การใช้คอมพิวเตอร์ พัฒนาการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน


จากประสบการณ์ที่ได้สอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน หรือเด็กหูหนวก ในโรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก พบว่า เด็กหูหนวกมีทักษะสูงมาก ในงานที่เกี่ยวกับกราฟิก ไม่ว่าจะเป็น การวาดภาพ การออกแบบ การตัดเย็บ การทำเครื่องใช้ต่างๆ ที่เป็นงานฝีมือ งานหัตถกรรม แต่เด็กเหล่านี้จะมีจุดด้อยในเรื่องการใช้ภาษา ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เนื่องด้วยความรู้สึกที่ว่าภาษาหลัก คือ ภาษามือ ส่วนภาษาไทยเป็นภาษาที่สอง แตกต่างกับเด็กปกติทั่วไป ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กหูหนวก ไม่ควรใช้หลักสูตรเดียวกับเด็กปกติ ที่เรียนวิชาการพิมพ์ (Word Processing) การคำนวณ (Spread Sheet) หรือโปรแกรมมิ่ง (Programming) แต่ควรนำคอมพิวเตอร์มาใช้พัฒนาทักษะเด่น อันได้แก่ ทักษะด้านงานศิลปะ

การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาทักษะด้านศิลปะของเด็กหูหนวก มีหลายลักษณะ เช่น

คอมพิวเตอร์เพื่องานศิลปะอิสระ เช่น งานวาดภาพ เป็นการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาทักษะด้านการวาดภาพ โดยใช้โปรแกรมกราฟิกที่เกี่ยวกับการวาด เช่น Dr.Halo (สมัยนั้นมีแต่โปรแกรมนี้ แต่เด็กก็สนุกมาก) นอกจากนี้ก็อาจจะเสริม Paint Brush, Adobe PhotoShop, Illustrator, FreeHand ส่วนโปรแกรมฟรีที่ชอบมากตอนนี้คือ TuxPaint โปรแกรมฝึกวาดภาพ คล้ายๆ กับโปรแกรม Paint ของ MS Windows แต่มีลูกเล่น เทคนิคน่าสนใจเยอะมาก


คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งเครื่องไม้ เครื่องปั้น เครื่องปั้นดินเผา โรงเรียนโสตศึกษาหลายๆ โรงได้เปิดสอนวิชาเครื่องปั้น เครื่องไม้ หรือเครื่องปั้นดินเผา ตลอดจน เซรามิกค์ ซึ่งมักจะเริ่มต้นด้วยการออกแบบลวดลาย และออกแบบ ชิ้นงานบนกระดาษ หากมีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วย จะเป็นการลดค่ากระดาษ ค่าสี และอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นๆ ได้อีกเยอะ เพราะคอมพิวเตอร์ช่วยให้การออกแบบชิ้นลาย และลวดลาย กระทำได้ง่าย สะดวก เห็นผลลัพธ์ทันที โปรแกรมกลุ่มนี้ เช่น Dr.Halo, Paint Brush, Corel Draw 

คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบบ้าน และตกแต่ง การใช้คอมพิวเตอร์เพื่องานออกแบบบ้าน และตกแต่งบ้านมีมานานแล้ว เรียกว่า CAD (Computer Aided Design) ซึ่งหากมีการสอนวิชานี้ให้กับเด็กหูหนวก ก็จะช่วยให้เปิดโอกาสด้านการงานให้เด็กกลุ่มนี้ได้ด้วย โปรแกรมในกลุ่มนี้ ได้แก่ Turbo CAD, AutoCAD 

คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบลายผ้า แบบเสื้อผ้า และงานที่เกี่ยวข้อการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบงานลักษณะนี้ จะเกี่ยวกับงาน Design เสื้อผ้า ตลอดจนวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น กระเป๋า ซองใส่เอกสาร ซองใส่แว่นสายตา เป็นต้น โดยการออกแบบสามารถกระทำได้ตั้งแต่ ขั้นตอนการออกแบบชิ้นงาน การออกแบบ ลวดลาย การออกแบบลายปัก โดยมีโปรแกรมสำเร็จรูปหลายโปรแกรมมาช่วย เช่น โปรแกรมออกแบบลายปัก หรือครอสติส และยังสามารถนำโปรแกรมกลุ่มอื่น มาช่วย เช่น Dr. Halo, Paint Brush, FreeHand, Illustrator, Inkscape

คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบสัญลักษณ์ (Logo) และตัวอักษรศิลป์ งานออกแบบสัญลักษณ์ และอักษรศิลป์ เป็นงานศิลป์ที่ทำรายได้ดีมากในปัจจุบัน และโปรแกรมที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายได้แก่ Corel Draw, PageMaker, Inkscape

คอมพิวเตอร์กับงานกราฟิกเพื่อสื่อสิ่งพิมพ์ คอมพิวเตอร์กับสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นงานที่มีการพัฒนาร่วมกันมานานแล้ว เช่น หนังสือพิมพ์ วารสารต่างๆ โปรแกรมที่ใช้ได้แก่ Adobe PhotoShop, Illustrator, PageMaker. Microsoft Publisher, Scribus


หากมีการพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ข้างต้น การจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ให้กับเด็กหูหนวก น่าจะได้ผลสัมฤทธิ์มากกว่าการนำหลักสูตรปกติมาใช้สอน

ตัวอย่างผลงานด้านกราฟิกวาดด้วย Paint โดยนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดตาก

     

     

หมายเลขบันทึก: 535532เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 13:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เด็กๆทำได้ดีมากเลยครับ ขอชื่นชม

เป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมากครับ ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท