ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป.3 มหาสารคาม_03 : เป็น "วิทยากรบรรยาการณ์" (ต่อ)


วันที่ 21-23 พฤษภาคม 2556 ผมเป็น "วิทยากรบรรยาการณ์" ที่ สพป.เขต 3 มหาสารคาม บันทึกนี้ต่อจาก บันทึกแรกที่นี่ครับ และบันทึกที่สองได้ที่นี่ครับ

สไลด์ที่ 6


ในหัวเรื่อง "ผลงานวิจัยที่ต้องยอมรับ" สไลด์แรกที่ผมเสนอต่อเวทีคือ ปีรมิดการเรียนรู้ซึ่งสืบค้นได้ไม่ยากทางอินเตอร์เน็ต และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปแล้วว่า เป็นสถิติที่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ ....

... เราเอาแต่ บอก สอน ป้อน บรรยาย ความรู้ให้นักเรียนจดจำ ท่องจำ หรือหาหลักการจำ โอกาสที่นักเรียนจะสามารถรับรู้และเข้าใจ เก็บไว้ได้ (retention) เพียง 5%...เช่น สอนว่า กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ. แล้วอธิบายนิยามของสัตว์บก สัตว์น้ำ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ.....

...แต่ถ้า บอก สอน ป้อน บรรยายแล้ว ยังมี เอกสารรายละเอียดให้อ่านด้วย (ถ้านักเรียนอ่านนะครับ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอ่าน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เราไม่เข้มแข้งวัฒนธรรมด้านนี้ เราชอบคุยมากกว่า) จะสามารถรับไว้ได้ ประมาณ 10%..เช่น เมื่อสอนเรื่อง กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำแล้ว ยังมีหนังสือรูปกบที่อยู่ริมตลิ่ง และรายละเอียดเรื่องสัตว์สามประเภทดังกล่าว.....

... ถ้า บอกด้วย ให้อ่านด้วย ให้ดูหรือฟังของจริงด้วย จะรับเก็บไว้ได้ 20%  เช่น เอาวีดีโอสารคดีเรื่องกบ เรื่องสัตว์ประเภทต่างๆ มาให้ดู เป็นต้น

...ถ้า พาไปดูของจริง พาไปยืนดูกบอยู่ริมตลิ่ง (ยืนดูอยู่ ไม่ได้ลงไปจับ) ไปเห็นกบ เห็นช้าง เห็นปลา เช่น พาไปสวนสัตว์ แล้วบรรยายไปด้วย เห็นของจริงไปด้วย นักเรียนจะรับได้ประมาณ 30%

...ถ้าหลังจากกลับมาจากสวนสัตว์แล้ว มานั่งล้อมวงอภิปรายกัน แล้วถอดบทเรียนสิ่งที่ได้เรียนรู้ จะสามารถเข้าใจและเก็บไว้ได้ดีถึง 50% 

...และถ้าครูออกแบบให้นักเรียนได้จับกบ จับด้วยมือ สัมผัสกับตนเอง ได้วาดรูปกบ ได้ฟังเสียงจริงๆ ได้จัดแบ่งสัตว์ประเภทต่างๆ ด้วยตนเอง ก่อนจะสรุปว่า กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำด้วยตนเอง (อาจผ่านกลุ่มการอภิปราย) จะทำให้นักเรียนจำได้ดี เข้าใจได้ดีถึง 75%

...ยิ่งไปกว่านั้น ถ้านักเรียนได้มีโอกาสสอนเพื่อนๆ สอนคนที่ยังไม่รู้ ให้รู้จักกบ ได้เลี้ยงกบ (อาจไม่รวมถึงการกินกบนะครับ) จะสามารถทำให้นักเรียนรู้และเข้าใจเรื่องกบ ได้ถึง 90% ทีเดียว

สไลด์ที่ 7

(ผมถือวิสาสะคัดลอกสไลด์ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาลงบนสไลด์นี้ครับ ขออภัยท่านไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ)

สไลด์นี้ อ่านรายละเอียดที่ท่านจะเข้าใจได้เลยที่นี่ครับ  ผมเองพูดบนเวทีประมาณนี้ครับว่า

...ความรู้เดิมของนักเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมาก และสามารถให้ผลได้อย่างน้อย 2 ทางคือ ทำให้ความรู้งอกใหม่ได้ง่าย  เช่น หากครูจะสอนเรื่อง เราอาจแบ่งพืชเป็นสองชนิดตามลักษณะของใบ เช่น ข้าวคือพืชใบเลี้ยงเดี่ยว   หากเป็นลูกอีสานชาวนาอย่างผม สบายมาก เข้าใจได้ทันที .... แต่หากเป็น เด็กนักเรียนในกรุงเทพฯ ที่ไม่รูจักแม้กระทั่งต้นข้าว อาจจะต้องใช้ ใบมะพร้าวแทน.... และให้ผลต่อต้านไม่ยอมรับ เช่น หากครูสอนว่า ผีไม่มีจริงในโลกหรอกนักเรียน แต่ปรากฏว่า นักเรียนไปถามใครเข้าก็บอกว่ามี ปู่ย่าตายายก็บอกว่ามี มีผีปู่ตา ผีกองกอย ผีหัวขาด ผีดิบ และที่สำคัญเด็กบางคนอาจคิดว่าตนเองเคยเห็นผีมากับตา.... แบบนี้ จ้างให้เด็กก็ไม่เชื่อ...ต้องหาทางพิสูจน์กันยกใหญ่ต่อไป

...การจัดระบบความรู้ หรือวิธีคิด วิธีเรียนรู้ของนักเรียน มีผลสำคัญต่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นนอกจะออกแบบให้เกิดการเรียนรู้เนื้อหา และเกิดทักษะจากการลงมือทำแล้ว ครูเราจะต้องสนใจช่วยให้นักเรียนค่อยๆ เรียนรู้และพัฒนาเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ของตนเองด้วย เช่น  แนะให้ปิดทีวีและโทรศัพท์มือถือ เวลาอ่านหนังสือ  ช่วยออกแบบตารางจดบันทึกดมูลเป็นตัวอย่างก่อนในเบื้องต้น ฯลฯ

...แรงจูงใจคือสิ่งสำคัญที่สุด ดังที่เขียนไว้แล้วในบันทึกแรก...

...การเรียนรู้แบบเรียนรู้ให้รู้จริง นั่นคือ การฝึกการเรียนรู้ด้วยตนเอง แบบครบวงจรคือ ตั้งปัญหาเอง วิเคราะห์เอง สังเคราะห์เอง ประเมินค่าเอง นำไปใช้เอง สร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อแก้ปัญหา พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น นำเสนอเอง ...เป็นต้น

...หากเปรียบการเรียนรู้เป็นเหมือนรถจักรยาน การ feedback หรือ สะท้อนบทเรียน Reflection เช่น กิจกรรม AAR BAR การตรวจการบ้าน การวิพากษ์ ฯลฯ สำคัญพอๆ กับที่ จักรยานต้องมี "ล้อหน้า" เลยทีเดียว ช่วยให้พัฒนาไปข้างหน้าได้ ไปในทิศทางที่ถูก ทำงานประสานกับแฮนด์ที่ผู้เรียนคอยจับอยู่.....

...ใครๆ ก็คงไม่ปฏิเสธว่า "สังคม อารมณ์ และสิ่งแวดล้อม" มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมาก แต่ครูเรามักลืมข้อนี้ ความจริงไม่ได้ลืมเฉพาะข้อนี้ ลืมไปว่า เป้าหมายของเราอยู่ที่เด็กเขาเหล่านี้ด้วย

...ปลายทางที่สุดคือ ครูเราต้องฝึกให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเองให้ได้  ต่างชาติเรียนการเรียนรู้แบบนี้ได้เก๋ดีครับว่า เรียนรู้แบบกำกับตนเอง (Self-directed Learning)  ก็คือ การเรียนแบบมีวินัยในตนเองนั่นเองครับ


ผมสรุปรวบ เพิ่มเติมตอนท้ายด้วยสไลด์ที่ 8 ด้านล่างครับ ผมย้ำว่า เราต้องยอมรับ 3 ข้อนี้ แล้วลุยไปข้างหน้ากัน


(เจอกันบันทึกต่อไปครับ)



หมายเลขบันทึก: 537162เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2013 17:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท