ชวนกันเรียนรู้ “ศิลปะ” กับครูศิลปิน


คนทำงานศิลปะย่อมมีความว่องไวต่อการรับรู้ พินิจพิเคราะห์สรรพสิ่ง อย่างเชื่อมโยงบูรณาการ แล้วจึงสะท้อนความคิดจินตนาการออกมาเป็นมิติแห่งรูปทรง เส้นสาย ลายสี แสงเงา ได้อย่างลงตัว สร้างสรรค์


ชวนกันเรียนรู้ “ศิลปะ” กับครูศิลปิน

ถ้าบอกว่า การเรียนศิลปะ เป็นศาสตร์ขั้นสูง หลายคนอาจจะหมั่นไส้ แต่ถ้าลองมองงานศิลปะที่อยู่ตรงหน้าแล้วเกิดคำถามในใจว่า“เขาคิดได้ยังไง เขาทำได้ยังไง ทำไมเขาจึงทำอย่างนี้” นั่นคือ คำถามที่ต้องการคำอธิบาย ซึ่งศิลปะต้องอธิบายออกมาจากจิตวิญญาณ บางทีก็ยากที่คำพูดธรรมดาจะอธิบายได้ ขึ้นอยู่กับการรับรู้ของแต่ละบุคคล ศิลปะจึงต้องอาศัยความเข้าใจหลักแห่งความจริง หลักธรรมะ หรือธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ซึ่งนับวันผู้คนในสังคมมักจะละเลย จนจิตใจขาดความละไม ยอมที่จะให้ความสุขแบบฉาบฉวยจากวัตถุ เทคโนโลยี มาบงการให้ชีวิตเป็นโน่นเป็นนี่ อยู่ทุกวี่ทุกวัน ดูๆ จนชีวิตเหมือนจะคล้ายหุ่นยนต์เข้าไปทุกวัน

คนทำงานศิลปะย่อมมีความว่องไวต่อการรับรู้ พินิจพิเคราะห์สรรพสิ่ง อย่างเชื่อมโยงบูรณาการ แล้วจึงสะท้อนความคิดจินตนาการออกมาเป็นมิติแห่งรูปทรง เส้นสาย ลายสี แสงเงา ได้อย่างลงตัว สร้างสรรค์

แนวคิดนี้ ถอดจากการสนทนากับ อาจารย์สมาน  คลังจัตุรัส ครูศิลปินเอกแห่งศูนย์ศิลปาชีพบางไทร ประธานกลุ่มศิลปินอิสระ ๙๖ ผู้นำเครือข่ายศิลปินอิสระทั่วประเทศ ผู้มีบทบาททำให้ผู้คนเข้าไปสัมผัสกับศิลปะอันพิสุทธิ์งดงามด้วยกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง อาจารย์ได้ทำงานเชิงรุกเปิดประตูศิลปะสู่สังคม ด้วยการรวบรวมทุนรอนส่วนตัวจากรายได้ปลายพู่กัน เนรมิตพื้นที่สวนริมคลองอันร่มรื่น ให้เป็นอุทยานการเรียนรู้ทางศิลปะ แหล่งเรียนรู้ชุมชนที่รู้จักกันดีในนาม “หอศิลป์คลังจัตุรัส” ที่ชัยภูมิบ้านเกิด อาจารย์ภูมิใจที่เห็นผู้รักงานศิลปะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ เข้าไปสังสรรค์เสวนางานศิลป์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงมีครูและนักเรียนจากที่ต่างๆ แวะเวียนมาเยี่ยมชมมิได้ขาด รวมทั้งศึกษานิเทศก์ศิลปะอย่างผมก็หาทางวางแผนทำโครงการพาครูสอนศิลปะและนักเรียนมาเรียนรู้ที่หอศิลป์แห่งนี้ ปีนี้ได้พาครูสอนศิลปะและนักเรียนที่มีความสามารถทางศิลปะรวม ๑๐๐ คนเศษๆ มาฝากตัวเป็นศิษย์ นับว่าเป็นการชวนกันมาเรียนรู้กับครูศิลปินเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อฝึกปฏิบัติการทักษะพื้นฐานทางศิลปะ แบบตัวต่อตัวกับอาจารย์และทีมงาน ใน ลักษณะค่ายศิลปะ ระหว่างวันที่ ๒๔ และ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา

 ผู้สมัครเข้าค่ายศิลปะคราวนี้ มีทั้งครูและนักเรียน จึงต้องแบ่งกลุ่มเรียนรู้เป็นฐาน เริ่มจากงาน drawing ด้วยดินสอและสี การวางน้ำหนักสี เกลี่ยสี และวาดภาพง่ายๆ ที่ต้องใช้ทักษะพื้นฐาน อาจารย์ให้เหตุผลว่า ทักษะพื้นฐานการวาดภาพมีความสำคัญมาก ควรฝึกอย่างอดทนทุ่มเทใจ ให้เกิดความแม่นยำ มั่นใจ ในเรื่องมิติ รูปทรง ทิศทาง แสงเงา น้ำหนักสี วรรณะสี ก่อนจะก้าวสู่ขั้นวาดให้เกิดเรื่องราว การเรียนรู้ทางศิลปะต้องทุ่มเทใจ เส้นทางสู่การเป็นศิลปิน ไม่ใช่พรสวรรค์หรือโชคช่วย ต้องผ่านการฝึกฝนเคี่ยวตนเองอย่างทุ่มเทหนักหน่วง จนมองทะลุทุกมิติในสิ่งที่ปฏิบัติ จึงจะเกิดชิ้นงานที่ภูมิใจได้ ช่วงเวลาฝึกฝนอย่างหนักนี้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้กับเรา แต่มารับรู้เอาเมื่อตอนประสบผลสำเร็จแล้ว จึงดูเป็นคนพิเศษ ที่จริงศิลปินทุกคนต้องผ่านการเคี่ยวตนเองอย่างเข้มข้นมาก่อนทั้งนั้น การเรียนรู้ตามรอยศิลปิน จึงถูกต้องตามตามหลักปฏิบัติ ที่ศิลปินทุกคนได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว

จากการประเมินเบื้องต้น พบพฤติกรรมที่เป็นข้อสังเกตถึงความสุขในการเรียนรู้ ดังนี้

๑.  ครูผู้สอนศิลปะ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้จบวิชาเอกศิลปะโดยตรง ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ ยอมรับแนวคิด วิธีการสอนศิลปะใหม่ สลัดรูปแบบการสอนศิลปะแบบเดิมๆที่เน้นการเลียนแบบ ลอกแบบ ความสวยงามที่ขาดมิติ องค์ประกอบทางศิลปะ มีพฤติกรรมการเรียนรู้ที่กระตือรือร้น ซึ่งยากนักที่จะเห็นบรรยากาศการเรียนรู้ในการฝึกอบรมครูและนักเรียน ในเวทีอื่นๆ ที่เคยจัดมา

๒. พฤติกรรมของนักเรียนที่เงียบหงอยในสามชั่วโมงแรก เปลี่ยนเป็นความกระปรี้กระเปร่า หยอกล้อพูดคุยกับเพื่อน กับครูศิลปินอย่างไม่เคอะเขิน เปลี่ยนอาการอิดออดเป็นลิงโลดในการนำเสนอผลงาน เสียงที่เคยเงียบเป็นเสียงหัวเราะกับเพื่อนๆต่างโรงเรียน เด็กๆหลายคน ใช้เวลาพักผ่อนไปนั่ง-นอนกลิ้งเกลือกอยู่กับการวาดภาพกับภาพโปรดในหอศิลป์ เหมือนเป็นบ้านที่อบอุ่น

๓. จากการสุ่มสัมภาษณ์ สนทนากับครูผู้เข้าฝึกอบรม ทุกคนให้การตรงกันว่ารู้สึกอบอุ่นภูมิใจที่มีโอกาสเรียนรู้กับครูศิลปินเอกอย่างใกล้ชิดเป็นกันเอง  ทำให้ทุกคนกล้าถาม กล้าคิด กล้าเสนอผลงานเพื่อรับข้อวิจารณ์ปรับปรุงผลงานตนเอง มองเห็นคุณค่าของตนเอง เกิดความรักในศิลปะขึ้นมากโข และตัวอาจารย์เองก็เอ่ยปากถึงความตั้งใจสนใจที่แต่ละคนพกมาเต็มเปี่ยม ดีใจที่เห็นทุกคนมีความสุขกับการเรียนรู้ และรับปากจะจัดค่ายศิลปะให้ทุกคนมาเรียนรู้กับครูศิลปินอีก

๔. ผลการประเมินโครงการตามหลักวิชาการพบว่า ทุกคนพึงพอใจกับกิจกรรมฝึกปฏิบัติการในครั้งนี้ นักเรียนร้อยละ ๘๙.๒๖ พึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด มีความสุขที่ได้เข้ารับการฝึกปฏิบัติการทางศิลปะ เช่นเดียวกับครูผู้สอนอยากให้มีกิจกรรมหลายวันกว่านี้ และมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณแผ่นดิน

 

 


หมายเลขบันทึก: 537424เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ชอบครับ

ชื่นชมกิจกรรมดีๆนี้



ขอบคุณกิจกรรมที่สร้างสรรค์จ้ะ

ดูแล้วมีความสุข เด็กๆวาดภาพได้สวยจังเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท