คุณภาพของการเขียน


ผมกำลังอ่านหนังสือเล่มหนึ่งอยู่ ชื่อ "On Writing Well” โดย William Zinsser วันนี้ไม่ได้จะมาเขียนปริทัศน์หนังสือเล่มนั้น คงไม่จำเป็น เพราะหนังสือเล่มนั้น (ตอนนี้เป็น ฉบับแก้ไขปรับปรุงครั้งที่ ๓ ปี ค.ศ. ๒๐๐๖) ถือเป็นหนังสือดีเล่มหนึ่งของสหรัฐฯ เขาแนะนำวิธีเขียนเรื่องที่ไม่ใช่นิยาย (non-fiction) ในภาษาอังกฤษ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกออกมาเมื่อ ๓๖ ปีก่อน ถึงตอนนี้ก็มียอดขายเป็นล้านเล่ม แต่พูดสั้นๆ ได้ว่า ใครอยากเขียนบทความภาษาอังกฤษ หรือเขียนหนังสือดีๆ เป็นภาษาอังกฤษก็ควรอ่านเล่มนี้ ผมซื้อมาจาก Kinokuniya ที่ Paragon ในราคา ๕๐๑ บาท พอรับไหว อ่านดูแล้วก็เห็นว่าดีจริง และแนะนำ ถ้าใครอยากจะไปซื้อหามาอ่าน


ผมอ่านเล่มนี้แล้วเพียงบางส่วนเพิ่ง "ถึงบางอ้อ" ว่าในบทความภาษาอังกฤษที่เราเคยอ่านเจอ ไม่ว่าจะเป็น ข่าวต่างประเทศ บทความสารคดี บทความวิจัยก็ตาม ในฐานะที่คนไทยเราใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง เราไม่เคยหรือมักไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่า การใช้การใช้คำไหนของผู้เขียนฝรั่งดีหรือไม่ดี สำนวนไหนดีหรือไม่ดี  พออ่านเล่มนี้ก็รู้สึกสะดุดใจว่า เท่าที่ผ่านมา จากการเสพสื่อบนเว็บของเรา(ของผมด้วยนั่นแหละ) แม้เนื้อหาจะเป็นภาษาอังกฤษ เราก็เจอกับสำนวนคุณภาพต่ำอยู่บ่อยๆ เช่นในแง่ ศัพท์ที่ใช้นั้นไม่ตรงบริบท ศัพท์ที่ใช้เป็นแบบศัพท์เฉพาะกลุ่ม ศัพท์เฉพาะสาขาวิชา (jargon) เป็นคำสะแลง หรือ เป็นคำหรือสำนวนอะไรที่ "ฮิต" กันชั่วคราว ที่ไม่สมควรจะใช้เยอะมาก แล้วคนไทยเราก็เรียนรู้จากสื่อออนไลน์เหล่านั้น หรือจากแม็กกาซีนกระดาษก็ตามซึ่งบรรณาธิการไม่ใส่ใจในคุณภาพงานเขียนของนักเขียนบทความเพียงพอ เนื้อความที่มีคุณภาพไวยากรณ์ต่ำเหล่านั้นมันก็กลายมาเป็นรูปแบบที่เราใช้ภาษาอังกฤษไปโดยปริยาย คุณภาพงานเขียนของเราก็ยังไม่เข้าขั้นไปด้วย เพราะเราได้รูปแบบไม่ดีมาเป็นแบบแผนให้เราเลียนแบบ


ภาษาอังกฤษมีข้อดีคือมีหนังสือให้อ่านและศึกษามาก มีหนังสืออ้างอิงเล่มหนึ่งที่ผมชอบ (แต่ยังไม่ค่อยได้ใช้) อยากพูดถึงก็คือ The Oxford Dictionary for Writers & Editors (ผมซื้อมาหลายปีแล้ว เป็นฉบับพิมพ์แก้ไขครั้งที่ ๒ ปี ค.ศ. ๒๐๐๐) ผมว่าเล่มนี้เหมาะมีไว้สำหรับคนที่อยากจะเขียนภาษาอังกฤษดีๆ แต่ไม่เห็นมีขายที่ไหนตอนนี้


แต่สิ่งที่สะท้อนมาในความคิดจากการอ่าน “On Writing Well” ของผมเป็นเรื่องคู่ขนานกันด้วย คือเรื่องการใช้ภาษาไทย เรื่องการใช้คำ เรื่องการใช้สำนวน ผมคิดว่าแนวคิดที่ Zinsser นำเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้ภาษาอังกฤษคุณภาพแย่ลง ของนักเขียน และนักการเมืองอเมริกัน ในหลายสิบปีที่ผ่านมา ก็ใช้ได้กับการเขียนภาษาไทยที่แย่ลงในทำนองเดียวกัน แต่ต่างกันหน่อยตรงที่คนไทย(รุ่นผม)สามารถใช้วิจารณญาณแยกแยะได้ว่าคำไหนดี คำไหนไม่ดี แต่ว่าอาจจะต้องอาศัยประสบการณ์คนอ่านมากหน่อยเท่านั้น (ผมอ่านรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ ร. ๑ จบทั้งชุดตั้งแต่ อยู่ประถม ๔ และไม่อยากจะบอกว่า อ่านสามก๊กของเจ้าพระยาพระคลังหนจบไปกี่รอบตั้งแต่เด็ก กลัวไม่มีคนคบ) แน่นอนว่า ผมเคยสังเกตเห็นการใช้คำผิดๆ ในงานเขียนของนักเขียนรุ่นหลังบางคน และผมเกรงว่า หากงานเขียนพวกนั้นเป็นงานที่อนุชนอ่านกันมาก ต่อไปก็จะเป็นแบบอย่างที่แย่ลงๆ ของภาษาต่อไป


ถึงตอนนี้ผมไม่ทราบว่า มีหนังสือภาษาไทยเล่มไหนบ้างไหม มีหรือไม่ ที่แนะในเรื่อง การใช้คำ สำนวนที่ถูกต้อง สำหรับการเขียนที่ดี ถ้ายังไม่มีผมอยากเรียกร้องมายังนักภาษาไทยให้ผลิตงานอะไรออกมาคล้ายๆ กับหนังสือทั้งสองเล่มที่ผมพูดถึงนี้บ้าง ก่อนที่ภาษาไทยจะแย่ลงไปมากกว่านี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้า ภาษาไทยจะยังมีใช้กันอยู่ในสังคมไทยในอนาคตหรือไม่ หรือไปใช้ภาษาอังกฤษกันหมด (ทั้งโลก) ภาษาไทยกลายไปเป็นภาษาสูญพันธุ์ หรือถ้ายังอยู่ คุณภาพของภาษาไทยจะเป็นไปแบบไหนก็ไม่ทราบ ถึงตอนนั้นสังขารผมเองคงไม่อยู่แล้วแต่ว่าก็อดห่วงแทนอนุชนรุ่นต่อๆ ไปไม่ได้

บอกก็ได้ว่าที่ผมสนใจเรื่องคุณภาพงานเขียน เพราะ ๒ เหตุผล แน่นอนว่า ข้อหนึ่งผมเขียนงานภาษาอังกฤษและภาษาไทยอยู่ ก็อยากทำให้ดีขึ้น และอีกข้อหนึ่งนั้นเป็นความสนใจส่วนตัวแต่เดิมในเรื่อง text processing & machine translation (ซึ่งเรื่องนี้ก็อิงกับคุณภาพของงานเขียน เพราะต้องสื่อความหมายให้ถูกต้อง) สำหรับผมแล้ว เห็นว่า กรณีประมวลผลเนื้อความภาษาไทย (Thai text processing) นั้น อยู่ในสภาพที่ขาดการพัฒนาเท่าที่ควร (ผมรู้อยู่ว่ามีการทำวิจัยกันเป็นกลุ่มเล็กๆ และผมอ่านงานวิจัยท่านเหล่านั้น) และผมเห็นว่าในอนาคต หากไม่มีการวิจัยให้เป็นลำ่เป็นสัน ผมเห็นว่าภาษาไทยก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไปจากการใช้งานของคนไทย แต่ว่าวันนี้ผมแค่มาระบายความรู้สึกค้างคาเรื่องคุณภาพงานเขียนกันก่อน เพราะถ้าคนไทย(รุ่นใหม่)เขียนกันโดยใช้คำไม่ถูกบริบท ความหมายคลาดเคลื่อนไปจากเดิม รูปแบบการเขียนทำให้เข้าใจยาก ใช้คำไม่กระชับ สำนวนเยิ่นเย้อ (เช่น "ทำการ"จับกุม) ใช้สำนวนอังกฤษในภาษาไทย (เช่น "ได้รับ"บาดเจ็บ) ฯลฯ การจะไปทำเหมืองข้อมูลเนื้อความภาษาไทย (text mining) และการจัดการองค์ความรู้ (Knowledge Management) แบบอัตโนมัติอะไรนั้นมันก็ยิ่งแทบหมดหวัง

หมายเลขบันทึก: 535667เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2013 01:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2013 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ความจริงแหล่งของภาษาไทยวิบัติใหญ่อยู่ที่โทรทัศน์ จากข่าวและโฆษณาที่อ่านจากผู้ประกาศทางโทรทัศน์ (และวิทยุ) เป็นส่วนใหญ่ ผมเพิ่งนึกได้หลังจากบ่นเรื่องนี้จบไปแล้ว แต่ไม่ทราบจะไปแทรกตรงไหน ก็เลยเขียนเป็นความเห็นเพิ่มเติมไว้ตรงนี้เลย

เรื่องสำนวนเยิ่นเย้อนี่พูดจากันมานาน บางอย่าง เช่น "ทำการ" นี่ก็เขียนบ่นกันมาตั้งแต่สมัย ร. ๖ ! (ถ้าจำไม่ผิด) คนก็ยังใช้กันจัง ผมเบื่อมาก

ขอบคุณคะ ระยะหลังนี้ เริ่มเห็นคำภาษาไทยแบบใหม่  "เปน" ,"เรย",  "จุงเบย" ฯลฯ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์บุรชัย  แหล่งภาษาวิบัติ หรือภาษาไทยสมัยใหม่นั้น มาจากสื่อมวลชนต่าง ๆ นั้น

แน่นอนทีเดียว  และอีกแหล่งหนึ่งซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยก็คือ  " สถานศึกษา" นี่แหละ  นับเนื่องจาก

ระดับประถม ถึงอุดมศึกษา  การที่ครูผู้สอนไม่ได้เอาใจใส่กับการเขียน  หรือการใช้คำสำนวนของเด็ก 

ๆ อย่างจริงจัง  เป็นการปลูกฝังความผิดพลาดในการใช้ภาษาไทยให้กับเด็ก ๆ อย่างมากมาย  เคยมี

นักศึกษาที่เรียนวิชาเอกภาษาไทยจากราชภัฏหนึ่งนำงานวิจัยมาให้คุณมะเดื่อดู (เป็นงานวิจัยของรุ่น

พี่เอกภาษาไทยเช่นกันและเรียนจบไปแล้ว  ซึ่งอาจารย์ให้มาดูเป็นตัวอย่างในการทำวิจัย)  คุณมะเดื่อ

อ่านแล้วแทบจะไม่เชื่อเลยว่า นักศึกษาเอกวิชาภาษาไทย จะใช้สำนวนการเขียนแบบ ภาษาวิบัติได้

อย่างนั้น  เหมือนสำนวนแบบที่ใช้ในโลกออนไลน์ไม่มีผิด.....นี่เป็นแค่ตัวอย่างเดียว ที่เป็นผลมาจาก

การศึกษานะจ๊ะ.....แต่มันบ่งบอกถึงคุณภาพของการเรียนการสอนภาษาไทยที่ขาดการเอาใจใส่อย่าง

จริงจังของสถานศึกษาจ้ะ

ขอบคุณครับ สำหรับความเห็นและข้อมูลจากคุณ ป. และ คุณมะเดื่อ กรณีคนจบสาขาวิชาภาษาไทย แล้ว คุณภาพไม่ดีนั้น ส่วนหนึ่งก็ต้องโทษครู อาจารย์ แต่ผมไม่อยากกล่าวโทษเพียงว่าเป็นเพราะอาจารย์ที่ปรึกษาในมหาวิทยาลัย เพราะนั่นเป็นปลายมือ คนจะภาษาดี ต้องเริ่มมาจากประถม ครูที่โรงเรียนตอนชั้นต้นๆ มีส่วนรับผิดชอบ และที่สำคัญ วัยรุ่นเองควรจะไปอ่านงานวรรณคดีและคำประพันธ์ฉบับเต็มต่างๆ ประกอบการเรียน ไม่ใช่อ่านเฉพาะบางท่อนในหนังสือเรียนเพื่อแค่สอบผ่าน

ผมคิดว่าสะแลงของวัยรุ่น เป็นของชั่วคราว เป็นการพยายามแสดงอัตลักษณ์ของพวกเขาออกมา เป็นการพูดการเขียนตามแฟชั่น ก็มีส่วนทำให้ให้ภาษาวิบัติ แต่คงใช้กันชั่วคราว อาจจะมีผลไม่นานนักเท่าการใช้คำที่ความหมายคลาดเคลื่อน การใช้คำที่ไม่มีคุณภาพ การใช้คำไม่ลึกซึ้ง แต่ความเห็นผมอาจจะผิดก็ได้ ผมนึกไปถึงคำที่เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกัน แต่ความหมายพลิกไปแล้ว อย่าง "แพ้" "วันหลัง " ความหมายเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามแล้วใช่ไหม 

สิ่งที่ผมกังวลเพราะเมื่อผมเอาภาษาไทยไปเทียบกับภาษาคอมพิวเตอร์ หากเปรียบคำในภาษาไทยแต่ละคำ เป็นตัวแปร (variables) ภาษาไทยก็เป็นภาษาที่ overload มากขึ้นทุกวัน และในอนาคตมันจะกลายเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารไม่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหานี้ก็เกิดขึ้นในภาษาอังกฤษเช่นกัน มีการใช้คำผิดหน้าที่กันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเอาคำนามมาเป็นกริยา ฯลฯ

ผมโชคดีที่ได้ครูดี สอนเรียงความ(ภาษาไทย)สมัยมัธยม และตอนจะไปเรียนต่างประเทศก็มีครูสอนเขียน essay ภาษาอังกฤษ ที่ปูพื้นฐานให้พอสมควร

ถูกต้องที่สุดจ้ะท่านอาจารย์  เด็กจะอ่านเขียนภาษาไทยได้ดีต้องอยู่ที่พื้นฐานคือ ระดับประถม  และที่

สำคัญที่สุดคือ ในระดับชั้น ป.1 - ป.3  เพราะเปรียบเสมือน " เสาเข็ม"  ของการศึกษาในแต่ละบุคคลที่

เดียว  คุณมะเดื่อสอนเด็กประถมปลาย จะเห็นคุณภาพการอ่าน การเขียนของเด็กที่ขึ้นชั้นมาได้อย่าง

ชัดเจน ว่าเป็นอย่างไร  เท่าที่พบทุกวันนี้  นับวันแต่จะอ่อนลงทั้งการอ่าน การเขียน หลายคนที่ขึ้นมา 

ป.4 แล้ว คุณมะเดื่อก็ยังต้องเอาหลักสูตร ป.1 ป.2 มาสอนให้ใหม่   เหตุนี้ เมื่อเสาเข็มไม่มั่นคงแล้ว

อาคารทั้งหลังไม่ว่าจะสวยงามเพียงใด ก็ไม่มั่นคงแข็งแรงไปได้   ก็เป็นไปได้ยากที่คุณภาพของเด็ก

ในบั้นปลายจะดีได้อย่างที่ต้องการจ้ะ

ขอบคุณครับ คุณมะเดื่อ เห็นด้วยครับ

กำลังคิดว่า อาจารย์เขียนดูไหมคะ เชื่อว่ามุมมองต่างๆของอาจารย์น่าจะเป็นสิ่งที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงได้นะคะ โอ๋เชื่อว่าสิ่งที่อาจารย์เขียน เมื่อเรียบเรียงให้เป็นเล่มๆแล้วน่าจะน่าอ่านไม่แพ้คุณ William Zinsser นะคะ รู้สึกได้จากการอ่านสิ่งที่อาจารย์เขียนวิเคราะห์วิจารณ์ เปรียบเทียบมานี่แหละค่ะ รอผู้เชี่ยวชาญคงจะอ่านยากกว่าที่อาจารย์เขียนแน่เลยค่ะ

ขอบคุณมากครับสำหรับกำลังใจ

ผมเองงานที่กำลังเขียนอยู่ก็ยังไม่ไปถึงไหนเลยครับ จะเปลี่ยนโปรเจ็คก็ใช่ที่ และก็มีคิวที่รออยู่อีก

แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่อาจารย์เสนอมานั้น หลักการในทางปฏิบัติก็เป็นสิ่งที่ใช้กันทั่วไปในอินเตอร์เน็ตนี้ คือ ถ้าจะรอผู้เชี่ยวชาญเก่งมากๆ ให้มาเขียนหนังสือดีๆ คนอ่านก็คงรอไปอีกนาน ไม่รู้ว่าจะเขียนให้เราหรือเปล่า แต่ถ้าเราคิดว่าเป็นคนที่พอรู้อะไรในระดับดีปานกลาง เขาก็แนะนำว่าก็ควรช่วยกันเขียนๆ ออกมา เพราะอย่างน้อยมันก็มีอะไรออกมาเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดีกว่าไม่มี 

การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง อาจจะเริ่มต้นด้วยไปอ่านบทความเรื่อง "เรื่องภาษาไทไทย" ของ อาจารย์ วินัย พงศ์ศรีเพียร ในหนังสือ พจนานุกรมคำเก่าในภาษาไทย ฉบับชะเลยสัก ก็ดีนะครับ หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 

เรื่องภาษาไทไทย" ของ อาจารย์ วินัย พงศ์ศรีเพียร ในหนังสือ พจนานุกรมคำเก่าในภาษาไทย ฉบับชะเลยสัก หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร 

อยากอ่านจังค่ะ   เชื่อว่า คงหาอ่านไม่ได้ง่ายๆ ในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป 

หนังสือดีดี  มีคุณค่าแก่สังคม น่าจะเป็น e-book นะคะ  จะได้ง่ายต่อการเข้าถึง  
ส่วนค่าตอบแทนผู้เขียนที่เอามาเผยแพร่ใน อินเตอร์เนท ก็น่าจะมีหน่วยงานใดพิจารณาและรับผิดชอบเพื่อสังคมค่ะ

ผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ ที่ร้าน ริมขอบฟ้า ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ใกล้สตรีวิทยา) น่าจะยังมีขายครับ ไม่งั้นก็ต้องติดต่อที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มังครับ

เพิ่งไปได้หนังสือเรื่อง "เขียน" โดย พิมาน แจ่มจรัส (พิมพ์ครั้งที่ ๒) ยังอ่านไม่จบ เข้าข่ายเป็นหนังสือสอนการเขียน ที่ผมพูดอยากได้อยู่เล่มหนึ่ง 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท