แนวคิดอารยะขัดขืนตอนที่ 4 แนวคิดเรื่องอารยะขัดขืนและสิทธิในการไม่เชื่อฟังกฎหมาย


แนวคิดและทฤษฎีในการทำอารยะขัดขืน

  Dworkin (1978 :206) ให้คำนิยามการดื้อแพ่งของประชาชนหรืออารยะขัดขืนว่าหมายถึง การกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยสันติวิธี เป็นการกระทำในเชิงศีลธรรมซึ่งเป็นการประท้วง/คัดค้านคำสั่งของผู้ปกครองที่อยุติธรรม หรือเป็นการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลที่ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ฉะนั้นในเบื้องต้น เมื่อกล่าวถึงการดื้อแพ่งของประชาชนจึงเป็นการกระทำที่มิได้ดำเนินไปตามกรอบของกฎหมาย หากจะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายโดยมีเป้าหมายเพื่อประท้วง คัดค้านคำสั่งหรือการกระทำของผู้ปกครอง

นอกจากนี้จอห์น รอลส์ (John Rawls) ที่ให้นิยามการกระทำในลักษณะที่เป็นการดื้อแพ่งของประชาชนหรืออารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ว่าหมายถึง “การกระทำทางการเมืองซึ่งมีลักษณะเป็นสาธารณะ (public) สันติวิธี (nonviolent) และมีมโนธรรมสำนึก (conscientious) ที่ขัดต่อกฏหมาย ปรกติเป็นสิ่งที่ทำโดยมุ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย (in the law) หรือในนโยบายของรัฐบาล” โดยการกระทำดังกล่าวต้องกระทำในสังคมที่ใกล้จะเป็นธรรมเท่านั้น

เมื่อการกระทำที่มีลักษณะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายอาจเป็นการกระทำที่นำไปสู่ความวุ่นวายของสังคมส่วนรวมได้ คำถามที่สำคัญเบื้องต้นก็คือถ้าเช่นนั้นแล้วจะสามารถอธิบายถึงสิทธิในการไม่เชื่อฟังกฎหมายที่เรียกว่า การดื้อแพ่งของประชาชนนี้ได้อย่างไร

การเริ่มต้นพิจารณาถึงความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “สิทธิ” ในปัจจุบัน อาจแยกแยะได้ 2 ประเภท ประเภทแรก หมายถึงสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย (legal rights) ตามนัยของสิทธิประเภทนี้ถือว่าสิ่งที่จะถูกจัดว่าเป็นสิทธิโดยถูกต้องจำเป็นต้องได้รับการรับรองโดยกฎหมาย และมีแต่สิทธิประเภทนี้เท่านั้นซึ่งจะเป็นหลักของการอ้างอิงรวมถึงการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้ทั้งในด้านของการมีสิทธิและการใช้สิทธิ. สิทธิประเภทที่สอง อธิบายว่านอกจากสิทธิที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายแล้ว มนุษย์ยังมีกฎเกณฑ์บางประการที่ผูกพันให้ต้องปฏิบัติตามและด้วยการอ้างอิงสิทธินี้ จึงอาจนำไปสู่การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยรัฐ/ผู้ปกครอง สิทธิประเภทนี้จึงอาจเป็นการกระทำที่แตกต่างไปจากสิทธิประเภทแรกซึ่งอ้างอิงกับกฎหมายที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร สิทธิประเภทที่สองนี้คือสิทธิตามธรรมชาติ

การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชนแม้จะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของรัฐ/ผู้ปกครอง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งเป็นการกระทำของบุคคลที่ทำตามความเชื่อของตนว่ามีสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรมกว่าให้ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งการอ้างถึงแหล่งความชอบธรรมต่อการละเมิดคำสั่งของรัฐอาจผันแปรไปได้ตามแต่ละช่วงเวลา เช่นการปฏิเสธต่อคำสั่งของผู้ปกครองที่ถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในอดีต ปรากฏขึ้นเมื่อหมอตำแยชาวฮิบรูขัดคำสั่งของฟาโรห์(Faroah) กษัตริย์แห่งอียิปต์โบราณซึ่งมีคำสั่งให้นำทารกแรกเกิดไปฆ่าทิ้ง

ด้วยการให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการล่วงละเมิดต่อกฎของพระเจ้าที่ถือว่า เป็นสิ่งที่มีผลผูกพันกว่าบัญชาของฟาโรห์ แนวความคิดของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายที่เกิดขึ้นในอดีต จึงเป็นการกระทำที่ผูกพันกับการอ้างอิงถึงกฎเกณฑ์อีกประเภทหนึ่งนอกเหนือจากคำสั่งของผู้ปกครอง

แต่ภายหลังจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา แหล่งที่มาของการอ้างอิงถึงสิทธิในการปฏิเสธไม่เชื่อฟังคำสั่งของผู้ปกครอง มิใช่เป็นเพราะกฎของพระเจ้าเหมือนดังที่เคยเป็นมาในอดีต การกระทำที่เกิดขึ้นด้วยการอ้างถึงมโนธรรมภายในของแต่ละบุคคลซึ่งได้พิจารณาไตร่ตรอง โดยการใช้ปัญญาและเหตุผลต่อความไม่ชอบธรรมในคำสั่ง/กฎหมายของรัฐ การอ้างอิงโดยอาศัยเหตุผลของมนุษย์ในการนำไปสู่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย นับได้ว่าเป็นความแตกต่างจากคำอธิบายที่เกิดขึ้นในยุคกลางของยุโรปอย่างมาก และเป็นการให้ความสำคัญกับมนุษย์ในฐานะแหล่งที่มาของการตัดสินถึงความถูกผิดในปรากฏการณ์ต่างๆ นอกจากนี้นับจากศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา

แนวความคิดที่ปรากฏออกมาในการดื้อแพ่งของประชาชนหรืออารยะขัดขืนในกฎหมาย/นโยบายของรัฐ ซึ่งถูกตัดสินว่าไม่มีความชอบธรรมหรือก่อให้เกิดความยุติธรรม จะเห็นว่ากฎหมาย/คำสั่งประเภทนี้ไม่ถึงกับสิ้นผลบังคับไปเลยทีเดียว เพียงไม่อาจนับเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์และปราศจากพันธะทางศีลธรรมให้ต้องปฏิบัติตามเพราะฉะนั้น รากฐานแนวความคิดของการดื้อแพ่งต่อกฎหมายจึงมาจากการให้คำอธิบายต่อแหล่งที่มาของความถูกต้องชอบธรรมว่า มิใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ถูกบัญญัติขึ้นโดยผู้ปกครองเท่านั้น แหล่งอ้างอิงความชอบธรรมยังสามารถมาจากที่อื่นๆ ได้ และประเด็นสำคัญถือว่าการดื้อแพ่งของประชาชนเป็นการแสดงออกโดยตรงต่อกฎเกณฑ์ของรัฐว่า ไม่มีความชอบธรรมที่จะผูกพันให้ปัจเจกบุคคลต้องปฏิบัติตาม

หนังสืออ้างอิง

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. อารยะขัดขืน. http://chaisuk.wordpress.com/2007/07/13/summary-civil-disobedience-chaiwat/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล. การดื้อแพ่งต่อกฎหมายของประชาชน.

http://www.openbase.in.th/http:/%252Fwww.panyathai.or.th/wiki/index.php/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%8E%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%25  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สมชาย ปรีชาศิลปะกุล.แนวความคิดเรื่องการดื้อแพ่งของนักปรัชญาอเมริกัน John Rawls. http://www.spiceday.com/archiver/?tid-52063.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

อุเชนทร์ เชียงแสน. ว่าด้วยบันไดและอารยะขัดขืน: จากสมัชชาคนจนถึง Pmove. http://blogazine.in.th/blogs/uchane-cheangsan/post/4148  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. การประท้วง. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%87  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อารยะขัดขืน. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%87  เข้าถึงเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 539423เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2013 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท