ลำไยกระทบแล้งจัด น้ำก็มีน้อย เกษตรกรจะทำอย่างไรดี


แคลเซียม และโบรอน จึงจำเป็นมาก หากว่าลำไยของเกษตรกรออกดอกในช่วงฤดูร้อน ซึ่งความชื้นในอากาศมีน้อย หรือหากว่าลำไยติดลูก และเกิดกระทบกับอากาศในช่วงฤดูร้อนยาวนาน ทำให้ลำไยต้องใช้พลังงานมาก จึงจำเป็นที่จะต้องให้ธาตุเหล่านี้เพิ่มเติมกับลำไยนอกฤดู หรือลำไยที่กระทบภาวะอากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน

ลำไย : ชุมชนคนสนใจเรื่องลำไย ถามตอบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

https://www.facebook.com/groups/www.longankipqew/

หรือ

http://www.gotoknow.org/dashboard/home/#/posts/545415/edit

สาวน้อยใจดี นู๋ยุ้ยแก้มตุ่ย

https://www.facebook.com/profile.php?id=100000397078840

.

มีเกษตรกร ท่านหนึ่งโพสต์มาขอคำแนะนำ โดยถามว่า

              "ลำไยในช่วงนี้ติดผลแล้วแต่อากาศแห้งแล้งและไม่มีน้ำ  ซึ่งขาดน้ำมาแล้ว 3 เดือน เพราะฝนไม่ตก ตอนนี้จะเริ่มให้น้ำจะดีไหมคะ"

หือ   อ่านแล้ว นึกภาพสภาพต้นลำไยออกเลย...ค่ะ 

              แต่จะว่าไป คิดว่า ถ้าตอนนี้ลำไยแปลงดังกล่าว....ยังอยู่ได้  แสดงว่าเจ้าสวนของเกษตรกรท่านนั้น น่าจะมีสวนลำไยอยู่ในเขตทีลุ่ม  หรือถ้าอยู่ในที่ดอน ก็ขอคาดเดาไว้ก่อนเลยว่า เป็นที่ดอนที่อยู่ในแนวต่ำ หรืออยู่ระหว่างร่องของที่เนิน.... หรือร่องเขา..อะค่ะ   เพราะบริเวณดังกล่าวยังคงมีความชื่นซึมผ่านอยู่บ้าง แต่ถ้าอยู่เหนือนั้นขึ้นไป ลำไยคงเดี้ยงหมดแล้ว...ค่ะ  ก็เล่นขาดน้ำกันถึง 3 เดือนอย่างนั้น อยู่กันได้อย่างไร  

              โดยปกติลำไยนอกฤดูขนาดทรงพุ่มเ้้ส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ยังจะต้องได้รับปริมาณน้ำเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 180 ลิตร/ต้น/วัน เ่ลย...อะค่ะ 

              โห....ติดลูกลำไยแล้วขาดน้ำ โอกาสที่ลูกลำไยแตก ร่วง หรือไม่ก็แห้งแกร่นตายคาต้น มีสูงเลย..ค่ะ อย่างไรเสียคงต้องหาน้ำช่วยให้เขาบ้าง...นะคะ   ถ้าหาน้ำมาได้แล้ว  ก็ค่อยๆ ให้น้ำเขา...นะคะ   อย่าให้แบบพรวดพลาด เดี๋ยวลูกลำไยจะแตกเสียก่อน

             ท่านเกษตรกร ทั้งหลายคะ  เคยไหมที่ ท่านทำงานจนท่่า่นรู้สึกว่ามันร้อนจัดๆ เหนื่อยจัดๆ   ถ้าท่านรู้สึกอย่างนั้น  เมื่อกลับมาถึงที่พักภายในสวนแล้ว  ท่านจะำทำอย่างไร  วิ่งเข้าห้องน้ำ ตักน้ำอาบ รดหัวโครมๆ เลยหรือเปล่า   หรือเลือกดื่มน้ำเย็นจัดๆ ซัดไปฮวบๆ เลยค่ะ   ถ้าเคยทำอย่างที่บอกข้างต้น  ผลเป็นอย่างไรค่ะ  ป่วยไปเลย...ใช่ป่ะ

            ลำไยก็เหมือนคนแหละ...ค่ะ   นิสัยเดียวกันเลย กับคนที่ยกตัวอย่าง   ลำไยค่อยๆ จิบน้ำที่ละนิดไม่เป็นหรอกค่ะ   ถ้าแล้งมานาน แล้วเกิดมีฝนตกมาหนักๆ  ยิ่งหนักมาก น้ำก็ยิ่งมาก  ยิ่งถ้ามีความเข้มของแสงมากพอ และต่อเนื่อง  รากของลำไยก็จะยิ่งดูดมาก แ่ละก็คายน้ำมากด้วย  แบบว่าตุนน้ำไว้ก่อน  ลูกลำไยแตกช่างหัวมัน  ลำไยไม่เสียดายลูกลำไย เหมือนเจ้าของสวนลำไยหรอก...ค่ะ

            แต่ถ้าแล้งจัด น้ำขาดแคลนมากจริงๆ  ลำไยก็ต้องประหยัดน้ำค่ะ   วิธีประหยัดทำอย่างไร ทราบไหมคะ  ก็บิดหน้าใบหลบแดด  พืชบางชนิดหุบใบไม่รับแสงเลย...ค่ะ    เมื่อไม่มีแสง หรือได้รับแสงน้อย กระบวนการคายน้ำ ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

            แล้วเวลาอากาศร้อนจัดๆ แบบว่า ซัก 40 องศาเซลเซียส...ล่ะ  ลำไยจะเป็นงัย  ลำไยก็จะเริ่มจากการคายน้ำทิ้งก่อนค่ะ ไม่งั้นเดียวลำไยจะกลายเป็นผักต้ม ให้เกษตรกรเอาไปจิ้มน้ำพริกรับประทานกับข้าว

            น้ำทุกๆ 1 ลิตร  ที่ลำไยคายออกมา จะช่วยให้ระดับอุณหภูมิของลำไยลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เลย...นะคะ   แต่อย่างว่า..นะคะ  ลำไยจะคาย 1 ลิตร  ก็ต้องมีน้ำ+แร่ธาตุในดินเข้าไปในลำไย 1 ลิตรเหมือนกัน  เขาถึงจะเรียกว่าสมดุลย์กัน

            แต่ถ้าไม่มีน้ำ จะทำอย่างไร แสงสว่างก็มาแล้ว ระดับความเข้มของแสงเหมาะสมซะอีก ลำไยเขาก็ต้องทำหน้าที่คายน้ำ เพื่อให้เิกิดกระบวนการคลื่นที่ของน้ำ เพื่อให้รากสามารถดูดน้ำจากดินได้  และเขาจะทำเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าน้ำไม่พอ เขาก็ต้องใช่ตัวช่วย ด้วยการเคลื่ยนย้ายน้ำจากเซลภายในต้นของเขาเองนั้นแหละ  ทั้งนี้เพื่อให้มีการเคลื่อนที่ของความชื้นในระดับที่มากพอต่อการคายน้ำเพื่อลดอุณหภูมิของต้นลำไย...ค่ะ   และเพียงพอกับการเิกิด กระบวนการขับเคลื่อน แต่ถ้าน้ำในดินไม่พอ ความชื้นในต้นก็ไม่พอ จะเกิดอาการอย่างไรกับใบ...ทราบไหมคะ      

             ถ้าเป็นใบแก่ อยู่ในๆ ต้น ก็ยังพอทน เพราะใบข้างนอกเขาบังแสงให้  แต่ใบที่อยู่นอกสุดก็เกิดอาการขอบใบไม้ไปเลย...ค่ะ  ส่วนใบที่อยู่ข้างในก็เกิดอาการนิ่งๆ  แต่พอขยำใบดู ปรากฏว่า ใบกรอบไปเลย...ค่ะ  แต่ถ้ายังเป็นใบใหม่ๆ สีเขียวอ่อนๆ ที่เคยตั้งตัวสวยเชียว และอยู่นอกสุดของทรงพุ่ม  ก็จะทิ้งตัวห้อยใบ แบบว่าคอตก หงอยไปเลย...ค่ะ 

            เป็นคนก็ต้องไปหาหมอ หมอก็ให้ยามา แล้วบอกว่า อย่าออกแดด ออกฝนบ่อยนัก ทำงานเหนื่อยๆ อย่าเพิ่งดื่มน้ำเย็นจัด กลับมาเหนื่อยๆ นั่งพักให้เหงื่อแห้งซักพัก แล้วค่อยอาบน้ำ

            คนตากฝนปรอยๆ ก็เหมือนกัน แบบว่าจะเปียกก็ไม่เปียกโชก  พอมาถึงบ้าน คุณตา คุณยาย มักจะบอกว่ามาถึงบ้านแล้ว ให้เอาขันน้ำตักน้ำในบ่อหน้าบ้านรดหัว 3 ครั้งนะ  แล้วจะโชคดี  จริงๆ ก็โชคดีอ่ะคะ  โชคดีที่ไม่เป็นหวัดไง แข็งแรง ปกติ  นั้นแหละค่ะ คือโชคดีในความหมายของผู้เฒ่าผู้แก่

            ต้นลำไยก็เหมือนกัน  ร้อนจัดๆ  แล้วมาโดนฝนแบบว่า จะเปียกก็ไม่เปียกสุด แบบว่า แหมไม่ซะใจเลย อย่างนี้ต้องหาตัวช่วยค่ะ แต่จะหาน้ำมาให้ก็ไม่มี จะทำอย่างไร

            1.  ก็คงต้องเด็ดใบออกบ้าง เพื่อช่วยลดการคายน้ำค่ะ เด็ดแต่พอประมาณ อย่าเด็ดให้มากซะจนแดดส่องเข้ามาได้มากนะคะ เพราะจะทำให้อุณหภูมิภายในทรงพุ่มร้อนจัดขึ้น ไม่มีประโยชน์...ค่ะ   

                 แต่ตอนจะเข้าไปเด็ดในทรงพุ่ม ก็หาไม้ตีๆ ใต้ทรงพุ่ม ไม่ก็ตามลำต้นก่อน  หรือก้มมองเข้าไปดูในทรงพุ่มก่อน...นะคะ  แบบว่า พวกงูตัวใหญ่ๆ  ตะขาบ แมงป่อง เ่ขาก็ร้อนเป็นเหมือนกัน อาจมาอาศัยหลบอยู่ได้เช่นกัน...ค่ต้องระวังให้มาก

            2.  ถ้าพอหาน้ำมีมาได้บ้าง แต่ไม่มากพอจะใช้เครื่องดูด ออกทางหัวสปริงเกอร์ ก็เลือกให้น้ำทางดิน  แต่ไม่ถ้ามากพอก็ควรใส่ในถัง 1,000 ลิตร แล้วใช้เครื่องพ่นยา พ่นเป็นละอองให้ทั่วต้นทั้งต้น ทั้งใบข้างนอก ข้างใน ลำต้น และรอบๆ พื้นดินใต้ทรงพุ่ม แบ่งๆ ความชื้นให้กันไปค่ะ

            3.  โกยเอาใบลำไยที่เด็ดมาคลุมบริเวณโคนต้น และทรงพุ่ม เพื่อให้ร่มเงา และรักษาระดับอุณหภูมิของหน้าดินให้ต่ำลง เพื่อลดการสูญเสียน้ำ แต่ไม่ต้องให้ใบคลุมหนาแน่นมาก...ค่ะ

            4.  ในสวนถ้ามีหญ้าคุมดิน ก็อย่าเพิ่งรีบตัดหญ้าที่อยู่ภายในสวนนะค   เพราะโดยปกติใบของหญ้า หรือใบของวัชพืชเหล่านั้น  จะเก็บความชื้นในอากาศ  หรือว่าน้ำค้างตอนเช้าๆ แล้วเขาจะดูดซึมน้ำลงไปผ่านทางใบ และส่งความชุ่มชื้นให้กับราก ซึ่งจะทำให้ดินบริเวณปมรากมีความชุ่มชื้นด้วยค่ะ  ต้นลำไยก็ทำอย่างนั้นเหมือนกัน และจะทำให้อุณหภูมิโดยรวมในสวนเย็น และดินจะยังมีความชื่นในชั้นใต้ดินค่ะ

            5.  ถ้าหญ้า หรือวัชพืชเหล่านั้นอยู่ไม่รอด ยืนแห้งตายสนิท  ก็ปล่อยไว้ก่อนนะคะ อย่างน้อยซากเหล่านั้นก็จะช่วยบดบังแสงแดดให้กับผิวหน้าของดินในสวนได้ค่ะ

            ที่ว่ามา 5 ข้อ นั้นคือว่าด้วยการรักษาอุณหภูมิ  คราวนี้มาป้องกันลำไย เหมือนหมอสั่งคนไข้บ้าง


การให้ธาตุอาหาร เร่งด่วนในช่วงแล้งจัดๆ นี้ **

            1. ให้ธาตุสังกะสี (Zn) หรือที่เรียกว่า "ซิงค์"  กับต้นลำไยบ้าง (ไม่ใช้เอาซิงค์ล้างจานในห้องครัวมาใช้นะคะ)

                ให้อยู่ในรูปสารประกอบ "คีเลต" ด้วย...นะคะ  ต้นไม้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว 

            2. ให้แคลเซียม และโบรอน กับต้นลำไย โดยเฉพาะูลำไยนอกฤดู หรือลำไยที่ออกดอกในช่วงฤดูร้อน

               ** ธาตุอาหารทั้งสองชนิด อย่าให้มากเกินกว่าคำแนะนำที่ข้างกล่อง...นะคะ ไม่งั้นลำไยจะเดี้ยง...ซะก่อน


การให้น้ำ

            1. การให้ธาตุอาหารทั้งสองข้างต้น ต้องให้พร้อมกับน้ำค่ะ เพราะต้องให้อยู่ในรูปของสารละลาย          เพื่อให้รากลำไยสามารถดูซึมน้ำที่ผสมธาตุอาหารเข้าไปด้วย  (รากไม่มีฟันนะคะ จะได้เคี่ยวธาตุอาหารเองได้)

            2. ให้ค่อยๆให้น้ำ  โดยค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้น

            3. มีน้ำน้อยแบบว่า น้อยจริงๆ คงต้องยอมเปลืองเงิน ไม่ก็ต้องเปลืองแรงค่ะ ใส่เครื่องพ่นยา ผสมยา แล้วพ่นให้ต้นลำไยเลยค่ะ พ่นเป็นละออง ให้ทั่วทรงพุ่ม ข้างใน ข้างนอก ลำต้น และพื้นดิน

            4. ธาตุอาหารไม่ได้ให้ทุกวัน หรือ ทุก 3 วัน  ดังนั้น หากมีความร้อนต่อเนื่อง  ก็ให้ใช้น้ำเปล่าพ่นละลองให้กับต้น และใบของลำไยทุกๆ 3 วันเป็นอย่างน้อย

            5. ถ้าเกิดวันดีคืนดี ฝนตกเทลงมาอย่างหนัก อย่าได้เอายาพวกแคลเซียมโบรอนไปพ่น ต่อในทันทีเชียวนะ  เพราะปกติฝนมีสภาพเป็นกรด แคลเซียมโบรอนก็มีสภาพเป็นกรด ให้พร้อมๆ กันไม่ได้ค่ะ ต้องสลับกัน พ่นทางใบก็ได้ ถ้าสะดวก แต่ปกติจะให้ทางดินค่ะ ในภาวะที่ดินไม่ชุ่มน้ำจนเกินไป หรือฝนตกนั้นเอง    

ขอขยายความนิดหน่อยเกี่ยวกับธาตุอาหารทั้ง 2 ชนิดที่แนะนำ

            1. โดยปกติ ลำไยถ้าติดผลแล้ว เกษตรกรต้องให้น้ำ และบำรุงปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ ลำไยจะดูดธาตุอาหารได้ ต้องมีน้ำเป็นตัวทำละลาย...ค่ะ  (รากลำไยไม่มีฟัน)

            2. ลำไยที่ขาดน้ำมานาน เวลาให้น้ำต้องค่อยๆ ให้ และค่อยๆ เพิ่มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น

            3. กรณีฝนไม่ตกเลย และเกษตรกรก็ไม่เคยช่วยให้น้ำเลย  เมื่อมีฝนตกลงมา ลำไยจะเร่งดูดน้ำเข้าลำต้น ทั้งนี้รวมถึงดูดไปเก็บในลูกลำไยด้วย  เปลือกลำไยขยายตัวไม่ทัน จะทำให้เปลือกลูกลำไยแตก น้ำหวานทะลักออกมา เป็นอาหารแมลงในช่วงฤดูร้อน และคราบน้ำหวานที่อยู่ตามผลที่แตก และผลใกล้เคียง เมื่อได้รับความชื้น จะทำให้เกิดเชื้อราดำตามมา...ค่ะ

            4. ลำไย ที่กระทบร้อนต่อเนื่องยาวนาน จำเป็นต้องได้ธาตุสังกะสี เพื่อช่วยในการปรับสภาพให้ทนต่อสภาวะความร้อนสูง  และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับต้นลำไย รวมไปถึงช่วยกระตุ้นธาตุโปแตสเซียมให้สร้างความหวานให้กับลูกลำไยที่กำลังเติบโตด้วยค่ะ    

               ซิงค์ (Zn ธาตุสังกะสี) จะช่วยให้ลำไยสามารถทนต่อภาวะอากาศร้อน ร้อนจัด และอุณหภูมิเกิดเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันได้ เช่นกลางวันร้อนจัด พอตกเย็นเจอฝนตกหนัก  หรืออากาศร้อนมานานหลายวน แต่พอฝนตกก็ตกต่อเนื่องยาวนานเช่นกัน   หรือ กลางวันอากาศร้อนจัด พอตกกลางคืนในวันเดียวกันอากาศกลับหนาวจัด   สลับไป สลับมา อย่างนี้ต้นลำไยจะเอาไม่อยู่  ดังนั้นจำเป็นที่เกษตรกรต้องให้ธาตุอาหารบำรุงทั้งทางดิน และทางใบ ที่มีส่วนผสมของ ซิงค์ด้วย...ค่ะ  

               การได้รับธาตุสังกะสี จะช่วยเสมือนเป็นผ้าห่มให้กับต้นลำไย  แต่ถ้าจะให้ทางใบสังกะสีนั้นต้องอยู่ในรูปของคีเลต  ซึ่งจะอยู่ในรูปของสารประกอบที่พืชสามารถดูดซึมเข้าไปใช้ได้ทันทีเลยด้วย...นะคะ

               ปกติในดินก็มีสังกะสีอยู่ แต่พืชดูดมาใช้ได้น้อยมาก เนื่องจากเกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยในกลุ่มไนโตรเจนและฟอสฟอรัสที่มากเกินไป  ยิ่งถ้าดินในบริเวณสวนของเกษตรกรมีสภาพเป็นด่าง สังกะสีจะไม่ละลายน้ำ แต่จะตกตะกอน ซึ่งทำให้รากของต้นลำไยก็จะไม่สามารถดูดนำไปใช้ได้เช่นเดียวกัน...ค่้ะ  

            5. แคลเซี่ยม และโบรอน  เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นที่จะต้องให้ควบคู่กันไป ในช่วงระยะการพัฒนาของลูกลำไย  แคลเซียมจะทำหน้าควบคุมการคายน้ำของต้นลำไย  ซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการเคลื่อนย้ายแป้ง และน้ำตาล  นอกจากนั้นแคลเซียมยังทำหน้าที่เผาผลาญไนโตรเจน ให้เปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาล  ส่วนโบรอนจะช่วยให้ผนังเซลต่างๆ ของลำไย รวมถึงเปลือกของลูกลำไย ให้มีความยืดหยุ่นพร้อมรับการขยายตัว 

            แคลเซียม และโบรอน จึงจำเป็นมาก หากว่าลำไยของเกษตรกรออกดอกในช่วงฤดูร้อน  ซึ่งความชื้นในอากาศมีน้อย  หรือหากว่าลำไยติดลูก และเกิดกระทบกับอากาศในช่วงฤดูร้อนยาวนาน  ทำให้ลำไยต้องใช้พลังงานมาก จึงจำเป็นที่จะต้องให้ธาตุเหล่านี้เพิ่มเติมกับลำไยนอกฤดู หรือลำไยที่กระทบภาวะอากาศร้อนต่อเนื่องยาวนาน  

            พลังงานได้มาจากไนโตรเจน  แคลเซียมจะทำหน้าที่เผาผลาญไนโตรเจน และก่อให้เกิดพลังงาน  นอกนั้นแคลเซียมจะช่วยควบคุมการคายน้ำของลำไย (ซึ่งการคายน้ำจะเป็นการช่วยลดอุณหภูมิของต้นลำไย)   เมื่อมีการคายน้ำ ก็จะเกิดกระบวนการดูดซึมของราก ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนที่ของสารอาหาร โบรอนจะทำหน้าที่ช่วยในยืดหยุ่นเซลเพื่อขับเคลื่อนสารอาหารเหล่านั้นไปยังส่วนต่างๆ ของพืชต่อไปได้

            ปกติธาตุอาหารประเภทนี้จะต้องให้ทางดิน  เพราะต้นไม้จะสามารถนำธาตุแคลเซึยม แ่ละโบรอนไปใช้ได้    มีเกษตรกรหลายรายนำไปใช้พ่นทางใบ  แต่ที่ยังเห็นว่าได้ผล ก็เพราะว่าช่วงเวลาที่ใช้ธาตุอาหารดังกล่าวนั้น  อยู่ในช่วงที่ลูกลำไยกำลังพัฒนา และมักจะอยู่ในช่วงฤดูฝนพอดี  เมื่อมีฝนตกมา น้ำฝนจะชะล้างธาตุอาหารแคลเซึยมที่ติดอยู่ตามใบ และกิ่งให้ลงพื้นดินไป รากลำไยเลยสามารถดูดไปใช้งานต่อได้..ค่ะ

            แต่การใช้ ต้องเลือกระยะเวลาใช้ด้วย อย่าใช้ในช่วงที่ฝนเิพิ่งตก หรือฝนจะตกแน่  เพราะน้ำฝนจะทำให้สภาพดินเป็นกรด  แคลเซียมโบรอน มีสภาพเป็นกรด จะทำให้พืชได้รับกรดมากเกินไป ควรใช้เว้นสลับช่วงกับการให้น้ำกับลำไย และใช้ในระดับพอสมควรไม่ควรเกินกว่าคำแนะนำที่มักจะเขียนไว้ที่ข้างขวด...ค่ะ 

หน้าร้อน....ปีนี้   น้ำแล้ง...แย่เลย ชาวสวนลำไย เดือนร้อนกันถ้วนหน้า

สวนยุ้ย....ยังโชคดีที่จนถึงวันนี้  น้ำในสระที่ขุดไว้ ยังพอมี ใช้ประทังความอยู่รอดให้กับต้นลำไยที่กำลังออกดอก....ค่ะ   

แต่ว่า  "ออกที่ออกมา ก็ออกมาไม่พร้อมกัน  แถมช่อก็สั้นน่าดู  ก็อากาศมันแล้ง....นิค่ะ 

ส่วนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เดี้ยงกันไปหลายรายแล้ว...ค่ะ  เพราะขาดน้ำ 

กลางเดือน พฤษภาคม รออีกนิดเดียว......ก็หน้าฝนแล้ว

ยอมเสียค่าใช้จ่ายในการพ่นละอองน้ำ....เถอะค่ะ

หาความรู้  มาดูแลต้นลำไยให้ดี จะได้รวย จะได้รวย...ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 534404เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2013 02:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2014 11:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สุดยอด อ่านสนุก ได้ความรู้

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยม ไม่น่าเชือว่าพลาดบันทึกงามๆของคนสวนลำไย ไปได้อย่างไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท