สิรภัทร
สิรภัทร จิตตะมาลา ลิ่มไพบูลย์

“โครงการอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ” จังหวัดนครศรีธรรมราช (ภาค 7 เตรียมพื้นที่บ้านในหันก่อนพา รศ.ถนอมจิตร สุภาวิตา บริการให้คำปรึกษา)


          วันนี้ก่อนลงพื้นที่บ้านในหัน แวะอุดหนุนยาหอมแก่นจันทน์ของแพทย์แผนไทย(คุณหมอขจร ณ อาภรณ์ บภ. 7191/2506) ข้างๆโรงพยาบาลท่าศาลา สุคุยถึงความคืบหน้าโครงการฯ โดยเฉพาะเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ชุมชน คุณหมอมีความสุขกับข่าวดีโดยเฉพาะเรื่องที่นายอำเภอมีดำริให้จัดงานสัปดาห์อัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการ (8-14 สิงหาคม 2556) รวมถึงความสุขกับการชวนกันทำกิจกรรมดีๆร่วมกัน

          บนเส้นทางอำเภอท่าศาลา-จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตรงบริเวณสี่แยกไฟแดงเลี้ยวซ้ายประมาณ 10 กม. ถึงจุดหมายปลายทางคือบ้านครูสมบูรณ์ เมืองจันทร์ บ้านในหัน หมู่4 ตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

          ครูสมบูรณ์ฯ ครูผู้สูงอายุวัย 70 ปี กำลังสาละวนตรวจผลงานดอกไม้ใยบัวที่ทางลูกศิษย์ซึ่งหมายถึงเหล่าแม่บ้านบ้านในหันที่มาอบรมร่ำเรียนวิชากลับบ้านไปตั้งแต่เมื่อวานซืน แล้วทะยอยส่งงานประดิษฐ์ให้กับครู (ทุนสนับสนุนการอบรมจากองค์กรภาครัฐแห่งหนึ่ง)

                                           

           ครูคุยด้วยอาการตื่นเต้นว่าหลายวันก่อนนายอำเภอมาที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน คุยเรื่องอัตลักษณ์ท่าศาลาเชิงบูรณาการรู้สึกมีความหวังขึ้นมาก ทางหมู่บ้านนัดหมายกับสุเรื่องการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนประเภทเวชสำอาง (จากที่ทำอยู่คือแชมพูและครีมนวดผม) โดยนัดหมายทำการสาธิตและบริการให้คำปรึกษาจากรศ.ถนอมจิตร สุภาวิตา ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้                           

            จากการประเมินชุมชนพบว่าประชาชนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนดั้งเดิม มีภูมิปัญญาที่โดดเด่นที่สุดคือการทำขนมพื้นบ้าน พูดง่ายๆคือภูมิปัญญาตกทอดทำขนมแต่ละสูตรของแต่ละครัว 14-15 ครัวเรือนเลยทีเดียว ประชาชนที่นี่เล่าว่าแม่ค้าขนมไม่ว่าตลาดเทศบาล ตลาดเปิดท้ายทุกนัด คือคนบ้านในหัน Oh! My God เสน่ห์ปลายจวักทางขนมพื้นบ้านอำเภอท่าศาลาอยู่ ณ ดินแดนแห่งนี้หรือ! (รายการขนม : ขนมชั้น วุ้นต่างๆ เปียกปูน ขนมสอดไส้ หมีพื้นบ้าน กล้วยฉาบ ลาโบราณ ข้าวยำพื้นบ้าน ขนมเดือนสิบอื่นๆ)

             “เห็นรายการขนมเยอะอย่างนี้แล้วพี่น้องบ้านในหันจะเอาอะไรไปนำเสนอในสัปดาห์อัตลักษณ์ท่าศาลาค่ะ” คำตอบ คือ “1)ขนมพื้นบ้านเมนูพิเศษ : ทองม้วน ทองพับ ปั้นสิบ(ไส้ปลา ไส้หมู) ขนมชั้นอัญชัญ 2)เวชสำอาง : แชมพูอัญชัญ ครีมนวดอัญชัญ เครื่องสำอางตามที่ รศ. ถนอมจิตรฯ ให้คำปรึกษา 3)ยาภูมิปัญญาไทย:ยาดมสมุนไพร ลูกประคบแห้ง 4)ผักพื้นบ้าน : ถั่วพลู บวบ ผักหวาน มะระขี้นก เห็ดนางฟ้า 5)งานหัตถกรรม : ใบยางพารา(พวงกุญแจ) ปลาตะเพียนสาน(พวงกุญแจ /สิ่งประดิษฐ์สำหรับแขวนตกแต่งในรถ/โมบาย)”

           ที่มาของชื่อบ้านในหัน มาจากคำว่าบ้านสะพานหัน ในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้มีสะพานไม้พาดสองฝั่งคลองสำหรับข้ามสัญจรไปมาหาสู่กัน  ด้วยเนื่องจากการเป็นสะพานไม้ที่ชาวบ้านออกแรงสร้างร่วมกันแต่ก็ต้องออกแรงช่วยกันซ่อมทุกปี เพราะน้ำไหลไปไหลมาไม่เป็นทิศเป็นทาง ทำให้สะพานไม้หันไปมาไม่เป็นทิศเป็นทางตามน้ำทุกปีเช่นกัน จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามสะพาน ตามน้ำพาไป หันไปหันมาไม่มีทิศทางว่า “หมู่บ้านสะพานหัน” ต่อมาผันเสียงลดรูปเป็น “หมู่บ้านในหัน” ปัจจุบันยังคงเหลือแนวคลองให้เห็นเป็นพื้นที่ความทรงจำร่วมบนป่าสาคูทางเข้าโรงเรียนบ้านสะพานหัน(ชื่อโรงเรียนยังคงไม่ลดรูป)

           ที่นี่ไม่มีวัดในหมู่บ้าน   พอถึงเทศกาลทำบุญ  เช่น วันแห่เทียนเข้าพรรษาประชาชนจะรวมตัวกันแห่เทียนจนครบทุกวัด(วัดพระเลียบ วัดพระอาสน์ วัดนางตรา วัดโคกเหล็ก วัดประดู่หอม วัดโทตรี) ที่นี่จัดทำบุญประจำหมู่บ้าน ณ ศาลาหมู่บ้าน เป็นประจำทุกๆกลางเดือนจนเป็นประเพณีประจำหมู่บ้าน

           วันนี้สุต้องรีบกลับบ้านไปทำอาหารเย็นให้พี่ต้น ลูกชายสุดที่รักแล้ว สวัสดีค่ะ


คำสำคัญ (Tags): #อัตลักษณ์
หมายเลขบันทึก: 537422เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2013 16:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาสนับสนุนโครงการ ตัวตนคนท่าศาลา บูรณาการ

ขอบคุณผู้เฒ่ามากๆ หากไม่มีเหตุสุดวิสัย สุจะพาสัมผัสบรรยากาศหมู่บ้านต่างๆ โดยโฟกัสไปที่1)ชวนค้นหาตนเอง 2)ช่วยเสริมฐานครอบครัว พัฒนาสิทธิ์และหน้าที่ครอบครัว 3)ช่วยเสริมฐานชุมชน ชวนวางรากฐานสิทธิ์และหน้าที่ชุมชนร่วมกัน ทุกการพูดคุยจะเน้นแลกเปลี่ยนมุมองคุณธรรม การพึ่งตนเอง การสลัดชีวิตจากการพึ่งพิงผู้อื่นให้น้อยลง เข้าใจโครงสร้างแปลกปลอมในสังคมไทย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท