มานุษยวิทยามาร์กซิสต์ ตอนที่ 16 ระบบทุนนิยม


ทุนนิยม

แรงขับดันที่ทำให้ คาร์ล มาร์กซ์ และเพื่อนร่วมงานของเขาสร้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุนขึ้นมา ก็คือ ความจำเป็นที่จะต้องสามารถยึดกุมสภาพที่เป็นอยู่ของสังคมทุนนิยมที่อยู่เบื้องหน้าพวกเขาในขณะนั้น (ศตวรรษที่ 19) โดยชี้ให้เห็นปฏิสัมพันธ์ที่เป็นจริงของสภาพพลังการผลิตและความสัมพันธ์ทางการผลิต ที่เรียกรวมว่า “เศรษฐศาสตร์การเมือง” อย่างละเอียด โดยใช้เครื่องมือพื้นฐานที่มีอยู่ก็คือ วิภาษวิธี กอปรกับการพิจารณา ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์คลาสซิก อย่างอดัม สมิธ(Adam Smith)เริคาโด(David Ricardo) และจอห์น สจ๊วต มิล(John Stuart Mill) เป็นต้น รวมทั้งแนวคิดสังคมนิยม อย่างของฟูริเย(Charles Fourier) แซงท์ซีมอง(Comte de Saint-Simon) และพรูดอง(Pierre-Joseph Proudhon) เป็นต้น

มาร์กซ์ได้วิเคราะห์ ในหนังสือ ชื่อ "ทุน (The Kapital)" ว่า รูปแบบการผลิตทุนนิยมบังคับให้กรรมมาชีพ (Labour) จำเป็นต้องขายแรงงานของตนเองในราคาถูกแก่นายทุน ดังนั้นกำไรของนายทุน แท้จริงแล้ว เกิดจากการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากค่าแรงของกรรมาชีพเพื่อกำไร ชนชั้นนายทุนจึงต้องพัฒนาเครื่องมือและวิธีการการผลิตให้ก้าวหน้าขึ้นตลอดเวลา นายทุนต้องขยายตลาดสินค้า แหล่งวัตถุดิบและกิจการไปทั่วโลก การผลิตแบบทุนนิยมนี้ ได้ทำให้เกิดความปั่นป่วนและวิกฤติทางเศรษฐกิจแบบวัฏจักร นั่นคือการผลิตล้นเกิน ท่ามกลางโลกที่อดอยากขาดแคลน เพื่อแก้ไขวิกฤติการผลิตล้นเกิน และรักษาราคาของผลผลิตให้สูงกว่าต้นทุน จึงต้องทำลายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด พยายามขยายตลาดใหม่ และใช้ตลาดเก่าให้เป็นประโยชน์ ซึ่งผลสุดท้าย ก็จะนำไปสู่วิกฤตรอบด้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้ความขัดแย้งทางชนชั้นในสังคมรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม ซึ่งชนชั้นในแนวคิดของมาร์กซ์มี 2 ลักษณะ กล่าวคือ 1. ชนชั้นที่ถูกเอาเปรียบ พวกทาส ไพร่ และกรรมกรหรือแรงงานเป็นต้น 2. ชนชั้นที่เอาเปรียบ เช่น เจ้า ศักดินา นายทุน เป็นต้น มาร์กซ์อธิบายว่าสภาวะแปลกแยกของกำลังแรงงาน นั้นเป็นลักษณะเฉพาะตัวของระบบทุนนิยม หาใช่การเกิดขึ้นของตลาดเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เนื่องจากก่อนหน้าจะมีระบบทุนนิยม ในยุโรปก็มีตลาดที่ผู้ค้าและผู้ผลิตได้ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าอยู่แล้ว 

ในทัศนะของมาร์กซ์ วิถีการผลิตแบบการผลิตแบบทุนนิยมพัฒนาขึ้นในยุโรปเมื่อแรงงานถูกเปลี่ยนให้เป็นโภคภัณฑ์---นั่นคือ เมื่อชาวนามีอิสระที่จะขายกำลังแรงงานของตนเอง และอยู่ในภาวะจำเป็นต้องกระทำการดังกล่าวเนื่องจากการขาดที่ดินหรือเครื่องมือสำหรับการผลิต ผู้คนยอมขายกำลังกายของตนเมื่อเขายอมรับค่าตอบแทนสำหรับงานใดๆ ที่เขาทำในช่วงเวลาหนึ่งๆ (ในอีกทางหนึ่งก็คือ พวกเขาไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการผลิต แต่พวกเขากลับขายความสามารถในการทำงาน) ค่าตอบแทนที่แลกมาด้วยกำลังแรงงานคือเงินที่ทำให้พวกเขามีชีวิตรอดต่อไปได้ กลุ่มคนที่ต้องขายกำลังแรงงานเพื่อการยังชีพคือ "ชนชั้นกรรมชาชีพ" ในขณะที่คนที่ซื้อกำลังแรงงาน ซึ่งมักจะเป็นผู้ที่ครอบครองที่ดินและเครื่องมือรวมถึงเทคโนโลยีในการผลิตคือ "นายทุน" หรือ "กระฏุุมพี" แน่นอนว่าจำนวนของชนกรรมาชีพย่อมมากกว่าจำนวนนายทุน มาร์กซ์เชื่อว่าการอธิบายระบบทุนนิยมในลักษณะนี้เป็นการอธิบายแบบวัตถุพิสััยซึ่งแตกต่างจากคำกล่าวอ้างอื่นๆ เกี่ยวกับระบบทุนนิยม ซึ่งมักจะขึ้นกับอุดมการณ์บางอย่าง

มาร์กซ์แยกแยะความแตกต่างระหว่างนายทุนกับผู้ค้าขายพ่อค้าแม่ค้าซื้อสินค้าจากที่หนึ่งมาเพื่อขายในอีกที่หนึ่ง หรือถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนก็คือ พวกเขาซื้อของจากตลาดหนึ่งเพื่อไปขายยังอีกตลาดหนึ่ง เนื่องจากกฎอุปสงค์ (ความต้องการซื้อ)และอุปทาน (ความต้องการขาย)ทำงานภายในตลาดใดๆ ตลาดเดียว ราคาโภคภัณฑ์ระหว่างสองตลาดอาจมีความแตกต่างกันได้ ผู้ค้าขายจึงใช้ประโยชน์จากความแตกต่างนี้เพื่อหวังกำไร ในความคิดของมาร์กซ์นั้น นายทุนกลับใช้ความแตกต่างระหว่างตลาดแรงงานกับตลาดของโภคภัณฑ์ที่ผลิตขึ้น มาร์กซ์สังเกตว่าในทุกๆ อุตสาหกรรมที่ประสบผลสำเร็จ ค่าจ้างแรงงานจะมีราคาต่ำกว่าราคาของสินค้าที่ผลิตได้ มาร์กซ์เรียกความแตกต่างนี้ว่า "มูลค่าส่วนเกิน" และอธิบายว่ากำไรของนายทุนนั้นเกิดจากมูลค่าส่วนเกินนี่เอง

รูปแบบการผลิตแบบทุนนิยมนั้นมีศักยภาพในการเติบโตได้มหาศาล ทั้งนี้เนื่องจากนายทุนนั้นสามารถนำผลกำไรที่ได้ไปลงทุนเพิ่มในเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ และนายทุนเองก็มีแรงจูงใจที่จะการลงทุนเพิ่มเติมในลักษณะเช่นนี้ด้วย มาร์กซ์มองว่าชนชั้นนายทุนเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกลุ่มที่คอยปฏิวัติเครื่องมือในการผลิตอยู่ตลอดเวลา แต่มาร์กซ์เชื่อว่าในระบบทุนนิยมนั้นจะมีการเกิดวิกฤตเป็นระลอกๆ เขาชี้ให้เห็นว่านายทุนจะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ในปริมาณที่มากขึ้น ในขณะที่จะลดต้นทุนของแรงงานลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากมาร์กซ์เชื่อว่ามูลค่าส่วนเกินที่ได้จากการขูดรีดแรงงานคือที่มาของกำไร เขาสรุปว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้อัตราได้กำไรลดลงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นก็ตาม การที่อัตราได้กำไรลดลงต่ำกว่าจุดๆ หนึ่งจะก่อให้เกิดภาวะถดถอยหรือภาวะตกต่ำที่จะทำให้บางส่วนของระบบเศรษฐกิจจะพังลง มาร์กซ์เข้าใจว่าในช่วงวิกฤตดังกล่าวค่าจ้างแรงงานก็จะเกิดการตกต่ำลงเช่นเดียวกัน และในที่สุดก็จะทำให้การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่เป็นไปได้ และทำให้เกิดการเติบโตขึ้นของส่วนใหม่ๆ ของระบบเศรษฐกิจ

ดังนั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุน  เป็นผลการศึกษาที่ต่อเนื่องมาจาก ทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และอธิบายถึง ลักษณะอันเป็นธรรมชาติของการขูดรีด ที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง ในทัศนะของมาร์กซ์ ผลิตผล(สินค้า)ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการผลิตที่มีแรงงานของมนุษย์เป็นปัจจัยชี้ขาด การผลิตย่อมไม่เกิดขึ้นหากไม่มีแรงงาน (กายหรือสมอง) ของมนุษย์ในบันทึกนี้จะว่าด้วยเรื่อง 1. สัมพันธภาพค่าจ้างแรงงาน ว่าเท่าเทียมกันหรือไม่ระหว่างแรงงานและนายทุน 2. มูลค่าส่วนเกินคืออะไร 3. คุณค่าและมูลค่าแลกเปลี่ยนคืออะไร 4. ความสามารถทางการผลิตของแรงงานคืออะไร 5. ภาวะผลผลิตล้นเกินคืออะไร 6. ปัญหาของทุนนิยมคืออะไร ซึ่งทั้ง 6 หัวข้อนี้คือคำอธิบายของมาร์กซ์ที่ได้กล่าวมาแล้วเกี่ยวกับเรื่องทุนนิยม แต่นำมาขยายต่อให้ละเอียดเท่านั้น

มาร์กซ์อธิบายต่อไปว่า ในระบบทุนนิยม ความสัมพันธ์พื้นฐาน ก็คือสัมพันธภาพค่าจ้างแรงงาน(wage relations) ซึ่งมีพื้นฐานจากสัญญาระหว่างฝ่ายที่เท่าเทียมกันในทางกฎหมาย กล่าวคือ เจ้าของทุน (ชนชั้นนายทุน) จ่ายค่าแรงงาน แก่คนงาน  เพื่อตอบแทนการทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ได้ตกลงกัน  ข้อตกลงการจ้างนี้สิ่งนี้ได้แฝงเร้นความไม่เท่าเทียมกันเอาไว้  นั่นคือ นายทุนได้หลอกลวงคนงานโดย ได้ตั้งราคาผลิตผลไว้มากกว่า ค่าจ้างแรงงานที่จ่ายไปรวมกับต้นทุนการผลิตที่สำคัญต่าง ๆ การตั้งราคาผลิตผลพิเศษและไม่สามารถกำหนดเป็นจำนวนได้ในเชิงสถิติ หรือที่เรียกว่ามูลค่าส่วนเกิน” (surplus value) นี้ได้สร้างความร่ำรวยมหาศาลให้แก่เจ้าของทุน และให้พวกเขาสามารถมีอำนาจควบคุมเหนือพัฒนาการทางเศรษฐกิจของสังคมได้ ดังนั้น การตั้งราคา จึงไม่เพียงแต่จะสร้างความมั่งคั่งแล้ว ก็ยังสร้างอำนาจขึ้นด้วย 

โครงสร้างทางเมืองที่ซับซ้อนนั้นจะประกอบไปด้วยกฎเกณฑ์และอุดมการณ์หลายชนิด ที่จัดระเบียบและเสริมความเข้มแข็งให้กับความสัมพันธ์ทางการผลิตนี้ ผลกระทบเนื่องจากการควบคุมส่วนเกินเหล่านี้ ที่เป็นผลจากการการสะสม ทำให้นายทุนสามารถกำหนดทิศทางทั้งหมดของสังคมได้  สินค้าที่ผลิตโดยระบบทุนนิยมจะต้องมี “มูลค่าใช้สอย” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คุณค่า” (use-value) ไม่เช่นนั้น สินค้าก็จะไม่มีคนซื้อ แต่นายทุนจะต้องมี “มูลค่าแลกเปลี่ยน” (exchange-value) ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับการบริโภคของนายทุนเอง แต่เพื่อแลกเปลี่ยนเป็น เงินตรา เท่านั้น ดังนั้นการผลิตของระบบทุนนิยมจึงมุ่งที่จะผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยนเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อการบริโภคกล่าวคือสบู่ดีที่ฟอกตัวให้สะอาด (คุณค่า/ มูลค่าการใช้สอย) แต่ทุนนิยมกลับเสนอใช้สบู่นี้แล้วจะผิวขาวขึ้นจนคนอื่นๆหลงใหล 

การแข่งขันจะผลักให้นายทุนผู้ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพต้องล้มละลายลง และจะนำไปสู่การรวมศูนย์และการผูกขาดในที่สุด  จนกระทั่งกลายเป็นทุนนิยมแบบกึ่งผูกขาด อย่างไรก็ตาม จำนวนของผลผลิต พัฒนาการของพลังการผลิตใหม่ ๆ จะผลักดันให้ ตลาด ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ เทคนิคการผลิตและรูปแบบของการแลกเปลี่ยนก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่หยุดยั้ง

ระบอบทุนนิยมเป็นแก่นกลางของวิกฤติต่าง ๆ  ซึ่งนายทุนจำต้องพยายามเพิ่มระยะเวลาทำงานให้ยิ่งยวดยิ่งขึ้น ให้ได้ผลผลิตสูงสุดในทุกหน่วยเวลา ในเหงื่อทุก ๆ หยดของคนงาน หรือที่เรียกว่า ความสามารถทางการผลิต (productivity) ของแรงงาน

คนงานนั้นหากมีการจัดตั้งกันขึ้นมาอย่างเหมาะสมแล้วก็จะทำการต่อต้าน นายทุนพยายามอย่างไม่หยุดหย่อนที่จะขยายตลาดของตนออกไปให้กว้างที่สุดในขณะเดียวกันก็จะจ่ายค่าจ้างคนงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากทำได้เช่นนั้นเป็นผลสำเร็จ คนงานก็จะมีรายได้ต่ำลง  การบริโภคของคนงานและอุปสงค์ของพวกเขาก็จะลดลง

และเมื่ออุปสงค์ลดลง ก็เกิด ภาวะผลผลิตล้นเกินสิ่งนี้นำระบบทุนนิยมก็จะเข้าสู่วิกฤติ กล่าวคือ นายทุนไม่อาจได้ประโยชน์จากมูลค่าแลกเปลี่ยนอีกต่อไป ราคาผลผลิตจะต้องลดลง กำไรของนายทุนก็จะลดลงด้วย ณ จุดหนึ่งก็จะไม่มีกำไรอีกต่อไป นายทุนก็จะล้มละลาย 

ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติ ระบอบทุนก็จะปรับอัตราค่าจ้างแรงงานใหม่ ทำให้อุปสงค์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะแสวงหาตลาดใหม่ ๆ ให้เพิ่มขึ้นเพื่อรักษากำไรของตนเอาไว้ ในเวลาต่อไปก็จะเกิดวิกฤติขึ้นใหม่อีก ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงจุดหนึ่งที่นายทุนไม่สามารถขยายตลาดได้อีกแล้ว นายทุนก็จะแย่งชิงตลาดกันเอง ก่อเป็นสงคราม ผู้ชนะก็จะเข้าครอบครองตลาดของผู้แพ้ สุดท้ายก็กลายเป็นทุนนิยมแบบผูกขาด และนี่คือที่มาของ ลัทธิจักรวรรดินิยม

สรุปได้ว่า วิกฤติทุนนิยมนี่เองเป็นตัวการสำคัญในการสร้างความทุกข์ยากแสนสาหัส และการสูญเสียเหลือคณานับต่อชีวิตของมวลมนุษยชาติ 

ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุน ในการนำมาใช้จริง

จะเห็นได้ว่าระบอบทุนนิยมขับเคลื่อนตัวของมันไปด้วย “วิกฤติ” ทั้งที่เป็นผลมาจาก การผลิตล้นเกิน หรือ หรือ ปัญหามูลค่าแลกเปลี่ยน  หรือ การแข่งขันแย่งตลาด ฯลฯ  วิกฤติเหล่านี้ ก็คือความขัดแย้งภายในตัวของมันเอง เมื่อความขัดแย้งหนึ่งคลี่คลายลง ก็จะมีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้นมา หรือมีหลาย ๆ ความจัดแย้งประดังเข้ามาพร้อม ๆ กัน เป็นที่สังเกตว่า ระบอบทุนนิยมมีพลวัตรสูง ทั้งในแกนตั้ง (ความสัมพันธ์ทางการผลิต) และแนวนอน (พลังการผลิต) กล่าวคือ มีการเปลี่ยนแปลงภายในชนชั้นปกครองอย่างถี่ยิบรวดเร็วแตกต่างไปจาก ระบอบศักดินาที่ตายตัว เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?

คำตอบก็คือ ความอ่อนไหวของพลังการผลิต (ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี) ระบอบทุนนิยมได้ปลดปล่อยพลังการผลิต เปลี่ยนแปลง “ระบอบกรรมสิทธิ์” จาก “ที่ดิน” ที่ตายตัวเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าของยาก มาเป็น “ทุน” ที่อ่อนตัว เปลี่ยนแปลงขึ้นลง และเปลี่ยนตัวผู้เป็นเจ้าของได้ง่าย ขึ้นอยู่กับว่า เจ้าของทุนผู้นั้นจะสามารถเพิ่มพูนทุนที่มีอยู่ให้มากขึ้นได้ยาวนานที่สุด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสามารถใช้ทุนนั้นไปสร้างส่วนเกินให้ได้มากที่สุดอย่างไร ความจำเป็นนี้เองที่ส่งเสริมให้มีการพัฒนาพลังการผลิต ให้สามารถลดต้นทุนและสร้างกำไรให้ได้มากที่สุด เรียกอีกอย่างว่า “ประสิทธิภาพ” สามารถแข่งขันกับ เจ้าของทุนเจ้าอื่น  ดังนั้นการดำรงอยู่และเติบโตของนายทุน จึงไม่ได้อยู่ที่ “ทุน” แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมี “เทคโนโลยี”

เนื่องจากการแข่งขัน ทำให้ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี ขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีใครสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใด แล้วจะดำรงความเหนือกว่าได้ตลอดไป นายทุนอื่นก็จะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่เหนือกว่าอยู่เสมอ และนี่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนของระบอบทุนนิยม เพราะเทคโนโลยีนี่เอง เมื่อนำมารวมกับเรื่อง ระบบมูลค่าแลกเปลี่ยน ก็จะสร้างปัญหาการผลิตล้นเกิน และสร้าง “วิกฤติ” ทั้งเล็กและใหญ่ และวิกฤตินี้เองก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในฐานะของผู้เป็นเจ้าของทุน อันได้แก่ปริมาณของ “ทุน” (ความมั่งคั่ง) รวมไปถึง อำนาจทางการเมืองของเขา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างสังคมส่วนบน นี่คือเหตุผลว่า ในระบอบทุนนิยม ทำไมประเทศต้องมั่งคั่งและมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ที่กล่าวมานี้คือการนำทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุนบางส่วนมาใช้ในสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันที่สุด ช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ และนำมาประยุกต์ใช้ในการวางนโยบายของประเทศได้ และยังช่วยตอบข้อกังขาต่าง ๆ อย่างเช่น แนวทางเศรษฐกิจการเมืองของจีน หรือ เวียดนาม ได้ หรือแม้แต่ปัญหาวิกฤติพลังงานที่เป็นอยู่ เป็นต้น

ต้องเข้าใจด้วยว่า ลัทธิมาร์กซ์ไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม โดยเฉพาะในด้านการปลดปล่อยพลังการผลิต การมองว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นปฏิปักษ์กับทุนนิยมเป็นการคิดแบบอภิปรัชญา ไม่ใช่ การคิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่ลัทธิมาร์กซ์คัดค้านการกดขี่ขูดรีดทุกรูปแบบอย่างเด็ดเดี่ยวทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุน แห่งลัทธิมาร์กซ์ชี้ให้เห็น ข้ออ่อนและด้านร้ายของทุนนิยมอย่างหมดเปลือกเท่านั้น เพราะมาร์กซ์เชื่อว่าวงจรของการเติบโต, ทรุด, และเติบโตใหม่ของโลกทุนนิยม จะก่อให้เกิดภาวะวิกฤตที่เลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นเขาเชื่อว่าผลกระทบในระยะยาวของกระบวนการนี้จะทำให้นายทุนมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะนายทุนเอาแต่ขูดรีดชนชั้นแรงงานทุกรูปแบบ ในขณะที่กรรมาชีพกลับยากจนลงทุกที เขาเชื่อว่าถ้ากรรมาชีพลุกขึ้นสู้และเข้ายึดครองเครื่องมือในการผลิตแล้ว พวกเขาจะสร้างความสัมพันธ์ในสังคมขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกๆ คนอย่างเท่าเทียม และก่อให้เกิดระบบการผลิตแบบใหม่ซึ่งทนทานต่อวิกฤตการณ์มากกว่าแต่ก่อน กล่าวโดยทั่วไปแล้ว มาร์กซ์เชื่อว่าการเจรจาอย่างสันติจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ และการปฏิวัติอย่างรุนแรงของมวลชนขนาดใหญ่ที่มีการจัดการที่ดีเป็นสิ่งที่จำเป็น เขากล่าวว่าเพื่อจะรักษาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไว้ รัฐเผด็จการโดยกรรมาชีพจะต้องถูกสร้างขึ้น แต่หลังจากที่ระบบการผลิตแบบใหม่ได้เริ่มขึ้นรัฐดังกล่าวจะค่อยๆ ลดความสำคัญลงและหายไปเอง

หนังสืออ้างอิง

ยศ สันตสมบัติ.(2538). จากวานรถึงเทวดา : มากซิสม์และมานุษยวิทยามากซิสม์. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ปัญญา แพร่พันธุ์. ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุน. โพสต์โดยเมธา http://www.oknation.net/blog/print.php?id=417273 เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.คาร์ล มาร์กซ์. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A5_%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B9%8C เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

หมายเลขบันทึก: 536380เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2013 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2014 09:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท