สกัดความรู้จากโครงการ "สรอ. ขอความรู้" ห้องเรียนกลับทาง



ดาวน์โหลดฉบับเต็ม ห้องเรียนกลับทาง10.pdf

ห้องเรียนกลับทาง

แนวทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในวงการศึกษาทั่วโลกอยู่ในขณะนี้คือ “ห้องเรียนกลับทาง” (Flipped Classroom) เทคนิคห้องเรียนกลับทางนี้ทำได้โดยครูต้องเตรียมสื่อการสอนออนไลน์ทั้งรายวิชาไว้ให้พร้อม เช่น Clip VDOs การสอนในห้องเรียน หรืออาจจะเป็นการทำ Presentation ของเนื้อหาการสอนที่มีการอัดเสียงพูดอธิบายเข้าไปไว้ด้วย ครูจะต้องกำหนดให้ศิษย์ดู Clip VDOs เหล่านี้มาก่อนล่วงหน้า เพื่อให้เวลาในห้องเรียนจะได้เน้นไปที่การเรียนรู้พูดคุยทำกิจกรรมเพื่อเจาะลึกในเนื้อหาและเพื่อสร้างทักษะการเรียนรู้แก่ผู้เรียน

ทั้งนี้  GotoKnow และสรอ. (EGA) จึงได้ร่วมมือกันกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความรู้และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบบริการเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ของประเทศ เป็นประเด็นที่สิบขึ้น ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2555 โดยขอเชิญสมาชิก GotoKnow บอกเล่าแนวคิดและประสบการณ์เรื่อง “ห้องเรียนกลับทาง” ซึ่งมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านบล็อกเป็นจำนวนมาก โดยสามารถรวบรวมและสรุปประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

ที่มาและลักษณะของห้องเรียนกลับทาง

จากหนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day ห้องเรียนกลับทางมีกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 5 ปีมาแล้ว เกิดขึ้นจากจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อศิษย์ของครูบ้านนอกในสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ Jonathan Bergmanและ Aaron Sams ที่ต้องการช่วยนักเรียนที่มีปัญหาตามชั้นเรียนไม่ทัน เพราะต้องขาดเรียนไปเล่นกีฬาหรือไปทำกิจกรรม หรือเพราะเขาเรียนรู้ได้ช้า  ICT ช่วยให้ครูทำวิดีโอสอนวิชาได้โดยง่าย และเอาไปแขวนไว้บนอินเทอร์เน็ตได้ฟรี ให้ศิษย์ที่ขาดเรียนเข้าไปเรียนได้  ศิษย์ที่เรียนช้าก็เข้าไปทบทวนได้อีก ไม่ต้องพึ่งการจดแบบผิดๆ ถูกๆ หรือตกๆ หล่นๆ อีกต่อไป

วิธีเรียนรู้แบบกลับทาง คือเรียนวิชาที่บ้าน ทำการบ้านที่โรงเรียน หรือรับถ่ายทอดความรู้ที่บ้าน แล้วมาสร้างความรู้ต่อยอดจากวิชาที่รับถ่ายทอดมา ให้เป็นความรู้ที่สอดคล้องกับชีวิต ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่มีพลัง เกิดทักษะ

ลักษณะสำคัญที่สุดของห้องเรียนกลับทาง คือ กลับทางจุดสนใจจากตัวครูและการสอนของครูไปที่ตัวเด็กและการเรียนของเด็ก  หัวใจของการกลับทางคือ กลับทางจากเน้นที่การสอน มาเน้นที่การเรียน  เด็กเรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล  ครูเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ คอยกระตุ้น เตรียมสื่อ มีการวัดและการประเมินตามสภาพจริง

กิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนกลับทาง

กิจกรรมที่เกิดขึ้นในห้องเรียนกลับทาง ได้แก่ “กิจกรรมชวนเพื่อนทำ”  เพื่อนพร้อมชวนเพื่อนทำคิดทำงานที่ได้รับมอบหมาย   นอกจากนี้มีการจัดทำวีดีทัศน์มาเป็นสื่อ  หลังจากนั้นจัดทำเพื่อแจกให้นักศึกษา  จัดกิจกรรมกลุ่มออนไลน์ระบบปิดเพื่อสื่อสารกับนักศึกษานอกเวลา  ให้นักศึกษาตั้งเป้าหมายในการฝึกภาคปฏิบัตินักศึกษามีโอกาสสร้างสัมพันธภาพ  ถ่ายทอดความรู้สึกโดยเอกสาร กลุ่มออนไลน์ใช้แนวการสอนระบบพี่เลี้ยง  และให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาท  เปลี่ยนบทบาทจากครูเป็นผู้แสดง เป็นนักศึกษาเป็นนางเอก ด้วยการจัดกิจกรรมของครู  

ห้องเรียนกลับทางคล้ายการสอนแบบโครงการ กล่าวคือ การสอนโดยใช้โครงงานหลายๆ โครงงานร่วมกัน  เน้นให้นักเรียนหรือนิสิตนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง โดยครู อาจารย์จัดการเรียนการสอน โดยครูจัดกิจกรรมตามความสนใจของผู้เรียน ครูพยายามปรับเทคโนโลยีมาใช้ในชั้นเรียนเช่นใช้ youtube เพื่อให้นิสิตได้วิพากษ์วิจารณ์การเรียนของตนเอง  ผู้เรียนหรือนิสิตได้ศึกษาในเรื่องที่สนใจ มีการค้นคว้ากับเพื่อนมีการอภิปราย การถกเถียงกันเมื่อพูดคุยปรึกษาปัญหากันก็จะมีความรู้ที่กว้างขึ้น ผู้สอนสอนน้อยแต่ผู้เรียนได้เรียนรู้มากขึ้น  นิสิตมีการเรียนรู้นอกห้องเรียน ได้เรียนกับชุมชน มีการบูรณาการ(integration) ความรู้กับบทเรียน สนใจปัญหาของชุมชนและประเทศชาติ  ท้ายที่สุดนิสิตมีความสุขในเรื่องที่เรียนไม่คิดว่าเรื่องเรียนเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่าย ไม่คิดว่า การศึกษาเป็นยาขม

แนวทางในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาเพื่อเป็นการสร้างทักษะการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษา เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของครูที่จะต้องสร้างโจทย์ในการทำกิจกรรมที่ท้าทายแต่สนุก และครูต้องกล้าที่จะประเมินความสามารถของผู้เรียน เคารพในความรู้ที่นักศึกษามี และสร้างความมั่นใจในตัวผู้เรียนให้เกิดขึ้นให้ได้  

เทคโนโลยีที่นำมาใช้สำหรับห้องเรียนกลับทาง

เทคโนโลยีที่มีการนำมาใช้สำหรับห้องเรียนกลับทาง ได้แก่ วีดีทัศน์  เทคโนโลยี online resource เช่น youtube videoใน ClassStart  การเขียน blog  ระบบสั่งงานผ่านอีเมล  อินเทอร์เน็ต  CD   http://www. ClassStart.org  และการศึกษาทางไกลโดยผ่านสื่อโทรทัศน์ 

กล่าวได้ว่าห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) แม้จะเป็นรูปแบบใหม่ที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลก แต่อันที่จริงคือการที่ครูต้องพยายามลดเวลาการสอนลงแต่หันกลับมากระตุ้นให้ทำกิจกรรมในห้องเรียนมากขึ้นเพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้ศิษย์นั่นเอง  แต่การลดเวลาการสอนลงไม่ได้หมายความว่าปล่อยภาระให้ศิษย์ไปศึกษาเองอย่างโดดเดี่ยว หากแต่เป็นการสร้างให้เด็กมีความรับผิดชอบงานที่มอบหมายไปอ่านผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์หรือออฟไลน์แล้วกลับมาสรุปบทเรียนกันต่อในห้องเรียนและลงประเด็นที่สำคัญต่อการเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน

สถิติของรายการบันทึกทั้งหมดที่ใส่คำสำคัญ  “ห้องเรียนกลับทาง”

•จำนวนบันทึกรวม        90  รายการ

•จำนวนการอ่านรวม       47,535  ครั้ง

•จำนวนการให้ดอกไม้  (ให้ความชอบ) รวม      1,111  ครั้ง

•จำนวนความคิดเห็นรวม      612  รายการ


<p></p>

หมายเลขบันทึก: 535080เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2013 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ตุลาคม 2015 12:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ ที่ทำเพื่อทุกคนอย่างดีเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท