ชีวิตที่พอเพียง ๑๙๐๔. ต่อต้านลัทธิถูก-ผิด



          ทักษะที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ คือทักษะการคิด  มีทักษะการคิดหลายๆ แบบ  ในกรณีเช่นนี้ ลัทธิถูก-ผิด เป็นอาชญากรรมต่อการฝึกทักษะการคิด 


          ลัทธิถูก-ผิด มีลักษณะดังต่อไปนี้

๑.  สรรพสิ่ง หรือเรื่องราวทั้งหลายมีเพียง ๒ ขั้ว คือถูกกับผิด  ขาวกับดำ  ใช่กับไม่ใช่  ดีกับไม่ดี  รู้กับไม่รู้  สวยกับไม่สวย  พวกเรากับพวกเขา  ทุกคนต้องฝึกคิดแบบขั้วตรงกันข้ามนี้เท่านั้น

๒.  ในชั้นเรียน ครูจะตั้งคำถามแบบถูกผิด ใช่ไม่ใช่ ให้นักเรียนฝึกตอบ 

๓.  ทุกคนต้องคิดเหมือนกัน  ทุกคำถามมีคำตอบที่ถูกต้องคำตอบเดียว

๔.  คนที่คิดไม่เหมือนเรา คือศัตรูหรือพวกอื่น  ไม่ใช่เพื่อนเรา  


          ทักษะการคิด สำหรับดำรงชีวิตที่ดีในยุคปัจจุบันและอนาคต ต้องมีอย่างน้อย ๒ มิติ คือ (๑) มีเทคนิกการคิดหลายแบบ เอาไว้ใช้ในต่างสถานการณ์  (๒) คิดได้หลายคำตอบ ต่อคำถามหนึ่งๆ  หรืออาจเรียกว่า มีทักษะการคิดอย่างซับซ้อน


          ทักษะการคิด ๒ มิตินี้ สัมพันธ์กัน 


          ทักษะการคิดหลายแบบที่ง่าย และใช้กันมากที่สุด คือเทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ


          ทักษะการคิดอย่างซับซ้อน เริ่มด้วยการฝึกหาคำตอบให้มากที่สุดต่อคำถามใดคำถามหนึ่ง  ทั้งหาคนเดียวและช่วยกันหาหลายๆ คน  เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ช่วยกันหาคำอธิบาย ว่าทำไมคำตอบนั้นจึงถูกต้อง  คำตอบนั้นดีหรือเหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ใด   นักเรียน (และตัวเราเอง) ก็จะเข้าใจว่า คำถามและคำตอบมีบริบทหรือรายละเอียดประกอบ  ส่วนใหญ่คำถามให้รายละเอียดไม่หมด เราต้องคิดรายละเอียดเอาเอง  และแต่ละคนสมมติรายละเอียด (หรือบริบท) ต่างกัน  คำตอบจึงต่างกัน


          ฝึกคิดอย่างซับซ้อน ให้คล่องยิ่งขึ้น โดยฝึกตั้งคำถามที่มีคำตอบได้หลายคำตอบ  จะเห็นว่า คำถาม how และ why จะได้คำตอบที่หลากหลายมากกว่าคำถาม what, when, where


          คำถามที่มาจากชีวิตจริง สถานการณ์จริง จะมีคำตอบได้หลากหลายมาก  เพราะในชีวิตจริง มีข้อสมมติมากมายที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์  คำตอบเป็นอย่างไร ขึ้นกับผู้ตอบยกเอาข้อสมมติใดเป็นตัวตั้ง 


          ไม่ว่าคำถามจะเป็นแบบใด ครูควรฝึกให้ศิษย์หาคำตอบให้มากที่สุด โดยมีคำอธิบายประกอบหรือสนับสนุนแต่ละคำตอบ  โดยไม่เน้นหรือสนใจว่าคำตอบจะถูกหรือผิด ใช้การได้หรือใช้การไม่ได้


          การฝึกฝนเช่นนี้นอกจากทำให้เด็กแต่ละคนมีทักษะการคิด กล้าคิด กล้าคิดต่างแล้ว  ยังช่วยให้เด็กมีทักษะเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ที่แตกต่างจากความคิดเห็นของตนด้วย


          ทักษะการคิดแบบนี้ นำไปสู่ทักษะการร่วมมือ (Collaboration Skills)  และทักษะภาวะผู้นำ (Leadership Skills)  ซึ่งจำเป็นสำหรับคนทุกคนในยุคศตวรรษที่ ๒๑



วิจารณ์ พานิช

๑๖ มี.ค. ๕๖

สนามบิน นครวอชิงตัน ดีซี



หมายเลขบันทึก: 534954เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 08:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2013 08:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การแสวงหาความถูกผิดในงานจัดการความยุติธรรมก็เป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างรอบครอบมากค่ะ และต้องให้การศึกษาคนในสังคมอย่างดี มิใช่ฉะนั้น ก็จะเกิดเรื่องอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังเผชิญค่ะ ความยุติธรรมที่คนส่วนหนึ่งยอมรับไม่ได้ ปัญหาว่า คนส่วนนั้นเป็นคนข้างมากหรือน้อย การยอมรับหรือไม่มาจากเหตุผลที่เอื้อส่วนตัวหรือส่วนรวม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท