วาทกรรมกับรายการ Thailand's Got Talent ตอนที่ 3 พื้นฐานการมองโลกทางสังคมในการวิเคราะห์วาทกรรม และจุดสนใจในการวิเคราะห์


พื้นฐานการมองโลกทางสังคมสำหรับการวิเคราะห์วาทกรรม

1. ผู้วิเคราะห์วาทกรรมจะไม่เชื่อว่าความรู้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นจริง ในทุกที่ทุกเวลา แต่ความรู้เป็นผลผลิต (products) และเป็นตัวแทน (representation) ของอำนาจซึ่งถูกใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบางสิ่งบางอย่างของผู้สร้าง

2.ประวัติศาสตร์ เป็นพื้นฐานของการสร้างองค์ความรู้การเขียนประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งบริสุทธิ์อันเกิดจากการแสวงหาความรู้ที่ผุดผ่องปราศจากอคติ หากแต่เป็นการผลิตสร้าง เชื่อมโยงระบบ ระเบียบ วัตถุดิบมาเรียงร้อยต่อกันเพื่อผลิตเรื่องเล่าชุดหนึ่งที่มีพลังน่าเชื่อถือ และใช้เรื่องเล่าดังกล่าวสร้างความชอบธรรมให้กับอำนาจดังเช่น พระเจ้าตากสิน มหาราชทรงพระสติวิปลาสเพราะทรงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน

 3.โลกทางสังคมไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวหากแต่เคลื่อนไหว เลื่อนไหล อย่างเป็นกระบวนการหลากหลายทิศทางซึ่งต่างจากการมองโลกแบบเส้นตรงทางเดียวของการศึกษาปรากฏการณ์แบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติวาทกรรมจึงเคลื่อนไหว ตอบโต้ สะท้อนกลับไปมา แตกกระจาย จุดสนใจจึงไม่ใช่เส้นตรงแบบX นำไปสู่ Yหรือ เหตุ นำไปสู่ผล แต่สนใจที่ X และ Yสร้างตัวตน ความชอบธรรมของการอธิบายขึ้นมาได้อย่างไรมีสิ่งอื่นใดเข้ามาเกี่ยวข้อง สัมพันธ์บ้าง และสิ่งใดที่ถูกกีดกัน กำจัดออกไปไม่ให้เกี่ยวข้อง ละเว้นไม่ถูกกล่าวถึง  หรือบิดเบือนให้ปรากฏในอีกแบบ

 4.การศึกษาวาทกรรมเป็นการศึกษาเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเสียงที่ไม่ได้ยินหรือได้ยินแต่ไม่มีใครสนใจฟังเสมือนเสียงกรีดร้องด้วยความเจ็บปวดของสัตว์ในป่าลึกที่ไม่มีใครผู้ใดสนใจจะฟัง หรือค้นหาที่มาของเสียงการศึกษาวาทกรรมจะแสดงให้เห็นถึงอำนาจ ความไม่เท่าเทียมกันที่คนกลุ่มหนึ่งเอารัดเอาเปรียบ ครอบงำ ปิดกั้น คนอีกกลุ่มหนึ่งไว้ ผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีทางการเมือง ในรูปของสถาบัน กฎหมาย  อาวุธ  วัฒนธรรม ซึ่งสร้างขึ้นจากความรู้ทำให้คนถอยห่างออกจากเจตจำนงเสรี (free will)

จุดสนใจของการวิเคราะห์

 1.กลุ่มทฤษฏีหลังโครงสร้างนิยม (Post StructuralistTheory) สนใจที่ระบบความหมายของวาทกรรม  หมายถึงระบบระเบียบ ที่เรียงร้อย ต่อเนื่องสอดคล้องประสาน และสร้างพลังให้วาทกรรมนั้นดำรงอยู่ได้อย่างมีอำนาจ  โดยสนใจที่กระบวนการผลิตสร้างความหมาย,แบบแผนของการใช้, วิธีการในการพูด, การเขียน, เพื่อส่งผ่านความหมายตลอดจนใครที่สามารถพูด ผลิต และตีความความหมายดังกล่าวได้ ดังเช่น วาทกรรมว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียง ถูกสร้างขึ้นให้เกิดการยอมรับหรือน้อมนำไปปฏิบัติได้อย่างไร (legitimacy)ใครมีสิทธิในการตีความ ให้ความหมาย หรือผลิตตำรา คู่มือในการน้อมนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประพฤติปฏิบัติ เป็นต้น  กลุ่มหลังโครงสร้างนิยมไม่เชื่อว่า ความหมายจะถูกส่งผ่านไปยังการรับรู้ซึมซับเข้าไปในตัวบุคคล อย่างตรงไปตรงมา หากแต่เต็มไปด้วยการปะทะประสาน การเจรจาต่อสู้ ระหว่างฝ่ายมีอำนาจ กับฝ่ายที่ถูกกระทำโดยอำนาจ ก่อให้เกิดความหมายใหม่ภายใต้บริบทเฉพาะ  ที่ความหมายสามารถเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

 2.กลุ่มวิเคราะห์วาทกรรมเชิงวิพากษ์(Critical Discourse Analysis)เน้นที่ภาคปฏิบัติ ในสถานที่ บริบท เวลา บรรยากาศ ฉากที่เกิดขึ้นของกระบวนการส่งผ่านความหมายทางวาทกรรมจุดสนใจอยู่ที่การบิดเปลี่ยนความหมายอันเกิดจากกระบวนการทางสังคมหรือการใส่ข้อความเดียวกันในบริบทแวดล้อมที่ต่างกันส่งผลให้เกิดการบิด เปลี่ยนยกระดับ หรือทำลายล้าง ในปริมาณความเข้มข้นที่แตกต่างหรือแม้กระทั่งสามารถเปลี่ยนความหมายไปในทิศทางตรงกันข้าม เช่น การดื่มถวายพระพร หรือการดื่มเพื่อเป็นเกียรติแก่คู่สมรสกับการดื่มเหล้าในโฆษณาชุด เลิกเหล้าเลิกจน เป็นต้น นอกจากนั้นยังสนใจกระบวนการสร้างวาทกรรมชุดหนึ่งให้กลายเป็นวาทกรรมหลักและปิดบัง เก็บกั้นวาทกรรมอื่นไม่ให้ปรากฏหรือลดคุณค่าลง  เช่น การทำให้วาทกรรม “คนรากหญ้า” มีสถานะที่สำคัญและรัฐบาลต้องให้การใส่ใจดูแล มากกว่าคำว่า “ประชาชน” เป็นต้น หรือการทำให้ “ชนชั้นกลาง” กลายเป็นผู้พิทักษ์รักษาประชาธิปไตยเป็นผู้รู้ดีเชี่ยวชาญด้านการเมือง การเลือกผู้แทนและลดคุณค่าของการเลือกตั้งของชาวชนบทให้กลายเป็น เสียงที่ถูกซื้อ เป็นต้น

หนังสืออ้างอิง
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. วาทกรรมการพัฒนา: อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์ และความเป็นอื่น. สำนักพิมพ์วิภาษา:กรุงเทพฯ

กฤษณ์  จันทร์ทับ. บทความวิเคราะห์ มิเเช็ล ฟูโกต์ : ร่างกายใต้บงการปฐมบทแห่งอำนาจในวิถีสมัยใหม่. http://www.artsedcenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539325313&Ntype=9  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Weerapong Worrawat. บทที่ 2 วาทกรรมกับการวิเคราะห์วาทกรรม. http://worrawat.exteen.com/20071128/2-discourse-and-discourse-analysis เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Sila Phu-Chala. “วาทกรรม” คำนิยมร่วมสมัยของ Foucault. http://www.gotoknow.org/posts/469291  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ถิรนัย อาป้อง. อำนาจ: ว่าด้วยมโนทัศน์ทางแนวคิดทฤษฎี. http://chornorpor.blogspot.com/2011/09/blog-post_22.html เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร. มิเชล ฟูโกต์: วาทกรรม อำนาจ ความรู้. http://www.ajarnjak.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=67616&Ntype=4  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้เขียน.ทางบ้านไม่สอน "จรรยาบรรณ" TGT+ เสี่ยตาเรียกเรตติ้ง ฆ่า “เอมเมอรัล” ทั้งเป็นบนเวที

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9560000068959  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้เขียน. สับเละ! กรณี 'สิทธัตถะ เอมเมอรัล' จริยธรรมรายการโชว์..อยู่ไหน?

http://www.mgronline.com/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9560000066730  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์. ปรัชญาสกุลหลังสมัยใหม่ ไม่ใช่ยุคสมัยในมิติเวลา แต่เป็นท่าทีแบบหนึ่ง (2).

http://pjanderson.blogspot.com/2010/10/blog-post_08.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 539747เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 21:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท