ความรักในพระพุทธศาสนา ตอนที่ 3 ข้อควรระวังสำหรับบัณเฑาะก์และอุภโตพยัญชนะ


ความรักระหว่างเพศเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง หากมุ่งหวังในเชิงเพศสัมพันธ์อย่างเดียวเท่านั้น จัดเข้าในความรักประเภทแรก เพราะแฝงด้วยกามตัณหา ราคะ สิเน่หา มีความต้องการทางเนื้อหนังร่างกายเป็นที่ตั้ง มุ่งความสุขทางด้านร่างกายมาตอบสนองตนเอง เพศสัมพันธ์แม้จะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เป็นธรรมชาติฝ่ายต่ำที่ขัดขวางต่อการเข้าถึงธรรมหรือการดับทุกข์ ถ้าหากยังละไม่ได้และต้องเกี่ยวข้องอยู่ พระพุทธศาสนาก็มีหลักคำสอนเรื่องศีล 5 เป็นหลักควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมให้แสดงเรื่องของกามหรือความรักระหว่างเพศเป็นไปในทางที่เหมาะสมถูกต้อง นั่นคือให้มี “กามสังวร” คือการสำรวมในกาม ให้มันเป็นไปถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่ผิดในคู่รักของคนอื่น เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้ง การหึงหวง การทะเลาะเบาะแว้ง การประหัตประหารกัน เป็นต้น ที่สืบเนื่องมาจากความรัก
 ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว พระพุทธศาสนามีลักษณะคำสอนเป็นกลางๆ ให้ใช้สติและปัญญา ให้สิทธิและเสรีภาพทางปัญญาอย่างเต็มที่ในการพิจารณาประเด็นต่างๆ มองสิ่งต่างๆ อย่างมีสติปัญญากำกับ ไม่ใช้อารมณ์ส่วนตัวเข้าไปตัดสิน แต่ใช้ปัญญาใคร่ครวญให้รอบคอบ หากเราตัดความเป็นหญิงความเป็นชาย ความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมออกไปก่อน มองทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเป็นพื้นฐานเบื้องต้นก่อนแล้ว เราก็จะเกิดความเมตตาปรารถนาต่อคนทุกคน ไม่ว่าหญิงหรือชายล้วนมีการเกิดแก่เจ็บตายเช่นเดียวกัน ก็จะเกิดกุศลจิต ปรารถนาดีต่อเขา เข้าใจเขาเหล่านั้น และจะมีท่าทีปฏิบัติอย่างเป็นมิตรและสอนเขาอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้ในสังคมเดียวกันอย่างสันติสุข ถ้าเขาเหล่านั้นตัดสินใจแน่นอนแล้วที่จะเป็นอย่างนั้น เราก็ควรจะให้ข้อเสนอแนะตามหลักพระพุทธศาสนาแก่เขา ทั้งนี้ เพื่อให้เขาเหล่านั้นได้นำไปพิจารณาและเป็นข้อควรคำนึง เช่น

1.จะยอมรับได้หรือไม่กับคำนินทาหลากหลายของผู้คนรอบตัวในสังคมที่มีวัฒนธรรมหลักแบบเดิม ซึ่งจะมองพวกเขาว่า การรักเพศเดียวกัน เป็นการผิดธรรมเนียมประเพณีของไทย เป็นการไม่เหมาะสมในสังคมไทย

2.สถาบันครอบครัวประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก เป็นหลัก หากเขาเหล่านั้นต้องการจะมีลูกไม่ว่าโดยวิธีใดก็ตามด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ลูกที่เกิดมาจะมีฐานะอย่างไร ? และจะอยู่ร่วมในสังคมอย่างไร

3.พึงระวังเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ อันเกิดจากเพศสัมพันธ์ที่ผิดปกติของธรรมชาติที่ควรจะเป็น อย่าลุ่มหลงในเรื่องเพศสัมพันธ์จนเกินไป ให้มองตามหลักพระพุทธศาสนาคือให้มองเพศสัมพันธ์นั่นเป็นเพียงปัจจัยเท่านั้น มิใช่เป็นเป้าหมายหลักของชีวิต ชีวิตควรมุ่งไปสู่ความรักประเภทที่หนึ่งให้มากที่สุด ซึ่งนำพาไปสู่การดับทุกข์ได้

4.ควรยึดมั่นในหลักสันโดษ นั่นคือยึดมั่นยินดีในคู่ครองของตนเท่านั้น อย่าผิดหรือล่วงละเมิดคู่ครองของคนอื่น เพราะนั่นจะเป็นเหตุนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย

5.ให้ทำใจไว้บ้างกับความรัก เพราะความรักเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน มีความเป็นอนิจจังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง หลักอนิจจังสอนให้ไม่ประมาท ไม่หลงมัวเมา เพลิดเพลินจนลืมตัว เรื่องความรักก็เหมือนกัน ที่บอกว่าเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลายลักษณะ เช่น เปลี่ยนจากรักธรรมดา เป็นรักมากก็มี เปลี่ยนจากรัก เป็นไม่รักก็มี เปลี่ยนจากรัก เป็นไม่รัก แล้วกลับมาเป็นรักก็มี การคิดถึง “อนิจจัง” ทำให้เราไม่ต้องเจ็บช้ำ เพราะสิ่งที่เรียกว่าความรักมากเกินไป ผิดหวังหรือสมหวังก็เรื่อยๆ สำหรับเรื่องความรัก

  พระพุทธศาสนามีทัศนะเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นกลางๆ มองว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมในแง่จิตภาพคือการบรรลุถึงธรรม มนุษย์มีเสรีภาพอย่างเต็มที่แม้ในเรื่องความรักเพศเดียวก็เช่นเดียวกันแต่ก็ต้องมีสติและปัญญากำกับเสมอ ในสภาพวัฒนธรรมของสังคมไทยความรักเพศเดียวกันดูเหมือนเป็นสิ่งไม่เหมาะสม แต่พระพุทธศาสนาก็ให้มองอย่างมีเหตุผลว่ามีพฤติกรรมเข้าในความรักประเภทไหนในสองลักษณะของความรัก คือ เป็นความรักแบบเมตตาหรือไม่ หรือเป็นความรักแบบสิเน่หา หากมีความปรารถนาดีต่อกันและกัน เป็นเพื่อนช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นที่ตั้ง ก็จัดเข้าได้ในความรักแบบเมตตา แต่ถ้ามุ่งต้องการเรื่องเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว แสวงหาความสุขความพอใจทางเนื้อหนังร่างกาย ยึดความสุขของตนเองเป็นที่ตั้งแล้ว จัดเข้าในความรักแบบเสน่หา ซึ่งความรักประเภทนี้จะนำมาซึ่งความทุกข์ในที่สุดแน่นอน พระพุทธศาสนาจึงสอนให้มนุษย์พึงระวังกับความรักเช่นนี้ มีหลักคำสอนเรื่องเช่นหลักกามสังวร ให้ควบคุมพฤติกรรมความรักเป็นไปในทางที่ถูกต้อง เมื่อเขาเหล่านั้นเลือกยินดีที่จะมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันแล้ว ก็เป็นสิทธิของเขา แต่ก็ควรคำนึงถึงผลเสียต่างๆ ที่จะตามมาภายหลังด้วยเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในคู่ครอง พระพุทธศาสนาให้ยึดหลักสันโดษยินดีในคู่ครองของตนเองเท่านั้น และสอนเรื่องหลักอนิจจัง คือสิ่งต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงเสมอตามเหตุปัจจัย เพื่อป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดในเรื่องความรัก และควรพัฒนาตนเองไปสู่ความรักแบบเมตตาให้ได้ ซึ่งเป็นความรักที่แท้จริง

หนังสืออ้างอิง

มณฑิรา พรศาลนุวัฒน์. จิตวิทยาของความรัก. http://www.thaiclinic.com/medbible/love.html  เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สยาม ราชวัตร.ความรักเพศเดียวกันในทัศนะพระพุทธศาสนา. http://www.baanjomyut.com/library_2/sex_love_in_buddhism/  เข้าถึงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 536268เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2013 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท