ทำไมกินเนื้อ____เสี่ยงโรคหัวใจ



.

.
ภาพที่ 1: แบคทีเรีย หรือจุลินทรีย์ (สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว) ในทางเดินอาหารมีทั้งแบบรูปกระสวย (ท่อยาว), ท่อสั้น, และกลมๆ
.
การศึกษาก่อนหน้านี้ทำในคนที่กินอาหารแบบอังกฤษ (British-type diet) หรือแบบชาวตะวันตก-ฝรั่ง พบว่า อุจจาระของคนเรามีน้ำหนักแบคทีเรีย = 30-40% ของน้ำหนักทั้งหมด
.
การศึกษาใหม่ ใช้วิธีการตรวจที่แม่นยำขึ้นพบว่า อุจจาระของคนเรามีแบคทีเรียประมาณ = 54.7%, เส้นใยหรือไฟเบอร์ 16.7%, และสารละลายหลายชนิดรวมกัน 24% [ JMM ]
.
สรุป คือ อุจจาระหรือ "อึ" มีแบคทีเรียเกินครึ่งของทั้งหมด รู้แบบนี้แล้วอย่าลืม... ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนกินอาหาร-ดื่มน้ำ-สัมผัสใบหน้า-บ้วนปาก, ก่อนเข้าบ้าน-ก่อนนอนเป็นประจำ
.

.
ภาพที่ 2: แสดงกลไกการเกิดหลอดเลือดตีบตัน, ปกติผนังหลอดเลือดด้านในมีลักษณะราบ เรียบ และลื่น คล้ายๆ กระทะที่เคลือบเทฟลอน
.
(1-3). ถ้าผนังหลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดเป็นรู หรือขรุขระ จะทำให้ไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอล "รั่ว" จากกระแสเลือด เข้าไปในผนังหลอดเลือดได้มากขึ้น เร็วขึ้น
.
(4-6). เม็ดเลือดขาว (โมโนไซท์ แมโครฟาจ) จะแทรกตามเข้าไปในผนังหลอดเลือด เพื่อกลืนกินไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอล, ปล่อยสารก่อการอักเสบ ทำให้ธาตุไฟกำเริบ (เกิดลักษณะ "ร้อน-บวม-แดง" เฉพาะที่) และเกิดการสะสม-พอกพูนคราบไขหนาขึ้นเรื่อยๆ
.
ทั้งหมดนี้จะทำให้ผนังหลอดเลือดเปลี่ยนไป คือ บวมขึ้น พองขึ้น, เส้นผ่าศูนย์กลางด้านในแคบลง เลือดไหลเวียนได้ช้าลง
.
(7). ถ้าคราบไขที่มีความ "หนานุ่ม-บวม-พอง" เกิดการปริแตก จะกระตุ้นเกล็ดเลือดให้จับเป็นตะแกรง... ตะแกรงนี้จะดักจับเม็ดเลือดหลายชนิดมาพอกเป็นลิ่มเลือด ทำให้เกิดหลอดเลือดอุดตัน เป็นโรคหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต
.

.
ภาพที่ 3: แสดงกลไกการเกิดหลอดเลือดตีบตัน, เริ่มจากไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL - เม็ดกลมสีเขียวจางๆ) ซึมจากกระแสเลือด เข้าไปในผนังหลอดเลือดก่อน
.
หลังจากนั้นเม็ดเลือดขาว หรือโมโนไซท์ (monocyte) จะแทรกซึมตามเข้าไปในผนังหลอดเลือด, แปรสภาพเป็นเจ้าตัวเขมือบ หรือแมโครฟาจ (macrophage)
.
เจ้าตัวเขมือบจะกินไขมันในเลือด หรือโคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) จนอ้วนพี กลายเป็นเซลล์โฟม หรือเซลล์อ้วนพี (foam cell)
.

.
ภาพที่ 4: เม็ดเลือดขาวที่กิน LDL จะปล่อยสารก่อการอักเสบออกมา ทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่ (เกิดบวม แดง ร้อน เฉพาะที่) โดยเฉพาะส่วนที่มีกล้ามเนื้อเรียบ (smooth muscle cells) ทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ บวม หนาขึ้น, เส้นผ่าศูนย์กลางหลอดเลือดด้านในแคบลง เกิดภาวะหลอดเลือดตีบตีน
.

.
ภาพที่ 5: แสดงกลไกการเกิดหลอดเลือดตีบตัน ซึ่งใช้เวลาสะสม-พอกพูนหลายสิบปี
.
(1-3). โคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) รั่วเข้าสู่ผนังหลอดเลือด, เม็ดเลือดขาวตามเข้าไปกิน ทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นช้าๆ
.
(4). เกิดแผ่นคราบไข (atheroma) ที่ผนังหลอดเลือด, ระยะนี้จะมองเห็นเป็นสีเหลือง อ่อนนุ่ม เนื่องจากโครงสร้างชั้นในเป็นไขมัน
.
(5). คราบไขหนาขึ้น บางส่วนมีการเกิดพังผืดหรือแผลเป็น (fibrotic layers), บางส่วนมีหินปูนหรือแคลเซียมจับ (calcific layers)
.
ระยะนี้คล้ายกับการก่อร่าง สร้าง "ภูเขาไฟ" ที่ผนังหลอดเลือดด้านใน
.
(6). คราบไขบางส่วนเกิดปริแตก คล้ายภูเขาไฟระเบิด กระตุ้นให้เกิดการตกเลือด เกิดลิ่มเลือด และหลอดเลือดอุดตันได้

เว็บไซต์ อ.นพ.เกบ เมียคิน ตีพิมพ์เรื่อง 'carnitine in meat and drinks'
= "(สาร) คาร์นิทีนในเนื้อและเครื่องดื่ม" และ 'Why meat-eaters have more heart attacks'
= "ทำไมคนกินเนื้อเป็นโรคหัวใจ (หลอดเลือดหัวใจอุดตัน) มากกว่า", ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
 
การศึกษาใหม่จากสถาบันคลีฟแลนด์ คลินิก สหรัฐฯ พบว่า แบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนสารคาร์นิทีน ซึ่งมีมากในเนื้อแดง หรือเนื้อสัตว์ใหญ่ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ หมู ฯลฯ, เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง และอาหารเสริมสำหรับนักกีฬาบางอย่าง ทำให้เกิดสาร "ที เอ็ม เอ โอ (TMAO)"
.
การทดลองในหนูพบว่า สาร TMAO (trimethylamine-N-oxide) ทำให้ผนังหลอดเลือดชั้นในเกิด "รูรั่ว (holes)" หรือแผลเป็นขนาดเล็ก คล้ายๆ กับการใช้เครื่องกระแทก เจาะถนนปูน (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ให้เป็นรู
.
รูรั่วนี้จะไปทำให้โคเลสเตอรอลชนิดเลว (LDL) รั่วจากกระแสเลือด เข้าไปในผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ-เกิดคราบไข-ตีบตันเร็วขึ้น
.

.
คนที่กินเนื้อแดง (red meat) หรือเนื้อสัตว์ใหญ่เป็นประจำ มีระดับ TMAO ในเลือดสูงขึ้นมากหลังกินเนื้อ
.
คนที่กินมังสวิรัติแบบไม่กินเนื้อ-ไม่กินนม (vegans) มีระดับ TMAO ในเลือดต่ำมากหลังกินเนื้อ
.
แบคทีเรียในลำไส้เปลี่ยนคาร์นิทีนในเนื้อแดงเป็น TMAO
.
คนที่กินมังสวิรัติ หรือกินเนื้อน้อยมากนานๆ จะมีแบคทีเรียที่เปลี่ยนคาร์นิทีนเป็น TMAO ต่ำ
.

.
คนที่กินเนื้อบ่อยจะมีแบคทีเรียที่เปลี่ยนคาร์นิทีนเป็น TMAO สูง
.
ตรงนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตที่ว่า กลุ่มคนอายุยืนทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นคนที่กินเนื้อแดงค่อนไปทางน้อย น้อยมาก หรือกินนานๆ ครั้ง
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า คนที่มีระดับ TMAO ในเลือดสูง เพิ่มเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
.
คาร์นิทีนพบมากในเนื้อแดง เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง และอาหารเสริมโปรตีน, พบน้อยในปลา ไก่ นม ผลิตภัณฑ์จากนม
.

.
ถ้าท่านกินเนื้อ... ทางเลือกที่ดีน่าจะเป็นการ "เว้นวรรค" เช่น กินไม่เกินวันเว้นวัน ฯลฯ
.
ลดเนื้อลงสัก 1/2, กินพร้อมผัก ผลไม้ทั้งผล (ไม่ใช่น้ำผลไม้), ถั่ว เต้าหู้ โปรตีนเกษตร หรือเปลี่ยนเนื้อเป็นไก่ ปลา โดยเน้นปลาที่ไม่ผ่านการทอด
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

 > [ Twitter ]

  • ขอขอบพระคุณ / Thank Source from dr.mirkin.com > http://www.drmirkin.com/public/ezine042113.htm & http://www.drmirkin.com/public/ezine041413.htm > Nature Medicine, published online April, 2013.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์. 29 เมษายน 56. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่จำเป็นต้องขออนุญาต... ขอบคุณครับ > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูง จำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
หมายเลขบันทึก: 534156เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2013 11:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2013 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท