วิธีพูดกับคนไข้หูเสื่อม-หูตึง


คนไทยชอบฟังเพลงดังๆ ชอบจัดงานดังๆ แถมยังอายุยืนขึ้น อ้วนขึ้น ทำให้พบคนไข้สูงอายุ-เบาหวานมากขึ้น

ภาพที่ 1: แสดงโครงสร้างหู และการนำเสียง

  • เสียงความถี่กลาง-สูง > ส่วนใหญ่ผ่านอากาศ จากใบหู-รูหู-แก้วหู-กระดูกฆ้อน ทั่ง โกลนในหูชั้นกลาง-เข้าสู่อวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน (รูปคล้ายก้นหอย)
  • เสียงความถี่ต่ำ > ส่วนใหญ่ผ่านกระดูก จากใบหู-กระดูกอ่อนใบหู-กระดูกรอบๆ หู

หูคนเราจะเสื่อมตามปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

(1). อายุ > ยิ่งมากยิ่งตึง

(2). ผ่านโลก > ยิ่งผ่านเสียงดังมาก หรือดังนาน ยิ่งตึง

(3). โรคเรื้อรัง > เบาหวานมีส่วนเพิ่มเสี่ยงหูตึง

(4). ติดเชื้อ > หูชั้นกลางอักเสบ หูน้ำหนวก, ยิ่งเป็นบ่อย หรือเป็นนาน ยิ่งตึง

ภาพที่ 2: แสดงกระดูกรอบๆ หู (mastoid bone; ส่วนระบายสีขาว มีโพรงอากาศกลมบ้าง รีบ้างภายใน) เป็นส่วนสำคัญในการนำเสียงความถี่ต่ำ

หูฟังชนิดเกี่ยวใบหู หรือบลูทูธ (bluetooth) หรือหูฟังสอดเข้ารูหู (สัมผัสกับรูหู - ส่งเสียงส่วนหนึ่งผ่านกระดูกรอบหู) อาศัยหลักการสัมผัส และส่งเสียงผ่านกระดูกรอบหูมากขึ้น ทำให้เสียงต่ำหรือเสียงเบสดังชัดเจน

.

การนำเสียงในหูมี 2 ระบบใหญ่ได้แก่

(1). ผ่านอากาศ (air conduction) หรือผ่านแก๊ส-ผ่านลม

เสียงความถี่สูงและความถี่กลางส่วนใหญ่ จะผ่านเข้ารูหู > กระทบแก้วหู - กระดูกหูชั้นกลาง (ฆ้อน - ทั่ง - โกลน) - เข้าหูชั้นใน - ไปยังอวัยวะรับเสียง (รูปก้นหอย)

(2). ผ่านกระดูก (bone conduction) > ผ่านกระดูกรอบๆ หู

เสียงความถี่ต่ำส่วนใหญ่ จะผ่านกระดูกรอบๆ หู ไปยังอวัยวะรับเสียง (รูปก้นหอย)

เสียงความถี่สูงมักจะเสื่อมก่อนความถี่กลาง และต่ำตามลำดับ

วิธีที่จะพูดกับคนหูเสื่อม-หูตึง โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ให้ดี คือ หาทางเพิ่มการส่งผ่านเสียงความถี่กลาง และต่ำผ่านกระดูกรอบหู

ถ้าท่านที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ เช่น คุณแม่ คุณพ่อ คุณย่า คุณยาย ฯลฯ ที่บ้าน, เรียนเสนอให้ลองใช้วิธีการคล้ายๆ กับการสื่อสารผ่านหูฟังแบบบลูธูต (Bluetooth) ดังนี้

(1). ให้นำนิ้วกลาง-นิ้วนาง รวม 2 นิ้ว แตะที่กระดูกรอบหู > ตำแหน่งที่แตะนิ้วได้ง่าย คือ หลังใบหู

(2). พูดเบาๆ ให้เสียงออกมาต่ำหน่อย > พูดตรงรอยต่อระหว่างมือของท่านกับนิ้วกลาง-นิ้วนางที่แตะหลังหู

.

วิธีนี้มักจะช่วยให้พูดกับคนหูเสื่อม-หูตึงได้ โดยไม่ต้องตะโกน

วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลในคนที่หูเสื่อม-หูตึงมาก ทว่า... คนหูเสื่อม-หูตึงส่วนใหญ่มักจะได้ยินเสียงของท่านชัดเจนขึ้น

.

                                                                            

บทความนี้เป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค, ไม่ใช่วินิจฉัย และรักษาโรค

ท่านที่มีความเสี่ยงต่อโรคสูง หรือมีโรคประจำตัว จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่าน ก่อนนำข้อมูลไปใช้

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์

ยินดีให้ท่านนำบทความนี้ไปใช้ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต > CC: BY-NC-SA


หมายเลขบันทึก: 539560เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2013 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท