เรียนภาษาอังกฤษแบบหลวงพ่อพุทธทาส


     

     เมื่อวันอังคารที่ 23 เมษายน 2556 ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสได้ไปเข้าฝึกอบรมหลักสูตร “5 Strategic Thinking Enhancement” ที่โรงแรมสวิสเทล เลอคอลคอร์ท รัชดา วิทยากรคือท่านรองศาตราจารย์ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ กูรูคนดังด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองของประเทศเรา

   ผมรู้สึกตื่นเต้นมากและประมาณว่า ตัวเองน่าจะจดจำเนื่อหาและนำมาใช้ได้ไม่น้อยกว่า 95% เพราะเนื้อหาเป็นการพัฒนาระบบการคิดเชิงกลยุทธ์รวมถึงปลายทางทุกคัมภีร์ที่ท่านอาจารย์ถ่ายทอดล้วนแต่มุ่งไปที่ “พิชัยสงครามซุนวู” ที่ผมศึกษามาเกือบ 6 ปีแล้ว(แต่ต้องพักไว้ใน 2 -3 ปีหลังเพราะมุ่งเน้นเรียนเนติบัณฑิตให้จบ) ซึ่งสาระต่างๆผมจะนำมาเรียนท่านในโอกาสต่อไป

   แต่สาระที่สะกิดพุ่งและพรวดขึ้นมาเป็นระลอกคลื่นแห่งความตื่นเต้นภายในใจของผม คือ ประเด็นที่อาจารย์ได้วิเคราะห์ระบบการศึกษาที่ล้มเหลวในบางประเทศซึ่งเรียนแบบเน้นการท่องและจำแบบเสียงนกเสียงกาไปๆมาๆ ด๊อกเตอร์เดินสวนกันว่อนมากมายดั่งกับนุ่นในหมอนเก่าที่แตกกระจายและถูกลมพัดซ้ำ..คลุ้งเลย(ประโยคนี้อาจารย์ท่านไม่ได้ว่า เป็นวาทะข้าน้อยเอง) ผลลัพธ์ท้ายสุดประเทศก็ยังไม่พัฒนายกตัวอย่างเช่น ประเทศฟิลิปปินส์ หรือประเทศเพื่อนบ้านฟิลิปปินส์ที่ผู้คนมีรูปร่างคล้ายๆกัน(มิอาจเอ่ยว่าประเทศใดกลัวเป็นการล่วงล้ำก้ำเกิน แต่...วางใจปัญญาท่านผู้อ่านว่าประมาณได้ ว่าประเทศนี้อยู่ที่ใดในแผนที่อาเซียนอยู่ใกล้หรือไกลตัวท่านสักกี่มากน้อย) ระบบการศึกษาแบบนี้สอนให้คนมีระบบคิดแบบหุ่นยนต์ (Mechanic Mindset) ครับ

   ส่วนประเทศที่เขาพัฒนาแล้ว ด๊อกเตอร์ไม่มากเท่าไหร่หรอกแต่ประเทศเจริญเอาๆพรวดๆ เป็นผู้นำด้านนวตกรรมด้านต่างๆเสมอๆ ตั้งแต่ไม้จิ้มฟัน เครื่องตรวจวัตถุระเบิด ยันเรือรบ ก็อย่างเช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส เป็นต้น อาจารย์ท่านว่าระบบการศึกษาพวกนี้เขาเน้นส่งเสริมให้คนคิด คิด คิด และตั้งคำถาม เรียกว่าระบบการศึกษาแบบต้นไม้งอก(Organic Thinking)

  ดึงเข้ามาใกล้ตัวกระผมผู้เขียนเรื่องนี้อีกนิด ลองวิเคราะห์ตามอาจารย์สมชายว่าแนวคิดปรากฎชัดที่ใดบ้างในตัวข้าพเจ้า....ภาษาอังกฤษไง เรียนมาไม่ต่ำกว่า 10 ปีในระบบการศึกษาชั้นยอดตั้งแต่โรงเรียนประถมบ้านหนองม่วง ชีวิตขาสั้นมัธยมอีก 6 ปี และ 4 ปีในมหาวิทยาลัย...ทำไมใช้การไม่ได้เลย บางคนเคยเถียงผมว่า ยูจะรู้อะไร! กว่าไอจะพูดได้ขนาดนี้ ไอต้องเรียนเอแบค 4 ปี บวกกับไปเรียนเมืองนอกอีก 3 ปียูรู้ไหม การฟุตฟิตฟอไฟมันต้องลงทุน ?

  ไม่งั้นยู..ก็จงเป็นพลเมืองชั้นสองในองค์กรต่อไปซ่ะ...!

  เออแล้วห่าเหว..ข้าพเจ้าไปเสียเวลาเรียนอังกฤษไปทำไมตั้งหลายปีหว่าเรียนแล้วต้องมาเป็นพนักงานชั้นสองขององค์กร ตอนแข่งคัดไทยก็ได้ที่ 1 เขียนเรียงความก็รับรางวัลทุกปี ประกวดเขียนสุนทรพจน์ก็พอได้ ตอบกฎหมายก็เรียนจบแค่ 3 ปีครึ่ง...

  คำตอบคือทั้งหมดที่ยูทำได้ดีหน่ะ เขาเขียนกันเป็นภาษาไทยแต่องค์กรของเราเขาเขียนเมล์กันเป็นภาษาอังกฤษ ประชุมก็ประชุมเป็นภาษาอังกฤษ ดูซินายใหญ่สิงคโปรค์ของเราพูดไทยได้ที่ไหน...?

   สรุปเลยข้าพเจ้าถูกระบบ Mechanic Learning เล่นงานเข้าเต็มเปา..พิสูจน์ได้ชัดจากพยานบุคคล คือ เพื่อนๆที่เรียนมาด้วยกันไม่ว่าจะเป็นห้องคิงส์ หรือห้องไหนๆ ไม่มีใครรอดสันดอนใบ้ฝรั่งกิน ไปสู่การฟุตฟิตฟอไฟแบบงามๆไปได้สักคน

   ก่อนที่จะหมดพลัง..ท้อกับชีวิต พลันความคิดปิ้งแว๊บ! แบบห้วงเดียวก็ชาร์ตเข้ามากระทบจิต ผมเคยศึกษางานเผยแพร่ธรรมะของท่าน “หลวงพ่อพุทธทาส” มาพอสมควรระดับหนึ่ง เคยได้ยินว่าขณะท่านมีชีวิตอยู่ท่านต้องแปลธรรมะของท่าน “ฮวงโป” จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และท่านมีแขกมาเยี่ยมที่ส่วนโมกข์เป็นชาวต่างชาติมากมาย อาทิ หลวงพ่อติช นัท ฮันห์ เป็นต้น แล้วท่านทำอย่างไรจึงสื่อสารกับคนเหล่านั้นได้รู้เรื่องหรือแปลหนังสือได้อย่างลึกซึ้ง

  คำตอบคือ....หลวงพ่อท่านฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองครับ...

  ผมขออนุญาตคัดประวัติชีวิตของท่านบทหนึ่งจาก “เว็บไซด์ธรรมมาตา” มาสักบทน่ะครับ เกี่ยวกับระบบการเรียนรู้ของอัจฉริยบุคคลที่ยูเนสโก ให้การยกย่องว่าเป็นบุคคลแห่งศตวรรษ ลองวิเคราะห์กันว่าท่านใช้ระบบการเรียนแบบ Mechanic Mindset หรือว่า OrganicMindset ดังนี้

“ความรู้ของท่านพุทธทาส

การที่ท่านพุทธทาสมีความรู้แตกฉานในศาสตร์ต่าง ๆ มากมายนั้น  ก็สืบเนื่องจากความสนใจในการศึกษาซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ในจดหมายถึงสามเณร  กรุณา  กุศลาสัย  ดังนี้ “…ผมเองก็เป็นนักศึกษาโดยตนเอง ทุกประเภทวิชชา…” และ “…ต้องเรียนเอาเองเรื่อย ๆ จากหนังสือทั่ว ๆ ไป ตลอดถึงจากหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษนับว่าไม่รู้อะไรเลย เพิ่งมาเรียนเอาโดยตนเองอีกเมื่อบวชแล้ว จนบัดนี้ก็ยังไม่รู้พอที่จะนับว่าคล่องตัว หรือพอใช้แก่การงานของตัว ภาษาไทยนับว่าพอคล่องตัว แต่ก็ยังต้องเรียนไปอีกเรื่อย ๆ ทั้งสองอย่าง ธรรมเคยเรียนในโรงเรียนเพียงสองปี ต่อนั้นเรียนลำพังเอง ไปขอสมัครสอบได้นักธรรมทั้งสามชั้นแล้ว ก็ยังไม่รู้สึกว่ามีความรู้ธรรมเลย ยังเรียนเองเรื่อย ๆ กระทั่งบัดนี้และทั้งเชื่อว่ายังต้องเรียนไปเองอีกนาน… สำหรับภาษาบาลียิ่งร้ายกาจใหญ่ ควรจะเรียนกันตั้ง ๑๐–๑๒ ปี ผมเรียนในโรงเรียนเพียง ๖–๗ เดือน เรียนกับท่านอาจารย์ของตัวเองในกุฏิราว ๑ ปี แล้วก็ไปขอสมัครสอบ ก็สอบได้เป็นเปรียญตรี (๓ ประโยค) เบื่อเต็มทน ปีต่อมาไปขอสมัครสอบเฉย ๆ ตก ๔ ประโยค หยุดเสียชั่วคราว เพิ่งจับเรียนด้วยตนเองอีกเมื่อปี ๒๔๗๕ เรื่อย ๆ มาจนกระทั่งบัดนี้วันละเล็กละน้อยเสมอ และยังคงรักที่จะเรียนไปเรื่อย ๆ บัดนี้กลายเป็นทำงานพลางเรียนพลาง… ส่วนวิชชาอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ จิตวิทยา วรรณคดีต่าง ๆ ฯลฯ สะสมตำราเรียนเองอย่างเดียว คู่เคียงกันมาจนกระทั่งบัดนี้เหมือนกัน…” 

เจตนามุ่งมั่นของท่านพุทธทาส  ซึ่งถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ  ก็คือ “การลงมือปฏิบัติธรรม” ในชั้นต้น  ท่านก็ยังคิดว่า  ความรู้ของท่านยังไม่เพียงพอ  ดังนั้น  ท่านจึงคิดค้นหาหลักเอง  ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า “…เราเลยจำเป็นต้องค้นหาหลักเอาเอง อันนี้มันจึงทำให้ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นนักปริยัติ หากเพื่อจะเก็บเอาหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติ…”  จบครับ

   พอเป็นกำลังใจให้ผมและท่านได้ใช่ไหมครับ อัจริยะบุคคลของโลกท่านเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ แหละการเรียนรู้ด้วยตนเองของท่านนั้น เน้นการคิดวิเคราะห์ ตกผลึกและคิดต่อยอดอย่างต่อเนื่อง นี่แหละเป็นต้นแบบของOrganicLearning ในเมืองไทย (ตอนที่ท่านเขียนจดหมายถึงอาจารย์กรุณา ตอนนี้ท่านยังไม่เก่งภาษาอังกฤษน่ะครับ..เพิ่งเริ่มต้น แต่ผมจะเน้นให้เห็นว่าท่านฝึกด้วยตัวเอง)

  จากเหตุดังกล่าว..ผมจึงทดลองด้วยตนเอง ในองค์กรที่ผมทำงานก็จ้างครูฝรั่งมาสอนภาษาอังกฤษผมและเพื่อนพนักงานรวมแล้วประมาณ 20 คน ใช้เวลา 4 เดือน พอจบคอร์สแล้วต่างคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจารย์ฝรั่งสอนดีมากแต่เราเรายังไม่สามารถใช้ทำงานได้น่ะ...

  ผมก็เลยไปเรียนรู้แบบ OrganicLearning ต่อทั้งที่บ้านทำงาน ท่องศัพท์ ดูรายการข่าวของ BBC และอัลจาชีรา ฟังวิทยุภาษาอังกฤษในรถ ฝึกพูดในห้องน้ำ ก่อนเข้าพบและประชุมกับนายต่างชาติก็ถามอาจารย์กูเกิลทีละประโยค ผ่านไปประมาณเดือนเศษ ก็สัมผัสสายตาเจ้านายต่างชาติในที่ประชุมได้ว่า มีรอยยิ้มกับผมมากขึ้น เวลาพูดก็หันมาสบตาปิ้งๆๆ กับเราบ่อยขึ้น คล้ายจะสื่อสารกับเราว่า “เออ มั่นใจคุยกับเองแล้วรู้เรื่องหว่ะ....”

   อึม...ก็มีกำลังใจขึ้นสิครับ..พึมพำเคร่งเครียดกับมันมา 2 ปีเป็นอย่างน้อยแล้ว แต่เอ๊ะ..ก็น้อยกว่าที่เรียนมาในระบบเป็นสิบปีนี่หน่า

   ท่านผู้อ่านจะ “คิด” อย่างไรก็สุดแท้แต่ แต่ถ้าท่านใดใคร่จะแลกเปลี่ยนเรื่องนี้เพราะมีประสบการณ์ตรงก็จะขอบพระคุณมากครับ แต่เรื่องฝึก “ภาษาอังกฤษ”นี้ผมตัดสินใจแล้ ผมจะใช้ “ท่านหลวงพ่อพุทธทาส” เป็น “ไอดอล” หล่ะครับ..

   เมื่อก่อนหนังสือหนังหาและสื่อการเรียนภาษาอังกฤษยังหายาก แต่ปัจจุบันมีเยอะแยะมากมายเรียกว่าเกลื่อนเลยหล่ะ เรียนด้วยตนเอง ฝึกด้วยตนเองให้มาก หลวงพ่อท่านยังทำได้...เราก็ต้องทำได้สิ Yes I Can !

  สวัสดีครับ


คำสำคัญ (Tags): #ปณิธาน 3 รุ่น
หมายเลขบันทึก: 533981เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2013 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2013 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นบทความที่อ่านเพลินคะ ขอให้เขียนแนวนี้ีอีกบ่อยๆ 

“…เราเลยจำเป็นต้องค้นหาหลักเอาเอง อันนี้มันจึงทำให้ต้องไปสนใจกับสิ่งที่เรียกว่า ปริยัติ แต่ไม่ใช่เพื่อเป็นนักปริยัติ หากเพื่อจะเก็บเอาหลักธรรมมาสำหรับใช้ปฏิบัติ…” 

ขอบคุณครับ..ที่แชร์กัน จะพยายามหาเรื่องราวต่างๆมาแลกเปลี่ยนเรื่อยๆน่ะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท