การราดสารลำไย : การประเมินเลือกวันที่จะราดสาร และปัญหาการดูแลลำไยของเกษตรกรที่ราดสารในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน


เขตอำเภอสอยดาว จะอยู่ตรงกลางระหว่างจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี จึงพอจะประเมินได้ว่า ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2556 โอกาสที่จะมีปริมาณน้ำฝน หรือฝนจะตกหนักมาก และตกเกือบทุกวัน จะมีสูง ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนลำไยในเขตพื้นที่นี้ แทบจะไม่สามารถราดสารฯ ลำไย ในช่วงสัปดาห์นี้....ได้เลย

ลำไย : ชุมชนคนสนใจเรื่องลำไย ถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

https://www.facebook.com/groups/www.longankipqew/

หรือ

http://www.gotoknow.org/dashboard/home/#/posts/545415/edit

สาวน้อยใจดี นู๋ยุ้ยแก้มตุ่ย

https://www.facebook.com/profile.php?id=100000397078840

 

การราดสารฯ ลำไย ในเดือนช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

การประเมินสภาพความพร้อมของอากาศก่อนการราดสาร

            การราดสารจำเป็นต้องกระทำในช่วงเวลาเช้า ในสภาพอากาศเปิด กล่าวคือไม่มีเมฆ หรือความชื้นในอากาศมากเกินไป  และต้องมีแสงแดดจัด ทั้งนี้เพื่อให้ต้นลำไยมีสภาพการคายน้ำสูง เมื่อมีการคายน้ำมาก จะสามารถดูดซึมสารโปรแตสเซียมได้ดี

            สภาพดังกล่าวต้องมีอยู่ต่อเนื่องอย่างน้อยที่สุดเป็นระยะเวลา 3 วัน  แต่ถ้าเป็นการโรยสารรอบๆ ทรงพุ่ม ต้องมีการสปริงให้นัำทุกๆ วัน วันพอให้ดินชื้นอยู่ตลอดเวลา
               อย่าให้น้ำมากจนแฉะ เพราะจะทำให้ปริมาณสารผ่านระดับรากฝอยที่ระยะ 40 เซนติเมตร เร็วเกินไป  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสภาพของดินที่ปลูกลำไยด้วยว่าเป็นดินประเภทใด อาทิดินเหนียวก็ใช้เวลานานหน่อย ดินร่วนการซึมของน้ำก็จะเร็วขึ้น  ดินร่วนปนทราย หรือดินทรายน้ำจะซึมผ่านได้เร็วที่สุด


            ถ้าเป็นการพ่นสาร เมื่อให้แล้วให้งดให้น้ำ หลังจากราดสาร 3 วัน ถ้าฝนไม่ตก ก็ควรให้น้ำด้วยสปริงเกอร์

การประเมินโอกาส เพื่อเลือกวันในการราดสาร :

อันดับแรก
ต้องพิจารณาที่ตั้งสวนลำไยของเกษตรกรก่อน


ตัวอย่างเช่น : สวนลำไยของยุ้ยอยู่ในเขตอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี  มีอาณาเขตเชื่อม
ต่อระหว่างจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี   กล่าวคือจะเดินทางไปจังหวัดไปสระแก้วก็มีระยะทางประมาณ 80 ก.ม. จะเดินทางไปจันทบุรีก็มีระยะทาง 78 ก.ม. เรียกได้ว่าระยะทางพอๆ กัน
  จึงถือว่าอยู่ตรงกลางพอดีๆ 

              ดังนั้นต้องใช้พยากรณ์อากาศของทั้ง 2 จังหวัด  มาร่วมกันพิจารณาประเมินสภาพอากาศในเขตอำเภอสอยดาว...ค่ะ
จากภาพถ่ายผ่านดาวเทียม และตารางข้างล่างต่อไปนี้ จะทำให้เกษตรกรสามารถประเมินสภาพอากาศ
เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการสวนลำไย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการราดสารฯ
ในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน 2556  ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2556
ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด

http://www.satda.tmd.go.th/sat/201306110800.png

              ตัวอย่างภาพถ่ายผ่านดาวเทียม แสดงให้เห็นปริมาณฝนในเดือนมิถุนายน ( 11 มิถุนายน 2556 )

                     ภาพตารางเปรียบเทียบการพยากรณ์สภาพอากาศ

                          ระหว่างจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี
                            ในช่วงระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2556

                      เขตอำเภอสอยดาว จะอยู่ตรงกลางระหว่างจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี
                                จึงพอจะประเมินได้ว่า ปริมาณฝนจะตกหนัก และตกเกือบทุกวัน



การวิเคราะห์ สภาพอากาศ

          เขตอำเภอสอยดาว จะอยู่ตรงกลางระหว่างจังหวัดสระแก้ว และจังหวัดจันทบุรี จึงพอจะประเมินได้ว่า  ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน 2556  ถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2556   โอกาสที่จะมีปริมาณน้ำฝน หรือฝนจะตกหนักมาก และตกเกือบทุกวัน จะมีสูง   ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนลำไยในเขตพื้นที่นี้  แทบจะไม่สามารถราดสารฯ ลำไย   ในช่วงสัปดาห์นี้....ได้เลย

               แต่ถ้าคิดจะราดสารฯ ลำไย ในช่วงเวลาดังกล่าว  ก็ต้องเสี่ยงดวงกันหน่อย เพราะในบางพื้นที่อาจไม่มีฝนตกมาก็ได้  เพราะเขาพยากรณ์ไว้เพียงร้อยละ 70 ของพื้นที่...ค่ะ 
 
               แต่ถ้ารู้ละติจูด ลองติจูด ของพื้นที่ จะเดาได้เลยว่าฝนจะตกหรือไม่ มองดูกลุ่มเมฆหนา หรือบางในเขตพื้นที่ของตนเองในภาพ ก็รู้แล้วค่ะ  

                บางคร้ัง แค่แหงนหน้ามองท้องฟ้าในช่วงกลางคืน ก่อนรุ่งเช้าวันใหม่  และมองกลุ่มเมฆในช่วงเช้าแถวๆ บ้าน  เปรียบเทียบกับกลุ่มเมฑในช่วงกลางวัน  สังเกตุปริมาณความชื่นในอากาศ ที่เมฆจะคายน้ำออกมาก แล้วให้เรารู้สึกร้อนชื่นๆ มากน้อยเพียงใด (ทำให้เรารู้สึกเหนียวตัวหรือไม่)   แล้วเมื่อไรมีลมเย็นๆ พัดมา แบบว่ารู้เลยว่า มีละอองน้ำฝนมากับลมแล้ว  ก็เตรียมเก็บเครื่องมือ เครื่องใช้ ย้ายออกจากพื้นที่ได้เลย...ค่ะ  เดาได้เลยค่ะว่า....ฝนจะตกไหม  (อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด  ชินแล้วคาดเดาได้...ค่ะ)

ปัญหาของเกษตรกรที่พบในการราดสาร ในช่วงเดือนช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน

ปัญหาที่พบ และวิธีการป้องกัน หรือแก้ไข

                 1. ราดสารแล้วฝนตกหนัก  งานนี้จบข่าว ต้องราดใหม่ เสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะสารฯ แพง แถมยังผสมสารพัด จนความบริสุทธิทุกวันนี้ ไม่ถึง 99.9 ตามที่พิมพ์ไว้ข้างถุง   วิธีแก้ไข คงต้องใช้การพ่นทางใบ จะช่วยได้ค่ะ  เลือกจังหวะแดดดีๆ ฝนไม่ตกต่อเนื่องสัก 3 วัน (ซึ่งยากมากในช่วงฤดูนี้) โดยให้ติดตามข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยา และศึกษาทิศทางการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆโดยดูจากภาพดาวเทียม  ให้ประเมินช่วงที่น่าจะสามารถทำได้  ทีสำคัญ ต้องพ่นในช่วงที่มีแดดนะคะ  (การใช้สารทางใบ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร แต่ถ้าจำเป็น เพราะเกษตรกรอยากได้ลำไย ก็คงต้องทำ)  และที่สำคัญอีกประการต้องอย่าปล่อยให้กิ่งลำไย และใบมีมากจนทรงพุ่มทึบ เพราะฝนจะชะล้างใบ และกิ่งที่ปนเปื้อนสารให้สะอาดได้ยาก  และเป็นที่หลบฝนของแมลงศัตรูลำไย...ค่ะ

                  2. ฝนตกหนัก ปริมาณไนโตรเจนสูง  ลำไยจะพัฒนาตนเองเป็นใบมากกว่าดอก  เกษตรกรพบกันทุกถ้วนหน้าค่ะ เวลานี้ วิธีแก้ไข  ไม่มีทางแก้ไข...ค่ะ ฝนตก ลำไยแตกใบเป็นเรื่องของธรรมชาติจริงๆ   แต่สิ่งที่พอทำได้คือ ให้หลีกเลี่ยงจังหวะการราดสารไม่ให้ตรงกับฤดูฝนในช่วงตกหนัก อาทิเปลี่ยนจากการราดสารในเดือนมิถุนายน ไปเป็นช่วงเดือนเมษายนแทน  ซึ่งยังมีฝนตกน้อย และอากาศร้อนจัด จะช่วยให้เกิดการออกดอกได้ดีกว่า แต่เกษตรกรอาจจะต้องค่อยให้น้ำเป็นระยะๆ แต่อย่าให้มากเกินเดี๊ยวได้ใบแทนอีก   และพอผ่านจากราดสารในเดือนเมษายนไปเดือนเศษๆ ฝนก็ตกลงมาในจังหวะการทำลำไย...ช่วงที่ลำไยกำลังต้องการน้ำพอดี...ค่ะ

                 3. ลำไยติดดอกน้อย สาเหตุมาจาก

                           3.1 มีแมลงผสมเกสร จำพวกผึ้งน้อยค่ะ  เนื่องจากมีฝนตกหนักมาก เม็ดฝนเหมือนกระสุนปืน ยิงผึ้งปีกหัก ร่วงมาเยอะ เขาเลยไม่ค่อยออกมาในช่วงนี้  อีกประการผึ้งตามธรรมชาติไม่มีที่หลบซ่อนต้องเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ พอฝนตกหนักอุณหภูมิภายในรังลดลง ผึ้งต้องอยู่กระพือปีกเพื่อให้อุณหภูมิภายในรังสูง เลยไม่ค่อยได้ออกมาผสมเกสรให้เกษตรกร...ค่ะ  วิธีแก้ไข  ควรหาความรู้เกี่ยวกับการดูแลผึ้ง  และหากล่องไม้ หรือกล่องรังผึ้งพันธุ์ เอามาผึ้งโพรง...ค่ะ  จะช่วยเรื่องนี้ได้มากเลย

                           3.2 ดอกบาน พอดีกับจังหวะตอนช่วงฝนตกหนัก จะได้ช่อลำไยที่มีดอกน้อย (ได้ใบเยอะ) เมื่อดอกลำไยตัวเมียบาน สารเหนียวที่อยู่ตามกลีบดอกที่บานนั้น ก็จะไม่เหนียวพอที่จะเกิดการเกาะติดของเกสรตัวผู้ โอกาสได้รับการผสมจะมีน้อยตามหนักไปกว่าเดิม  จากที่ผึ้งไม่ค่อยจะมีอยู่แล้ว...ค่ะ  น่าจะมีวิธีแก้ไข แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออก...ค่ะ หรือใครนึกออก ช่วยบอกที   น่าเอาไปทำวิจัยเนอะ....เรื่องนี้

                 4. ใส่ปุ๋ยลำบาก การใส่ปุ๋ยตามสูตรคำแนะนำจากกรมวิชาการเกษตรจะทำได้ลำบาก เพราะฝนตก ยิ่งตกหนักมากจนน้ำท่วม คนที่ปลูกลำไยอยู่ตามที่ดอน น้ำไหลมาก็พาปุ๋ยไหลไปตามน้ำซะอีก  วิธีแก้ไข การให้ปุ๋ยทางใบช่วยค่ะ แต่มันเปลืองเอาเรื่อง   แต่อย่างไรก็ตามฝนหยุดก็ไปให้ปุ๋ยค่ะ ให้ทีละน้อยไม่ต้องมาก แต่ให้บ่อยๆ ผสมตามสูตรของกรมวิชาการเกษตรนั่นแหละ  ใช้ได้เลย    การให้ปุ๋ยทางใบไม่แนะนำให้ใช้สารจับใบนะคะ  เพราะสารดังกล่าวจะไปปิดปากใบ ทำให้การดูดซึมไม่ดีพอ...ค่ะ

                 5. เชื้อรา และสารพัดเพลี้ย เพียบ  มากันพร้อมหน้าพร้อมตา ในช่วงเวลานี้...ค่ะ  เพราะเขาชอบบรรยากาศแบบนี้ ยิ่งอากาศปิด ชื้นๆ ไม่มีแสงแดดสัก 3 วัน  กำลังได้ทีเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา เส้นใยเชื้อราสามารถเดินเส้นใยเจริญเติบโตได้ดีค่ะ  วิธีแก้ไข ก็พ่นยาป้องกันกำจัดเชื้อรากันไป เลือกให้เหมาะสมกับชนิดของเชื้อราด้วย...นะคะ ช่วงนี้มด และแมลงบางชนิดที่ใช้ขาเดิน ก็จะมีประโยชน์มากค่ะ เพราะมันจะเดินเตะตัดเส้นใยเชื้อราให้ขาด  ทำให้เชื้อราเจริญเติบได้น้อยลง  ดังนั้นอย่าเลือกใช้ยาน็อกมดแมลงจำพวกอาศัยขาเดินซะจนเกลี้ยงสวนละกัน ไม่อย่างนั้นจะได้เชื้อรามาแทนค่ะ

                 6. หญ้า และวัชพืชเติบโตได้ดี และทำให้สวนรก เป็นที่หลบของซ่อนแมลง และสัตว์ที่เราไม่ค่อยอยากพบเจอเท่าไร (งู) วิธีแก้ไข ตัดหญ้าบ่อยๆ หรือจะเลือกใช้วิธีพ่นยากำจัดหญ้า จะเอาชนิดถอนรากถอนโคน ก็ตามใจ (ซึ่งการใช้ยาฆ่าหญ้า ในระยะสั้น และระยะยาว ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะยาฆ่าหญ้าจะทำลายจุลินทรีย์ ทำให้การย่อยสลายเศษวัชพืชทำได้ยาก แถมที่สวนถ้าพ่นยากำจัดเชื้อราอีก ยิ่งไม่มีจุลินทรีย์มาช่วยย่อยสลายเศษหญ้า เศษวัชพืชเลย) และอย่าลืมพ่นกำมะถันตามพื้นดินด้วย...นะคะ  งูไม่ค่อยชอบกำมะถัน จะหนีไปอยู่สวนอื่นแทน (อ้าว...ไล่ไปหาสวนเพือน..ซะงั้น)

 

                 วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ว่ามาข้างต้น คือเลือกราดสารในเดือนเมษายนแทน แต่ก็อย่างว่า ราดสารเดือนนี้ได้ราคาขายลำไยนอกฤดูที่มีราคารับซื้อต่ำที่สุด เพราะเป็นช่วงที่อะไรๆ ก็เหมาะสม สามารทำลูกลำไยได้ง่ายที่สุด และเกษตรกรส่วนใหญ่ก็เลือกเดือนนี้ เพราะมันสบาย มีฝนตกมาช่วยตลอด ตกจนถึงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตเลย...ค่ะ

              อย่าลืมนำเทคโนโลยี หลายๆ ประเภท มาปรับประยุกต์ใช้นะคะ  เพื่อให้เราสามารถลดต้นทุนการผลิตได้...ค่ะ

              แต่ระยะใบอ่อน ใบแก่ ก็เป็นตัวแปรที่ทำให้เราต้องตัดสินใจ...ค่ะ

 

              ทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับบริบท และความพร้อมของต้นลำไยส่วนใหญ่ภายในสวนลำไยของท่านเกษตรกรด้วย...ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 538876เขียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2013 04:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท