เสรีนิยมประชาธิปไตย ตอนที่ 2 จอห์น ล็อค


จอห์น ล็อค

ในขณะที่วันเวลาของอำนาจอันสัมบูรณ์ขององค์กษัตริย์ดำเนินไป แต่ใน“ยุคเรืองปัญญาในยุโรป” หรือยุคใหม่ของความคิดอันบรรเจิดก็ปรากฏขึ้น เหล่านักคิดในยุคเรืองปัญญาต้องการปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์บนโลกด้วยกันแทนที่ความสำนึกของพวกเขาที่มีต่อศาสนาและชีวิตหลังความตาย นักคิดเหล่านี้ให้ความสำคัญแก่เหตุผล,วิทยาศาสตร์,ความคิดเห็นที่แตกต่างทางศาสนาและสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “สิทธิตามธรรมชาติ” (กล่าวโดยเฉพาะได้แก่สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน)

นักปรัชญายุคเรืองปัญญา อาทิ จอห์น ล็อค, ชาร์ลส มองเตสกิเออร์ และ จัง-จากส์ รุสโซ ทั้งหมดนี้ต่างได้พัฒนาทฤษฎีของรัฐบาลที่ซึ่งคณะหรือแม้กระทั่งสมาชิกทั้งหมดของสังคมเป็นผู้ปกครองรัฐ นักคิดดังกล่าวมานี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการปฏิวัติในฝรั่งเศสและอเมริกาและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จอห์น ล็อค: ประชาธิปไตยบนความไม่เท่าเทียม

จอห์น ล็อค (1632-1704) เขาถือกำเนิดมาก่อนการเกิดขึ้นของสงครามการเมืองในประเทศอังกฤษไม่นานนัก ล็อคเรียนวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดและเป็นศาสตราจารย์สอนอยู่ที่นั่นด้วย เขาอยู่เคียงกับข้างรัฐสภาโปรแตสแตนท์ในการต่อสู้กับกษัตริย์โรมันคาทอลิก กล่าวคือพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี 1685 เหตุการณ์นี้บั่นทอนอำนาจของกษัตริย์และทำให้รัฐสภาเป็นองค์กรหลักในการปกครองประเทศอังกฤษโดยถาวรตลอดมาจนกระทั่งปัจจุบัน

สิ่งที่ล็อคไม่เห็นด้วยกับฮอบส์

ในปี 1690 ล็อคตีพิมพ์หนังสือ “two treatises of government” โดยทั่วไปแล้ว ล็อคชี้ให้เห็นว่า อิสระภาพและเสรีภาพเป็นสิทธิมูลฐานของมนุษย์ สิทธิ์นี้เกิดจากความเป็นผู้มีเหตุผลของมนุษย์ มนุษย์เกิดมาเป็นอิสระเพราะมนุษย์เกิดมามีเหตุผล เหตุผลคือเสียงของพระเจ้าในตัวมนุษย์ เหตุผลเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ตัดสินใจได้เองและเลือกได้เองโดยคำนึงถึงหลัก การโดยไม่ต้องมีการบังคับ ในสภาพธรรมชาติที่ไม่มีรัฐบาล กฎแห่งเหตุผลเป็นกฎของสังคม โดยที่เหตุผลนี้พระเจ้าให้มากับมนุษย์ทุกๆคน ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงเป็นอิสระแก่กันและเท่าเทียมกัน พระเจ้าไม่ได้ปรารถนาที่จะให้มนุษย์ผู้ใดได้สิทธิจากพระเจ้ามากกว่าผู้อื่น นอกจากนี้เขาเห็นด้วยกับฮอบส์ในเรื่องความโหดร้ายของสังคม รัฐธรรมชาติที่ซึ่งต้องการสัญญาประชาคมเพื่อยังไว้ซึ่งสันติสุข แต่เขาไม่เห็นด้วยกับฮอบส์ในประเด็นหลักสองข้อ กล่าวคือ ข้อแรกล็อคยืนยันว่าสิทธิตามธรรมชาติอย่างเช่นสิทธิในชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วแม้ในสังคมรัฐธรรมชาติและเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจพรากไปจากปัจเจกหรือเป็นสิ่งที่ซึ่งปัจเจกชนจะมอบให้แก่ผู้ใดได้ สิทธิทั้งหลายเหล่านี้มิอาจโอนแก่กันได้ (inalienable) กล่าวคือเป็นไปไม่ได้ที่จะสละแก่ผู้ใด ข้อที่สอง ล็อคไม่เห็นด้วยกับฮอบส์ในเรื่องสัญญาประชาคม สำหรับเขาแล้วสัญญาประชาคมนั้นหาใช่เป็นเพียงข้อตกลงระหว่างประชาชนด้วยกันไม่ แต่เป็นข้อตกลงระหว่างพวกเขากับรัฏฐาธิปัตย์ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “กษัตริย์”

ความคิดเรื่องเสรีภาพในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพราะสิทธินี้เกิดจากการเป็นเจ้าของเกิดจากแรงงานของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ใช้แรงงานเข้าผสมผสานกับธรรมชาติที่พระเจ้าให้มาก็เท่ากับว่าเขา ทำให้เกิดสิ่งใหม่ สิ่งนั้นควรเป็นสมบัติของเขาแต่ผู้เดียว เพราะแรงงานที่ลงไปเป็นของมนุษย์ผู้นั้น สิทธิที่จะเป็นเจ้าของทรัพย์สินจึงเป็นสิทธิมูลฐานตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน มิใช่มนุษย์ได้รับสิทธิ์นี้จากรัฐ ความคิดของล็อคในเรื่องสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของทรัพย์สินนี้ แย้งกับลัทธิศักดินาที่มอบให้เจ้านายหรือกษัตริย์เท่านั้นเป็นเจ้าของ ที่ดิน ความคิดของล็อคจึงเป็นพื้นฐานสนับสนุนหลักกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล(private proverty) นอกจากนี้ล็อคยังได้ระบุไว้อย่างชัดแจ้งด้วยว่ากรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนี้จะ ต้องไม่ใช่เพื่อเอาเปรียบกดขี่ผู้อื่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นหลักการที่จะช่วยส่งเสริมมนุษย์มีความอิสระกระทำการต่างๆได้ ในทัศนะของล็อคกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงเป็นเครื่องสนับสนุนเสรีภาพ มิใช่เครื่องมือสำหรับบังคับกดขี่

ทำไมมนุษย์ถึงได้ละทิ้งซึ่งสภาวะธรรมชาติ

ในสภาพธรรมชาติ ล็อคเห็นว่ามนุษย์มีเสรีภาพและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินธิ์ สิทธิทั้ง 2 ประการนี้มนุษย์มีมาแต่เกิด มิใช่เป็นสิทธิที่ได้มาจากรัฐบาล ปัญหาจึงมีว่า ทำไมมนุษย์จึงละทิ้งสภาพทางธรรมชาติก่อตั้งสังคมการเมือง(political society)และรัฐบาลขึ้น
ล็อคอธิบายว่า มนุษย์อธิบายว่าสภาพธรรมชาติขาดความสมบูรณ์ 3 ประการคือ
1. มนุษย์ อาจเห็นกฎข้อบังคับซึ่งเกิดจากเหตุผลไม่เหมือนกัน มนุษย์อาจเข้าข้างตนเองเพราะผลประโยชน์ และถือเอาผลประโยชน์ของตนเองเป็นกฎธรรมชาติ
2. เมื่อเกิดความขัดแย้ง ขาดฝ่ายที่สาม ซึ่งไม่มีผลประโยชน์ส่วนได้เสียเป็นผู้พิพากษา การให้มนุษย์ตัดสินข้อขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับตนเองอาจทำให้เกิดการใช้ อารมณ์และการแก้แค้น
3. ฝ่ายที่เสียหายอาจไม่มีความเข้มแข็งพอที่จะจัดการให้มีการลงโทษตามความยุติธรรมได้
ด้วยเหตุนี้ทำให้มนุษย์ยอมที่จะละออกจากสภาพธรรมชาติและก่อตั้งสังคมการเมืองขึ้น โดยความยินยอม(consent)ของสมาชิก ล็อคยังได้อธิบายว่าการยินยอมอยู่ในสังคมการเมืองเดียวกันหมายความว่า สมาชิกยินยอมที่จะอยู่ใต้กฎแห่งเสียงข้างมาก มิฉะนั้นสังคมการเมืองก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

ในสังคมการเมืองต้อง มีองค์กรกลางในการปกครอง คือรัฐบาล เพื่อออกกฎหมาย ตีความกฎหมาย และบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฏหมาย แต่องค์กรออกกฎหมายยังมีสิ่งที่เหนือกว่าคือประชาชน อำนาจอธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน ประชาชนเป็นทั้งผู้มอบความไว้วางใจและเป็นผู้รับประโยชน์ ส่วนฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดการบริหารฝ่ายรัฐบาลอาจถูกถอดถอนได้โดยผู้ มอบความไว้วางใจหากปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้อง ล็อคจึงกล่าวว่า “ประชาชนยังคงมีอำนาจสูงสุดที่จะย้ายหรือเปลี่ยนแปลงฝ่ายนิติบัญญัติ เมื่อเขาพบว่าฝ่ายนิติบัญญัติกระทำการตรงกันข้ามกับสิ่งที่ประชาชนมอบหมาย

หน้าที่ของรัฐบาลเพื่อขยายเสรีภาพและสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล

ในทัศนะของล็อค ประชาชนไม่ได้มอบอำนาจทั้งหมดให้รัฐบาล กฎแห่งธรรมชาติยังคงใช้บังคับอยู่ ซึ่งก็คือกฎแห่งเหตุผลนั่นเอง เพียงแต่สภาพธรรมชาติเท่านั้นที่หมดไปเพราะมีการรวมอำนาจการออกกฎหมายตีความ กฎหมาย และบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่กับรัฐบาล แทนที่ต่างคนต่างทำดังในธรรมชาติ แต่รัฐบาลยังคงต้องออกกฎหมายตามกฎแห่งธรรมชาติ จะคัดค้านทำลายกฎแห่งธรรมชาติไม่ได้ ในสภาพธรรมชาติมนุษย์แต่ละคนยังไม่มีอำนาจทำลายชีวิตเสรีภาพและทรัพย์สินของ มนุษย์ผู้อื่น (นอกจากเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด) ฉะนั้นรัฐบาลซึ่งเป็นที่เชื่อถือของประชาชนก็จะมีอำนาจนี้ไปไม่ได้ กฎแห่งธรรมชาติซึ่งรับรองเสรีภาพและทรัพย์สินมีมาก่อนรัฐบาล รัฐบาลต้องเคารพกฎแห่งธรรมชาตินี้ รัฐบาลในทรรศนะของล็อคจึงมีอำนาจภายใต้ขอบเขตและไม่มีลักษณะเบ็ดเสร็จ อำนาจที่รัฐบาลใช้ก็ไม่ใช่อำนาจของตนเอง แต่เป็นอำนาจของประชาชนที่ให้รัฐบาลเพียงแต่ใช้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และนอกจากนี้รัฐบาลยังต้องปฏิบัติตามกฎธรรมชาติด้วย ในทรรศนะของล็อครัฐบาลมีขึ้น กฎหมายมีขึ้นเพื่อส่งเสริมขยายเสรีภาพ ไม่ใช้ทำลายหรือกีดขวางเสรีภาพ อำนาจทางการสนับสนุนเสรีภาพไม่ใช่ขัดขาวงอย่างที่เคยเข้าใจกันมาในสมัยก่อน เพื่อประกันการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง

การดุลกันซึ่งอำนาจ

ล็อคยังเสนอให้มีการแบ่งแยกอำนาจของรัฐบาลให้อยู่ในต่างองค์กรกัน คือฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรหนึ่ง และฝ่ายบริหารอีกองค์กรหนึ่ง ฝ่ายบริหารนี้รับผิดชอบอำนาจ 2 ประการ คือ อำนาจบริหาร และอำนาจในการติดต่อต่างประเทศ นอกจากนั้นถ้ารัฐบาลละเมิดกฎแห่งธรรมชาติ ไม่ปฏิบัติการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนก็มีสิทธิล้มล้างรัฐบาลด้วยการปฎิ วัติได้

จากการจัดตั้งสมาคมการเมืองและรัฐบาลตามทฤษฎีของ ล็อค จะเห็นได้ว่า รัฐบาลที่ถูกต้องชอบด้วยหลักการจะต้องเป็นรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นโดยได้รับ ความยินยอมจากประชาชน ล็อคชี้ไว้ชัดว่า รัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยการใช้กำลังหรือการรุกรานไม่ใช่รัฐบาลที่ชอบ ทั้งนี้เพราะอำนาจทางการเมืองเป็นของประชาชนอยู่ก่อนในสภาพธรรมชาติ รัฐบาลจะใช้อำนาจทางการเมืองได้ก็ต่อเมื่อประชาชนยินยอม ประชาชนเป็นที่มาแห่งอำนาจทางการเมืองและสามารถเรียกอำนาจของเขาคืนได้ รัฐบาลที่ไม่ได้ความยินยอมจากประชาชนเป็นรัฐบาลที่มิชอบ

โดยสรุป เราสามารถสรุปความคิดของจอห์น ล็อคได้ดังนี้

ธรรมชาติของมนุษย์และโลกก่อนมีสัญญาประชาคม

มนุษย์เป็นคนดี มีเหตุผล มีเสรีภาพเต็มที่ และมีสิทธิ์ในทรัพย์สินของตน เมื่อทรัพย์สินนั้นเกิดจากแรงงานของเขา

ทำไมต้องทำสัญญาประชาคม?

เพราะเมื่อเกิดข้อพิพาทจะไม่มีใครตัดสินถูกผิดได้ เพราะทุกคนมีเหตุผลของตน เมื่อแย่งทรัพย์สินจะไม่มีใครบอกได้ว่าใครถูกใครผิด มนุษย์จึงไม่อาจรักษาทรัพย์สินของตัวเองไว้ได้ จึงต้องทำสัญญากัน ตั้งกฎหมาย ตั้งผู้ตัดสิน เพื่อรักษาทรัพย์สินของตัวเอง

ใครคือผู้มีอำนาจอธิปไตย

อำนาจอธิปไตยเกิดจากเสียงส่วนใหญ่ การออกกฎหมายเปิดจากการเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้นทุกคนจึงยอมรับกฎหมาย รัฐเป็หน่วยเดียวที่เคลื่อนไหวตามความคิดของเสียงส่วนใหญ่ เสียงส่วนใหญ่อาจจะยกให้ใครเป็นผู้ปกครองได้ แต่ก็เรียกอำนาจคืนได้เช่นกัน

สภาพสังคมหลังทำสัญญาประชาคม

เกิดสังคมที่เป็นหน่วยเดียวกัน ในข้อตกลงเดียวกัน ภายใต้การตัดสินโดยเสียงส่วนใหญ่ เพื่อรักษาสิทธิและเสรีภาพ เพื่อความสะดวก ปลอดภัยของทุกคน

 การเรียกอำนาจคืนจากผู้มีอำนาจอธิปไตย

ทำได้เมื่อเสียงส่วนใหญ่ต้องการ

หนังสืออ้างอิง

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. แนวคิดของจอห์น ล็อค. http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=thaisociety&month=28-03-2010&group=36&gblog=7 เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง.มรดกทางความคิดของ โธมัส ฮ็อบส์, จอห์น ล็อค, ชาลส์ มองเตสกิเออร์ และ จัง-จากส์ รุสโซ ที่ส่งผลต่อรูปแบบของรัฐบาลในปัจจุบัน. http://emrajalawhouse.com/?tag=%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B9%8C-%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B9%82%E0%B8%8B  เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ไม่มีชื่อผู้แต่ง. สรุปสัญญาประชาคม. http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1442930เข้าถึงเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 537283เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2013 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2013 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท