ข้อคิดจาก "วันวิสาขะบูชา"


สถานีความคิด :

ข้อคิดจาก  "วันวิสาขะบูชา"










(๑)



              วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ของทุกๆ ปี นับว่าเป็นวันที่มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญอย่างมากต่อจิตใจของชาวพุทธ เป็นวันแห่งความสุข ความหวัง และความทรงจำที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะว่าเป็น “วันวิสาขบูชา” ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันคล้ายกับวันที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน โดยวันวิสาขบูชาของปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 24  พฤษภาคม 2556

             ประวัติและความเป็นมาของวันวิสาขบูชานั้น ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้กล่าวเอาไว้ว่า ขณะที่พระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ กำลังเสด็จประพาสอุทยานลุมพินีวัน(ปัจจุบันอยู่ในเมืองรุมมินเด ประเทศเนปาล)           ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์กับเมืองเทวหะอยู่นั้น ณ ที่แห่งนั้นพระนางสิริมหามายาได้ทรงประชวรพระครรภ์อย่างกระทันหัน  และได้ทรงประสูติพระโอรสขึ้นมา เมื่อเช้าวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ปีจอ  ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ต่อมาพระโอรสทรงได้รับการขนานพระนามว่า "เจ้าชายสิทธัตถะ"

            เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงมีพระชนมายุได้ 16 พรรษา ได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธรา ซึ่งชีวิตพระองค์ทรงมีแต่ความสุข เพราะทรงได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างดีจากทุกๆ คน เมื่อพระชนมายุได้ 29 พรรษา เจ้าหญิงยโสธราทรงประสูติพระโอรสนามว่า “ราหุล”  โดยในคืนวันที่พระโอรสประสูตินั้น พระองค์ทรงเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของชีวิตและโลก จากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย พระองค์ทรงหวังที่จะช่วยชาวโลกให้พ้นจากทุกข์ จึงได้ทรงสละความสุขนานาประการ  และเสด็จออกผนวชเพื่อแสวงหาหนทางที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ และทรงบำเพ็ญเพียรอย่างหนักหน่วง 

            ภายหลังจากที่พระองค์ทรงผนวชได้ 6 ปี       เมื่อพระชนมายุได้ 35 พรรษา  พระองค์ก็ได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ใต้ต้นมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ(ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองพุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) เมื่อเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี  

            หลังจากตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจโดยการเสด็จเทศนาสั่งสอนประชาชนในชมพูทวีป(ประเทศอินเดีย)อยู่เป็นเวลา 45 ปี และเสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ(ปัจจุบันเรียกว่า กาเซีย อยู่ในรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) สิริรวมพระชนมายุได้ 80 พรรษา

          เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ตรงกับวันและเดือนเดียวกัน คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวิสาขมาส วันวิสาขบูชาจึงนับว่าเป็นวันที่มีปรากฏการณ์ที่ยิ่งใหญ่มหัศจรรย์เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีใครเสมอเหมือน และเป็นความมหัศจรรย์ที่พุทธศาสนิกชนต่างก็รำลึกถึงด้วยความปีติและด้วยความสุขความเบิกบานใจตลอดเวลา

          ปัจจุบันวันวิสาขะบูชาไม่ได้เป็นวันที่มีความสำคัญเฉพาะต่อประเทศที่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น  หากแต่ยังเป็น “วันสำคัญของโลก” อีกวันหนึ่งด้วย



(๒)



          ในแต่ละปีที่วันวิสาขบูชาได้เวียนมาบรรจบ นอกเหนือจากจะพากันทำบุญหรือทำความดีในรูปแบบต่างๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนทุกคนควรจะตระหนักให้มากที่สุด นั่นก็คือ การนำเอาข้อคิดและหลักธรรมที่ได้จากวันวิสาขบูชาไปประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับชีวิตและสรรพสิ่งให้มากที่สุด

                มีหลักธรรมอยู่ 2 ประการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาโดยตรง ที่ชาวพุทธทุกคนควรจะศึกษาเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และนำไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต นั่นคือ หลักคำสอนเรื่อง “อริยสัจ 4” กับ “ความไม่ประมาท”

               กล่าวกันว่าธรรมอันประเสริฐที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบหรือตรัสรู้ใต้ต้นมหาโพธิ์ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 เมื่อ 2,600 ปีมาแล้วนั้น ก็คือ หลักคำสอนที่เรียกว่า “อริยสัจ 4"  ซึ่งเป็นหลักธรรมที่เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ คือ:

              1.  ทุกข์    คือ  ปัญหาหรืออุปสรรคของชีวิต

          พระพุทธองค์ทรงตรัสความจริงแห่งชีวิตประการแรกให้ทุกคนได้ทราบว่า ชีวิตนี้เต็มไปด้วยปัญหา มนุษย์ทุกคนล้วนมีความทุกข์หรือปัญหาเหมือนๆ กัน ไม่มีใครที่จะมีความสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว ทั้งปัญหาขั้นพื้นฐานและปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์หรือปัญหาพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ การเจ็บไข้ได้ป่วย และการล้มหายตายจาก ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการไม่ได้ตามใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตต่างๆ เช่น ความเหงา ว้าเหว่ อ้างว้าง คิดถึงบ้าน  เป็นต้น

              2.  สมุทัย  คือ  สาเหตุแห่งการเกิดปัญหาหรือความทุกข์

          ความจริงแห่งชีวิตประการที่สองที่พระพุทธองค์ตรัสสอนก็คือ พระองค์ตรัสสอนทุกๆคนว่าเมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่สักเพียงใดก็ตาม ขอให้เข้าใจว่าปัญหาเหล่านั้นย่อมไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ   หากแต่จะต้องมีสาเหตุทำให้เกิดปัญหาขึ้นอย่างแน่นอน และสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหรือความทุกข์ขึ้นในชีวิต ก็คือ ตัณหาหรือความอยากต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่นไม่มีที่สิ้นสุด คือ ความอยากจะมีอยากจะได้(กามตัณหา) อยากจะเป็นนี่เป็นนั่น(ภวตัณหา) และความรู้สึกเบื่อหน่ายจนไม่อยากจะเป็นอะไรต่อไปอีกแล้ว(วิภวตัณหา) นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกหลายอยากที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหา เช่น ความโง่งมงาย ความยึดมั่นถือมั่น ความไม่รู้จักพอ  เป็นต้น

            3.   นิโรธ   คือ  การดับหรือการแก้ไขปัญหา

            ความจริงแห่งชีวิตประการที่สามนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เราสามารถที่จะแก้ไขได้ทั้งสิ้น  เมื่อทุกข์ที่ใด ก็จงดับหรือแก้ไขตรงนั้น ด้วยว่าไม่มีความทุกข์หรือปัญหาใดๆ ในโลกนี้ ที่เราจะดับไม่ได้

            4.  มรรค  คือ  หนทางหรือหลักปฏิบัติที่จะนำไปสู่การดับหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

          ความจริงแห่งชีวิตประการที่สี่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ความทุกข์หรือปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้น แต่ละคนสามารถที่จะแก้ไขได้ ด้วยการปฏิบัติตามหลักคำสอนเรื่อง “มรรค 8” ได้แก่ การเข้าใจถูกต้อง, คิดถูกต้อง, พูดถูกต้อง, ทำแต่สิ่งที่ถูกต้อง, เลี้ยงชีพด้วยความถูกต้อง, หมั่นเพียรในสิ่งที่ถูกต้อง, ตั้งสติหรือระลึกถึงแต่สิ่งที่ถูกต้อง, และตั้งใจแน่วแน่ในทางที่ถูกต้อง

            หากพิจารณาตามหลักอริยสัจแล้ว เราจะเห็นว่า ชีวิตก็คือกระบวนการแก้ไขปัญหาโดยธรรมชาติ เราต่างก็เกิดมาพร้อมกับความทุกข์หรือปัญหา ทั้งปัญหาภายนอกและปัญหาภายใน ทั้งที่เกิดจากตนเองและจากการที่คนอื่นทำให้เกิดขึ้น  เมื่อมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นมา ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องทำการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง จนกว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลายหรือดับไป โดยการใช้สติปัญญาและความอดทนเข้มแข็งเข้าไปเป็นเครื่องมือในการแก้ไข ซึ่งถ้าหากว่าเราได้ลงมือกระทำอย่างจริงจังแล้ว ในที่สุดทุกๆ อย่างในชีวิตก็จะดีขึ้นเอง


            หลักธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอน  ได้แก่ “ความไม่ประมาท” หรือ “สติ” คือ การระลึกรู้ทันสิ่งที่คิด พูดและทำ โดยในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การรู้จักใช้ชีวิตด้วยความฉลาด การไม่ประมาทในการใช้ชีวิต และการระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหวอิริยาบถ 4 คือ การเดิน ยืน นั่ง และนอน โดยสติจะมีความเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอนของชีวิต การดำเนินชีวิตด้วยการใช้สติและปัญญานำทาง จึงเป็นหลักประกันที่จะสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นกับชีวิตและทุกๆ สิ่ง

            พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่โลกให้การยกย่อง เพราะตลอดชีวิตของพระองค์นั้น พระองค์ทรงทำงานอย่างหนักหน่วง โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพื่อรังสรรค์ประโยชน์และความสุขให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติทั้งปวง ในชีวิตและพระทัยของพระองค์ทรงมีแต่คำว่างานและงานเท่านั้น พระองค์ทรงทำหน้าที่ของความเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ แม้แต่ในนาทีสุดท้ายก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ก็ยังทรงตรัสสอนเหล่าพุทธบริษัทเป็นปัจฉิมโอวาทส่งท้ายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา  พวกเธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเเถิด” ซึ่งเป็นพระวาจาที่เปี่ยมล้นด้วยความรัก ความเมตตา และความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อมนุษยชาติทั้งมวล ซึ่งฟังแล้วช่างรู้สึกสะท้านสะเทือนจิตใจของทุกคนยิ่งนัก

            ดังนั้น ในโอกาสที่วันวิสาขบูชาเวียนมาถึงอีกครั้งในปีนี้  เราทุกคนในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน จึงควรที่จะพากันน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงมีต่อชาวโลก รวมทั้งพากันทำความดีและบำเพ็ญบุญกุศลในรูปแบบต่างๆ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา

            ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือ การนำเอาข้อคิดหรือหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชา ไปใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพื่อยังประโยชน์ ความสุข และความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าให้เกิดขึ้นทั้งกับชีวิตตนเอง สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา ตลอดกาลนาน





หมายเลขบันทึก: 536908เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2013 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

ขอบคุณสำหรับข้อคิด คติ เตือนใจ ในวันวิสาขบูชาจ้ะ

สวัสดีครับ  คุณมะเดื่อ


ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาเข้ามาเยี่ยมเยือน

"ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค" พยายามนำมาใช้กับชีวิตให้ได้ตลอดเวลาค่ะ แต่ยังได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง

เพลงเพราะดี ถึงจะฟังไม่รู้เรื่อง แต่รู้สึกได้ถึงพลังแห่งศรัทธา สาธุค่ะ

สวัสดีครับ  คุณพี่ kunrapee


อริยสัจ 4 และมรรค 8  เราสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ตลอดเวลานะครับ

ทำได้มากบ้าง น้อยบ้าง  ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละบุคคล

แต่ไม่ว่ามากหรือน้อย  ผลก็คือทำให้ชีวิตมีความสุข สงบ และร่มเย็นขึ้นเหมือนกันนะครับ

วิ...เศษวิสุทธิ์พุทธวิถี

สา..ธารณะภาคีสโมสร

ข..จรขจิตศีลสมาธิกำจร

บูชา..ปัญญาภรณ์เพื่อพิเศษพิสุทธิ์ศรีฯ

เข้ามารับธรรมะ ในวันสำคัญ วิสาขบูชา ครับ


สวัสดีครับ  คุณหมออานนท์ ภาคมาลี


ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาอ่านบันทึกเรื่องนี้


สวัสดีครับ  คุณ nmintra


ขอบคุณมากๆ ครับ  สำหรับบทร้อยกรองที่ยอดเยี่ยมบทนี้

สวัสดีครับ  พี่ พ.แจ่มจำรัส


ขอให้พี่พิชัยมีความสุขและเบิกบานใจตลอดทั้งวันนะครับ

ขอบคุณมากครับ...บันทึกหนึ่งที่เขียนถึงวันวิสาขบูชา...เป็นวันที่มหัศจรรย์มากครับ

สวัสดีครับ  คุณหมออดิเรก(ทิมดาบ)


ขอบคุณมากๆ ครับ ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและอ่านบันทึกนี้

.... ตามมาอ่าน บทความดีดีนี้ ค่ะ  .... ขอบคุณ ค่ะ

สวัสดีครับ  พี่ Dr. Ple


ขอบคุณมากๆ ครับ  ที่กรุณาแวะเข้ามาเยี่ยมและอ่านบันทึกเรื่องนี้

ขอบคุณบันทึกธรรมะดีๆ ค่ะท่าน

สวัสดีครับ  คุณtuknarak


ขอบคุณมากๆ ครับ  ที่กรุณาแวะเข้ามาอ่านบันทึกนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท