ชาวพุทธต้องเลือก "สี"


เมื่อวานผมไปร่วมงานฌาปนกิจศพของคุณพ่อท่านหนึ่งอายุ ๘๙ ปี ที่จังหวัดสิงห์บุรี ก่อนฌาปนกิจศพ ทางเจ้าอาวาสและเจ้าภาพได้นิมนต์พระภิกษุรูปหนึ่งมาปาฐกถาให้ชาวบ้านที่ไปร่วมงานฟัง ผมตั้งใจฟังไปเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าท่านไม่ได้พูดถึงว่าหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง มีเป็นหมวดไหนบ้าง หากแต่ท่านพูดถึงการใช้ชีวิตที่ถูกที่ควร พูดเหมือนชาวบ้านพูดกัน แต่มีสาระของหลักธรรมไม่ได้ขาดที่เราต้องคิดเอาเอง อย่างไรก็ตาม สมกับที่ทางพิธีกรได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นว่า ท่านมีวาทศิลป์ดีทีเดียว มีอยู่สองอย่างที่ผมตั้งใจนำมาบันทึกในบันทึกนี้ โดยใช้การจำและทำความเข้าใจ เพราะไม่ได้เตรียมสมุดไว้นั่งจด

ตอนหนึ่งท่านกล่าวว่า "แม่ค้าขายขนมครก ลงทุนวันละ ๑ พันบาท ขายได้ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ บาทต่อวัน ซึ่งได้กำไรหนึ่งเท่ากว่า แต่ชาวนา(วัดที่ผมไปนั้นผ่านทุ่งนาล้วนๆและทำให้เข้าใจว่าชาวบ้านมีอาชีพทำนาทุกครัวเรือน)น่าจะรวยมากกว่า ตรงที่...ข้าวหนึ่งเม็ด แตกออกเป็นหก-เจ็ดต้น ในต้นหนึ่งๆ มีข้าวหลายสิบเม็ด รวมกันเป็นกอหนึ่งก็จะมีข้าวมากกว่าร้อยเม็ด(ผมจำได้เลาๆประมาณนี้ อันที่จริงท่านระบุว่าในกี่เม็ดๆ) ขอให้เราทั้งหลายนำเอาไปคิดเอง"

ผมฟังข้อความนี้ ทำให้ต้องเชื่อมโยงไปถึงชาวนา มีที่มีทางก็ขายเพื่อนำเงินมาต่อยอดชีวิตของตนเองและลูกหลานตลอดถึงต่อยอดเรื่องอื่นๆที่สังคมรอบกายเขามีเขาเป็นกัน หลายครอบครัวชาวนาเป็นหนี้เป็นสิน ผูกพันไปถึงลูกหลาน ที่ต้องใช้หนี้ใช้สิน บางครอบครัวเป็นหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งที่ ข้าวเม็ดเดียวแตกออกเป็นร้อยเม็ดนี่เอง ทำให้ผมคิดต่อไปว่า การที่ท่านบอกว่าให้นำเอาไปคิดเอง นั่นหมายถึง "มันต้องมีวิธีดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะต้องมีกำไรเป็นร้อยเท่าอย่างนั้น"

นอกจากนั้น อีกข้อความหนึ่งคือท่านกล่าวว่า "ชาวพุทธต้องเลือกสี" เรื่องนี้อาจลำบากใจเมื่อท่านพูดว่าชาวพุทธ เพราะจะทำให้คิดไปว่า มีชาวที่ไม่พุทธด้วย อย่างไรก็ตาม ท่านพูดในฐานะที่ท่านถือว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นั้นถูกต้อง และเชื่อถือได้ โดยเราสามารถปฏิบัติตามได้ไม่ยากในชีวิตจริง ท่านจึงอยู่ในฐานะตัวแทนชาวพุทธเพื่อต้องการให้ชาวพุทธฉุกคิด เพราะชาวไม่พุทธคงจะไม่ได้สนใจสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราฟังว่า "ชาวพุทธต้องเลือกสี" ถ้าเราไม่ฟังต่อ จะทำให้เราคิดว่า ท่านกำลังสอนให้เราเลือกสีใดสีหนึ่งระหว่าง เหลือง หรือ แดง หมายถึง ถ้าเลือก "เหลือง" ก็จะไม่เลือกแดง ถ้าเลือก "แดง" ก็จะไม่เลือก "เหลือง" แต่ท่านอธิบายต่อไปว่า "เราต้องเลือกสีนี้เท่านั้น คือ "สีมัคคา" การที่ท่านกล่าวคำนี้ แสดงถึงวาทศิลป์แล้วอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งทำให้เราคิดต่อไปว่า คำว่า "สีมัคคา" คืออะไร ระหว่างนั้น ผมกลับคิดไปว่า "สีมัคคา" คือ สีแห่งมรรคมีองค์ ๘ อย่างที่ชาวพุทธอย่างเราๆ ได้เรียนรู้กันมาเป็นหมวดๆ ซึ่งเป็นการต่อระหว่าง สี+มัคค์(มัคคา-มรรคา) แต่ท่านกลับอธิบายว่า "สีมัคคา" คือ "สามัคคี" จากนั้นท่านจึงอธิบายให้ฟังว่า สามัคคีมีความจำเป็นอย่างไรต่อชาวพุทธไทย ผมคิดในใจว่า ข้อความนี้มีความหมายเราให้เราเลือกถือสีเหลืองหรือแดงเสีย แล้วให้หันหน้ามาถือ "สีมัคคา" คือ "สามัคคี" จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังติดใจอยู่ดีว่า สีแห่งมรรคมีองค์ ๘ ก็น่าจะอธิบายได้ด้วย

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่ทำให้คิด ขอบคุณเจ้าภาพที่นิมนต์พระคุณเจ้ามาปาฐกถาเป็นภาษาชาวบ้านล้วนๆ

หมายเลขบันทึก: 534507เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2013 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท