ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๒๘. โอษฐจักรวาล



          รายงานการค้นพบ แบคทีเรีย SR1 ในช่องปาก ที่นี่  และคำอธิบายความสำคัญของการค้นพบนี้ที่นี่และที่นี่  ทำให้ผมปิ๊งแว้บว่า จริงๆ แล้วช่องปากของคนเราเปรียบเสมือนจักรวาลของจุลินทรีย์หลากหลายชนิด จำนวนมากมาย  อยู่ร่วมกับตัวเรา และเหล่าจุลชีพก็อยู่ร่วมกันและแข่งขันกัน

          ข่าวบอกว่า แบคทีเรีย SR1 นี้ตัวมันมีลักษณะหน้าตาเป็นอย่างไร ยังไม่รู้  เพราะยังไม่มีวิธีเพาะเชื้อชนิดนี้  เขาบอกว่า มีแบคทีเรียในช่องปากอีกหลายชนิด ที่ยังเพาะเชื้อไม่ได้   และเจ้า SR1 นี้เขารู้จักมันที่ ดีเอ็นเอ  คือเดี๋ยวนี้มีเทคนิค single cell genome sequencing  สามารถแยกเซลล์หรือจุลชีพตัวเดียว เอาจีโนม มาศึกษาลำดับเบสของ ดีเอ็นเอ ได้

          แล้วนักวิทยาศาสตร์ก็เจอ แจ๊กพอท คือพบว่า แบคทีเรียชนิดนี้มันมีระบบ จีโนม ที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ  คือ เบสสามตัวที่เรียก triplet ชนิดUGA  ที่ตำราพันธุศาสตร์ทั่วไปเรียกว่า stop codon  คือเป็นรหัสบอกให้หยุดสร้างสายโปรตีน  แต่ในแบคทีเรีย SR1 ตัว UGA triplet กลับบอกให้เติมกรดอะมิโน ชนิด glycine เข้าไป  เปรียบเสมือนว่า แบคทีเรีย SR1 ใช้ภาษาหรือรหัสทางพันธุศาสตร์ ต่างจากแบคทีเรียตัวอื่นๆ และต่างจากในคนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย

          เขาบอกว่า นี่คือตัวบอกว่า ระบบนิเวศในช่องปากมีความซับซ้อนมาก  และจุลินทรีย์ต่างชนิดก็วิวัฒนาการระบบของตนเพื่ออยู่ร่วมกับคน และอยู่ร่วมกับจุลินทรีย์อื่นๆ ในช่องปากของคน  นักวิทยาศาสตร์บอกว่า การที่ SR1 ใช้รหัสพันธุกรรมต่างจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ทำให้มันแลกเปลี่ยนยีนกับจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ ได้ยาก  มันจึงน่าจะมีระบบพันธุกรรมที่จำเพาะของตนเอง

          สมัยเมื่อเกือบ ๕๐ ปีมาแล้วผมเรียนวิชาพันธุศาสตร์ตำราบอกว่า genetic code is universal  คือไม่ว่าสิ่งมีชีวิตชนิดไหนๆ ต่างก็ใช้ระบบรหัสพันธุกรรมที่เหมือนกันหมด  ผมสงสัยมาตลอด ว่าไม่มีข้อยกเว้นเลยหรือ  บัดนี้ เวลาล่วงมาเกือบ ๕๐ ปี  ก็มีการค้นพบข้อยกเว้นจนได้


วิจารณ์ พานิช

๒๖ เม.ย. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 539053เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วรู้สึกว่า ตัวหนังสือก็สื่อถึงความตื่นเต้นดีใจได้จริงๆด้วย เพราะอ่านที่อาจารย์เขียนแล้วรู้สึกจริงๆนะคะ น่าแปลกใจ คิดว่าอาจารย์เขียนเก่งจังค่ะ (ชักสงสัยตัวเองว่า เรารู้สึกไปเองหรื่อเปล่า) :-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท