ปราสาทเขาพระวิหาร ตอนที่ 9 ความเห็นของ ศ.ดร. สมปอง สุจริตกุลที่มีต่อ MOU 2543


อนึ่งผมมีความคิดเห็นของศ.ดร. สมปอง สุจริตกุลด้วยครับ ท่านมองว่า MOU 2543 นี้มีอัตราย ดังนี้

1. จุดอันตรายของ MOU 2543 อยู่ที่ข้อ 1 วรรค 1 ค. :
แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 แสดงเส้นเขตแดนที่ฝรั่งเศสฝ่ายเดียวเป็นผู้ลากเส้น ซึ่งผิดเพี้ยนจากอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญากับพิธีสาร ค.ศ. 1907 โดยเกินเลยรุกล้ำเข้ามาในผืนแผ่นดินไทยตลอดแนว คิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800,000 ไร่
2. จุดอันตรายของ MOU 2543 แอบแฝงอยู่ในแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในข้อ 1 วรรค 1 ค. ดังนี้
ก. แผนที่ผนวก 1 ไม่ใช่แผนที่อันเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมฝรั่งเศส-ไทยอย่างแท้จริง เพราะฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำแผนที่ฉบับนี้แต่ฝ่ายเดียวโดยไทยไม่มีส่วนร่วม ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้นไทยยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคที่จะจัดทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ ประมาณ 30 ปีหลังจากนั้นจึงได้มีการสถาปนากรมแผนที่ทหารบกที่เรียกว่า Royal Survey Department แห่งประเทศไทย 
ข. แผนที่ผนวก 1 มิได้ลากเส้นเขตแดนตรงตามบทนิยามเขตแดนในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญากับพิธีสาร ค.ศ. 1907แต่บิดเบือนและผิดเพี้ยนไปจากสันปันน้ำอันเป็นเส้นเขตแดนที่ตกลงร่วมกัน อนึ่ง ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ผนวก 1 ไว้ก่อนแล้วโดยผนวกดินแดนมณฑลบูรพาตามสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ. 1907 เป็นการกำหนดเขตแดนเพียงฝ่ายเดียวล่วงหน้าโดยรวมอาณาเขตเสียมราฐ พระตระบอง และศรีโสภณเป็นของฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่ยังมิได้มีการตกลงยินยอมจากประเทศไทยแต่ประการใด
ค. ไทยจึงไม่อาจยอมรับหรือแสดงท่าทีนิ่งเฉยต่อข้อสันนิษฐานเมื่อได้รับเอกสารรวมทั้งแผนที่ผนวก 1 จากกัมพูชาโดยมิได้โต้แย้งหรือชี้แจงข้อผิดพลาดหรือความคลาดเคลื่อนที่ปรากฏอย่างชัดเจนในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารโดยเฉพาะคำพิพากษาแย้งของ เซอร์ เพอร์ซี่ สเปนเดอร์ ผู้พิพากษาชาติออสเตรเลีย อนึ่ง ข้าพเจ้าขอชี้แจงซ้ำอีกครั้งว่า คำพิพากษาแย้งมิใช่เป็นเพียง ‘ความเห็น’ ซึ่งเป็นการตีความของกระทรวงการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาแย้งคือส่วนหนึ่งของคำพิพากษา มีผลเทียบเท่าคำพิพากษาหลักหรือมากกว่าโดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่มีการชี้ขาดในคำพิพากษาหลัก เช่น ความถูกต้องของเส้นเขตแดนในแผนที่ผนวก 1 ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกำพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร
ง. เพราะฉะนั้น การรับแผนที่ฉบับนี้จากกัมพูชาภายหลัง พ.ศ. 2505 โดยมิได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องและชัดเจน ดังปรากฏใน MOU 2543 ข้อ 1 วรรค 1 ค. โดยมิได้ตั้งเงื่อนใขว่า “เท่าที่ไม่ขัดกับข้อบทแห่งอนุสัญญา ค.ศ. 1904 หรือสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ. 1907” จึงเสี่ยงต่อการสูญเสียโดยกัมพูชาจะอ้างได้ว่าไทยตกลงยอมรับเส้นเขตแดน (ที่ผิดพลาด) ตามที่ปรากฏบนแผนที่ 1:200,000 หรือแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ ความเห็นของกรมสินธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศในระยะหลัง ซึ่งอ้างว่าแผนที่มีความสำคัญเหนือสนธิสัญญานั้น ตรงข้ามกับความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยสิ้นเชิง
3. เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนเพิ่มเติมอันสืบเนื่องมาจากความเข้าใจผิดหรือสำคัญผิดทั้งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนที่ตลอดจนข้อกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลไทยจะบอกเลิก MOU 2543 นี้ก่อนที่การสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นความจริง และก่อนที่คนไทยจะเกิดความเข้าใจที่สับสนและผิดพลาดยิ่งขึ้นอันจะส่งผลให้ประเทศชาติต้องเสียประโยชน์โดยมิอาจแก้ใขได้ทันท่วงที
4. ในฐานะนักวิชาการผู้เห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ข้าพเจ้าขอย้ำว่า MOU 2543 ไม่มีผลดีต่อประเทศไทยแต่ประการใด การที่ไทยยังเก็บรักษา MOU 2543 ไว้โดยอ้างว่าใช้ประโยชน์ในการปรามกัมพูชามิให้รุกล้ำผืนแผ่นดินไทยนั้น เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่บังเกิดผลและไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะกัมพูชาก็ยังคงคุกคามและรุกรานบูรณภาพแห่งพื้นแผ่นดินราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องโดยเพิกเฉยไม่นำพาต่อคำประท้วงหรือคำเตือนหลายครั้งหลายหนของรัฐบาลไทย ส่วนไทยกลับเป็นฝ่ายยอมล่าถอยเสมอมา แม้การกระทำของกัมพูชาจะผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักปฏิบัติสากล แต่กัมพูชาก็ยังถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดยที่ไทยไม่สามารถหยุดยั้งได้ จึงกลายเป็นว่า MOU ดังกล่าวมีผลบังคับไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่กระทบกระเทือนกัมพูชาซึ่งสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบรวมทั้งละเมิด MOU ฉบับดังกล่าว
5. สรุปได้ว่า MOU 2543 ซึ่งเริ่มจากเนื้อหาที่นำไปสู่การสูญเสียตามเหตุผลข้างต้นนั้น ไม่เอื้อประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทย แต่กลับส่งผลอันเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งยกเลิกเอกสารดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยด่วนที่สุด ทั้งนี้ การบอกเลิกย่อมเป็นสิทธิของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเอกราช มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เหนือแผ่นดินของตน 
6. อนึ่ง แม้ว่าจะมี MOU 2543 หรือไม่ก็ตาม ไทยย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศทั้งในด้านจารีตประเพณีและข้อบทแห่งอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ. 1907 รวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัย MOU 2543 ช่วยเพิ่มพูนความมั่นคงในบูรณภาพของพื้นแผ่นดินไทย

อนึ่งมีหลักฐานที่แสดงให้เห็็นว่าไทยรับแผนที่ 1: 200,000 แล้วดังนี้

หลักฐานทางฝ่ายไทย ที่บ่งชัดว่า ข้อ 1 ค. ใน MOU2543 คือ แผนที่ 1:200,000 ประกอบด้วยเอกสารที่นำไปสู่การจัดทำ MOU2543 ดังนี้

1. หนังสือที่ กต 0603/1574 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2543 ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ ได้มีถึงนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ครั้งที่ 2


2. บันทึกข้อความลงวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ที่นายวรากรณ์ สามโกเศศ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีถึงนายกรัฐมนตรี (นายชวน หลีกภัย) เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ครั้งที่ 2


3. หนังสือที่ นร 0205/7261 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2543 ที่นายกำธร จันทรแสง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ครั้งที่ 2


หนังสืออ้างอิง

สมปอง สุจริตกุล. MOU 2543 อันตราย. https://www.facebook.com/Prof.Dr.Sompong.Sucharitkul

เข้าถึงเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556


หมายเลขบันทึก: 533689เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤษภาคม 2013 12:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท