การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๔. ความหมายของชีวิต



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc  ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช

          ในบทที่ ๓ ของหนังสือชื่อบทคือ Beyond the Divided Academic Life  ผู้เขียนคือ Arthur Zajonc  ศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์  และเป็นผู้สนใจศาสนาพุทธ  ได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม อ่านได้ ที่นี่  ท่านเล่าชีวิตของตนเองสมัยเป็น นศ. ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน แอนน์ อาร์เบอร์  ที่ผลการเรียนตอนอยู่ปี ๑ ดีมาก  ปี ๒ แย่ลง  และร่อแร่ตอนปี ๓  จิตตกจนคิดจะออกจากมหาวิทยาลัย  จนได้คุยกับศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง จึง “เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน”  มีความสุขในการเรียน  เพราะหาความหมายในทุกวิชาที่เรียนพบ  เห็นคุณค่าของวิชาเหล่านั้น  คือนอกจากเรียนวิชาแล้วยังเรียนค้นหาคุณค่าของวิชานั้นๆ ด้วย  ว่ามีความหมายต่อชีวิตของตนอย่างไร

          ทำให้ผมหวนระลึกถึงเรื่อง พ่อสอนลูกง่ายๆ ด้วยคำถาม บันทึกนี้

          มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีสมองพิเศษ ที่นอกจากต้องการเรียนรู้ด้านนอก (คือรู้จักโลก รู้จักสังคม) แล้ว  ยังหิวกระหายการเรียนรู้ด้านใน เพื่อสนองสมองด้านจิตวิญญาณ  หรือหิวกระหายการเรียนรู้ด้านคุณค่าในชีวิต ด้วย  หรืออาจกล่าวว่า มนุษย์มีธรรมชาติ “ค้นหาเทพภายในตน”  

          ตราบใดที่ชีวิตยังแยกระหว่างงานกับคุณค่า  งานกับอุดมการณ์  ชีวิตของคนเราจะสับสน ว้าเหว่ ไร้คุณค่า  การศึกษาต้องนำพามนุษย์สู่จุดบรรจบระหว่างการแยกส่วนนี้ให้ได้  คำตอบอยู่ที่การเรียนรู้บูรณาการ 

          การแยกส่วนมีหลายมิติ  แต่ที่ก่อความเสียหายร้ายแรงที่สุดคือการแยกส่วนภายในตน ภายในตัวคน  ที่แยกระหว่างการเลี้ยงชีพหรือการดำรงชีวิต กับอุดมคติ  และปล่อยให้อุดมการณ์ภายในตนกลายเป็น “อุดมการณ์แห่งซาตาน” ไม่เป็น “อุดมการณ์แห่งเทพ” 

          ศ. ซาย้อง เล่าว่า เมื่อตนได้รับคำแนะนำจากศ. Ernst Katz ให้รู้จักการภาวนา (contemplation)  และรู้จักนักปรัชญา Rudolf Steiner  ชีวิตของท่านก็เปลี่ยนไปเป็นชีวิตที่มีพลัง   วิชาต่างๆ ที่เคยแห้งแล้ง กลับมีชีวิตเต้นเร่าอยู่ตรงหน้าหรือในใจ  ดั่งที่ ไอน์สไตน์เคยกล่าวว่า “We animate what we can, we see only what we animate. Nature and books belong to the eyes that see them.”  “เราให้ชีวิตแก่สรรพสิ่ง  เราเห็นเฉพาะสิ่งที่เราปลุกให้มีชีวิตได้  ธรรมชาติและหนังสือมีความหมายต่อผู้ที่เข้าถึงได้เท่านั้น”    


เอาใจใส่ปณิธาน หรือเป้าหมายเชิงอุดมการณ์ (purpose)

          เราคุยกันเรื่องเป้าหมายของอุดมศึกษาน้อยไป  เป้าหมายของอุดมศึกษาไม่ได้มีแค่ให้รู้วิชา  หัวใจคือเพื่องอกงามจินตนาการ (imagination) และประสบการณ์ (experience)   และบูรณาการ ๒ สิ่งนี้ให้ส่งเสริมยกระดับซึ่งกันและกัน   เกิดเป็นปัญญาญาณ (intuition)  

          อุดมศึกษาเอาใจใส่เรื่องนี้น้อยไป (ที่จริงการศึกษาทุกระดับต้องเอาใจใส่เรื่องนี้)   การเรียนเพื่อรู้วิชาเป็นเพียงจุดเริ่มต้น  การศึกษาที่แท้ ต้องไปให้ถึงการบูรณาการ วิชาการ จินตนาการ ประสบการณ์  สู่ปัญญาญาณ 

          เป้าหมายของการศึกษาอุดมศึกษาระดับปริญญาตรีต้องเลยเป้าหมายอาชีพ และความเป็นพลเมือง สู่การพัฒนาให้เต็มศักยภาพ

          การศึกษาต้องเลยจากความจริง และเหตุผล  ไปสู่สิ่งที่ไม่ชัดเจน และเหนือเหตุผล 


มิจฉาทิฐิของการศึกษาในปัจจุบัน

          การศึกษาในปัจจุบัน ตกอยู่ใต้วิธีคิดใน(คริสต)ศตวรรษที่ ๑๙  ที่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ (ในสมัยนั้น) และอุตสาหกรรม ครอบงำความคิดและระบบต่างๆ ของสังคม  รวมทั้งระบบการศึกษา  ความรู้ที่เป็นกลไก พิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เห็นชัดจากเทคนิคที่จับต้องได้ เป็นเป้าหมายของการศึกษา   

          ในโลกทัศน์เช่นนี้ ความรู้เป็นสิ่งที่เฉื่อยชา และเป็นรูปธรรม  การศึกษาคือการสอนให้เด็กรู้จักใช้ความรู้ที่ตนสะสมมาจากโรงเรียน  การศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๑๙ นี้ ละเลยธรรมชาติของการเรียนรู้ว่าต้องฝังแฝงอยู่ในสังคม และมีมิติเชิงจริยธรรม 

          ตัวต้นเหตุของมิจฉาทิฐินี้คือวิทยาศาสตร์ (เชิงกลไก ที่พัฒนาขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙)  ดังนั้น ศ. ซาย้องค์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ จะอธิบายวิทยาศาสตร์ใหม่ ที่เป็นวิทยาศาสตร์แห่งศตวรรษที่ ๒๑  สำหรับนำมาใช้สร้างทิฐิใหม่ของการศึกษา   

          การศึกษาปัจจุบัน เป็นการศึกษาที่ล้าสมัย  เป็นมิจฉาทิฐิ  คือเป็นการศึกษาที่สอนให้ไม่เชื่อประสบการณ์ตรงของตน  ให้เชื่อเฉพาะสิ่งที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้วเท่านั้น  เมื่อปลูกฝังกันมาเช่นนี้ ผู้คนก็ไม่มีความมั่นใจในตนเอง ที่จะใช้ประสบการณ์ตรงของตน ในการตีความทำความเข้าใจเพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต  ไม่กล้าทำสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้แบบ Constructionism หรือ Action Learning  หรือการเรียนแบบงอกงามความรู้ขึ้นภายในตน  ไม่กล้าสร้างความรู้ด้วยตนเอง  ได้แต่รอรับการถ่ายทอดความรู้จาก “ผู้รู้” 

          ประสบการณ์ตรงของมนุษย์ คือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุด 

          หนังสือเล่มนี้ จึงมีเป้าหมายเพื่อนิยามทั้งคำว่า “ความรู้” และ “การเรียนรู้” เสียใหม่   และต้องการลบล้างมิจฉาทิฐิ ที่แยกการศึกษา กับมิติทางจิตวิญญาณ ออกจากกัน 


ขยายจักรวาลในตน

          หากจะให้การศึกษา (การเรียนรู้) ของตัวเราเองเป็นการเรียนรู้ที่ทรงพลังแห่งยุคสมัยปัจจุบัน  ต้องเปิดตัวตนของเรา เปิดรับประสบการณ์รอบด้าน  ทั้งด้านผัสสะ (sensorial)  ด้านอารมณ์ (emotional)  และด้านปัญญา (intellectual)

          นอกจากประสบการณ์ที่รับรู้จากโลกภายนอกแล้ว  เรายังมีประสบการณ์ด้านในของตัวเราด้วย  ประสบการณ์ด้านนอก และประสบการณ์ด้านใน รวมกันเป็น ประสบการณ์แห่งมนุษย์ (human experience) 

          การศึกษาแบบมิจฉาทิฐิ คือการศึกษาที่ละเลยไม่ยอมรับประสบการณ์แห่งมนุษย์ เป็นปัจจัยของการเรียนรู้  หรือลดทอนมันลงไปเป็นเพียงการเชื่อมต่อใยประสาท   

          การศึกษาแบบมิจฉาทิฐิ คือการศึกษาที่หยุดอยู่ที่การเรียนแบบแยกส่วน เจาะลึกลงไปในกลไกธรรมชาติเป็นส่วนๆ  ไม่เอาใจใส่ ไม่ยอมรับการเรียนรู้แบบบูรณาการส่วนย่อยเหล่านั้นพร้อมๆ กันในสถานการณ์จริง  นำไปสู่สภาพไร้ชีวิต  ความรับรู้ (consciousness), วิญญาณ (soul), และชีวิตจิตใจ (spirit)

          การศึกษาแบบบูรณาการคือการศึกษาที่ไม่ปฏิเสธการรับรู้ในมิติใดๆ


ขยายโลกทัศน์ให้กว้าง ไร้ขอบเขต

          การเรียนรู้ที่แท้ คือการเรียนรู้ที่เปิดกว้าง  เปิดรับประสบการณ์ทุกด้าน  ไม่จำกัดหรือปฏิเสธการรับรู้ด้านใดๆ เลย 

          ในสภาพเช่นนี้ ครูก็จะมีมุมมองต่อ นศ. แบบมองทุกส่วนของ นศ.  ไม่ใช่มองแบบแยกส่วน  เฉพาะด้านที่จดจำความรู้เท่านั้น 


หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ช่วยขยายความหมายของความรู้ (ว่าเป็นสมมติ)

          แม้ว่าการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จะได้รับคำตำหนิว่าทำให้เกิดความรู้แบบกลไกและแยกส่วน  แต่ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ก็ช่วยให้หลักฐานสนับสนุนความรู้แบบบูรณาการ  เวลานี้มีวิทยาศาสตร์แขนง อภิปรัชญาเชิงทดลอง  (Experimental Metaphysics)

          จากทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่ คือทฤษฎีควอนตัม และทฤษฎีสัมพัทธภาพ  เป็นที่รู้กันว่าสิ่งที่รับรู้กันว่าเป็นความจริง ได้แก่ ความยาว มวล และเวลา ไม่คงที่  ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์เชิงการเคลื่อนไหวระหว่างวัตถุกับผู้สังเกต  ดังนั้นสิ่งที่ยาว ๒ เมตร หากเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก (ใกล้ความเร็วของแสง) จะยาวไม่ถึง ๒ เมตร  และในสภาพเดียวกัน นาฬิกาเดินช้าลง

          การทดลองเช่นนี้ ช่วยบอกเราว่าสรรพสิ่งเป็นสมมติ  ไม่ใช่จริงแท้  คนเราควรกล้าหาญที่จะหาทางมองหรือทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสมมติที่แตกต่างกัน  ยิ่งสามารถหามุมมองที่หลากหลายได้มากเท่าไร  เราก็จะเข้าใจสิ่งต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้นเท่านั้น  และเป็นการขยายมุมมองต่อสรรพสิ่ง จากเป็นวัตถุ สู่ความสัมพันธ์และเหตุการณ์  และสู่ความรู้ที่ “เหนือปรากฏการณ์” (epiphenomenon)  หรือเข้าใจเบื้องหลังของปรากฏการณ์  


ความเป็นองค์รวมระดับอนุภาค

          ท่านผู้เขียนอธิบายเหตุผลของการเปลี่ยนโลกทัศน์ของวิทยาศาสตร์ จากมองสรรพสิ่งเป็นสสาร (matter) และแรง (force)  ไปสู่การมองเป็นสารสนเทศ (information) และความรู้ (knowledge)  และความรู้ไม่ได้เป็นสิ่งของ (object) แต่เป็นเหตุการณ์ (event)

          การเรียนรู้เริ่มจากการสังเกตง่ายๆ  แล้วค่อยๆ ซับซ้อนขึ้น ผ่านการทบทวนสะท้อนความคิด (reflection)  การให้เหตุผล (reasoning)  แล้วสังเกตใหม่ เป็นวงจรต่อเนื่องยกระดับขึ้นไม่สิ้นสุด  จนเกิดความเข้าใจลึกซึ้ง (insightful understanding)


เอาใจใส่ประสบการณ์ สู่ความรู้จริง(insight)

          แม้ว่าประสบการณ์ของผู้คนจะหลากหลาย ในที่สุดก็จะถักทอกันกลายเป็นหนึ่ง  เป็นจักรวาลหนึ่งเดียว ที่มีหลายหน้า แต่มีแกนในแกนเดียว  ความรู้ฟิสิกส์ใหม่นำเราให้รู้จักโลกแห่งชีวิตแบบใหม่ ที่เป็นโลกแห่งประสบการณ์

          ในโลกนี้ ประสบการณ์แห่งมนุษย์เป็นศูนย์กลางของความรู้ และการเรียนรู้ทั้งปวง  นำไปสู่การศึกษาแนวใหม่  ที่มีความเท่าเทียมกันของมุมมองที่หลากหลาย หรือเป็นขั้วตรงกันข้าม  ได้แก่ ประสบการณ์ - เหตุผล, ชีววิทยาของสิ่งมีชีวิตทั้งตัว และนิเวศวิทยา - ชีววิทยาระดับอณู, จิตวิทยา - ประสาทวิทยาศาสตร์, วรรณคดี - computational linguistics, เป็นต้น

          ยุคของวิทยาศาสตร์แข็ง (hard science) เกิดจากอภิปรัชญาแนววัตถุและกลไก  บัดนี้เรารู้ว่าอภิปรัชญาแบบนั้นมีข้อจำกัด  หรือยังไม่ใช่ความจริงทั้งหมด  แต่ก็มีส่วนที่ดี คือการตั้งคำถาม และแสวงหาหลักฐานมาตอบคำถาม  เวลานี้จึงมีการศึกษาที่บูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์แข็งและวิทยาศาสตร์อ่อน (soft science) เข้าด้วยกัน  เคลื่อนตัวจากการเรียนรู้วัตถุ (object) สู่การเรียนรู้แจ้ง (insight)  ที่หลอมรวมประสบการณ์เชิงวัตถุภายนอกกาย  เข้ากับประสบการณ์ภายในจิตใจของแต่ละคน  อันได้แก่ความรู้สึกรัก - เกลียด, ความไว้เนื้อเชื่อใจ - ความอิจฉาริษยา, จิตใจที่ฟูเฟื่อง - ความหดหู่ เป็นต้น  

          ความท้าทายของ soft science ซึ่งมีธรรมชาติเป็น qualitative (เชิงคุณภาพ) หรือเป็นนามธรรม  ยากต่อความแม่นยำ  เป็นเรื่องท้าทายที่จะทำให้น่าเชื่อถือ  ความน่าเชื่อถือได้จากการตรวจสอบโดยคนที่มีประสบการณ์เดียวกัน  ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แข็งเรียกว่า peer review ก็น่าจะใช้ได้กับการประเมินตรวจสอบประสบการณ์ด้านใน

          ประสบการณ์ด้านใน สามารถเป็นกระบวนการสืบค้นแบบหนึ่ง  ที่ใช้ร่วมกันกับการสืบค้นด้านนอกด้วยวิทยาศาสตร์แข็ง  เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งที่แท้จริง   


สู่ความจริง

          การเรียนรู้ที่แท้ตามที่กล่าวข้างต้น ต้องการความเป็นชุมชน หรือความใกล้ชิดไว้เนื้อเชื่อใจกัน  ในสถาบันอุดมศึกษาขนาดใหญ่ เรื่องนี้เป็นความท้าทาย  ว่าทำอย่างไร นศ. จะรู้สึกอบอุ่น ไม่ว้าเหว่  รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของประชาคม  เป็นวิธีการที่จะกล่าวถึงในบันทึกตอนหลังๆ  เพราะจะมีรายละเอียดอยู่ในภาคผนวก 


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ม.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 535527เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2013 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ปัญหาใหญ่ คนในอุดมศึกษายังไม่ตะหนัก  ขอบคุณที่อาจารย์ได้อธิบาย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท