กรณีศึกษาน้องจิตติพัฒน์ : หัวอกแม่ผู้มิได้อุ้มท้อง


จันทราภา นนทวาสี จินดาทอง, บันทึกภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๖, เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕

ตัวผู้เขียนเอง สมัยที่ยังไม่มีครอบครัว เคยมีความคิดที่จะรับอุปการะเด็กทารกซักคน เลี้ยงดูให้เติบโต ส่งเสียให้เรียน เฝ้ามองพัฒนาการของเขา ภายหลังจากมีครอบครัวและมีลูกชายเพียงคนเดียวที่ต้องดูแล เอาใจใส่ สารพัดจะห่วงใย กว่าจะเติบโตมาถึง 7 ขวบ ทำให้นึกยินดีที่ตัวเองไม่มีความกล้าหาญพอจะอุปการะบุตรบุญธรรม และรู้สึกชื่นชมกับผู้ที่สามารถทำหน้าที่แม่ให้กับลูกที่มิได้คลอดเองยิ่งนัก

  นางบัวติ๊บ ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชน 6-6308-50xxx-xx-x เป็นบุตรสาวคนโตของนายลูลู และนางเพียง เกิดที่ประเทศพม่า เมื่อปี 2530 เข้าเมืองไทยทางฝั่งบ้านเปิ่งเคลิ่ง ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ตั้งแต่ยังแบเบาะ บัวติ๊บมีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 2 คน ได้แก่น้องชายหนึ่งคน คือ นายสุข เกิดที่บ้านเปิ่งเคลิ่งเมื่อปี 2531 ซึ่งเพิ่งได้รับการเพิ่มชื่อเป็นบุคคลสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพรบ.สัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 เมื่อ 24 สิงหาคม 2552 ส่วนน้องสาวคนสุดท้อง คือ เด็กหญิงสาวิกา เกิดเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2548 ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง มีเลขประจำตัวประชาชน 7-6388-00xxx-xx-x

  ขณะนี้นางบัวติ๊บ นายลูลู(บิดา) และนางเพียง(มารดา) อยู่ระหว่างการยื่นคำร้องขอสถานะต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเด็กหญิงสาวิกายื่นคำร้องขอสัญชาติไทยตามมาตรา 7 ทวิ

  นางบัวติ๊บสมรสกับนายสุริยา อินเสาร์ บุคคลสัญชาติไทย เลขประจำตัวประชาชน 3-6306-00xxx-xx-x โดยจดทะเบียนสมรสในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ทั้งสองคนมีอาชีพทำไร่ทำสวน ฐานะปานกลาง มีความขยันหมั่นเพียร อยู่กินกันมาเกือบสองปี แต่ยังไม่มีบุตรเป็นของตนเอง

   เด็กชายจิตติพัฒน์  คลอดเมื่อ 17 เมษายน 2555 เลขประจำตัวประชาชน 0-6388-00xxx-xx-x บุตรของเด็กหญิงมะซาว ชาวพม่าอายุ 14 ปี ไม่ปรากฏบิดา เกิดที่โรงพยาบาลอุ้มผาง เนื่องจากมีคนไทยซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของบัวติ๊บพบมะซาวขณะรับจ้างเลี้ยงวัวและดูแลสวนยางพาราอยู่หมู่บ้านเจ่โด่ง เลยชายแดนเปิ่งเคลิ่งเข้าไปเขตประเทศพม่า จึงรับตัวมะซาวมาดูแลด้วยความสงสารจนกระทั่งคลอด

  สุริยาและบัวติ๊บ จึงแจ้งความประสงค์กับโรงพยาบาลอุ้มผางที่จะขอรับเด็กชายจิตติพัฒน์ ไปเลี้ยงดู โดยทั้งคู่เป็นผู้คอยเฝ้าและดูแลจิตติพัฒน์ตั้งแต่แรกคลอด

  คลินิกกฎหมายอุ้มผางสิทธิมนุษยชน โรงพยาบาลอุ้มผางได้ประสานงานกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  จังหวัดตาก เพื่อหารือเรื่องการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย เบื้องต้น พมจ.ตาก ได้ส่งแบบฟอร์มการรับบุตรบุญธรรม และแจ้งว่าในกรณีที่ทั้งเด็กและผู้ประสงค์จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเป็นบุคคลสัญชาติไทยทั้งคู่ สามารถส่งเรื่องไปที่ พมจ.เพื่อเข้าประชุมระดับจังหวัดให้อนุมัติการรับบุตรบุญธรรม ทั้งนี้ต้องมีการทดลองนำเด็กไปเลี้ยงเป็นเวลา 6 เดือนแล้วประเมินผล ส่วนในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย เรื่องดังกล่าวต้องส่งไปขออนุมัติที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ทางคลินิกฯ กำลังดำเนินการตามขั้นตอน

  ในวันที่เขียนบทความนี้ เด็กชายจิตติพัฒน์เพิ่งผ่านครบรอบวันเกิด 1 ปี มาเพียง 7 วัน บัวติ๊บและสุริยาเล่าว่า จิตติพัฒน์เป็นเด็กที่ติดแม่มาก โดยเฉพาะตอนจะนอนหลับ ต้องให้บัวติ๊บเท่านั้นเป็นคนป้อนนมและกล่อมนอน ยิ่งช่วงไหนที่ป่วย จะไม่ยอมให้คนอื่นอุ้ม ผู้เขียนเข้าใจถึงภาวะที่ทั้งคู่เล่าอย่างลึกซึ้ง และดีใจกับความกล้าหาญนี้เป็นอย่างยิ่ง

  สายใยของความผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก แม้ไม่ใช่สายเลือดเดียวกัน ก็เป็นสายใยที่แน่นเหนียวและยึดโยงครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวนี้ได้เป็นอย่างดี อนาคตของจิตติพัฒน์จึงเป็นอนาคตที่สดใสไม่แพ้เด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยพ่อแม่แท้ ๆ ของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 533687เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2013 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2014 13:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นนักเขียนที่สุดยอดเหมือนเดิม

ชื่นชมความกล้าหาญนั้นเช่นกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท