

 

                                                             

 


หลวงพ่อเดิม กับ การพัฒนาวัดหนองกลับ

                                                                      โดย: พระนิภากรโสภณ (ไกร ฐาสิสฺสโร)


       เมื่อหลวงพ่ออ๋อยในสมัยเป็นพระสมุห์อ๋อยได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อเดิมแล้ว  ได้นิมนต์หลวงพ่อเดิมมาสร้างศาลาการเปรียญ  ณ วัดหนองบัว  เมื่อ พ.ศ. 2466  เมื่อ 90 ปี ผ่านมาแล้ว       การสร้างศาลาการเปรียญวัดหนองบัวนี้ 
หลวงพ่อเดิมได้ดำริที่จะสร้างศาลาให้เป็นของมหัศจรรย์ในอนาคต  และสร้างให้ใหญ่กว่าที่เคยสร้างมา ด้วยท่านได้มองเห็นการณ์ไกลว่าหนองบัวต่อไปจะมีฐานะเป็นอำเภอ  ศาลาจะเล็กไม่พอต่อความต้องการ ซึ่งต่อมาก็เป็นความจริงตามที่หลวงพ่อเดิมได้พูดไว้  การสร้างศาลาการเปรียญสิ่งที่สำคัญที่ต้องแสวงหาคือ เสาศาลา  ด้วยบ้านหนองบัว-หนองกลับ  มีป่าเขาล้อมรอบโดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกเป็นป่าดงดิบและป่าแดง  ซึ่งไม้มีอยู่ไม่ไกลนัก  เสาศาลาที่ใช้นั้นเป็นไม้เต็ง  ไม้รัง ขนาดใหญ่ยาว 12 เมตร  ขั้นแรกหลวงพ่อเดิมท่านใช้ช้างลาก  ปรากฏว่าไม่สามารถจะลากมาได้แม้จะใช้ช้างหลายเชือกก็ตาม  ท่านจึงสร้างเกวียนขนาดใหญ่  ใช้เพลาใหญ่เป็นพิเศษตั้งชื่อว่า พระพิรุณ ใช้กำลังคนลากโดยใช้เชือกหนังจูงเกวียนต้องใช้คนเป็นจำนวนมากถึง 100 คน จึงลากเสาศาลามารวมไว้ในบริเวณวัดแล้ว รุ่งปี พ.ศ. 2466  จึงทำการก่อสร้างปรุงศาลาแล้วเสร็จภายใน 1 ปี การก่อสร้างศาลาการเปรียญนี้ทำงานกันทั้งพระสงฆ์และประชาชน โดยเฉพาะการเลื่อยไม้ส่วนมากพระภิกษุในสมัยนั้นช่วยกันเลื่อย  ส่วนกระเบื้องนั้นหลวงพ่อเดิมได้จัดหาช่างมาทำการปั้นกระเบื้องปูนในบริเวณวัดซึ่งในสมัยก่อนๆ  ถ้าใช้วัสดุจากที่อื่นแล้วยากต่อการขนส่ง  ด้วยการคมนาคมกันดารมาก วิธีสร้างวัดของหลวงพ่อเดิมท่านมักจะใช้วิธีผิดจากเจ้าอาวาสต่างๆ  ในสมัยนั้น ท่านถือหลักการบริหารที่มีผู้สนองงานในการสร้างศาลานี้  ท่านเรียกกำนันแสง ฉ่ำน้อยหรือขุนอาคเนย์คณิสร กำนันตำบลหนองกลับมาเป็นหัวหน้า  และทำหน้าที่มัคนายกอีกด้วย ส่วนกำนันผู้ใหญ่บ้านนอกจากนั้นมาร่วมงานทุกท่าน การสร้างของหลวงพ่อเดิมซึ่งสัมฤทธิ์ผลได้ตามต้องการและรวดเร็ว  หลวงพ่อเดิมนั้นท่านสร้างอะไรมักจะบอกราคา  และมี พ.ศ.ในการสร้างไว้หน้าบันศาลาเขียนไว้ว่า พระครูนิวาสธรรมขันธ์  สร้างเมื่อ พ.ศ. 2466  สิ้นค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงิน 10,000 เศษ  เจริญ เทอญ สำรวย  จากนั้นท่านได้สร้างกุฎีและสระน้ำ ด้วยเห็นความสำคัญในการบริโภค โดยชักนำประชาชนมาขุดดินสร้างสระน้ำครัวละ 1 หลุม  ทุกปีไป  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2474  จึงจัดสร้างอุโบสถขึ้นที่วัดหนองบัว  วัดหนองบัวสร้างอุโบสถเมื่อปี พ.ศ. 2363 ในรัชกาลที่ 2 คืออุโบสถเก่าที่มีอยู่แล้วเป็นเสาไม้มะค่ามุงด้วยกระเบื้องโบราณ  หลวงพ่อเดิมท่านมีเจตนาจะรักษาของเดิมไว้  คือไม่ย้ายที่ทำการสร้างใหม่  ได้ก่อสร้าง ณ ที่เดิม  โดยขยายให้กว้างกว่าเก่าสร้างด้วยคอนกรีตทั้งหลัง  ฝาผนังเทปูซีเมนต์ไม่ก่ออิฐ  และหลังคาเทคอนกรีตทั้งหลังมีความทนทานมาก ซึ่งการสร้างที่ใช้คอนกรีตทำหลังคานั้นขณะนี้วัดต่างๆ ในจังหวัดนครสวรรค์นิยมทำตามกันเป็นจำนวนมาก

                                                 

 กวางหลวงพ่อเดิม 
          วัดหนองบัวในสมัยที่หลวงพ่อเดิมบูรณะวัดหนองบัว  ท่านมักจะมาจำพรรษาที่วัดหนองบัว  บางครั้งติดต่อกันถึง 2-3 พรรษา  ถึงปีใดไม่จำพรรษา  ในฤดูแล้งท่านจะมาวัดหนองบัวทุกปี  ปีละหลายครั้ง ไปๆ มาตามแต่โอกาสและความจำเป็นของงานที่จะทำการก่อสร้าง เพราะหลวงพ่อเดิมท่านสร้างวัดหลายวัดดังที่กล่าวมาแล้วโดยเฉพาะวัดหนองบัวนี้มีผู้ถวายนกยูง  ม้าและกวาง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าหลวงพ่อเดิมชอบเลี้ยงสัตว์มาก  สำหรับกวางดังกล่าวนี้ท่านรักมากตั้งชื่อว่า ไอ้แก้ว เป็นกวางตัวผู้มีความฉลาดรู้ภาษาคนเล่นกับคนทั่วไปด้วย หลวงพ่อท่านปล่อยให้อยู่ในบริเวณวัดโดยไม่กักขัง  กวางแก้วตัวนี้ชอบกินข้าวเหนียวในวันพระหรือวันเทศกาล  เด็กๆมักจะเอาข้าวเหนียวมาป้อนกวางเสมอ ด้วยเหตุนี้เวลามีการลงแขกเกี่ยวข้าวบรรดาหนุ่มสาวมักจะพากวางไปด้วย  และกวางแก้วก็รู้ว่ามีการลงแขกเกี่ยวข้าวกวางแก้วจะตามไปเสมอ  คือ ในฤดูเกี่ยวข้าวถ้ากวางเห็นคนหนุ่มสาวมายืนชุมนุมกัน  กวางแก้วจะรู้ทันทีและจะตามไปเพื่อกินข้าวเหนียว เพราะการลงแขกเกี่ยวข้าวเป็นประเพณีของคนหนองบัวต้องเลี้ยงข้าวเหนียวแก่ผู้ที่เป็นแขกมาช่วยงาน  อยู่มาวันหนึ่งมีการลงแขกเกี่ยวข้าวที่ตำบลหนองกลับ  ทุ่งนาบ้านห้วยถั่ว  กวางแก้วตามแขกไปเกี่ยวข้าวเช่นเคย  ในสมัยนั้นยังมีป่าอยู่มาก ขณะที่แขกเกี่ยวข้าวพากวางแก้วกลับบ้านตอนเย็นนั้นพอดีมีไฟป่า  กวางแก้วเป็นสัตว์ที่กลัวไฟ  จึงวิ่งหนีไปหลงทางกลับวัดไม่ได้  หลงเข้าไปในหมู่บ้านห้วยถั่ว  คนเห็นจึงใช้ปืนยิงปรากฏว่าไม่ดัง  จึงรุมกันทุบกวางแก้วจนตาย  ด้วยกวางแก้วเป็นกวางเลี้ยงมีความเชื่องกับคนมาก ทั้งคนเหล่านั้นรู้อยู่แล้วว่าเป็นกวางของหลวงพ่อเดิม  เพราะในเขตบ้านหนองบัว หนองกลับ ใครๆก็รู้จักกวางแก้วกันทั้งนั้น ผู้ที่ทุบกวางไม่ได้คิดถึงบาปบุญคุณโทษว่าเป็นกวางวัดที่หลวงพ่อเดิมรักมาก และประชาชนทั่วไปสมัยนั้นรักและชอบกวางแก้วกันมาก  เมื่อกวางถูกฆ่าตายมีคนไปบอกหลวงพ่อเดิมว่า คนห้วยถั่วได้รุมทุบกวางแก้วตายเสียแล้ว  หลวงพ่อเดิมถึงกับพูดว่า เออ...  ช่างมันเถอะ นั่นแหล่ะมันกินไฟกันแล้ว  ปรากฏว่าผู้ที่ฆ่ากวางบ้านถูกไฟไหม้และได้ล้มตายหลายคน  ที่เหลือตายก็อพยพไปอยู่ที่อื่นหมด  เรื่องนี้ชาวหนองบัวรุ่นเก่าๆรู้เรื่องกันดี จึงเป็นเหตุให้คนหนองบัวเคารพยำเกรงหลวงพ่อเดิมกันมาก  โดยเฉพาะวัดหนองบัว  ซึ่งมีรูปหล่อหลวงพ่อเดิมเท่าองค์จริงประดิษฐานอยู่  เวลามีงานประจำปีไม่ปรากฏเรื่องร้ายแรงในวัดเลย

 

                                              ------------------------------------------------------



หมายเลขบันทึก: 541034เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2013 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 กันยายน 2013 05:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นประวัติของชุมชนที่น่าสนใจมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท