(35) อย่าเชื่อ..เพียงเพราะเขามีชื่อเสียง


บางทีเราก็ ‘เชื่อถือ’ งานวิชาการชิ้นนั้นๆ เพียงเพราะชื่อเสียงของเขา แต่เมื่อสืบค้นกลับไปถึงเอกสารที่เขาอ้างอิง ก็เริ่มจะหมดความเชื่อถือ เพราะ.. ยังไม่ต้องพูดถึงงานที่เขาศึกษาแล้วเขียนขึ้นมาทั้งเล่มเลย แค่เอกสารอ้างอิงยังมั่วทั้งชื่อเรื่อง ปีที่พิมพ์ ไม่มีเลขหน้า บางครั้งต้นฉบับที่อ้างเขียนไปทางหนึ่ง แต่เขาสรุปมาอีกทาง ลูกต้องระวังให้ดี!

จากบันทึก '(33) หนูอยากทำรายงานแบบ ป.โท' ดิฉันแนะนำการทำรายงานแก่ลูกสาวไปได้ 1 สัปดาห์แล้ว สมควรแก่เวลาที่จะติดตามความก้าวหน้าเสียที จึงโทรศัพท์ไปถามว่าทำรายงานไปถึงไหนแล้ว เธอบ่นมาตามสายว่า

“... อาย มัวแต่เสียเวลาหลายชั่วโมง กับการตรวจสอบเอกสารอ้างอิง คุณภาพงานแย่มากเลยนะแม่"

“ตอนถ่ายเอกสารก็จดรายละเอียดมาแล้ว ' นายสอง มีชื่อเสียง' (นามสมมติ) อ้างถึง 'นายหนึ่ง ผู้รู้' (นามสมมติ)' บอกชื่อเรื่อง บอกหน้า แต่ไม่บอกเลขหน้า พออายจะเอามาเขีย นเชิงอรรถก็กลับไปหาต้นฉบับ"

ดิฉันขออธิบายเพิ่มนะคะ ปัญหาที่ลูกสาวพบคือ นักวิชาการชื่อ 'นายสอง มีชื่อเสียง' เขียนงานวิชาการ โดยอ้างว่านำแนวคิดบางส่วนมาจากนักวิชาการชื่อ 'นายหนึ่ง ผู้รู้' อาทิเช่น “การกระจายอำนาจ หมายถึง ..... (หนึ่ง ผู้รู้, 2550) "

ดิฉันฝึกลูกว่า ..อันที่จริงก็ใช้ลูกให้หาเอกสารให้นั่นแหละ.. หากงานที่เราต้องการอ้างอิง นำแนวคิดมาจากนักวิชาการคนไหน ให้บันทึกไว้ แล้วกลับไปสืบค้นต้นฉบับให้ได้ เป็นการตรวจสอบคุณภาพการอ้างอิงว่าเขานำมาใช้ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนไปอ้างนักวิชาการคนที่เขาอ้างถึงก็ได้

ความที่ดิฉันถนัดการอ้างแบบเชิงอรรถ (footnote) เมื่อเอกสารที่ต้องการใช้อ้างถึงนักวิชาการโดยไม่บอกเลขหน้าไว้ จึงต้องสืบค้นไปหาต้นฉบับ เคยสืบค้นไปจนถึงต้นตอหรือคนแรก เขียนไว้ในปี 2520 กว่าๆ จึงมีปัญหาต้องตัดสินใจ อยากอ้างถึงคนแรก แต่ดูเหมือนจะเก่าเกินไป อยากอ้างคนหลังๆ ที่ใหม่กว่า มีชื่อเสียงในเรื่องนั้นเทียบเท่ากัน แต่เนื้อหาก็ไม่ได้แตกต่างจากคนแรกแต่อย่างใด ดิฉันคงไม่เฉลยนะคะว่าเลือกอ้างคนไหน

เอาเป็นว่าลูกสาวไปสืบค้นจนพบต้นฉบับของ 'นายหนึ่ง ผู้รู้' ที่ 'นายสอง มีชื่อเสียง' อ้างอิงถึง ตั้งใจจะนำหมายเลขหน้าที่อ้างอิงมาลงให้สมบูรณ์ กลับพบว่าต้นฉบับของ 'นายหนึ่ง ผู้รู้' มีการตีพิมพ์หลายครั้ง ปัญหาคือจะเลือกฉบับตีพิมพ์ครั้งที่ใด

“เขาไม่บอกเลขหน้าไว้ อายจะรู้ได้อย่างไรว่าจะอ้างเล่มไหน"

จึงแนะนำวิธีแก้ปัญหาแก่ลูกว่ามี 2 วิธี

(1) วิธีแรก จากหลัก การเขียนเชิงอรรถ กำหนดแนวทางไว้ว่า หากตีพิมพ์หลายครั้งให้เขียน 'พิมพ์ครั้งที่..' เท่าไรไว้ด้วย หากหนังสือเล่มใดเขียนอ้างอิงโดยไม่บอกครั้งที่พิมพ์ ก็คาดการณ์ได้ว่าเป็นการตีพิมพ์ครั้งแรก

(2) อีกวิธีหนึ่ง เมื่อต้นฉบับของ 'นายหนึ่ง ผู้รู้' อยู่ในมือแล้วทุกฉบับที่มีการตีพิมพ์ ก็ให้ เลือกฉบับที่มีเนื้อหาสอดคล้องกันโดยไม่ต้องปรับเนื้อหาของเราเอง แต่ถ้าต้องการฉบับล่าสุดแต่เนื้อหาแตกต่างกันชัดเจนก็ให้ปรับเนื้อหาของเรา

“อายเข้าใจแล้วทำไมตอนนั้นแม่ถึงต้องหาต้นฉบับให้ได้"

ดิฉันบอกลูกว่า ปัญหาที่แม่เคยพบนั้นสรุปได้แต่เพียงว่า บางทีเราก็ 'เชื่อถือ' งานวิชาการชิ้นนั้นๆ เพียงเพราะชื่อเสียงของเขา แต่เมื่อสืบค้นกลับไปถึงเอกสารที่เขาอ้างอิง ก็เริ่มจะหมดความเชื่อถือ พราะ.. ยังไม่ต้องพูดถึงงานที่เขาศึกษาแล้วเขียนขึ้นมาทั้งเล่มเลย แค่เอกสารอ้างอิงยังมั่วทั้งชื่อเรื่อง ปีที่พิมพ์ ไม่มีเลขหน้า บางครั้งต้นฉบับที่อ้างเขียนไปทางหนึ่ง แต่เขาสรุปมาอีกทาง ลูกต้องระวังให้ดี!

งานของแม่เรียบเรียงเสร็จเป็นประเด็นเรียบร้อยแล้ว แต่พอสืบค้นกลับไปถึงเอกสารที่เขาอ้างอิงแล้วปรากฏว่าคุณภาพการอ้างอิงแย่มาก ทำให้ต้องตัดส่วนที่เกี่ยวข้องออก แล้วกลับมาสังเคราะห์ วิเคราะห์สรุปเชื่อมโยงใหม่ ทำให้เสียเวลา เสียอารมณ์ หลังจากนั้นก็หลีกเลี่ยง ไม่อ้างถึงคนอย่าง ' นายสอง มีชื่อเสียง' อีกต่อไป เพราะหมดความเชื่อถือเสียแล้ว

ดิฉันหวนนึกถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ น้องพยาบาลที่ทำงานด้วยกันส่งเอกสารที่ใช้ในการทบทวนการดูแลผู้ป่วย Schizophrenia with Hyponatremia มาให้ ดิฉันก็ต้อง mail กลับไปบอกว่า “เอกสารไม่มีแหล่งที่มา ใช้อ้างอิงไม่ได้" เธอจึงส่งรายการอ้างอิงมาให้

ดิฉันใช้คำถามปิดท้ายเพื่อช่วยให้ลูกสรุปบทเรียนว่า “รู้หรือยัง ว่าทำไมแม่สอนให้ใช้เวลากับการทำรายงานมากๆ" คำตอบที่ได้คือ "รู้แล้วว่าอย่าเพิ่งถ่ายเอกสารมาเยอะ อ่านให้ดี เลือกให้ดีเสียก่อน เปลืองเงิน"

อ้าว.. ไหงสรุปซะอย่างนั้น!

หมายเลขบันทึก: 536485เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2013 23:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2015 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สุดยอดคุณแม่เลยครับ แค่ชื่อบันทึกก็โดนใจ อ่านจบแล้วยิ่งทะลุปรุโปร่งครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท