(31) ‘มะม่วงน้อย’ กับ 'การฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตวิญญาณ'


ดิฉันเห็นผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือฯ รวมทั้งพยาบาลพากันเดินบ้าง วิ่งบ้าง แย่งกันเก็บมะม่วงน้อยที่ร่วงลงมาอย่างสนุกสนาน เก็บได้แล้วนำมาอวดกัน หัวเราะต่อกระซิกกันทั้งผู้ป่วยและผู้ยังไม่ป่วย เออ.. ช่างเป็นบรรยากาศของความเสมอภาคอย่างแท้จริง

ต้นพฤษภาคม 56 ฝนเริ่มตกลงมาบ้างแล้ว ในเขตพื้นที่อีสานปีนี้เราไม่สามารถบรรยายบรรยากาศฝนตกว่า “ฝนเริ่มโปรยปรายมาบ้างแล้ว" เพราะมาแบบ “ฝนฟ้าคะนองกระจาย" กระแสลมพัดแรงจนกิ่งไม้หักลงมา ภาพที่ดิฉันเห็นเมื่อมองออกไปนอกประตูที่เชื่อมต่อกับลานอเนกประสงค์หลังอาคารหอผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง คือ ลมพัดแรงมาก จนใบมะม่วงพัดร่วงกระจายลงมาเต็มพื้น ผลมะม่วงผลเล็กๆ ที่คนอีสานเรียก 'มะม่วงน้อย' ก็ร่วงกระจายลงมาด้วย 

ทายซิว่าดิฉันเห็นอะไรอีก? 

ภาพที่เห็นน่าประทับใจมาก ... ดิฉันเห็นผู้ป่วย ผู้ช่วยเหลือฯ รวมทั้งพยาบาลพากันเดินบ้าง วิ่งบ้าง แย่งกันเก็บมะม่วงน้อยที่ร่วงลงมาอย่างสนุกสนาน เก็บได้แล้วนำมาอวดกัน หัวเราะต่อกระซิกกันทั้งผู้ป่วยและผู้ยังไม่ป่วย เออ.. ช่างเป็นบรรยากาศของความเสมอภาคอย่างแท้จริง 

เมื่อเช้าเพิ่งจะมีการทบทวนการดูแลผู้ป่วย ปัญหาผู้ป่วยกินมะม่วงจนท้องเสีย บ้างก็ถูกยางมะม่วงกัดปากเป็นแผล ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยก็ดูแลกันไป สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำใจเก็บมะม่วงน้อยไปแบ่งปันผู้ป่วยอื่นจนได้รับผลกระทบนั้นดิฉันเสนอให้กักบริเวณไว้ก่อน ห้ามลงไปหลังอาคารในช่วงที่ลมแรงจนมะม่วงน้อยร่วงลงมา

แล้วมะม่วงน้อยที่ยังไม่ร่วงล่ะจะทำอย่างไร? ไม่ยากหรอก ผู้ช่วยเหลือฯ อาสาจะคอยสอดส่องดูแล หากมะม่วงน้อยร่วงลงมาจะเก็บออกให้โดยเร็ว 

เมื่อการทบทวนเพื่อวางแผนดูแลผู้ป่วยประจำวันผ่านไปได้ครู่หนึ่ง ดิฉันก็เห็นพยาบาลอาวุโสท่านหนึ่งนั่งกินมะม่วงน้อยในห้องทำงาน ก็มะม่วงน้อยที่ผู้ช่วยเหลือฯ เก็บมานั่นแหละ ดิฉันไม่สามารถบรรยายลักษณะการกินมะม่วงข องเธอได้ สรุปได้แต่เพียงว่าเป็นการกินด้วยความรู้สึกที่ดื่มด่ำได้อารมณ์มาก จนดิฉันออกปากกับเธอว่า 

“มันเหมือนได้สัมผัสถึงจิตวิญญาณเลยนะ" 

เธอรีบตอบว่า ใช่ ! คนอีสานผูกพันกับมะม่วงน้อยอย่างมาก ใครๆ ต่างก็มีประสบการณ์วิ่งเก็บมะม่วงน้อยกินมาแล้วทั้งนั้น ผู้เฒ่าหรือผู้สูงอายุจะกินมะม่วงแบบพิเศษ คือ ตัดขั้วมะม่วง ปลิ้นเอาเมล็ดออก ปั้นข้าวเหนียวยัดใส่เข้าไปแทน แล้วกินมะม่วงน้อยทั้งลูก อิ่มอร่อยอย่างมีความสุข 

เขียนมาถึงตรงนี้แล้วดิฉันนึกถึงเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 56 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชทางสังคมและอาชีพ สมาชิกท่านหนึ่งอธิบายวิธีการฉีกปลาร้ากินด้วยสายตาเปี่ยมสุข เมื่อหยอกเธอว่า “อะไรจะขนาดนั้น" เธอตอบว่า 

“พี่ไม่ใช่คนอีสาน พี่ไม่เข้าใจหรอก" 

ผิดละมั้ง! ก็สีหน้าท่าทางเธออธิบายได้อารมณ์เสียขนาดนี้ จนพี่รู้สึกเหมือนกำลังฉีกปลาร้าอยู่เลยละ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องจิตวิญญาณของคนอีสานพี่จะคิดวิธีการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการทำหมกปลาร้า กลุ่มรื้อฟื้นความทรงจำดีๆ ที่ลงลึกถึงจิตวิญญาณได้หรือ 

กลับมาที่ปัญหาผู้ป่วยกินมะม่วงน้อยจนท้องเสีย บ้างก็ปากเป็นแผลจากยางมะม่วงกัด ที่ดิฉันห่วงมากกว่าคือการกินแบบไม่ระวัง หากดูดแรงๆ เมล็ดอาจติดคอตายได้ ถึงได้ห้ามไม่ให้ผู้ป่วยเก็บกิน ดิฉันปรึกษาประเด็นนี้กับพยาบาลอาวุโส คนที่กำลังกินมะม่วงอย่างได้อารมณ์ว่า จะมีแนวทางอย่างไรให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูฯ ทางจิตวิญญาณ และปลอดภัยไปพร้อมกัน 

ก็ได้ข้อสรุปว่า จะผู้ป่วยหรือผู้ยังไม่ป่วยก็ตาม หากใครเก็บมะม่วงได้ให้นำมารวมกันในที่จัดไว้ให้ จะมีผู้รับผิดชอบนำมะม่วงน้อยไปล้างให้สะอาด ปาดขั้ว ปลิ้นเมล็ดออก แล้วยัดข้าวสวยเข้าไปแทน เตรียมไว้แจกผู้ป่วยคนละ 1 ลูก หรือมากกว่านั้นถ้าเก็บมะม่วงได้มาก 

ในมื้ออาหารเย็นวันนั้นเราจึงเห็นภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังพากันกินมะม่วงอย่างมีความสุข .. สัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ! 

หมายเลขบันทึก: 535042เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 22:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 สิงหาคม 2021 14:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขออนุญาตเพิ่มเติมนะครับ ที่เอาข้าวสวยยัดเข้าไปน่ะไม่น่าจะอร่อยเท่าข้าวเหนียว ตอนเป็นเด็กๆ แม่จะทำไว้รอตอนเลิกเรียน กินกันที 5 - 6 อัน ภาษาอิสานเรียก "บักม่วงยัดโบก" อร่อยจนอธิบายไม่ถูกครับ

คุณมิตรภาพ พูดถูกแล้วว่าต้องใช้ข้าวเหนียวยัดเข้าไป จึงจะเรียกว่า 'บักม่วงยัดโบก' เพียงแต่ที่ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ไม่ได้เลี้ยงข้าวเหนียวผู้ป่วย มีแต่ข้าวสวย เพียงเท่านี้ผู้ป่วยก็มีความสุขแบบไม่ต้องอธิบายแล้วค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท