เด็กกาซ้องอ่อนหวาน


ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของการทำงาน “ กัด (งาน) ไม่ปล่อย”

 

เมื่อวันที่ 27-29 สิงหาคม 2549 ที่บ้านผู้หว่าน จ.นครปฐม คุณอรุณวรรณ แม่หล่าย เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข ประจำศูนย์สุขภาพชุมชนตำบลเหมืองหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ได้เล่าประสบการณ์ความสำเร็จของการดำเนินงานจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อทันตสุขภาพโดยใช้เครือข่ายโรงเรียน ให้ฟังว่า ...

โรงเรียนบ้านกาซ้อง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับเหรียญทอง มีนักเรียนจำนวน160 คน ได้เข้าร่วมกระบวนการจัดการเรียนการสอน EAP เมื่อปี 2548  ซึ่งเป็นโรงเรียนน้อง ที่โรงเรียนพี่ที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อปี 2547 เป็นผู้เลือกให้เป็นโรงเรียนเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ของจังหวัดแพร่

เมื่อประเมินผลงาน 6 เดือนแรก ไม่มีผลงาน ทันตบุคลากรที่รับผิดชอบจึงเริ่มมองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้น พบว่า เป็นปัญหาเชิงความสัมพันธ์ และโรงเรียนไม่รู้วัตถุประสงค์ของโครงการในรูปแบบ “ พี่สอนน้อง”

ต่อมาจึงมีการเข้าไปพูดคุยกับคณะครูทั้งสองโรงเรียนเพื่อหาปัญหา  พบว่า เป็นปัญหาความรู้สึก กล่าวคือ โรงเรียนน้องเกี่ยงว่าโรงเรียนพี่ไม่เข้ามาสอน  ส่วนโรงเรียนพี่ก็เกี่ยงว่า โรงเรียนน้องไม่เข้ามาถาม

เจ้าหน้าที่จึงปรับบทบาทของตัวเอง เป็นผู้ประสานทั้งสองโรงเรียน  โดยเปลี่ยนวิธีเป็นการนำครู และเด็กจากโรงเรียนน้อง (กาซ้อง) ไปโรงเรียนพี่ (บ้านปทุม) และสาธิตการสอน โดยใช้เทคนิค EAP และนำเสนอรูปแบบการจัดกิจกรรม  ซึ่งทำให้โรงเรียนน้องได้เห็นต้นแบบ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ จนโรงเรียนกาซ้อง เป็นโรงเรียนปลอดขนมหวาน และน้ำอัดลม

เด็กคนหนึ่งของโรงเรียนกาซ้องถามว่า ... “ถ้าไม่มีขนมขายจะให้เขากินอะไร เขาเอาขนมมาเองได้หรือไม่”

โรงเรียนก็บอกว่า ... "จะให้กินผลไม้ และน้ำผลไม้ตามฤดูกาล"

เด็กก็บอกว่า “เบื่อ”

ทางคณะกรรมการนักเรียนก็เลยคิดหาขนมทางเลือก  โดยผสมผสานการเรียนรู้ กับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในวิชา การงานพื้นฐานอาชีพ โดยมีหนึ่งวันในสัปดาห์ ที่จะทำขนมพื้นบ้าน

ปรากฎว่านักเรียนได้ใช้เทคนิค EAP  แล้วถอดรหัสเป็น “ขนมเทียนใส่ใส้ลำไย” “น้ำมะนาวม่วง (น้ำมะนาว ใส่ดอกอัญชน)” “ข้าวปันลุยสวน” ซึ่งการทำขนมเหล่านี้ เป็นฝีมือของนักเรียนช่วงชั้นที่สอง (ป. 4-6) ... กิจกรรมนี้ยังส่งเสริมให้เกิดความสัมพันธ์ ระหว่างพี่กับน้อง เพราะเด็กเล็กก็วิ่งมาดูการทำขนมอย่างสนุกสนาน

บางครั้งนักเรียนคิดขนม ที่คุณครูทำไม่เป็น ... ถ้าครูไม่รู้ก็จะถามเด็กว่า “บ้านเธอทำได้ไม๊  ป้าเธอทำได้ไม๊” ... เด็กๆ ก็จะไปหาวิทยากรจากชุมชนเอง จึงเกิดความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับโรงเรียน  จนในที่สุดเกิดเป็นนวตกรรมขนมทางเลือกของโรงเรียนกาซ้อง และโรงเรียนกาซ้องก็ปลอดขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลม

วิธีดำเนินการ

  1. เข้าหาคน / ชุมชน จากสิ่งที่เขาสนใจ  เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และ ทำตัวให้โดนใจผู้เกี่ยวข้อง (ครู  นักเรียน  ชุมชน)
  2. นำเสนอเป้าหมายของการทำงานที่ชัดเจน  และให้เห็นตัวอย่างความสำเร็จ  รวมทั้งหาแนวร่วมจากครู  นักเรียน  และ ชาวบ้าน  เพื่อการทำงานอย่างมีส่วนร่วม
  3. ทำความเข้าใจ และเรียนรู้วิถีชีวิตของคนที่เราทำงานด้วย  รวมทั้งสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เพื่อวิเคราะห์ปัญหา
  4. กระตุ้นความคิดให้เกิดการค้นหาปัญหา  และสร้างแรงจูงใจให้เห็นผลการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการแข่งขันในทางบวก
  5. แสวงหาพี่เลี้ยง และ โอกาสในการนำเสนอข้อมูลทุกสถานการณ์  รวมทั้งแสวงหาภูมิปัญญาชาวบ้านมาประยุกต์ใช้
  6. ติดตามประสานงานอย่างสม่ำเสมอ

ผลที่ได้รับ

  1. โรงเรียนสามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมาย เป็นโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม - ขนมกรุบกรอบ
  2. นวัตกรรมขนมทางเลือกที่ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น น้ำมะนาวม่วง ขนมเทียนไส้ลำใย ข้าวปันลุยสวน

ข้อคิดสะกิดใจ

ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของการทำงาน    “กัด (งาน) ไม่ปล่อย”

 

หมายเลขบันทึก: 53921เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2006 16:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุณหมอนันทา
1.เรื่องที่เล่าเป็นผลจากการทำงานภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบกระบวนการควบคุมการบริโภคขนมและอาหารว่างที่มีอันตรายต่อทันตสุขภาพโดยใช้เครือข่ายโรงเรียนและชุมชน (กพว.)ค่ะ
2.ขนมที่เด็กๆคิดเป็นขนมที่ลดสัดส่วนของน้ำตาลลงเท่านั้น หวานน้อยแต่ยังคงความอร่อยอยู่เพราะไปแอบชิมมาแล้วค่ะถ้าสนใจจะไปเยี่ยมชมก็ได้นะคะ
3.มีผลดีต่อฟันและร่างกายก็ตรงที่น้ำตาลน้อยนี่แหละค่ะ

น้องหมอนน

ขอบคุณที่คอยให้กำลังใจแล้วพี่จะทำให้อีกนะ

พี่บี๋

  • แวะมาให้กำลังใจและชื่นชมค่ะ
  • ดีใจที่เห็นโครงการที่น้องๆนร.และคนในชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มคิดวิธีการ
  • เห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อคิดสะกิดใจของคุณบี๋ค่ะ ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จของการทำงาน    “กัด (งาน) ไม่ปล่อย"

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท