เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนการสอนเพื่อปรับให้เข้ากับสังคม


เทอมนี้ได้ปรับการเรียนการสอนพอสมควรตามผลการสังเกตสภาวะของสังคม

ในตอนเช้า สอนวิชาความสุขของชีวิต ซึ่งไม่ได้ตั้งใจจะสอน แต่มีอาจารย์ท่านอื่นมาขอให้สอน ก็จึงสอน โชคดีที่วิชานี้มีคณะอาจารย์ท่านอื่นที่วางแผนการเรียนการสอนและเตรียมเนื้อหาการสอนให้อยู่แล้ว จึงไม่ได้เตรียมอะไรมาก  สิ่งที่ปรับก็คือ ให้ นศ แต่ละคนพูดแนะนำตนเอง ตอบคำถามว่าสำหรับเขาเองแล้ว ความสุขคืออะไร เขามีความสุขไหม แล้วเขาคาดหวังอะไรจากวิชานี้  ที่ทำเช่นนี้ เพราะ 1) อยากรู้จักนักศึกษาให้มากขึ้น ไม่อยากเป็นครูที่สอนนักศึกษาโดยไม่รู้จักว่าเขาชื่ออะไร เขาเป็นใคร  2) อยากเข้าใจนักศึกษามากขึ้น ไม่คิดว่าเราจะสอนเขาได้ดี ถ้าเราไม่รู้จักเขา  อยากรู้ว่าเขาคิดอย่างไร 3) อยากให้นักศึกษากล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองมากขึ้น ทักษะนี้เป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

ในตอนบ่าย สอนวิชาการเขียนโปรแกรมบนอุปกรณ์โมบาย ตอนแรกก็บอกเขาบอกว่าเราอยากจะลองปรับการเรียนการสอนเป็นแบบ flipped classroom และคาบนี้จะเป็นคาบเดียวที่เราจะพูดภาษาไทย คาบต่อไป จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ  ในการเรียนการสอนแบบ flipped classroom  เขาต้องดูวิดีโอหรืออ่านสิ่งที่ อ มอบหมายให้อ่าน ส่วนในคาบเรียนก็จะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน แก้ปัญหาโจทย์ด้วยกัน  และให้โอกาสเขาในการอภิปรายและตัดสินใจร่วมกัน 2 เรื่อง 1) ควรจะเช็คชื่อไหม เพราะอะไร 2) ถ้าไม่เช็คชื่อ แล้วจะเอาคะแนนเช็คชื่อไปไว้ที่การทำข้อสอบ หรือการทำโปรเจกต์   ในแต่ละประเด็น ให้นักศึกษาออกมาพูดให้เหตุผลว่าทำไมตนจึงอยากให้เช็คชื่อ หรือไม่อยากให้เช็คชื่อ  คนที่บอกว่าอยากให้เช็คชื่อ เพราะเป็นคาบเรียนตอนบ่าย ก็คงตื่นมาเรียนได้และถ้ามีคะแนน ก็จะเป็นคะแนนช่วย ส่วนคนที่บอกว่าไม่อยากให้เช็คชื่อ บอกว่าเป็นวิชาเลือก ทุกคนก็คงมาเรียนเพราะอยากเรียน อยากให้แต่ละคนฝึกความรับผิดชอบ การบริหารเวลา สรุปก็จึงเอาแบบไม่เช็คชื่อ แล้วไปคุยกันในประเด็นที่ 2 ต่อ ตัวแทนจากกลุ่มที่อยากเอาคะแนนเอามาไว้ที่การสอบ ก็เพราะว่าการทำโปรเจกต์กลุ่ม บางคนก็ไม่ได้ทำ อาจไม่ไดเป็นการประเมินที่แท้จริง  ส่วนตัวแทนจากกลุ่มที่อยากเอาคะแนนไปไว้ที่โปรเจกต์  ก็บอกว่าการทำโปรเจกต์ทำให้ฝึกการเรียนรู้และการแก้ปัญหาจริง ถ้าเอาคะแนนมาเพิ่ม ก็จะตั้งใจทำโปรเจกต์มากขึ้น สรุปก็จึงจะเอาคะแนนมาไว้ที่โปรเจกต์  แต่คะแนนโปรเจกต์ก็จะมีคะแนนกลุ่มและคะแนนรายบุคคลว่าได้มีส่วนร่วมในการทำโปรเจกต์มากน้อยแค่ไหน 

ในส่วนการทำแล็ป บอกนักศึกษาคร่าวๆ ว่าอยากให้ทำอะไร แล้วควรไปดูแหล่งข้อมูลที่ไหน ไม่ได้บอกในรายละเอียดเพราะอยากให้เขาฝึกการเรียนรู้และค้นหาด้วยตนเอง ไม่ได้บอกว่าผลลัพธ์ควรจะเป็นแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะอยากให้เขาใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถตามที่เขามี

สรุปแล้ว เทอมนี้ปรับการเรียนการสอนเพื่ออยากฝึกให้ นศ คิดด้วยตนเองมากขึ้น พัฒนาทักษะการสื่อสารและการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่ต่างจากตน เป็นห่วงสังคมไทยที่เราควรจะคิดมากขึ้น อยากเห็นคนไทยแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ชัดเจน แต่ก็ให้เกียรติและเคารพรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

 

หมายเลขบันทึก: 539041เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2013 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ อาจารย์

        อ่านประสบการณ์ของอาจารย์แล้วทำให้นึกถึง  สาระสำคะญในหนังสือ "ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑" กล่าวถึงเรื่องวัฒนธรรมการเรียนรู้ว่า

      " การตั้งคำถามที่ตรงประเด็นเกี่ยวกับการออกแบบวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่ให้อำนาจแก่นักเรียนนั้น  มีความสำคัญมากกว่าการยัดเยียดเทคโนโลยี่เข้าสู่โมเดลการศึกษาแบบอุตสาหกรรมอย่างที่เป็นอยู่"

      สอดคล้องกับ  "ปรับการเรียนการสอนเพื่ออยากฝึกให้ นศ คิดด้วยตนเองมากขึ้น พัฒนาทักษะการสื่อสารและการรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นที่ต่างจากตน เป็นห่วงสังคมไทยที่เราควรจะคิดมากขึ้น อยากเห็นคนไทยแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ชัดเจน แต่ก็ให้เกียรติและเคารพรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น และเปิดโอกาสให้คนอื่นมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ "

      Empowerment ให้ผู้เรียน  ให้เขามีอำนาจในการคิด  การตัดสินใจ   นำไปสู่่  การมีวุฒิภาวะความเป็นผู้ใหญ่

                                               ขอบคุณสาระดีๆ ที่สร้างสรรค์พัฒนาผู้เรียนครับ

         

ขอบคุณค่ะ อ วิชชา สำหรับกำลังใจและความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ ๒๑

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท