ปลาบู่มหิดล


ปลาบู่มหิดล (Mahidolia mystacina) เป็นปลาบู่ที่พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อ พ.ศ. 2475 โดย ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ และได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ตามพระนามของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ในฐานะที่ได้ทรงอุปถัมภ์ และพระราชทานทุนสำหรับส่งนักเรียนไปศึกษาต่อด้านการประมงในต่างประเทศ และทรงได้รับถวายสมัญญานามว่า "พระประทีปแห่งการประมงไทย"

ในราวปี พ.ศ. 2469 ซึ่งเป็นช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการจัดตั้งกรมรักษาสัตว์น้ำขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ โดยมีชาวอเมริกัน ชื่อ ดร. ฮิว แมคคอร์มิค สมิธ เข้ามาปฏิบัติงานด้านการเพาะเลี้ยง และการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำในประเทศไทย ในตำแหน่งเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำคนแรก

ผลงานในหน้าที่รับผิดชอบของฮิว แมคคอร์มิค สมิธ ที่เกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยโดยเฉพาะพันธุ์ปลา มีรวมกว่า 60 เรื่อง อีกทั้งยังได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับปลาที่ค้นพบใหม่รวม 67 ชนิด เป็นสกุลใหม่รวม 21 สกุล (genus) ในจำนวนนี้ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ปลาบู่ โดยให้ชื่อสกุลว่า Mahidolia เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ในการที่พระองค์ทรงสนพระทัย ทรงใคร่ติดตาม และเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณต่อการประมงของประเทศไทย พระองค์ได้พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สำหรับคนไทย เพื่อที่จะได้มาทำงานด้านการประมงต่อจากฮิว แมคคอร์มิค สมิธ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยง และการอนุรักษ์พันธุ์ปลา

การค้นพบ

ปลาบู่มหิดล ค้นพบเป็นครั้งแรกในรั้วไซมาน (โพงพางปีก) ณ ปากแม่น้ำจันทบุรี ในเขตพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี และปัจจุบันได้รับการคุ้มครองในลำดับที่ 49 โดยระบุปลาบู่มหิดลทุกชนิดในสกุล Mahidolia ตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับธรณีพิบัติ จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล พ.ศ. 2549 ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2549 โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น เพราะปลาบู่มหิดลนอกจากจะค้นพบที่จังหวัดจันทบุรีแล้ว ยังค้นพบที่จังหวัดระนอง และจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

สถานการณ์ปลาบู่มหิดล

ปลาบู่มหิดลเป็นปลาขนาดเล็กที่หาได้ยาก ไม่สามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ในปัจจุบันป่าชายเลนเสื่อมโทรม อันเนื่องมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจด้านต่างๆ เช่น การปล่อยน้ำทิ้ง และของเสียจากแหล่งชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และการเลี้ยงกุ้งทะเล เป็นต้น นอกจากนี้แหล่งน้ำต่างๆ เกือบตลอดแขนงชายฝั่งทะเลมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะตื้นเขิน เนื่องจากมีการชะล้างหน้าดิน (soid erosion) บนพื้นที่ดินจากการประกอบกิจกรรมดังกล่าวแล้ว รวมทั้งการทำประมงที่ใช้เครื่องมือประจำที่ประเภทกางกั้นจำพวกโพงพางปีก เป็นต้น ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาวะความเปลี่ยนแปลงของแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งมีผลต่อความเสื่อมโทรมของพันธุ์สัตว์น้ำสำคัญๆ อย่างปลาบู่มหิดล ที่มีให้พบเห็นได้ไม่บ่อยนัก อาจเป็นผลให้ปลาชนิดนี้สูญพันธุ์ได้ในอนาคต

ลักษณะสำคัญของปลาบู่มหิดล

ปลาบู่มหิดลมีลักษณะเด่น คือ หัวค่อนข้างโต และแบนข้างมาก ปากกว้างจนมีกระดูกขากรรไกรที่ยื่นไปทางข้างเลยขอบหลังตา ฟันมีขนาดเล็ก และมีแถวเดียวที่ขากรรไกรบน แต่มีหลายแถวที่ขากรรไกรล่าง ลำตัวสั้น ไม่มีเกล็ดบนหัว และบนฝาเหงือกมีเกล็ดค่อนข้างใหญ่

ถิ่นอาศัยของปลาบู่มหิดล

ปลาบู่มหิดลชอบอาศัยในบริเวณปากแม่น้ำ และป่าชายเลนที่สภาพเป็นอ่าว พื้นทะเลเป็นโคลนปนทราย มักพบเสมอว่า ปลาชนิดนี้มีพฤติกรรมมักอาศัยอยู่กับกุ้งดีดขัน Alpheas sp. โดยกุ้งเป็นผู้สร้างรูเป็นที่อาศัยร่วมกันกับปลา และปลาเป็นผู้ทำความสะอาดภายในรู

แผนที่การกระจายของปลาบู่มหิดล

มีการพบปลาบู่มหิดลกระจายอยู่ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย อินโดนีเซีย และไต้หวัน ในส่วนของแหล่งที่พบปลาบู่มหิดลในประเทศไทย จากแหล่งข้อมูลเดียวกัน พบว่า แหล่งที่พบปลาบู่ คือ ชายฝั่งจังหวัดจันทบุรี จังหวัดระนอง และจังหวัดภูเก็ต

กิจกรรมเกี่ยวกับปลาบู่มหิดล

เทศบาลตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ โดยความร่วมมือจาก "ศูนย์การศึกษานิเวศวิทยาแหล่งที่พบปลาบู่มหิดล" (นำโดย ดร.ศุภกฤต โสภิกุล, นายทักษ์ ทองภูเบศร์ และคณะทำงาน) ภายใต้การดำเนินการของบุคลากรประกอบด้วย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาในคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำศูนย์การเรียนรู้เรื่อง "ปลาบู่มหิดล" ขึ้นในพื้นที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี โครงการดังกล่าวมีรูปแบบเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เกี่ยวกับมิติทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศวิทยาพื้นที่แหล่งที่พบปลาบู่มหิดล

ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย: Vulnerable (VU) ประเภทปลาได้บันทึกว่า ปัจจุบันปลาบู่มหิดลมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Synonyms of Mahidolia mystacina (Valenciennes, 1837)
  2. ๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หน้า 261 - 262
  3. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ “พระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย” สกุลไทย ฉบับที่ 2554 ปีที่ 49 ประจำวัน อังคาร ที่ 30 กันยายน 2546
  4. ลือชัย ดรุณชู. (2536). การศึกษาชีววิทยาบางประการของปลาบู่มหิดลในแม่น้ำจันทบุรี. กรมประมง. หน้า 4.
  5. ทศพร วงศ์รัตน์. (2534). ปลาบู่มหิดล, วารสารการประมง, ปีที่ 44 ฉบับที่ 4 หน้า 295-313.
  6. นายวิทยา โสภิกุล อดีตประมงอำเภอแหลมสิงห์
  7. ลือชัย ดรุณชู. (2536). การศึกษาชีววิทยาบางประการของปลาบู่มหิดลในแม่น้ำจันทบุรี. กรมประมง. หน้า 7-23.
  8. ลือชัย ดรุณชู. (2536). การศึกษาชีววิทยาบางประการของปลาบู่มหิดลในแม่น้ำจันทบุรี. กรมประมง. หน้า 4.
  9. Smith, H.M. 1945. The Fresh-Water Fishes of Siam, or Thailand. United States Government Printing office, Washington. 512-525
  10. The Journal of the Siam Society. 1933. Natural History Supplement. Bangkok. 255-262 pp.
  11. สุด แสงวิเชียร. (2531). “ปลาบู่มหิดล บทความพิเศษ” โรงพยาบาลศิริราช ปีที่ 40 เล่ม 9 เดือนกันยายน. หน้า 659 – 666.
  12. Froese, R. and D. Pauly. Editors (2006) - FishBase, World Wide Web electronic publication. www.fishbase.org, version (01/2006). Map generated on Sunday, October 1st, 2006, 8:45 pm. http://www.practicalfishkeeping.co.uk/pfk/pages/map.php?species_id=1159735557#, (2009). Retrieved on 26 Feb 2009.
  13. ศุภกฤต โสภิกุล. (2552). เอกสารประกอบการบรรยายการจัดตั้งเครือข่ายสหวิทยาการแห่งราชบัณฑิตยสถาน ภาคตะวันออก (โครงการนำร่องการจัดทำเขตอนุรักษ์ปลาบู่มหิดลในแหลมสิงห์). ราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร.
  14. ฐานข้อมูลชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามในประเทศไทย: Vulnerable (VU) ประเภทปลา 

ปลาบู่มหิดล : ปลาเกียรติยศของพระประทีปแห่งการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย ( Mahidol Smiling Goby : Honorable Fish of The Mention of Conserving Aquatic Animal Resources in Thailand )

หมายเลขบันทึก: 538064เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2013 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 16:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

พึ่งได้จับปลาบู่ที่ตายแล้วมาไม่กี่วันนี้เองที่บ้านสุพรรณ ยังได้พบเห็นบ่อยที่เป็นปลาบู่ธรรมดานะคะที่เชียงใหม่แม่ค้านำมาขายหลายขนาด  แต่ไม่ได้ซื้อมาทำอาหาร มีเรื่องเล่าที่น่าสงสารจำกันมาตลอดกาล คือ ปลาบู่ทอง

ดีจังค่ะนำเรื่องราวปลาบู่มหิดลมาให้ทราบ ขอบคุณมากนะคะ

Thank you.

... เพราะปลาบู่มหิดลนอกจากจะค้นพบที่จังหวัดจันทบุรีแล้ว ยังค้นพบที่จังหวัดระนอง และจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย...

It seems that this fish have been located on rivers flowing into the Indian ocean and the Pacific ocean. Have they been found in other neighboring countries?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท