ครูศิลปินแห่งชาติ "ครูควน ทวนยก"


  

ประวัติการสร้างสรรค์ผลงานและเผยแพร่การแสดงต่อสาธารณชน

           นายควน  ทวนยก  ปัจจุบันอายุ  ๗๑  ปี  เกิดเมื่อวันที่  ๑๘  ตุลาคม  ๒๔๘๒  ที่อำเภอสิงหนคร  จังหวัดสงขลา  บิดาชื่อ  นายคล้อย  ทวนยก  มารดาชื่อ  นางตั้ง  ทวนยก  ภรรยาชื่อ  นางเจียม  ทวนยก  มีบุตรชาย  ๓  คนนายควน   ทวนยก   จะออกงานแสดงร่วมอยู่กับคณะการละเล่นพื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่  ทั้งหนังตะลุงและโนรา  รวมทั้งการแสดงร่วมกับคณะนาฏศิลป์วิทยาลัยครูสงขลา  เริ่มเป่าปี่เมื่ออายุ  ๑๖  ปี  พ.ศ. ๒๔๙๘  จนกระทั่งปัจจุบัน  เป็นนายปี่หนังตะลุงให้นายหนังหลายคณะทั้งในจังหวัดสงขลา พัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช   ช่วง ๑๐ ปีแรก  แสดงปีละ ๒๐๐ ครั้ง  ช่วง ๓๓ ปีหลัง  แสดงปีละ ๑๐๐ ครั้ง  และภายหลังตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๓ เริ่มเป่าปี่มวยอีกประมาณ  ๔๐  ครั้ง  สำหรับภาคอื่น ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  จังหวัดมหาสารคาม  เชียงใหม่  ราชบุรี  ลำปาง  อุตรดิตถ์  เพชรบูรณ์  พิษณุโลก  กำแพงเพชร  พระนครศรีอยุธยา  อุดรธานี  นครราชสีมา  เลย  บุรีรัมย์  ชลบุรี  ลพบุรี  เพชรบุรี  นครปฐม เชียงราย  สุโขทัย  นครสวรรค์  อุบลราชธานี  นครพนม  กาญจนบุรี  สุพรรณบุรี  ฯลฯ  นอกจากนี้  ยังแสดงในต่างประเทศอีกด้วย ได้แก่  ประเทศมาเลเซีย  ญี่ปุ่น  สาธารณรัฐเกาหลี  สวิทสเซอร์แลนด์  ฝรั่งเศส  สาธารณรัฐประชาชนลาว  สาธารณรัฐรัสเซีย  กรีซ  ตุรกี  นอกจากนี้ นายควน  ทวนยก  ยังได้สร้างสรรค์ภูมิปัญญาทางด้านดนตรีพื้นบ้านโดยเฉพาะทางด้านปี่หนังตะลุงและปี่โนราที่มีลักษณะโดดเด่นกว่างานสร้างสรรค์อื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน  ได้แก่   เพลงประกอบระบำ  ๕๐ เพลง  การคิดแต่งทำนองการขึ้นปี่ 

     การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม

        นายควน  ทวนยก   ได้รับเชิญและขอความร่วมมือให้ไปร่วมงานการแสดงโนรา  หนังตะลุง และปี่มวยอยู่เป็นประจำและบ่อยครั้ง   จนนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่เป็นงานที่ได้รับค่าตอบแทนและไม่ได้รับค่าตอบแทน   มีความสนใจการทำงานด้านดนตรีพื้นบ้านมาตลอด   และใช้ความรู้ความสามารถด้านนี้ตอบแทนสังคมเสมอมา   

  ปัจจุบัน  นายควน  ทวนยก  ยังไม่ละทิ้งงานที่ตนรัก  ไม่หยุดการสร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีพื้นบ้านเลย  โดยได้ร่วมคิดร่วมทำโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร และโปรแกรมวิชาดนตรีของคณะศิลปกรรมศาสตร์  จัดแสดงผลงาน  “แลโด้โหมศิลปกรรม”  ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์   มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒  ถึงปัจจุบัน  รวม  ๗  ครั้ง  ซึ่งเป็นผลงานการแสดงใหม่ประจำปีเสมอ  และยังคงใช้เวลาว่างเขียนบทหนังตะลุงเพิ่มเติมเพื่อใช้กับการฝึกศิษย์  และที่สำคัญสร้างสรรค์บทเพลงเฉพาะกิจ เฉพาะชุดการแสดงของโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  อย่างสม่ำเสมอ  นายควน  ทวนยก  สร้างผลงานด้วยใจทั้งที่ไม่มีความรู้ภาคทฤษฎีดนตรี  ทุกครั้งที่สร้างสรรค์งานจะประสานกลมกลืนกับการแสดงที่คิดขึ้นใหม่เฉพาะการของทุกหน่วยงานที่ขอให้ช่วย 

      รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ.2518 ได้รับพระราชทานเหรียญสมเด็จย่า จากพระหัตถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (ต.ตะเครียะ อ.ระโนด จ.สงขลา)
พ.ศ.2526  ได้รับเชิญเป็นครูสอนการเป่าปี่หนังตะลุง-โนรา แก่นักศึกษารายวิชาดนตรีพื้นบ้านภาคใต้เป็นครั้งแรก จากภาควิชาดนตรี วิทยาลัยครูสงขลา
พ.ศ.2542  โล่ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม จังหวัดสงขลา
พ.ศ.2543   ได้รับพระราชทานปริญญากิตติมศักดิ์ สาขาวิชาศิลปศาสตร์ โปรแกรมวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
พ.ศ.2551  ประกาศนียบัตรยกย่องเชิดชูเกียรติ “พ่อครูปี่ภาคใต้” บุคคลผู้สืบสานมรดกทางดนตรีภาคใต้

         สรุป จากการพูดคุย ท่านได้เล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่า ทุกวันนี้ท่านได้ทุ่มเทและให้เวลากับการถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป่าปี่สู่เยาวชนรุ่นหลัง อีกทั้งยังได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรให้แก่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ท่านกล่าวด้วยรอยยิ้มว่า สอนเด็กสนุกดี มีความสุข”คำพูดสั้นๆ แต่ทำให้เราเข้าใจในการเป็นผู้ให้ และรู้สึกว่าท่านมีความเป็นครูอย่างแท้จริง ท่านกล่าวอีกว่าลูกศิษย์ที่ผมสอนบางคนได้เป็นอาจารย์ ซึ่งต้องเป็นผู้ที่มีใจรักจริงๆ ถึงจะสืบทอดได้” คือคำพูดที่แสดงถึงความภาคภูมิใจที่เห็นลูกศิษย์ประสบความสำเร็จ และได้ร่วมสืบสานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติครูควน ได้เล่าถึงความภาคภูมิใจครั้งสำคัญในชีวิตที่เพิ่งผ่านมาไม่นานนักคือ ตอนเข้ารับพระราชทานเข็มศิลปินแห่งชาติ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งนั้น พระองค์ทรงถามครูควนว่า ยังเป่าปี่อยู่หรือ?” ครูควนได้ตอบพระองค์ท่านกลับไปว่า ยังเป่าอยู่” แล้วพระองค์ท่านทรงถามอีกว่าเพลงประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ใช่ไหม?” ครูควนตอบว่า พ่ะยะค่ะ” แม้จะทรงมีพระปฏิสันถารกับครูเพียงสั้นๆ แต่ได้สร้างความปลื้มปิติแก่ครูควนอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญกับดนตรีไทย โดยเฉพาะปี่ไทย และการแสดงที่ครูควนประทับใจที่สุด คือการได้มีโอกาสแสดงถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินาถ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ได้ทอดพระเนตรเมื่อครั้งเสด็จฯแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศ ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานหลายปีแต่ความประทับใจก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของท่านไม่เสื่อมคลายและทุกวันนี้ครูควนได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ให้กับเด็กและเยาวชนผู้มีใจรักในดนตรีไทย โดยเฉพาะการเป่าปี่ซึ่งท่านจะสอนให้ในตอนเย็นหลังเลิกงานและในวันหยุด โดยไม่คิดค่าเรียนแต่อย่างใด นับเป็นผู้หนึ่งที่เสียสละและมีส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่สมควรได้รับการยกย่องโดยแท้


คำสำคัญ (Tags): #ครูควน ทวนยก
หมายเลขบันทึก: 537163เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 14:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เคยฟังครูทวน เป่าปี่ที่ สถาบันทักษิณ ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว 

ขอบคุณที่นำบันทึกมาให้นึกถึงนายปี่ควน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท