แง่ที่ควรพิจารณาเกี่ยวกับคำว่า "สาวกภาษิต"


พระสูตรที่ชาวพุทธไทยในปัจจุบันเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น คือพระสูตรที่มีคำว่า “สาวกภาษิต” อยู่ภายในตัวพระสูตร (A)

เนื้อความส่วนหนึ่งของพระสูตรนี้คือ พระองค์ได้ตรัสถึงบริษัท ๒ บริษัท บริษัทหนึ่งเจริญรุ่งเรืองกว่าอีกบริษัทเพราะเมื่อมีผู้กล่าวพระสูตรที่พระองค์ได้ตรัสไว้แล้วอันเป็นพระสูตรที่มีเนื้อหาเป็นโลกุตตระ เป็นเรื่องของสุญญตา ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนครั้นเล่าเรียนแล้วสงสัย ก็สอบสวน ไต่ถาม ช่วยกันทำความกระจ่างให้แก่กัน ต่างจากอีกบริษัทที่เมื่อมีผู้นำเรื่องนอกศาสนามาแต่งเป็นสูตรใหม่ ก็พากันใส่ใจเล่าเรียน โดยไม่สอบสวน ไม่ไต่ถามกันเองว่าพระสูตรนี้มีใจความอย่างไร เป็นภาษิตของพระองค์จริงหรือไม่ หรือว่าเป็นสาวกภาษิตที่เกิดจากการนำเรื่องราวนอกพุทธศาสนามากล่าวสอน

คำว่า สาวกภาษิต นั้น คือส่วนที่อยู่ในพระสูตรนี้นั่นเอง ซึ่งพระบาลีที่เราควรสนใจคือ

“ เย ปน เต สุตฺตนฺตา กวิกตา กาเวยฺยา จิตฺตพยญฺชนา พาหิรกา สาวกภาสิตา.....”

องฺ.ทุก.๒๐/๒๙๒/๙๒

แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่ท่านผู้เชี่ยวชาญได้รจนา เป็นบทกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร อยู่ภายนอก ป็นสาวกภาษิต....

องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๔๘/๙๑

จะเห็นว่าแต่ละข้อความที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ที่, เป็น และ มี นั้น ล้วนเป็นการขยายความ “สูตร” ที่พระองค์ตรัสถึง
ว่าสูตรเหล่านั้นหากภิกษุใส่ใจเล่าเรียนแล้วจะเจริญน้อยกว่าภิกษุที่ใส่ใจเล่าเรียนสูตรอันมาจากคำตรัสของพระองค์

ดังนั้น หากจะนำส่วนที่มีคำว่า “สาวกภาษิต” มาใช้ในการอ้างอิง ก็ต้องนำทั้งส่วนที่กล่าวว่าเป็นสูตรที่เกิดจากการนำเรื่องภายนอกพุทธศาสนามาแต่งใหม่จนมีถ้อยคำสละสลวยนั้นประกอบเข้ามาด้วย

เพราะสาวกภาษิต (คำกล่าว, คำอันเขาพึงกล่าว) ในที่นี้ คือ ภาษิตที่สาวก (อรรถกถาอธิบายว่าหมายถึงสาวกของเจ้าลัทธิอื่น)นำเรื่องนอกพุทธศาสนามากล่าวไม่ใช่ภาษิตอันเกิดจากสาวกของพระพุทธองค์นำธรรมในพุทธศาสนาอันเป็นตถาคตภาษิตมากล่าวตามที่เชื่อกันในปัจจุบันแต่อย่างใด

เมื่อครั้งพระสารีบุตรจัดหลักธรรมเข้าเป็นหมวดๆโดยนำธรรมที่มีองค์ธรรมเท่ากันมารวมไว้เป็นหมวดเดียวกันได้เป็นหมวดธรรมที่มีองค์ธรรมตั้งแต่ ๑ ประการ จนถึง ๑๐ โดยกำหนดบทมาติกาขึ้น ๑๐ บทสำหรับจำแนกหมวดธรรมทั้ง ๑๐ แล้วแสดงธรรมตามมาติกาทั้ง ๑๐ นั้น (เช่น ธรรม๒ ประการที่มีอุปการะมาก ประกอบด้วย ๒ องค์ธรรมคือ สติ และ สัมปชัญญะ, ธรรม๒ ประการที่ควรเจริญ คือ สมถะ และ วิปัสสนา, ธรรม ๒ ประการที่ควรกำหนดรู้ คือ นาม รูป เป็นต้น) ท่านได้แสดงการจัดหมวดธรรมที่แปลกใหม่ ไม่มีในที่อื่นนี้เป็น “ทสุตตรสูตร” ดังนั้น แม้ทสุตตรสูตรจะเป็น สาวกภาษิต แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด

เพราะแม้จะเป็นสาวกภาษิตแต่ก็เป็นการนำตถาคตภาษิตหรือภาษิตที่พระองค์ได้แสดงแล้วมาเรียบเรียงใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา ไม่ใช่การนำเรื่องนอกพุทธศาสนามากล่าวสอน (ในส่วนท้ายของพระสูตร พระสารีบุตรกล่าวว่า ธรรมนี้เป็นของจริง เป็นของแท้ แน่นอน ไม่ผิดพลาด ไม่เป็นอย่างอื่น ที่ตถาคตตรัสรู้แล้วโดยชอบ)

พระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามการที่สาวกของพระองค์จะมี “ภาษิต” เพื่ออธิบายขยายเนื้อความตถาคตภาษิตให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการเขียนด้วยอักษร หรือ การกล่าวสอน อีกทั้งยังตรัสว่าการ “ทำให้ง่ายขึ้น” นั้น เป็นการทำเพื่อประโยชน์สุขของมนุษย์และเทวดาเพื่อการดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญของของสัทธรรม อีกทั้งยังตรัสว่า ผู้ที่คัดค้านการทำให้ง่าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวงกว้าง เป็นผู้ได้ชื่อว่าทำให้สัทธรรมเสื่อมสูญและย่อมประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมากตามที่ปรากฏใน สมจิตตวรรค(B) และ ในอธิกรณวรรค (C) ของทุกนิบาต


ดังนั้น หากจะมองว่า สาวกภาษิต คือ ภาษิตของสาวกในพุทธศาสนา เราก็ควรแยกสาวกภาษิตนี้ออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่อธิบายธรรมในพุทธศาสนาเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น กับ ส่วนที่นำเรื่องนอกพุทธศาสนามาปะปน แล้วจึงเลือกที่จะศึกษาเฉพาะในส่วนแรก การอธิบายให้ง่ายขึ้นนี้จำเป็นสำหรับการศึกษาเล่าเรียนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเด็กๆ เพราะหากเรานำแต่พุทธพจน์มาสอน โดยไม่มีการอธิบายอย่างใด เด็กๆคงยากจะเข้าใจ หากเราเชื่อว่าการศึกษาพุทธศาสนาต้องศึกษาจากพุทธพจน์เท่านั้น หนังสือเรียนวิชาพุทธศาสนาอันเป็นผลงานของสาวก อันจัดเป็น “สาวกภาษิต” ก็คงจะใช้สอนเด็กไม่ได้ ด้วยขัดกับความเชื่อดังกล่าว

การสอนจริยธรรมสำหรับเด็กควรจัดให้สอดคล้องกับพัฒนาการของมนุษย์ เนื่องจากในช่วงอายุ 2 – 8 ปี เด็กจะสร้างกฎเกณฑ์จากการบอกเล่าของผู้อื่นและเมื่อเขาอายุ  8 – 10 ปี เขาจะประมวลเป็นกฎเกณฑ์ตามที่ได้รับการบอกเล่ามาสร้างเป็นจริยธรรมสำหรับตัวเขาเอง ดังนั้น การอธิบายให้ง่าย ให้เหมาะสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กเข้าใจหลักธรรมนำไปใช้ในชีวิต ตลอดจนไปสร้างเป็นจริยธรรมหรือคุณธรรมสำหรับตน จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

เวลาที่เราไปวัดเมื่อเราฟังพระเทศน์ พระสงฆ์อันจัดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าทุกรูปล้วนแล้วแต่เทศน์หรือกล่าวสอนด้วยภาษาที่เราใช้ในปัจจุบันหากมีการนำพุทธพจน์ขึ้นมาเทศน์  ก็จะมีการอธิบายขยายความ(ตามที่ได้เล่าเรียนในหลักสูตรนักธรรมตั้งแต่นักธรรมตรีถึงเอก) หากเราไม่แยกสาวกภาษิตออกเป็นสอง คำกล่าวสอนของพระคุณเจ้านั้นเราควรจะเชื่อฟังท่านหรือไม่ เป็นไปได้หรือที่พระคุณเจ้าจะเพียงนำพระสูตรมาอ่านให้เราฟังเพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า สาวกภาษิต

แม้การศึกษาพุทธศาสนาจากพุทธพจน์เป็นเรื่องที่ดี ที่ถูกต้อง เพราะทำให้รู้ที่มาที่ไป อ้างอิงได้อย่างชัดเจน แต่ก็ควรรับฟังการอธิบายพุทธพจน์ที่ยากจะเข้าใจที่อรรถกถาจารย์ได้รวบรวมไว้ รวมไปถึงการอธิบายด้วยภาษาที่ใช้ในปัจจุบันด้วย เพียงแต่เมื่อรับรู้แล้ว อย่าเพิ่งรีบปลงใจเชื่อ หากปฏิบัติตามคำตรัสในกาลามสูตร คือ สอบสวนจนเห็นว่าไม่มีส่วนใดแย้งกับคำตรัสในที่อื่นๆแล้วจึงเชื่อ เมื่อเชื่อแล้ว จึงนำธรรมนั้นมาพิจารณาต่อเพื่อให้รู้แจ้ง จึงจะเป็นศรัทธา หรือ ความเชื่อที่มีผู้อื่นเป็นปัจจัยอันประกอบไปด้วยปัญญา อันเป็นศรัทธาที่ถูกต้องในพุทธศาสนา

เพราะหน้าที่ของศรัทธาก็เพื่อน้อมเราเข้าหาพระรัตนตรัย ดังนั้น เมื่อรู้ เข้าใจ ความหมายของธรรม จึงจะมีการน้อมนำธรรมมาปฏิบัติในชีวิตเมื่อชีวิตเป็นอยู่ด้วยธรรม จึงจะเกิดผลการปฏิบัติเป็นขั้นๆ

อันทำให้ได้ชื่อว่าเป็น“ชาวพุทธ” ซึ่งหมายถึงผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน อย่างแท้จริง 

อย่างไรก็ดี อาจมีผู้สงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นจะไม่เป็นการฟังอย่างจับผิด หรือ ฟังอย่างมีอคติหรือ

ขอเรียนว่าไม่ใช่อย่างนั้นเลย หากเป็นการฟังเพื่อให้ได้รับข้อมูลอย่างตั้งใจ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อได้ตั้งใจฟัง ก็ทรงจำธรรมไว้ นำไปไตร่ตรอง ใคร่ครวญถึงเนื้อความของธรรมนั้น ครั้นไม่ว่าจะไตร่ตรองอย่างไร ก็ไม่ผิดไปจากธรรมนั้น จึงเกิดฉันทะ มีอุสสาหะที่จะค้นหาความจริง ต่อเมื่อพบความจริง แจ้งธรรมด้วยจิตแล้ว จึงนำธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต (D)

เพราะในขณะฟัง เราไม่ได้ฟังอย่างตั้งใจจับผิด ไม่ได้ฟังอย่างลำเอียงหรือ อคติ (E) แต่เป็นการฟังเพื่อทรงจำธรรมไว้ เพื่อที่จะนำไปใคร่ควรญต่อไปนั่นเอง

ที่น่าสนใจคือคำว่า “อุสสาหะ”

คำที่เกี่ยวกับความเพียรในพุทธศาสนามีหลายคำ เช่น วิริยะ (เพียร), วายามะ (พยายาม), ปัคคาหะ (ประคับประคองเพื่อให้สำเร็จ), อฐิติ (ไม่หยุด) เป็นต้น ทำไม ? ความเพียร ในที่นี้จึงเป็นอุสสาหะ

อุสฺสาหะ เป็นคำนาม แปลว่า ความอาจหาญ ความงอกขึ้น ความกล้าขึ้น ความอดกลั้น ความอดทน ส่วนคำกิริยา อุสฺสหติ  หมายถึงอุตสาหะ,เพียร,อาจ

เพราะความเพียรในที่นี้ เพียงประกอบด้วยศรัทธา แต่ยังไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่ประกอบด้วยความไม่ประมาท ด้วยแน่วแน่ในพระพุทธศาสนาแล้ว (F) นั่นเอง

ดังนั้น

การฟังเพื่อรับข้อมูล จึงเป็นจุดเริ่มของกระบวนการที่ทำให้เกิดปัญญา

ไม่ใช่การฟังอย่างตั้งใจจับผิด หรือ อย่างมีอคติ อันทำให้ไม่เข้าใจในสิ่งที่ฟัง

อีกทั้งไม่ใช่การฟังอย่างปลงใจให้ไปเลย อันเป็นการฟังด้วยศรัทธาที่แน่วดิ่งจนอาจกลายเป็นความงมงาย

จนทำให้ไม่สำเร็จประโยชน์ ไปได้

......................................

อ้างอิง

A

“บริษัทเลิศเพราะสนใจโลกุตตระสุญญตา (ทางแห่งนิโรธ)

ภิกษุ ท. ! บริษัทสองจำพวกเหล่านี้ มีอยู่, สองจำพวกเหล่าไหนเล่า? สองจำพวก คือ อุกกาจิตวินีตาปริสา
(บริษัทอาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) โนปฏิปุจฉาวินีตา (ไม่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเอาเองเป็นเครื่องนำไป) นี้อย่างหนึ่ง, และ ปฏิปุจฉาวินีตาปริสา (บริษัทอาศัยการสอบสวนทบทวนกันเองเป็นเครื่องนำไป) โนอุกกาจิตวินีตา (ไม่อาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) นี้อีกอย่างหนึ่ง

ภิกษุ ท.! บริษัทชื่อ อุกกาจิตวินีตาปริสาโนปฏิปุจฉาวินีตา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้คือ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด, เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ตถาคตภาสิตา – อันเป็นตถาคตภาษิต คมฺภีรา – อันลึกซึ้ง คมฺภีรตฺถา – มีอรรถอันลึกซึ้ง โลกุตฺตรา – เป็นโลกุตตระ สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา – ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อที่จะรู้ทั่วถึงและไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ส่วนสุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอนมีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี เงี่ยหูฟัง ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และสำคัญไปว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. พวกเธอเล่าเรียนธรรมอันกวีแต่งใหม่นั้นแล้ว
ก็ไม่สอบถามซึ่งกันและกัน ไม่ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่าข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้, เธอเหล่านั้นเปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยไม่ได้ ไม่หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้ ไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่างๆได้. ภิกษุ ท.! นี้ เราเรียกว่า อุกกาจิตวินีตาปริสาโนปฏิปุจฉาวินีตา

ภิกษุ ท. ! บริษัทชื่อ ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้คือ ภิกษุทั้งหลายในบริษัทใด, เมื่อสุตตันตะทั้งหลาย ที่กวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก อันบุคคลนำมากล่าวอยู่, ก็ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อที่จะรู้ทั่วถึง และไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.ส่วนสุตตันตะเหล่าใด อันเป็นตถาคตภาษิต อันลึกซึ้ง มีอรรถลึกซึ้ง เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านี้มากล่าวอยู่ พวกเธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมเข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. พวกเธอเล่าเรียนธรรมที่เป็นตถาคตภาษิตนั้นแล้ว ก็สอบถามซึ่งกันและกัน ทำให้เปิดเผยแจ่มแจ้งออกมาว่า ข้อนี้พยัญชนะเป็นอย่างไร อรรถะเป็นอย่างไร ดังนี้, เธอเหล่านั้น เปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผยได้ หงายของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้นได้บรรเทาความสงสัยในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย มีอย่างต่างๆได้.ภิกษุ ท.! นี้ เราเรียกว่า ปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล บริษัท ๒ พวกนั้น ภิกษุ ท. ! บริษัทที่เลิศในบรรดาบริษัททั้งสองพวกนั้น คือ บริษัทปฏิปุจฉาวินีตาปริสาโนอุกกาจิตวินีตา (บริษัทที่อาศัยการสอบสวนทบทวนกันเองเป็นเครื่องนำไป : ไม่อาศัยความเชื่อจากบุคคลภายนอกเป็นเครื่องนำไป) แล

ทุก.อํ.๒๐/๙๑/๒๙๒”

พุทธทาสภิกขุ อริยสัจจากพระโอษฐ์ภาคต้น หน้า ๕๐๕ – ๕๐๗

(สำหรับบท “อุกกาจิตวินีตา ปริสา โน ปฏิปุจฉาวินีตา” นี้ ในพระไตรปิฏกแปล ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย แปลว่า “บริษัทที่ดื้อด้าน ไม่ไต่ถาม และไม่ได้รับการแนะนำ”องฺ.ทุก.
(แปล) ๒๐/๔๘/๙๑)

 

B

“[๔๒] ภิกษุพวกที่คัดค้านอรรถและธรรมโดยสูตรที่ตนเรียนไว้ไม่ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูป(๑) นั้นชื่อว่าปฏิบัติไม่เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่สุขแก่คนหมู่มาก เพื่อไม่ใช่ประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุย่อมประสพสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็นอันมาก และชื่อว่าทำให้สัทธรรมนี้สูญหายไป

ภิกษุพวกที่อนุโลมอรรถและธรรมโดยสูตรที่ตนเรียนไว้ดีด้วยพยัญชนะปฏิรูปนั้น ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นย่อมประสพบุญเป็นอันมาก และชื่อว่าดำรงสัทธรรมนี้ไว้ได้”

(๑)พยัญชนะปฏิรูป
หมายถึงพยัญชนะที่ได้สืบทอดมาโดยทำอักษรให้วิจิตร (อง.ทุก.อ.๒/๔๒/๕๑)

อง.ทุก.(แปล) ๒๐/๔๒/๘๗

 

C

[๒๐] ธรรม ๒ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ

๑.บทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี

๒.อรรถที่สืบทอดขยายความดี

แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่ตั้งไว้ดีก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความดี

ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่นไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม

องฺ.ทุก. (แปล) ๒๐/๒๑/๗๓

 

(D)

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็การประสบความพอใจในอรหัตผลย่อมมีได้เพราะการศึกษาโดยลำดับ เพราะการกระทำโดยลำดับ เพราะการปฏิบัติโดยลำดับ เป็นอย่างไรเล่า ?

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษบุคคลในกรณีนี้ :

เป็นผู้มีสัทธาเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเข้าไปหา ;

เมื่อเข้าไปหา ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ ;

เมื่อเข้าไปนั่งใกล้ ย่อมเงี่ยโสตลงสดับ ;

ผู้เงี่ยโสตลงสดับ ย่อมได้ฟังธรรม

ครั้นฟังธรรมแล้ว ย่อมทรงจำธรรมไว้, ย่อมใคร่ครวญพิจารณา

ซึ่งเนื้อความทั้งหลายที่ตนทรงจำไว้ ;

เมื่อเขาใคร่ครวญพิจารณา ซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นอยู่, ธรรมทั้งหลาย

ย่อมทนต่อการเพ่งพิสูจน์ ;

เมื่อธรรมทนต่อการเพ่งพิสูจน์มีอยู่ ฉันทะ (ความพอใจ) ย่อมเกิด ;

ผู้เกิดฉันทะแล้ว ย่อมมีอุตสาหะ ;

ครั้นมีอุตสาหะแล้ว ย่อมใช้ดุลพินิจ (เพื่อค้นหาความจริง) ;

ครั้นใช้ดุลยพินิจ (พบ) แล้ว ย่อมตั้งตนไว้ในธรรมนั้น ;

ผู้มีตนส่งไปแล้วในธรรมนั้นอยู่ ย่อมกระทำให้แจ้ง ซึ่งบรมสัจจ์ ด้วยกายด้วย,

ย่อมเห็นแจ้งแทงตลอดบรมสัจจ์นั้น ด้วยปัญญาด้วย”

กีฎาคิลิสูตร ภิกขุวรรค ม.ม. ๑๓/๒๓๓/๒๓๘ ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่กีฎาคิรินิคมของชนชาวกาสี

พุทธทาสภิกขุ ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๖๕๑ -๖๕๒

 

(E)

อคติ ฐานะอันไม่พึงถึง, ทางความประพฤติที่ผิด,
ความลำเอียง มี ๔ คือ
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า ๓๐๓

 

(F)

“ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ต้องมีวิริยะ ต้องใช้วิริยะ จึงจะตลอดรอดฝั่งไปได้ กระทั่งพุทธภาษิตนี้ก็มีว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ – คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร นี้ ขอให้ดูว่า ระบุความเพียรหรือวิริยะว่า “ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร” นี้เป็นหลักทั่วไป

ทีนี้เมื่อเราแต่งกระทู้ เมื่อแรกเรียนธรรมะ แต่งกระทู้เรื่องล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ถ้ามานึกดูเดี๋ยวนี้ก็น่าหัวเราะ น่าสงสารตัวเอง ที่พูดดิ่งไปแต่เรื่องความเพียรทางร่างกาย ทางอะไร ไม่ได้รู้เลยว่า คำว่า “ความเพียร” หมายถึง ปัญญา หมายถึง ความเชื่อ หมายถึง ความไม่ประมาท รวมอยู่ในนั้นเสร็จ”

พุทธทาสภิกขุ โพธิปักขิยธรรม ธรรมสุงสุดแห่งการรู้แจ้ง ๓๗ ประการ หน้า ๔๐

หมายเลขบันทึก: 535679เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2013 08:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2013 12:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท