รำโนราเฆี่ยนพรายและรำโนราเหยียบลูกมะนาว


รำโนราเฆี่ยนพรายและรำโนราเหยียบลูกมะนาว



                            รำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาวมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา รูปแบบ ขั้นตอน การรำ บทบาทและความเชื่อ วิธีวิจัยใช้การศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้องการสัมภาษณ์นายโรงโนรา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโนรา และจากประสบการณ์ ของผู้วิจัยในการเรียนรู้ การดู และการฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง มีวิทยากรเป็นนายโรงโนรา 5 ท่าน ตามความอาวุโส คือ พร้อม จ่าวัง เลื่อน ละอองแก้ว ยก ชูบัว(ศิลปินแห่งชาติ) ครื้น สงวนทอง กลิ่น พานุรัตน์ ทั้งนี้เลือกจากผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะโนรา สามารถสาธิตการรำได้ด้วยตนเอง ผ่านการประกอบพิธีกรรมครอบเทริด ผูกผ้าใหญ่อย่างถูกต้อง อายุ 60 ปี ขึ้นไป และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและยอมรับกันโดยทั่วไป จากนั้นนำความรู้มาจัดโครงสร้างเปรียบเทียบเพื่อตรวจสอบความถูกต้องและศึกษาสามัญลักษณะ การรำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาว เป็นการรำโนราที่เกี่ยวข้องกับการทำคุณไสย การรำชุดนี้ต้องแสดงโดยนายโรงโนรา และแสดงเฉพาะในการประชันโรงเท่านั้น การรำเริ่มด้วยรำเฆี่ยนพรายและจบด้วยรำเหยียบลูกมะนาว

                   ในการรำนี้มีหมดกบโรงเป็นผู้ช่วยด้านพิธีกรรม ผลการศึกษาพบว่า การรำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาวอาจแบ่งออกได้เป็น 8 ขั้นตอน คือ พิธีกรรมก่อนรำ การรำอวดความสามารถเฉพาะตัว การเรียกจิตวิญญาณของฝ่ายตรงข้ามการรำเข้าหาตัวพราย การเฆี่ยนตัวพราย การรำเข้าหาลูกมะนาวการเหยียบลูกมะนาว และทำพิธีปลงอนิจจัง จากการเปรียบเทียบการรำของนายโรงโนราทั้ง 5 ท่าน พบว่า มี 2 แนว แนวที่ 1คือ มีการรำอวดความสามารถเฉพาะตัวในช่วงต้นของกระบวนรำเฆี่ยนพราย หลังจากนั้นเป็นการรำพร้อมกับการบริกรรมคาถาจนจบกระบวนรำ แนวที่ 2 คือการรำอวดความสามารถเฉพาะตัวสลับกับการรำพร้อมบริกรรมคาถาไปโดยตลอด สำหรับความเชื่อที่สอดแทรกอยู่ในการรำนี้พบว่า มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ดัดแปลงมาจากคติในศาสนาพุทธ ฮินดู มุสลิม และการนับถือผีการแต่งกายของนายโรงโนราในการรำนี้เหมือนเครื่องแต่งกายของนายโรงโนราทั่วไป แต่โพกผ้ายันต์แทนการสวมเทริด ส่วนหมอกบโรงแต่งกายแบบพื้นบ้านธรรมดา ปัจจุบันการรำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาวหาดูได้ยากมากเนื่องจากโนราประชันโรงที่สมบูรณ์แบบไม่ค่อยมีจัดเหมือนในอดีต ดังนั้นควรมีการศึกษา การบันทึก และการสืบทอดการรำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เป็นสมบัติของโนราสืบไป

                       

ที่มาของเนื้อหา http://krunora.blogspot.com/

หมายเลขบันทึก: 533954เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2013 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 เมษายน 2013 08:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 .............ขอบคุณบทความดีดี ความรู้เรื่อง  การรำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาว .....



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท