วิธีป้องกันเล็บขบ+ป้องกันโรคแผลเท้าเบาหวาน


เว็บไซต์ "ฮีวลิ่งฟีท" นำเสนอภาพง่ายๆ แสดง 9 วิธีป้องกันแผลเท้าเบาหวาน, ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

เส้นประสาทที่ยาวที่สุดของคนเรา คือ เส้นประสาทรับความรู้สึกทีเท้า ทำให้ส่วนนี้เสื่อมได้ง่ายกว่าเส้นประสาทที่อยู่ใกล้ลำตัว เช่น เส้นประสาทรับความรู้สึกบริเวณลำตัว ฯลฯ

เบาหวานทำให้หลอดเลือดและเส้นประสาทเสื่อมเร็วขึ้นหลายเท่า ทำให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลาย โดยเฉพาะปลายเท้าได้น้อยลง

เส้นประสาทที่เสื่อมสภาพทำให้ความรู้สึกเจ็บปวด เช่น เมื่อสัมผัสของร้อน ของแข็ง ของมีคม เป็นแผล ฯลฯ ลดลง

ประสาทรับความเจ็บปวดทำหน้าที่สำคัญในการ "เตือน" คนเราให้รู้ว่า ตอนนี้เกิดการบาดเจ็บแล้ว จะได้ถอยหนีจากของร้อน ของแข็ง หรือของมีคม

ภาวะประสาทส่วนปลายเสื่อมทำให้เจ็บน้อยลง... เกิดแผลจากการกดทับ เสียดสีได้ง่ายขึ้น, เป็นแผลแล้วหายช้า เพราะเลือดไปเลี้ยงน้อย แถมติดเชื้อง่ายขึ้นอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้ทำให้โรคแผลเท้าเบาหวานเป็นโรคที่หายยาก เพิ่มเสี่ยงต่อการถูกตัดนิ้ว-ตัดเท้า หรือติดเชื้อรุนแรงจนเสียชีวิตได้

.

ภาพที่ 1: บริเวณที่พบแผลเท้าเบาหวานได้บ่อย

(1). ฝ่่าเท้ามีโครงสร้างคล้ายสะพานโค้ง โดยมีส่วนรับน้ำหนักมากบริเวณอุ้งเท้าด้านหน้า-ด้านหลัง

(2). นิ้วหัวแม่เท้าด้านล่าง รับน้ำหนักมากเวลาคนเราโน้มตัวไปทางด้านหน้า

(3). ด้านหลังนิ้วเท้า เสียดสีรองเท้ามาก กรณีสวมรองเท้าแข็ง เช่น รองเท้าหนัง ฯลฯ พบบ่อยในชาวตะวันตก (ฝรั่ง)

.

ภาพที่ 2: วิธีดูแลเท้าสำหรับคนไข้เบาหวาน

(1). ล้างเท้าทุกวัน

ประเทศที่อากาศหนาวคงจะแนะนำให้ใช้น้ำอุ่นแทนน้ำเย็น

เมืองไทยใช้น้ำธรรมดา ไม่เย็นไม่ร้อน ล้างเท้าด้วยสบู่น่าจะดีกว่าใช้น้ำอุ่น, น้ำอุ่นอาจทำให้ผิวแห้ง คัน หรือเป็นแผลได้

(2). ซับเท้าให้แห้ง

หลังเท้าเปียกน้ำ, ให้ใช้ผ้าซับเท้าให้แห้ง โดยไม่เช็ดถูแรงๆ เพื่อป้องกันการเกิดแผลถลอก

เท้าที่เปียกชื้นนาน เพิ่มเสี่ยงเชื้อรา กลาก

(3). ทาโลชั่นเท้า

ผิวที่แห้งเพิ่มเสี่ยงอาการคัน แตกปริ เป็นแผลได้ง่าย, การใช้โลชั่นทาเท้าบางๆ ช่วยป้องกันผิวแห้งได้

หลีกเลี่ยงการทาโลชั่นในซอกนิ้ว เนื่องจากถ้ามีความชื้นสะสมมากเกินไป จะเพิ่มเสี่ยงเชื้อรา

(4). ตรวจเท้าทุกวัน

ใช้กระจกเงาส่องเท้า หรือให้ญาติสนิทมิตรสหายตรวจฝ่าเท้าทุกวัน, ถ้าพบแผลต้องรีบรักษาทันที

สมัยนี้มีกล้องดิจิตอล หรือกล้องมือถือสมาร์ทโฟนชั้นดี, ใช้ถ่ายภาพฝ่าเท้า แล้วตรวจเท้าจากกล้อง หรือคอมพิวเตอร์ได้

ภาพที่ 3: วิธีดูแลเท้าสำหรับคนไข้เบาหวาน

(5). ปรึกษาหารือกับหมอที่ดูแลท่านเรื่องการดูแลฝ่าเท้า-เล็บเท้า

เล็บมือให้ตัดเล็บเป็นรูปโค้ง เล็บเท้าให้ตัดเล็บตรงเป็นรูปคล้ายหน้าจอบขุดดิน

การตัดเล็บหัวแม่เท้าเป็นรูปโ้ค้ง หรือใส่รองเท้าหัวแคบ-คับ เพิ่มเสี่ยงโรคเล็บขบ

(6). ถ้าใส่ถุงเท้า, ให้ใช้เฉพาะถุงเท้าที่สะอาดและใหม่

อย่าทำเท่ ใส่ถุงเท้าเดินแบบหนังญี่ปุ่น-เกาหลี, การใส่ถุงเท้าเดินเพิ่มเสี่ยงหกล้ม

(7). เลือกรองเท้าที่สวมใส่ได้พอดีอย่างน้อย 2 คู่

การมีรองเท้าหลายคู่ไว้ใช้สลับกัน เก็บรองเท้าในที่อากาศถ่ายเทสะดวก จะช่วยป้องกันรองเท้าอับชื้น

รองเท้าที่อับชื้น เพิ่มเสี่ยงเชื้อรา

รองเท้าทุกคู่จะมีตำแหน่งแรงกดทับไม่เท่ากัน, การเปลี่ยนรองเท้าทุก 1/2-1 วัน จะช่วยลดแรงกดต่อฝ่าเท้าซ้ำซากตำแหน่งเดิม

รองเท้าที่ไม่เหมาะกับคนไข้เบาหวาน คือ

  • รองเท้าแตะแบบคีบ > แรงกดจากสายคีบ เพิ่มเสี่ยงแผลกดทับระหว่างร่องนิ้ว
  • รองเท้าที่เปลือยเท้าด้านหน้า ไม่มีส่วนปิดปลายเท้า > เพิ่มเสี่ยงแผลปลายเท้า

(8). อย่าเดินเท้าเปล่า

การเดินเท้าเปล่าเพิ่มเสี่ยงแผลที่เท้าในคนไข้เบาหวาน

(9). ตรวจรองเท้าก่อนสวมทุกครั้ง

ตรวจรองเท้าว่า ไม่มีก้อนหิน กรวด ทราย หรือรอยปริแตกภายใน ซึ่งจะเพิ่มเสี่ยงแผลที่เท้า

และเคาะรองเท้าก่อนสวม เพื่อให้เศษหิน กรวด ทรายที่ตกค้างหลุดออกไปก่อนสวม

.

รองเท้าที่เหมาะกับคนไข้เบาหวาน คือ รองเท้าแบบสวม ไม่ใช่รองเท้าแตะแบบหนีบ มีส่วนหุ้มป้องกันปลายเท้า

รองเท้าในภาพนี้ คือ รองเท้าแอดด้ารุ่นหัวโต

รองเท้าที่น่าจะดีกับคนไข้เบาหวานมากเป็นพิเศษ คือ รองเท้าวิ่งที่พื้นไม่แข็งเิกินไป และส้นไม่สูงเกินไป

รองเท้าที่ส้นสูงมาก เพิ่มเสี่ยงข้อเท้าพลิก

ขอให้ท่านเตรียมรองเท้าไว้อีกชุดหนึ่ง เพื่อใช้ในบ้าน

และอย่าลืมว่า

  • ถ้าเป็นไปได้, รองเท้านอกบ้านควรมีอย่างน้อย 2 คู่, รองเท้าในบ้านควรมีอย่างน้อย 2 คู่ เพื่อใช้หมุนเวียนสับเปลี่ยนกัน
  • การไม่สูบบุหรี่ + ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด (ไม่ให้สูงเกิน) + ควบคุมความดันเลือด (ไม่ให้สูงเกิน) + ไม่นั่งนานเกิน 1 ชั่วโมง (ลุกขึ้นยืน หรือเดินสลับ) + ไม่นั่งพื้น (นั่งเก้าอี้ลดการพับข้อเข่า-ข้อเท้า)  + ไม่นั่งไขว้ขา ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น ป้องกันโรคเท้าเบาหวานได้มากเช่นกัน

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีุสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

                                                                            

บทความนี้เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค, ไม่ใช่วินิจฉัย หรือรักษาโรค

ท่านที่มีโรคประจำตัว หรือมีความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่าน ก่อนนำข้อมูลไปใช้

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต

CC: BY-NC-SA


หมายเลขบันทึก: 540500เขียนเมื่อ 25 มิถุนายน 2013 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 มิถุนายน 2013 16:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท